ขอบพระคุณมากค่ะ


อาจารย์บัญชาคะ

เข้ามาเรียนว่าได้รับหนังสือแล้วค่ะ ขอบพระคุณอาจารย์มากๆค่ะ  ดิฉันอ่านคำนำแล้วชอบใจมากเลย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า...คำๆหนึ่งมีความหมายได้หลายอย่าง ...... แล้วแต่ว่าถามใคร...  :)

ที่ชอบที่สุดคือมีข้อมูลเรื่อง Triz ที่ดิฉันกำลังสงสัยอยู่พอดีเลยค่ะ !!! ดีใจจังเลย

อนึ่ง ที่ประทับใจที่สุด คือการที่อาจารย์มีการอ้างอิงเชื่อมโยงในข้อเขียนให้ทุกครั้ง  (นักศึกษาของดิฉันโชคดีที่ได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของอาจารย์ค่ะ  เวลาเขียนงานส่งแล้วมีอ้างอิงเชื่อมโยง  ดิฉันบวกเพิ่มให้ทุกที)

เอ่อ...คือว่ามีข้อสงสัยเรียนถามนิดนะคะ  ในการออกแบบปก ผู้เขียนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจได้ไหมคะ  หรือ สนพ.เป็นผู้พิจารณาเอง

         ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงอีกครั้งนะคะ

                                            สุขุมาล  จันทวี



ความเห็น (6)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (1)

สวัสดีครับ อาจารย์สุขุมาล

          ด้วยความยินดีครับ หวังว่าอาจารย์และลูกศิษย์จะได้ประโยชน์จากข้อมูลในหนังสือเล่มนี้นะครับ (วันนี้ผมจะมีหนังสือออกใหม่อีก 1 เล่ม ด้วย เป็นแนว คณิตศาสตร์กวนๆ ก็เลยจะไปที่สัปดาห์หนังสือช่วงบ่าย-เย็น เล่มนี้กะว่าจะส่งให้รุ่นพี่ที่เป็นนักคิดหลายคนในนี้)

          เรื่อง TRIZ นี่ มีหนังสือขายด้วย จัดพิมพ์โดย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ครับ มี 2 ปก เล่มหนึ่งสีน้ำเงิน อีกเล่มออกสีเขียวๆ

          เรื่องการอ้างอิงนี่สำคัญมากเหลือเกิน บางครั้งประโยคเพียงประโยคเดียวอาจนำเราไปสู่คำตอบที่ต้องการ หรือ คำเพียงคำเดียวอาจชี้แหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์อีกมหาศาลได้ครับ

          เกี่ยวกับการออกแบบปกนี่ ถ้าเป็น สนพ. สารคดี ผมจะปล่อยเขาไปเลยครับ เพราะเชื่อมือ อีกอย่างคือ ทำหนังสือทีไร รีบเร่งทุกที (อย่างที่เรียนอาจารย์ว่า มีเล่มหนึ่งออกวันนี้ กลางงานสัปดาห์หนังสือ)

          แต่ถ้าเป็นหนังสือ หรือวารสารที่ผมทำเองในสำนักงาน ผมจะให้แนวทางคร่าวๆ และปรับแต่งจนพอใจครับ

ขอแสดงความนับถือ

บัญชา



ความเห็น (6)

ขอบพระคุณสำหรับคำตอบค่ะ  ( cristal  clear เลยค่ะ)  อ้ออาจารย์คะ ... สงสัยอาจารย์จะมีแฟนคลับเพิ่มอีกหลายคนค่ะ  ดิฉันเพิ่งทราบว่าเด็กเอกวิทย์จะเลือกอ่านหนังสือความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์คนละไม่ต่ำกว่า 5 เล่ม  หนังสืออาจารย์(และคอลัมน์ของอาจารย์) ติดอันดับหนึ่งเลยอ่ะค่ะ  :)

สวัสดี (อีกครั้ง) ครับอาจารย์ดอกไม้ทะเล

      ขอบคุณมากครับที่ช่วยหาแฟนคลับให้ ;-)

      เด็กๆ พวกนี้ ถ้าเขาเขียนอะไรแล้วอยากให้ผมอ่าน ก็ลอง upload ขึ้นเว็บ แล้วส่งมาให้ได้นะครับ

บัญชา

อาจารย์บัญชาคะ

ขอบพระคุณมากค่ะ  ดิฉันว่าเด็กๆต้องดีใจกันน่าดู  เพราะเขารู้จักอาจารย์ก่อนดิฉันอีกอ่ะค่ะ (เด็กบางคนเขาอ่านบทความอาจารย์ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมเลยค่ะ)

ดิฉันนึกออกเพิ่มเติมเรื่องการอ้างอิงนะคะ เรื่องนี้สำคัญมาก ดิฉันอยากอธิบาย และชี้ให้เห็นคุณธรรมแบบค่อยๆให้ซึมซับเข้าไปในใจเด็ก จึงเรียนมาเพื่อขอคำแนะนำอาจารย์ค่ะ

ดิฉันอยากอธิบายเด็กๆว่า  การอ้างอิง  หมายความว่าอะไร  และลึกๆแล้วแปลว่าอะไร

  • ตามพจนานุกรม  การอ้างอิง  เป็นคำกริยา  หมายถึง ถือเป็นหลัก,นำมากล่าวเป็นหลัก,กล่าวถึงเพื่อเป็นหลัก
  • ตามความรู้สึกที่แปลความหมายออกมา  เมื่อได้เห็นการอ้างอิงในข้อเขียน   

                     ข้อเขียนที่มีการอ้างอิง  แปลว่า 

                    1. ให้เกียรติผู้เขียนที่เราหยิบยก หรือตัดตอนนำข้อเขียนของเขามา (การให้เกียรติผู้อื่น, การเห็นคุณค่าของผู้อื่น, การไม่หยิบฉวยของผู้อื่นมาเป็นของๆตน, การมีสำนึกดี มีความซื่อสัตย์ มีความสุจริตใจ)

                    2. คิดถึงคนข้างหลัง (ความมีน้ำใจ, ความละเอียดอ่อน, การรู้จักคิดที่จะให้ผู้อื่น เป็นต้น)

รบกวนอาจารย์ช่วยชี้แนะเพิ่มเติมสักนิด (เมื่ออาจารย์มีเวลา)นะคะ   ดิฉันมักคิดถึงแต่ความรู้สึก  และขาดประเด็นที่เป็นความรู้ (เนื้อหา)   ตอนนี้กำลังฝึกเชื่อมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน  (โดยมีข้อเขียนของอาจารย์เป็นต้นแบบค่ะ  :) )

                                                                สุขุมาล

สวัสดีครับ อาจารย์สุขุมาล

         อาจารย์เปิดประเด็นไว้ดีจัง เพราะเป็นเรื่องที่คนไทย (แม้แต่นักวิชาการเองก็เถอะ) ให้ความสำคัญน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

         ผมขอเวลาเรียบเรียงความคิดสักหน่อย เพราะคงไม่ได้ไปค้นแบบวิชาการ แต่ตอนนี้ที่อยู่ในหัวออกจะเป็นแนวนี้ครับ คือ มองจากหลายๆ มิติ

         มิติ "คน" : คนที่อ้างอิงข้อมูลคนอื่น คนที่ถูกอ้างอิง & คนอ่านผู้รับสาร จะคิด/รู้สึกอย่างไรหากมีหรือไม่มีการอ้างอิงตามที่ควรจะเป็น

         มิติ "เวลา" : ประเด็นคือ การอ้างอิงทำให้สามารถสืบค้น/ตรวจสอบ ประวัติและลำดับการคลี่คลายของความคิด & ความรู้ในประเด็นที่กล่าวถึงได้อย่างต่อเนื่อง

         มิติ "คุณภาพ" : รูปแบบ & เนื้อหาในการอ้างอิง เป็นตัวบ่งคุณภาพของงานชิ้นหนึ่งๆ และคุณภาพของผู้สร้างสรรค์งานนั้นด้วย

         มิติ "วัฒนธรรม" : ทำให้เห็นวิถีการคิด การบันทึก การทำงาน การให้เกียรติผู้อื่น (อย่างที่อาจารย์ว่าไว้) และอื่นๆ ของคนในแต่ละวงการ หรือแต่ละสังคม เช่น สังคมจีนมีวัฒนธรรมการบันทึกที่ต่อเนื่องยาวนานมาก และมีการอ้างอิงที่ตรวจสอบได้ย้อนกลับไปหลายพันปี ทำให้ประวัติศาสตร์มีความต่อเนื่อง เป็นต้น

         ผมลองคิดคร่าวๆ ตอนนี้ได้แค่นี้ครับ คงยังมีมิติอื่นที่หลุดรอดไป หรืออาจมีวิธีคิดแบบอื่นเลยก็เป็นไปได้  ยังไงระหว่างนี้ อาจารย์คิดล่วงหน้าไปก่อนได้เลยครับ

         หรือจะรอไว้เปิดเทอม ให้นักศึกษาเสนอในชั้นเรียน หรือมอบหมายให้ไปทำเป็นการบ้านมา ก็ดีเหมือนกันครับ ;-)

บัญชา

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ อาจารย์อธิบายเป็นระบบครบกระบวนดีจังเลยค่ะ    ดิฉันได้ไปคิดต่ออย่างตั้งใจ  คือรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ฝังรากลึกเหลือเกิน 

แม้ผู้สร้างความรู้อาจไม่กังวลกับการอ้างท่านชื่อให้ปรากฏ   แต่ผู้นำความรู้มาใช้ (ดิฉันหมายถึงตัวดิฉันและนักศึกษาที่ดิฉันรับผิดชอบ)  ก็จำเป็นต้องช่วยกันสร้างจิตสำนึกตระหนัก

ดิฉันอาจสื่อสารกลับช้าอยู่ในบางช่วง (โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องใช้เวลาคิดนานๆอย่าง "ตั้งใจ"   ต้องขออภัยอาจารย์ด้วยค่ะ)   

และต้องขอขอบพระคุณสำหรับความ "เข้าใจ" ของอาจารย์ด้วยนะคะ  ความเข้าใจทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ  .....อาจารย์เป็น "ครู" แบบที่ดิฉันตามหามานานค่ะ  :)

แหม! ดีจังครับ อีกไม่นานผมคงจะได้อ่าน 'การอ้างอิง' ที่อาจารย์ได้ไปคิดต่อแล้ว :-) และจะดียิ่งขึ้น หากมีการคิดต่างด้วยนะครับ

เรื่องการอ้างอิงนี่มีข้อสังเกตเพิ่มเติมนิดหนึ่งครับ คือ ผมเขียนให้กับหนังสือพิมพ์ค่อนข้างมาก ทำให้รู้ว่า แม้เราจะอยากให้แหล่งอ้างอิงครบถ้วน ก็อาจจะทำไม่ได้ ด้วยพื้นที่ที่จำกัดด้วยฟอร์แมตของคอลัมน์ที่หนังสือพิมพ์กำหนดเอาไว้

แต่วิธีการเลี่ยงข้อจำกัดนี้ก็มีหลายแบบ เช่น

  • แนะนำเฉพาะแหล่งอ้างอิงหลักๆ
  • แนะนำเว็บไซต์ที่อ้างไปที่อื่นๆ เยอะๆ (เช่น Wikipedia นี่แจ๋วมาก)
  • ให้ผู้สนใจ ขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน e-mail
  • ให้ผู้สนใจ แว่บเข้ามาดู blog ของเราซะเลย :-) อันนี้ผมใช้ได้ผลแล้วนิดหน่อยใน เซ็คชั่น จุดประกาย เสาร์สวัสดี นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ทุกวันเสาร์

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท