อยากถาม เงินกองทุน สสส. มุสลิม รับได้มั้ย


อยากทราบว่า มุสลิม รับ เงิน สสส.ได้มั้ย? เราก็กลัวว่า เพื่อนมุสลิมเรา ตกนรก โดยไม่รู้ตัว รุสดี ยาเซ็ง 081-542-7070


ความเห็น (6)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (1)

bin musa
เขียนเมื่อ

ฝากบทความมาให้อ่าน

แล้วนะครับ

เรื่องราวในโลกนี้มีอะไรมากมาย

เส้นทางที่เราจะเดินไปสู่จุดหมาย

ยังมีอีกยาวไกล 

ไม่รู้วันนี้เส้นทางที่เรากำลังเดินอยู่

จะพาเราไปถึงจุดหมายที่เราตั้งเป้าไว้หรือไม่

กลัวครับ  นรก 



ความเห็น (6)

เงินบาปจะนำไปใช้ในชีวิตของเราได้ไหม ?

เชคริฎอ อะหฺหมัด สะมะดี

การสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ศานติและความเมตตาจงประสบแด่ท่านนบีมุฮัมมัด บรรดาสาวกของท่าน และผู้ปฏิบัติตนตามแนวทางของท่าน

ในการบันทึกของท่านอิมามบุคอรียฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า “แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ทรงยึดความรู้จากกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใด โดยยึดความรู้จากหัวใจของผู้รู้ดอก แต่ทว่าพระองค์จะทรงยึดความรู้จากกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใด ด้วยการยึดชีวิตของผู้รู้ จนกระทั่งจะไม่เหลือซึ่งผู้รู้สักคนหนึ่ง บรรดามนุษย์ทั้งหลายก็จะยึดผู้โง่เขลางมงายเป็นหัวหน้า พวกเขา(ผู้โง่เขลา)จะให้คำชี้ขาด(ในเรื่องศาสนา)โดยไร้ความรู้ พวกเขาจึงหลงผิดและจะทำให้ผู้อื่นหลงผิดไปด้วย” สภาพที่ถูกระบุในหะดีษนี้เป็นสภาพที่น่าสังเกตในสังคมปัจจุบัน ไม่กล่าวถึงเรื่องปลีกย่อยลึกลับหรือคลุมเครือ แต่พูดถึงกรณีปัญหาที่ใหญ่โตชัดเจนและมีคำชี้ขาดอยู่แล้ว

ครั้งนี้ ผมจะพูดกับพี่น้องถึงปัญหาหนึ่งในสังคม เป็นปัญหาที่เกิดจากการที่ทุกคนในสังคมยังมองไม่เห็นซึ่งสงครามระหว่างธรรมะกับอธรรม ความดีกับความชั่ว หรือศรัทธากับปฏิเสธ ปัญหานี้คือการใช้ทรัพย์สินโดยมิชอบตามหลักศาสนา อันเป็นเรื่องเก่าแก่ที่พี่น้องอาจได้ยินมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้การใช้ทรัพย์สินหะรอมกลายเป็นระบบหรือเป็นกติกา โดยมีการรณรงค์ให้สังคมมุสลิมถนัดกับทรัพย์สินหะรอม (หมายถึง ไม่รังเกียจและไม่รู้สึกว่าผิดที่จะใช้) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงระหว่างวิชาการศาสนาอิสลามและการปกครองบ้านเมือง จึงจะทำให้มีผลที่ร้ายแรงต่อหลักจริยธรรมของมุสลิม

พี่น้องคงเคยได้ยินเรื่องสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ในหน่วยงานรัฐบาลและข้าราชการอย่างมากมาย กองทุนนี้ถูกนำมาจากภาษีสุราและยาสูบ โดยมีนโยบายจากรัฐบาลและสถาบันบริหารสังคมมุสลิม ที่จะให้ชาวมุสลิมในประเทศไทยพร้อม(ทางจิตใจ)ที่จะรับเงินสนับสนุนก้อนนี้ไปใช้ในกิจกรรมของสังคมมุสลิม ซึ่งผมมองเห็นว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวง และจำเป็นต้องนำมาพูดกับพี่น้องในครั้งนี้

ปัญหากองทุน สสส. มิใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดในสังคมของเรา หากเป็นผลร้ายที่เกิดจากการที่สังคมมุสลิมไม่ตระหนักในจุดยืนและอุดมการณ์ของอิสลามตั้งแต่แรก ซึ่งจะมองว่าเป็นปัญหาที่มันสะท้อนจากตัวเราเองที่มีความจำเป็นต้องศึกษาและเคร่งครัดกับหลักการยิ่งขึ้น และยังมีเรื่องการเมือง(ในประเทศและต่างประเทศ) และเรื่องอิทธิพลของศัตรูอิสลามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้อย่างชัดเจน

ก่อนที่ผมจะชี้แจงในเรื่องกองทุน สสส. ขอนำเสนอซึ่งอุดมการณ์และเหตุผลที่มุสลิมต้องตระหนักอย่างมั่นคงดังต่อไปนี้

1. คำชี้ขาดในหลักการอิสลามต้องอาศัยหลักฐานจากอัลกุรอาน ซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หรืออิจญฺมาอฺ(การลงมติเอกฉันท์ในคณะนักปราชญ์ของศาสนาอิสลาม ซึ่งมีน้ำหนักเท่าเทียมกับพระดำรัสในอัลกุรอานและหะดีษ) หากไม่มีหลักฐานข้างต้นก็ต้องใช้การวินิจฉัยด้วยหลักการทั่วไปของศาสนบัญญัติแห่งอัลอิสลาม โดยประกอบด้วยการยึดมั่นในเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติต่างๆ

2. มุสลิมเชื่อมั่นว่าชีวิตของเขาย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า อันเป็นสภาพที่จะทำให้เขาต้องคำนึงถึงพระบัญชาแห่งพระเจ้าอยู่เสมอ และจะทำให้ชีวิตของมุสลิมนั้นขึ้นอยู่กับหลักกฎหมาย จริยธรรม และศีลธรรมแห่งอิสลาม

3. เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างนักปราชญ์ จำเป็นต้องให้คำชี้ขาดและน้ำหนักอยู่กับฝ่ายที่มีหลักฐานจากศาสนบัญญัติ

4. สิ่งใดที่จะทำลายหลักศรัทธา หลักศีลธรรม อุดมการณ์ของมุสลิม และความมั่นคงของสังคม มุสลิมจำเป็นต้องประกาศความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน เพื่อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการปราบปรามความชั่ว อันเป็นบทบาทของประชาชาติอัลอิสลาม และเป็นคุณสมบัติของมุสลิมทุกคน

5. ผู้มีสิทธิในการให้คำชี้ขาด(ฟัตวา)ต้องมีคุณสมบัติ 2 ประการที่สำคัญคือ

1 – มีความรู้ด้านวิชาการศาสนารวมทั้งภาษาอาหรับ นิติศาสตร์ และวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และเอื้ออำนวยให้การวินิจฉัยนั้นไปตามกระบวนการของอิจญฺติฮาด(คือการวินิจฉัยในตัวบท)

2 – มีความรู้เกี่ยวกับกรณีหรือวาระหรือเหตุการณ์ที่กำลังวินิจฉัยอย่างละเอียด(ฟิกฮุลวาเกียะอฺ) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญเพื่อให้คำชี้ขาด(ฟัตวา)สอดคล้องกับความเป็นจริง

จากห้าประการดังกล่าว ผมขอนำเสนอข้อมูล(ที่เป็นความจริง)เกี่ยวกับกองทุน สสส. เพื่อเป็นการเริ่มวินิจฉัยเรื่องนี้ให้ตรงประเด็น ดังต่อไปนี้

1. ประเทศไทยมิใช่ประเทศมุสลิม แต่เป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมส่วนน้อยอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย โดยมีสิทธิหน้าที่ถูกระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2545 และประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้ใช้กฎหมายอิสลาม มุสลิมจึงต้องประสบปัญหาเมื่อกฎหมายไทยไม่ตรงกับกฎหมายอิสลาม แต่ตามหลักศาสนาอิสลามหากเป็นข้อบังคับที่จำเป็นต้องปฏิบัติ(ถ้าไม่ปฏิบัติอาจประสบความเสียหายทางศาสนา ชีวิต ครอบครัว ทรัพย์สมบัติ) ก็อนุโลมให้กระทำโดยไม่มีโทษ

2. รัฐบาลมีนโยบายบางประการที่ไม่ตรงกับหลักการศาสนาอิสลามอยู่แล้ว เช่น การส่งเสริมการค้าบางประเภทที่ไม่อนุมัติตามหลักศาสนาอิสลาม อาทิเช่น การค้าสุรา หรือการท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมชั่วร้ายในทัศนะอิสลาม แต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาลจะไม่บังคับประชาชนให้เลือกสิ่งที่ประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นความชั่วร้าย ดังนั้น มุสลิมทุกคนในประเทศไทยมีทางเลือกในกรณีดังกล่าว

3. รัฐบาลตระหนักในผลอันตรายของอบายมุขที่มีอยู่ในสังคม อาทิ ยาสูบ สุรา ยาเสพติด การค้าประเวณี จึงมีวิถีทางหลายรูปแบบที่จะขจัดสิ่งดังกล่าว แต่บางรูปแบบอาจไม่สอดคล้องกับความถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม

4. รัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษี ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ให้ตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในพระราชบัญญัติได้ระบุว่า แหล่งเงินทุนหลักของ สสส. มาจากเงินบำรุงที่รัฐจัดเก็บจากผู้ผลิตและนำเข้าสุราและยาสูบในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่ต้องชำระ

5. กองทุนของ สสส. เป็นส่วนภาษีที่ถูกแยกอย่างชัดเจนโดยมีพระราชบัญญัติและระเบียบข้อบังคับที่จะควบคุมการบริหารเงินก้อนนี้ ซึ่งลักษณะของกองทุน สสส. มีความชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีใครสามารถกล่าวหาหรือบิดเบือนหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะดังกล่าว

จากข้อมูลข้างต้นเราสามารถชี้ขาดว่า กองทุนของ สสส. เป็นกองทุนที่มี 2 ลักษณะ

1. เป็นภาษี

2. เป็นส่วนรายได้ที่มาจากสุราและยาสูบ

จากสองลักษณะดังกล่าวที่พิสูจน์แล้วว่าสอดคล้องกับความเป็นจริง คำถามที่จะเกิดตามมาคือ กองทุนของ สสส. ซึ่งมีลักษณะดังกล่าวนั้น มุสลิมสามารถนำเอามาใช้ในกิจกรรมส่วนตัว ส่วนรวม หรือกิจกรรมศาสนา ได้หรือไม่

คำตอบก็จะแบ่งเป็น 4 หัวข้อที่สืบเนื่องกัน

1. รายได้หรือเงินหรือทรัพย์สมบัติที่หะรอมไม่อนุญาตให้มุสลิมใช้เป็นอันขาด

2. การเก็บภาษีเป็นที่อนุมัติในหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่

3. รายได้จากสุรา ยาสูบ หรืออบายมุขต่างๆ เป็นรายได้หะล้าลหรือหะรอม

4. มีทางออกหรือทัศนะใดที่อนุมัติให้ใช้กองทุนดังกล่าวหรือไม่

ประการที่ 1

รายได้หรือเงินหรือทรัพย์สมบัติที่หะรอมไม่อนุญาตให้มุสลิมใช้เป็นอันขาด

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าศาสนาอิสลามห้ามบริโภคและใช้ทรัพย์สินที่มาจากแหล่งต้องห้าม แม้จะเป็นรายได้ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม หรืออื่นๆ ซึ่งมีหลักฐานดังต่อไปนี้

1. “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงบริโภคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้าจากสิ่งดีๆของสิ่งที่พวกเจ้าได้แสวงหาไว้ และจากสิ่งที่เราได้ให้ออกมาจากดินสำหรับพวกเจ้า และพวกเจ้าอย่ามุ่งเอาสิ่งที่เลวจากมันมาบริจาค ทั้งๆที่พวกเจ้าเองก็มิใช่จะเป็นผู้รับมันไว้ นอกจากว่าพวกเจ้าจะหลับตาในการรับมันเท่านั้น และพึงรู้เถิดว่า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงมั่งมี ผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ” “สิ่งดีๆ” หมายถึง สิ่งหะล้าล

2. “และ(นบีมุฮัมมัด)จะอนุมัติให้แก่พวกเขา(ประชาชาติ)สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย และจะให้เป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเขาซึ่งสิ่งที่เลวทั้งหลาย”

3. ในการบันทึกของอัลบุคอรียฺและมุสลิม รายงานโดย อันนุอฺมาน อิบนุบะชีร จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “แท้จริงสิ่งหะล้าลมีความชัดเจนแล้ว และสิ่งหะรอมก็มีความชัดเจน(เช่นเดียวกัน) และระหว่างหะล้าลกับหะรอมจะมีสิ่งคลุมเครือ มนุษย์ส่วนมากจะไม่รู้ ใครที่สำรวมตนจากข้อคลุมเครือนั้นก็จะทำให้ศาสนาและชื่อเสียงของเขามีความบริสุทธิ์ และใครที่ตกอยู่(กระทำ)ข้อคลุมเครือ ก็จะตกอยู่(กระทำ)สิ่งหะรอม” หะดีษบทนี้มิได้ห้ามแต่เพียงสิ่งหะรอมชัดเจน แต่ยังห้ามสิ่งที่คลุมเครือด้วย

ท่านอิมามอบูฏอลิบ อัลมักกียฺ ได้กล่าวในหนังสือกูตุลกุลูบว่า การค้าและอาชีพทุกชนิดที่บ่าวของอัลลอฮฺจะฝืนพระบัญญัติแห่งคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮฺ ก็มิใช่การค้าหรืออาชีพที่หะล้าล ถึงแม้ว่าชื่อ(หะล้าล)จะปรากฏ เพราะเนื้อหาของชื่อที่ถูกต้องไม่ปรากฏ

ประการที่ 2

การเก็บภาษีเป็นสิ่งที่อนุมัติในหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่

การเก็บภาษีโดยอยุติธรรมถือเป็นสิ่งที่ต้องห้าม ท่านอิมามอิบนุฮัซมฺ ได้กล่าวว่า และมีเอกฉันท์ว่าจุดเก็บภาษีตามทางเดิน หรือหน้าประตูเมืองต่างๆ หรือที่ถูกเก็บตามตลาดต่างๆ จากสินค้าที่ถูกนำมาโดยผู้เดินทางหรือพ่อค้า ถือเป็นความอธรรมอย่างมหันต์ สิ่งต้องห้ามและเป็นการฝ่าฝืนต่อหลักการ และในฮาชีญะตุลบิเญรมี(มัซฮับชาฟิอียฺ) มีคำกล่าวว่า สำหรับอัลอะการิอฺ(อาหารชนิดหนึ่ง)ที่ถูกเก็บเป็นภาษีในปัจจุบันนี้(สมัยท่านบิเญรมี) ทัศนะที่เที่ยงธรรมคือต้องห้าม(เป็นหะรอม) และในหนังสืออัลอัชบาฮุวันนะซออิรุ ฟีเกาะวาอิดิ วะฟุรูอิ ฟิกฮิชชาฟิอียะติ ของอิมามสะยูฏียฺ หน้า 105 ท่านอิมามสะยูฏียฺได้ระบุกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการวินิจฉัยให้คำตัดสินสำหรับผู้วินิจฉัย ซึ่งมีสำนวนว่า อิซัจตะมะอะ อัลหะลาลุวัลหะรอมุ ฆอละบัลหะรอม หมายความว่า ถ้าทรัพย์สินหะล้าลรวมกับทรัพย์สินหะรอม ทรัพย์สินหะรอมจะมีน้ำหนักมากกว่า ท่านอิมามสะยูฏียฺได้รายงานจากคำชี้ขาดของอิมามนะวะวียฺดังต่อไปนี้ ถ้าผู้เก็บภาษี(โดยอยุติธรรม)จากคนหนึ่งคนใดได้ยืมเงินจำนวนหนึ่งและนำไปปะปนกับเงินภาษี(ที่เป็นความอธรรม) และได้คืนเงินยืมที่ถูกปะปนแล้ว ไม่อนุมัติให้ใช้เงินภาษีดังกล่าวจนกระทั่งต้องคืนแก่เจ้าของเงินจำนวนนั้น และในฟะตาวาอิบนิศศ่อลาฮฺ มีฟัตวาดังต่อไปนี้ หากเงินจำนวนหนึ่งที่เป็นเงินหะล้าลถูกปะปนด้วยเงินหะรอม และไม่สามารถรู้จำนวนเงินที่หะรอม วิธีปฏิบัติคือการจำแนกจำนวนเงินหะรอมด้วยเจตนาแบ่งสัดส่วนและใช้ส่วนเหลือ(หมายถึงไม่อนุญาตให้ใช้เงินหะรอม) และในหนังสืออิหฺยาอุอุลูมิดดีนของอิมามฆอซาลียฺมีคำกล่าวดังนี้ หากเมืองหนึ่งเมืองใดมีเงินหะรอมจำนวนมาก(ถูกปะปนกับเงินหะล้าล ไม่เป็นที่ต้องห้ามซึ่งการค้า(การซื้อการขาย) แต่ทว่าใช้เงินดังกล่าวได้ เว้นแต่กรณีที่เงินหะรอมนั้นมีลักษณะชัดเจน(ว่าเป็นเงินหะรอม)ก็ไม่อนุญาตให้ใช้ จากคำกล่าวของผู้รู้ที่ระบุข้างต้น ซึ่งเป็นบรรดานักปราชญ์ในมัซฮับชาฟิอียฺทั้งสิ้น จะเห็นว่าทรัพย์สินที่มีลักษณะหะรอมแล้ว ไม่อนุญาตให้นำมาใช้เป็นอันขาด

ในมัซฮับอิมามอบูหะนีฟะฮฺ อิมามมาลิก และอิมามอะหมัด ก็มีคำชี้ขาดเกี่ยวกับเรื่องภาษีที่ อยุติธรรมเช่นที่ระบุข้างต้นจากมัซฮับชาฟิอียฺ

ตามข้อมูลที่ผมได้นำเสนอเกี่ยวกับกองทุน สสส. พี่น้องมุสลิมย่อมจะตระหนักว่าภาษีที่ถูกเก็บจากสุราและยาสูบ นอกจากจะเป็นภาษีที่ถูกเก็บโดยอยุติธรรมแล้ว ยังเป็นภาษีที่ถูกเก็บจากรายได้สินค้าที่ต้องห้ามตามหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งจำเป็นต้องปราบปรามการค้าสุราและยาสูบ มิใช่ส่งเสริมหรืออนุโลม และการใช้ภาษีดังกล่าวถือว่าเป็นการยอมรับในระบบการเก็บภาษีจากสินค้าดังกล่าว ซึ่งไม่มีข้อบังคับที่จะให้มุสลิมต้องใช้กองทุนนี้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า กองทุน สสส. เป็นส่วนภาษีหะรอมตามหลักการศาสนาอิสลาม เราจำเป็นต้องปฏิเสธและออกห่าง เพื่อปกป้องสังคมมุสลิมให้ปราศจากมลทินและข้อห้ามต่างๆ

ประการที่ 3

รายได้จากสุรา ยาสูบ หรืออบายมุขต่างๆ เป็นรายได้หะล้าลหรือหะรอม

สุรากับยาสูบตามหลักศาสนาอิสลามและกฎหมายบ้านเมือง เป็นอบายมุขที่ขัดกับศีลธรรมทุกศาสนา ตามสถิติอุบัติเหตุและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากสุราและบุหรี่มีข้อมูลที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่ามันนำความหายนะมาสู่ประชาชน จึงไม่มีข้อแคลงใจว่าเป็นสินค้าที่ต้องถูกต่อต้านโดยทั่วไป และในคัมภีร์อัลกุรอานก็มีคำสั่งใช้ให้ต่อต้านสิ่งเหล่านี้ ในซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 90 ซึ่งมีความหมายดังต่อไปนี้ “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ที่จริงสุราและการพนัน และแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้น เป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” คำว่า ฟัจญฺตะนิบู ในอายะฮฺนี้ถูกแปลว่า จงห่างไกลจากมันเสีย ซึ่งเป็นคำสั่ง(อัมรฺ) และคำสั่งในอัลกุรอานย่อมมีความจำเป็นต้องปฏิบัติ เพราะฉะนั้น การเกี่ยวข้อง บริโภค หรือใช้กองทุน สสส. ถือว่าขัดคำสั่งของอัลกุรอาน ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นที่จะบังคับสังคมมุสลิมให้ใช้กองทุนดังกล่าว และยังเป็นกองทุนที่จะทำลายจุดยืนอันเข้มแข็งของสังคมมุสลิมเกี่ยวกับอบายมุขที่มีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งตลอดประวัติศาสตร์สังคมมุสลิม บรรพบุรุษและนักปราชญ์อิสลามได้สร้างชื่อเสียงและจุดยืนต่ออบายมุขต่างๆ หากเราได้ใช้กองทุน สสส. ปัจจุบันนี้ ก็เปรียบเสมือนเรากำลังทำลายชื่อเสียง ศักดิ์ศรี และความบริสุทธิ์ของชาวมุสลิม

ผมขอให้พี่น้องตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้นำกองทุนของเขามาส่งเสริมกิจกรรมศาสนาของชาวมุสลิม เช่น การจัดรายการวิทยุภาคมุสลิม บรรดามูลนิธิและสมาคมที่เผยแผ่อิสลาม หรือชมรมมุสลิมต่างๆ ทั้งๆที่กิจกรรมของสถาบันดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพทั้งสิ้น จึงเป็นข้อสงสัยที่ทำให้สังคมมุสลิมต้องระมัดระวังในการรับการสนับสนุนจากหน่วยราชการหรือสถาบันที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะที่มีข้อเกี่ยวข้องกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา

ประการที่ 4

มีทางออกหรือทัศนะใดที่อนุมัติให้ใช้กองทุน สสส. หรือไม่

คำชี้ขาดของผู้รู้บางท่านได้อ้างถึงคำกล่าวในมัซฮับต่างๆที่พูดถึงทรัพย์สินหะรอมที่อยู่ในบัยตุลมาล(คือกระทรวงการคลังของสังคม) ซึ่งมีทัศนะที่อนุโลมให้ใช้ทรัพย์สินประเภทนี้ จึงทำให้ผู้รู้บางท่านคิดว่าลักษณะกองทุน สสส. สอดคล้องกับลักษณะทรัพย์สินที่ระบุข้างต้น แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะกระทรวงการคลังแห่งประเทศไทยไม่ได้ใช้มาตรการการปกครองแผ่นดินด้วยกฎหมายอิสลาม ทำให้ระบบต่างๆเกี่ยวกับการบริหารมีข้อขัดแย้งกับหลักการศาสนาอิสลาม ส่วนทัศนะที่ระบุข้างต้นได้พูดถึงเงินหะรอมที่ถูกนำมาอยู่ในกระทรวงการคลัง โดยไม่ใช่รายได้ของประเทศชาติ เฉกเช่นเงินขโมยหรือทรัพย์สินผู้ทุจริตที่ถูกยึดมา หรือทรัพย์สินที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่งจำเป็นต้องมีทางออก เพราะไม่ได้ถูกเรียกมาโดยระบบของกระทรวงการคลัง แต่กองทุน สสส. ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นรายได้ประจำของกระทรวงการคลังและมีกฎหมายควบคุมอยู่ จึงแตกต่างจากเงินดังกล่าว และกองทุน สสส. นั้นมิใช่แต่เพียงทรัพย์สินหะรอมที่ปะปนกับรายได้อันบริสุทธิ์อื่นๆ แต่เป็นกองทุนที่ถูกแยกจากภาษีอื่นๆ ด้วยพระราชบัญญัติเฉพาะ จึงทำให้ลักษณะกองทุน สสส. มีความชัดเจนในตัวมัน ก็หมายถึงอยู่ในเครือข่ายคำพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่กล่าวไว้ว่า “วัลหะรอมุบัยยินุน” หมายถึง สิ่งที่ต้องห้ามก็มีความชัดเจนแล้ว

ผมเห็นว่ากองทุน สสส. ซึ่งไม่มีความขัดแย้งว่ามาจากแหล่งที่ต้องห้ามตามทัศนะอิสลามแน่นอน เป็นกองทุนที่กำลังถูกนำไปฟอกในสังคมมุสลิมเหมือนเงินฟอกที่ผิดกฎหมายแน่นอน เพียงแต่กองทุน สสส. ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองแต่ผิดกฎหมายอิสลาม เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งแปลกประหลาดที่ ปปง. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ไม่มีสิทธิตรวจสอบกองทุน สสส. ทั้งๆที่เป็นเงินที่งอกมาโดยไม่ชอบธรรม เปรียบเสมือนหวยบนดินที่รัฐบาลจัดการอยู่ไม่ได้ถูกปราบปราม แต่ที่อยู่ใต้ดินจึงเป็นหวยผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นสภาพที่ให้เห็นว่าการวินิจฉัยตัดสินว่ากองทุน สสส. ใช้ได้นั้น เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนไม่รอบคอบและไม่เจาะลึกถึงระบบการบริหารและการปกครองบ้านเมืองโดยคำนึงถึงหลักการศาสนาอิสลามที่ใช้ให้มุสลิมเป็นตัวอย่างแห่งสัจธรรมและศีลธรรม ผมขอให้พี่น้องมุสลิมมองว่ากองทุน สสส. เป็นทรัพย์สินที่ทรยศสังคม ทรัพย์สินโสมมและสกปรกที่กำลังถูกนำมาฟอกในสังคมมุสลิม เพื่อให้สังคมมุสลิมมีความรับผิดชอบในส่วนสกปรกนั้น และขอให้พี่น้องมุสลิมทั้งหลายมีวิสัยทัศน์ที่คำนึงถึงผลเสียหายด้านความบะรอกัตที่จะเกิดจากกองทุน สสส.

นอกจากนั้นกองทุน สสส. มิใช่เงินตอบแทนต่อผลงานที่สังคมมุสลิมได้รับใช้รัฐบาลไว้ แต่เป็นทรัพย์สินที่ถูกนำเสนอจากรัฐบาลฝ่ายเดียว ทั้งๆที่มุสลิมไม่มีส่วนจ่ายภาษีสุราและยาสูบทั้งสิ้น จากเหตุผลดังกล่าวและอื่นๆที่เกี่ยวกับสถานการณ์สังคมภายในประเทศและต่างประเทศ และเหตุผลเกี่ยวกับการเผชิญระหว่างวัฒนธรรมอิสลามกับวัฒนธรรมอื่นๆ และเหตุผลเกี่ยวกับแผนการของศัตรูอิสลามที่ต้องการทำลายสังคมมุสลิมทุกพื้นที่ ผมไม่เห็นว่ามีทางออกหรือทัศนะใดๆ ที่จะอนุโลมให้สังคมมุสลิมใช้กองทุน สสส. ได้

อย่างไรก็ตาม การที่ผมไม่เห็นด้วยกับการนำกองทุน สสส. มาใช้ในสังคมมุสลิมนั้น มิใช่หมายรวมว่ากองทุนนี้ต้องถูกทำลายหรือห้ามนำมาใช้เป็นอันขาด แต่ผมเห็นว่ากองทุนนี้รัฐบาลควรนำไปใช้ในสาธารณประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา เช่น ช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจากการดื่มสุรา สูบบุหรี่ และเสพยา หรือนำไปช่วยเหลือคนป่วยที่มีโรคร้ายแรงและไม่มีกองทุนสนับสนุน อาทิเช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ฟอกไต ซึ่งกรณีดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะอนุโลมให้ใช้กองทุนนี้ได้ เปรียบได้กับที่ศาสนาอนุโลมให้รับประทานอาหารหะรอมในกรณีฎอรูเราะฮฺ ซึ่งจากตรงนี้พี่น้องจะเห็นว่า กิจกรรมของมัสยิดและสถาบันต่างๆในสังคมมุสลิมไม่มีความจำเป็นที่จะรับเงินก้อนนี้ ดังนั้นขอให้พี่น้องมุสลิมทุกท่าน โดยเฉพาะผู้บริหารองค์กร หนักแน่นในหลักการศาสนาอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รู้ที่เป็นผู้นำสังคมจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งและตระหนักในจริยธรรมอิสลาม และอย่าให้เรื่องการเมืองและผลประโยชน์เป็นตัวตั้งในปัญหานี้

เรื่องนี้ไม่ใช่คำชี้ขาดเฉพาะปัญหากองทุน สสส. หากเป็นแนวทางของมุสลิมต่อทุกสิ่งที่เป็นข้อห้ามในหลักการของศาสนา จึงขอให้ปัญหาที่ผมนำเสนอตรงนี้ เป็นตัวอย่างที่ควรนำไปวิเคราะห์และยึดในความถูกต้องโดยใช้หลักศรัทธาอันมั่นคงของท่านและดุลยพินิจอันบริสุทธิ์ของผู้ศรัทธา

สุดท้าย ขอฝากไว้กับพี่น้องซึ่งอุทาหรณ์ที่มีความประจักษ์สำหรับเรื่องนี้และเป็นบทเรียนที่ลึกซึ้งในซูเราะตุลอะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 58 อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า “และเมืองที่ดีนั้นพืชของมันจะงอกออกมาด้วยอนุมัติแห่งพระเจ้าของมัน และเมืองที่ไม่ดีนั้นพืชของมันจะไม่ออกนอกจากในสภาพแกร็น ในทำนองนั้นแหละ เราจะแจกแจงบรรดาโองการทั้งหลายแก่กลุ่มชนที่ขอบคุณ”

ขอพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงประทานความเตาฟีกฮิดายะฮฺให้แก่พี่น้องมุสลิมในสังคมของเราโดยทั่วกันเทอญ

ฉบับล่าสุด ของ คุณรีฏอ

กองทุน สสส. และข้อเท็จจริงที่ต้องรู้

ริฎอ อะหมัด สมะดี

24 มิ.ย. 51

ในยุทธศาสตร์ของอิสลามเพื่อต้านระบอบญาฮิลียะฮฺที่คุกคามฟิฏเราะฮฺ(ความบริสุทธิ์)ของมนุษย์นั้น อิสลามได้คัดค้านทุกสิ่งที่เอื้อต่อความชั่วร้ายของระบอบญาฮิลียะฮฺ กล่าวคือให้ตัดความสัมพันธ์อย่างเด็ดขาด เพื่อมิให้มุสลิมมีข้อเกี่ยวข้องกับระบอบญาฮิลียะฮฺในทุกประการ ท่านแรกที่รับนโยบายนี้และริเริ่มปฏิบัติในการเผยแผ่อัลอิสลามคือ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในอายะฮฺที่ 5 ของซูเราะฮฺอัลมุดดัษษิร ซึ่งเป็นโองการแรกๆ ที่นบีรับจากอัลลอฮฺ พระองค์ตรัสว่า

وَالرُّجْزَ فَاهْجُرْ

ความว่า “และสิ่งสกปรกก็จงหลบหลีกให้ห่างเสีย”

สิ่งสกปรกที่อัลอิสลามต่อต้านได้ถูกระบุในอายะฮฺที่ 90 ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ ซึ่งอัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوا إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالْأَنْصَابُ وَالْأَزْلَامُ رِجْسٌ مِنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ

ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ที่จริงสุรา การพนัน แท่นหิน(สำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ) และการเสี่ยงติ้วนั้น เป็นสิ่งสกปรกอันเกิดจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ”

อายะฮฺนี้ถูกประทานลงมาช่วงก่อนท่านนบีเสียชีวิต เพราะซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺเป็นซูเราะฮฺสุดท้ายที่ถูกประทานลงมา เมื่อพิจารณาสองอายะฮฺที่ยกมาข้างต้นจะมีข้อสังเกตดังนี้

คำสั่งในอายะฮฺที่ 5 ของซูเราะฮฺอัลมุดดัษษิรเป็นคำสั่งแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่ในอายะฮฺที่ 90 ของซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺเป็นคำสั่งแก่บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย แสดงว่าอัลกุรอานได้ขยายคำสั่งจากการให้ท่านนบีต่อต้านสิ่งสกปรก ก็ให้บรรดาผู้ศรัทธามีส่วนร่วมในการต่อต้านสิ่งสกปรกดังกล่าว จึงสื่อให้เข้าใจว่าการต่อต้านสิ่งสกปรก(คือสุรา และอื่นๆ ที่มีลักษณะสกปรกคล้ายๆกัน) เป็นยุทธศาสตร์ที่สังคมมุสลิมต้องดำรงตลอดไป และเป็นหน้าที่ของผู้ศรัทธาทุกคนที่ต้องให้ความร่วมมือในการต่อต้านสิ่งสกปรก

ในอายะฮฺของซูเราะฮฺอัลมุดดัษษิร อัลลอฮฺมิได้ระบุรายละเอียดของสิ่งสกปรก เพียงแต่ห้ามมิให้เกี่ยวข้องกับสิ่งสกปรก แต่ในซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺได้ระบุตัวอย่างคือ สุรา การพนัน ฯลฯ นั่นหมายรวมว่าตัวอย่างของสิ่งสกปรกนั้นมิได้จำกัด ผู้ศรัทธามีหน้าที่ค้นหาและไตร่ตรองว่าอะไรคือสิ่งสกปรก เพื่อหลีกเลี่ยง

ในคำสั่งทั้งสองอายะฮฺใช้กริยาที่มีความหมายว่า “ให้ห่างไกลและหลบหลีก” คือ ฟะหฺญุร และ ฟัจญฺตะนิบู

ซูเราะฮฺอัลมุดดัษษิรเป็นซูเราะฮฺมักกียะฮฺ ส่วนซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺเป็นซูเราะฮฺมะดะนียะฮฺ หมายรวมว่าจรรยาบรรณของมุสลิมในการต่อต้านสิ่งสกปรกนั้น บทบัญญัติได้ยืนยันไว้ในทุกขั้นตอนที่มีการชี้แนะมุสลิมสู่การกระทำที่ดีงาม

นโยบายดังกล่าว ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ยืนยันไว้ในหะดีษที่บันทึกโดยบุคอรียฺและมุสลิม รายงานโดยท่านอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า เมื่อบรรดาโองการเกี่ยวกับการห้ามกินริบา(ดอกเบี้ย)ถูกประทานลงมา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ออกไปอ่านให้ประชาชนฟัง และท่านนบีได้ห้ามค้าขายสุรา และในบันทึกของมุสลิม รายงานโดยท่านอบูสะอี๊ด ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า แท้จริง อัลลอฮฺทรงห้ามสุรา ผู้ใดรับอายะฮฺนี้แล้วและยังครอบครองส่วนหนึ่งจากมัน(สุรา) ก็อย่าดื่มและอย่าขาย ท่านอบูสะอี๊ดกล่าวว่า ผู้คนก็มุ่งเอาสุราที่ครอบครองอยู่มาเทตามถนนในเมืองมะดีนะฮฺ

ท่านอิมามบุคอรียฺ[1] และอิมามอับดุรรอซซากได้บันทึกในหนังสืออัลมุศ็อนนัฟ[2] รายงานโดยท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิอับบาส ว่า ท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบได้ทราบว่าสะมุเราะฮฺขายสุรา ท่านอุมัรกล่าวว่า ขอให้อัลลอฮฺทรงลงโทษซามุเราะฮฺเถิด เขาไม่รู้หรือว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า ขอให้อัลลอฮฺลงโทษพวกยิว อัลลอฮฺทรงห้ามบริโภคไขมันสัตว์ พวกเขาก็เอาไขมันไปละลายและขาย และมีอีกสำนวนหนึ่งในมุศ็อนนัฟอับดุรรอซาก คือ อับดุลลอฮฺ อิบนิอับบาส กล่าวว่า ฉันได้เห็น อุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ ตีมือ(ด้วยความเสียใจหรือแปลกใจ)และกล่าวว่า ขออัลลอฮฺทรงลงโทษสะมุเราะฮฺ เขาเป็นผู้ว่าคนหนึ่งของเราที่ตำบลหนึ่งในอิรัก เขาได้ปะปนรายได้ของมุสลิมด้วยรายได้จาก(การขาย)สุราและสุกร ซึ่งมันหะรอมและรายได้ของมันก็หะรอม

หลักฐานข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากกระบวนการของอิสลามในการต่อต้านสุราและสิ่งสกปรก ซึ่งในกระบวนการอื่นๆ ก็จะมีสาระสำคัญยืนยันในจุดยืนของอิสลามเกี่ยวกับการต่อต้านสุราและสิ่งเกี่ยวข้อง อาทิเช่น การลงโทษผู้ดื่มสุราด้วยการโบย 40 หรือ 80 ครั้ง, การห้ามข้องเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและค้าขายสุรา (เช่น ห้ามแบก ซื้อแทน หยิบให้ ฯลฯ), ตลอดจนให้สถานะแก่ผู้ดื่มหรือเกี่ยวข้องกับสุราว่าเป็นฟาสิก(ผู้ประพฤติบาปใหญ่) ซึ่งฟาสิกนั้นจะไม่มีสิทธิ์เป็นอิหม่ามนำละหมาดหรือเป็นวะลีปกครองผู้อื่น หรือเป็นสักขีพยานในคดีต่างๆ หรือแม้แต่เลือกตั้งผู้นำก็จะหมดสิทธิ์ เพราะฉะนั้นไม่เป็นเรื่องน่าประหลาดที่อิมามนะวะวียฺได้กล่าวว่า การห้ามค้าขายเหล้านั้นเป็นที่ยอมรับโดยเอกฉันท์(จากบรรดาอุละมาอฺ)[3]

เมื่อพิจารณาโครงสร้างของยุทธศาสตร์อิสลามในการต่อต้านสุราจะพบว่าเป็นโครงสร้างที่เข้มแข็งและเด็ดขาด ก่อให้เกิดผลต่อจิตสำนึกของมุสลิมและมโนธรรมของสังคมด้วย อันเป็นสาเหตุชัดเจนที่ทำให้สังคมมุสลิมทุกยุคเป็นสังคมที่บริโภคสุราน้อยที่สุด

ประสิทธิผลจากบทบัญญัติอิสลามตรงนี้กลายเป็นจุดเด่นของสังคมมุสลิมในโลกใบนี้ ซึ่งผู้ที่ไม่หวังดีกับมุสลิมก็จะพยายามทำลายความสำเร็จนี้ในทุกรูปแบบ เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าสังคมมุสลิมมีเอกฉันท์ในการต่อต้านอบายมุขโดยเฉพาะสุราอยู่แล้ว แต่บัดนี้เริ่มมีทิศทางใหม่ที่สวนกับเอกฉันท์ดังกล่าว แต่เป็นเสียงที่มีน้ำหนักทางวิชาการ จึงต้องนำมาพิเคราะห์เพื่อให้รู้ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้

เมื่อมีโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ผมได้เขียนบทความ[4]ชี้แจงทัศนะของผมเกี่ยวกับการนำภาษีสุราและยาสูบมาจัดกิจกรรมต่างๆในสังคมมุสลิมว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการศาสนาและเป็นแผนการที่จะให้สังคมมุสลิมเข้าระบบที่มีสิ่งสกปรกเป็นเนื้อหาของระบบนั้นๆ และผมได้อธิบายข้อแตกต่างระหว่างกรณีจำเป็น อาทิเช่น กรณีมุสลิมทำงานราชการจึงต้องรับเงินเดือนที่มาจากภาษีทั่วไปซึ่งอาจมีรายได้ส่วนหนึ่งจากสิ่งสกปรก และกรณีที่ไม่มีความจำเป็น เช่น ภาษีสุราและยาสูบที่ถูกแยกโดย พ.ร.บ. ให้แก่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งการใช้เงินของสำนักงานฯ ดังกล่าวไม่ถือว่ามีความจำเป็นแต่อย่างใด

อนึ่ง การชี้แจงในเรื่องดังกล่าวได้คำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของนักวิชาการที่เป็นผู้นำสังคมมุสลิม โดยต้องทำหน้าที่เหมือนยามเฝ้าสังคมจากภัยพิบัติต่างๆ มิใช่หาทางออกหรือข้ออนุโลมให้แก่สังคมมุสลิมในวิถีชีวิตที่ถูกเสนอมาจากผู้ซึ่งไม่มีศีลธรรมเหมือนมุสลิม และในทำนองนี้ผมจึงเข้าใจว่านักวิชาการบางท่านที่เห็นตรงข้ามกับผม ถึงแม้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเงินกองทุนนี้ว่าสามารถรับได้ แต่ผมสังเกตว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ค่อยกระตือรือต้นที่จะให้ความร่วมมือกับกองทุนดังกล่าว อันบ่งถึงวะเราะอฺ(ความสำรวมตน)จากสิ่งชุบหัตเท่าที่ทำได้ และผมไม่เคยคาดว่าจะมีนักวิชาการที่มีความกระตือรือร้นในการให้ความร่วมมือและสนับสนุนกองทุน สสส. ถึงขั้นที่นำหลักฐานเท็จมาเสนอหรือนำเนื้อหาทางบทบัญญัติมาเสนออย่างคลาดเคลื่อน พวกเขาจะเจตนาหรือไม่ก็เป็นอีกประเด็น ทั้งนี้การตอบโต้ในทุกกรณีก็จะมีความรุนแรงไปตามระดับความเหมาะสม

ผมได้รับข้อมูลเป็นข้อความบันทึกและเสียงชี้แจงของนักวิชาการท่านหนึ่งเกี่ยวกับกองทุน สสส. ที่ได้ยืนยันในความถูกต้องของการใช้เงิน สสส. โดยอ้างว่าท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ เคยเก็บภาษีจากสุรา และผมได้พบบทความของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งจากภาคใต้กล่าวในทำนองเดียวกันเกี่ยวกับการใช้ภาษีที่นำมาจากสุราและสุกร ก่อนอื่นผู้อ่านต้องทราบว่ามีนักวิชาการต่างประเทศที่เห็นด้วยและเคยออกฟัตวาเยี่ยงฟัตวาของนักวิชาการบ้านเรา แต่ในเชิงวิชาการแล้วจะไม่มีใครสามารถเปลี่ยนความถูกต้องได้ด้วยการยอมรับของกลุ่มคนส่วนมาก แม้จะเป็นนักวิชาการก็ตาม ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก เสมอต้นเสมอปลาย ต้องกล่าวเช่นนี้เพราะในสังคมของเราก็ยังมีผู้ที่ให้น้ำหนักกับฟัตวาที่มีผู้ลงนามเป็นด๊อกเตอร์มากกว่า โดยไม่คำนึงถึงเนื้อหาและตัวบท จึงต้องปรับความเข้าใจตรงนี้เพื่อให้กระบวนการวิชาการในสังคมมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สำหรับคำด่าทอและการประณามที่ไม่มีเหตุผลหรือการเหยียดหยามเสียดสีที่อาจมีใครใช้ในทุกฝ่าย ผมขอแสดงความไม่เห็นด้วย แต่ผมเห็นด้วยกับการใช้คำรุนแรงบ้างตามความเหมาะสม เพราะเป็นวิถีทางในการปราบปรามความชั่วในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความผิดเกิดขึ้นเองกับผู้ที่ต้องทำหน้าชี้แนะสังคม

สำหรับข้อกล่าวอ้างของนักวิชาการที่เห็นด้วยกับการใช้กองทุน สสส. นั้น เดิมก็เป็นข้ออ้างกว้างๆ ที่ไม่มีตัวบทหลักฐานชัดเจน เป็นเพียงเหตุผลทางปัญญามากกว่า แต่ล่าสุดได้มีการเสนอหลักฐานจากการปฏิบัติของท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ ซึ่งเป็นเคาะลีฟะฮฺท่านที่สอง ว่าท่านเคยเก็บภาษีจากสุรา ซึ่งข้ออ้างข้างต้นเป็นความคลาดเคลื่อนที่ร้ายแรง อันเป็นข้อบกพร่องทางวิชาการและทางบรรทัดฐานแห่งการค้นหาและวิจัย โดยจะขออธิบายดังต่อไปนี้

ประการแรก

การรายงานที่ว่า ท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ ได้เก็บภาษีจากสุรานั้น มีบันทึกเอาไว้ในหนังสืออัลอัมวาล ของอบีอุบัยดฺ อัลกอซิม อิบนุซัลลาม และหนังสืออัลอัมวาล ของอิบนุซินญะวิหฺ ซึ่งหนังสืออัลอัมวาลเล่มหลังนี้ส่วนมากย่อมาจากของ อัลกอซิม อิบนุซัลลาม หนังสือทั้งสองเล่มนี้เป็นตำราสำคัญที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งรายได้ของรัฐอิสลามในสมัยท่านนบีและเศาะฮาบะฮฺ และเป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่งเพราะได้ถูกบันทึกในฮิจญฺเราะฮฺศตวรรษที่ 3 และ 4 ดังนั้นตำราต่างๆที่วิจัยเรื่องเศรษฐศาสตร์อิสลามก็จะอ้างถึงหนังสือดังกล่าวเสมอ

ในหนังสืออัลอัมวาลของ อบีอุบัยดฺ อัลกอซิม อิบนุซัลลาม ได้รายงานเรื่องของอุมัรอิบนุลค็อฏฏ๊อบในหัวข้อ บาบุลอัคซิ อัลญิซยะติ มินัลค็อมริ วัลคินซีริ (การเก็บญิซยะฮฺจากสุราและสุกร) ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีญิซยะฮฺในระบอบเศรษฐศาสตร์อิสลามเสียก่อน ภาษีญิซยะฮฺนั้นอัลกุรอานได้บังคับเก็บจากอะฮฺลุลกิตาบ(และต่างศาสนิกทั่วไป ในทัศนะอุละมาอฺบางท่าน)[5] เพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของต่างศาสนิกในดินแดนมุสลิม ญิซยะฮฺเป็นภาษีรายบุคคลและเป็นค่าตอบแทนในหน้าที่ของรัฐอิสลามที่จะให้บริการแก่คนต่างศาสนิกที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ ซึ่งต่างจากภาษีธุรกรรมหรือธุรกิจ โดยที่ตามระบอบเศรษฐศาสตร์อิสลามนั้น ถ้าเป็นมุสลิมก็จะจ่ายซะกาตต่อทรัพย์สินหลายชนิด รวมถึงซะกาตธุรกิจด้วย แต่ถ้าเป็นต่างศาสนิกนอกจากภาษีญิซยะฮฺแล้วจะมีภาษีธุรกิจหรือภาษีการค้าของต่างศาสนิก ที่เรียกว่า อัลอุชุร ซึ่งท่านแรกที่บังคับเก็บภาษีนี้คือ ท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ เมื่ออาณาจักรอิสลามได้ขยายตัว และเมื่อท่านอุมัรทราบว่านักธุรกิจมุสลิมที่ไปทำธุรกิจในต่างแดนจะต้องจ่ายภาษีธุรกิจให้แก่รัฐอื่นเป็นจำนวน 1 ใน 10 ส่วนของต้นทุน ท่านจึงได้บังคับเก็บจากนักธุรกิจต่างศาสนิกที่เข้ามาในดินแดนของมุสลิมให้ต้องจ่ายเช่นเดียวกัน และในระยะต่อมาได้มีการเก็บภาษีธุรกิจจากต่างศาสนิกที่เข้ามาทำธุรกิจและอาศัยอยู่ในอาณาจักรอิสลามด้วย และที่มีรายงานว่าท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบได้เก็บภาษีจากสุรานั้น ในความจริงก็คือภาษีญิซยะฮฺ มิใช่ภาษีธุรกิจ การจำแนกระหว่างภาษีสองประเภทนี้มีระบุชัดเจนในหนังสืออัลอัมวาลของอบูอุบัยดฺ อัลกอซิม โดยท่านได้กล่าวว่า

ถ้าหากอัซซิมมียฺ[6]ได้พบอัลอาชิร(ผู้เก็บภาษีธุรกิจ) โดยเขา(อัซซิมมียฺ)ครอบครองสุราและสุกรอยู่ แท้จริงไม่เป็นความบริสุทธิ์สำหรับผู้เก็บภาษีที่จะคิดเก็บภาษีจากมัน(สุราและสุกร) แต่ไม่เก็บภาษีจากรายได้ของมัน(สุราและสุกร) ถึงแม้ว่าอัซซิมมียฺเป็นผู้ดำเนินการขายมันเองก็ตาม ท่านอบูอุบัยดฺ อัลกอซิม กล่าวว่า หมวดนี้(ภาษีธุรกิจ)ไม่เหมือนหมวดแรก(ภาษีญิซยะฮฺ) และไม่คล้ายกันด้วย เพราะหมวดนั้น(ภาษีญิซยะฮฺ)เป็นสิทธิที่ต้องชำระรายบุคคลและที่ดิน[7] แต่ภาษีธุรกิจนี้เป็นภาษีที่ถูกกำหนด(ให้เก็บ)ต่อตัวสุราและสุกรเอง ดังนั้นรายได้ของมันจึงไม่อาจที่จะบริสุทธิ์ได้ เพราะท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า แท้จริงถ้าอัลลอฮฺห้ามสิ่งหนึ่งสิ่งใด อัลลอฮฺก็จะห้ามรายได้ของมัน

ท่านอบูอุบัยดฺกล่าวต่อไปว่า และมีรายงานว่าท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ ฟัตวาในภาษีธุรกิจไม่เหมือนที่เคยฟัตวาในภาษีญิซยะฮฺ และท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร อิบนุอับดุลอะซีซ ก็กล่าวเช่นเดียวกับท่านอุมัรอิบนุลค็อฏฏ๊อบ ท่านอบูอุบัยดฺได้รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุหุบัยเราะฮฺว่า แท้จริงท่านอุตบะฮฺ อิบนุฟัรก็อด ได้ส่งเงินไปยังท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ จำนวนสี่หมื่นดิรฮัมเป็นรายได้จากภาษีสุรา ท่านอุมัรจึงเขียนหนังสือตอบไปว่า ท่านได้ส่งรายได้ภาษีของสุรามาและสมควรที่ท่านจะรับมันไปมากกว่ามุฮาญิรีน ท่านจงประกาศต่อผู้คนทั้งหลาย[8] ท่านอุมัรกล่าวต่อไปว่า ขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่าฉันจะไม่ใช้ท่าน(คือ อุตบะฮฺ อิบนุฟัรก็อด)ในตำแหน่งใดต่อไป ผู้รายงานเหตุการณ์นี้กล่าวว่า ดังนั้น ท่านอุมัรจึงละทิ้งมัน(คือภาษีธุรกิจที่เก็บจากสุรา)

ท่านอบูอุบัยดฺกล่าวว่า ท่านอับดุรเราะหฺมาน อิบนุมะหฺดี เล่าว่า จากท่านอัลมุษันนา อิบนุสะอี๊ด อัฎฎ๊อบอียฺ กล่าวว่า ท่านอุมัร อิบนุอับดุลอะซีซ[9] ได้เขียนหนังสือถึง อะฎียฺ อิบนุอัรเฏาะอะฮฺ (เป็นผู้ว่าในตำบลหนึ่ง) ให้ส่งรายงานเกี่ยวกับแหล่งรายได้ของรัฐว่ามาจากไหนบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งจากที่ท่านอะฎียฺรายงานไว้ก็คือ มีรายได้จากภาษีธุรกิจของสุราจำนวน 4,000 ดิรฮัม ผู้รายงานเหตุการณ์กล่าวว่า หลังจากได้ผ่านไประยะหนึ่ง จึงมีคำตอบจากเคาะลีฟะฮฺอุมัร อิบนุอับดุลอะซีซ ว่า แท้จริงท่าน(อะฎียฺ)ได้รายงานยังฉันว่า มีรายได้จากภาษีธุรกิจสุรา 4,000 ดิรฮัม และแท้จริงสุรานั้นไม่อนุญาตให้มุสลิมเก็บภาษีธุรกิจจากมัน จะดื่มมันและขายมันก็ไม่ได้ ถ้าจดหมายของฉันได้ถึงท่านแล้วก็จงเรียกชายคนนั้น(ผู้ที่จ่ายภาษีธุรกิจสุรา)และจงคืนให้เขาไป อะฎียฺ อิบนุอัรเฏาะอะฮฺ จึงได้เรียกชายคนนั้นมาและคืน 4,000 ดิรฮัมให้เขากลับไป และท่านอะฎียฺกล่าวว่า ขอความอภัยโทษต่ออัลลอฮฺ แท้จริงฉันไม่รู้

ท่านอบูอุบัยดฺ อัลกอซิม กล่าวว่า ในทัศนะของข้าพเจ้า นั้น(การไม่เก็บภาษีธุรกิจสุรา)เป็นสิ่งที่มีการปฏิบัติ(หมายถึงจากเหล่าเศาะฮาบะฮฺและตาบิอีนทั้งหลาย) ถึงแม้ว่าอิบรอฮีม อันนะคะอียฺ ได้กล่าวอย่างอื่น และท่านอบูอุบัยดฺได้กล่าวถึงรายงานของอิบรอฮีม อันนะคะอียฺ และอบูหะนีฟะฮฺ ที่ให้เก็บภาษีสุราจากต่างศาสนิกหลายเท่า แต่ท่านอบูอุบัยดฺกล่าวว่า ทัศนะของเคาะลีฟะฮฺสองท่าน คืออุมัรอิบนุลค็อฏฏ๊อบและอุมัร อิบนุอับดุลอะซีซ[10]สมควรที่จะได้รับการปฏิบัติตามมากกว่า

ในหนังสืออะหฺกามุอะฮฺลิซซิมมะฮฺ เล่ม 1 หน้า 21 ท่านอิมามอิบนุก็อยยิมกล่าวว่า สิ่งที่เคาะลีฟะฮฺทั้ง 2 ท่าน[11] ได้ห้ามเก็บภาษีก็คือ การกำหนดให้เก็บภาษีจากตัวสุราและสุกร ในกรณีที่พวกเขาได้ค้าขายสิ่งนั้น แต่ถ้าหากว่าเป็นการได้ค่าตอบแทนจากรายได้ของมัน(สุราและสุกร) ซึ่งเป็นสิทธิของเราในแง่อื่น นั่นก็ถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น จึงมีความแตกต่างกันสำหรับรายได้จากตัวสุราและสุกร กับรายได้ที่มาจากการจ่ายญิซยะฮฺหรือใช้หนี้ หรื่ออื่นๆ ซึ่งข้อแตกต่างนี้เป็นที่ประจักษ์ชัด

จากการนำเสนอของอบูอุบัยดฺ อัลกอซิม เห็นชัดว่าท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ ไม่เคยเก็บภาษีจากธุรกิจสุราเลย แต่สำหรับการเก็บภาษีญิซยะฮฺจากต่างศาสนิกที่ค้าขายสุรานั้นก็มีอยู่ 2 ทัศนะที่มาจากท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ คือ

1) ไม่อนุญาตให้เก็บ ซึ่งปรากฏในการบันทึกของท่านอิมามบุคอรียฺและอิมามอับดุรเราะซาก ซึ่งท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ ได้ตำหนิสะมุเราะฮฺที่นำภาษีมาจากรายได้ของสุราและสุกรมาปะปนกับรายได้อื่นๆของรัฐ

2) อนุญาตให้เก็บภาษีญิซยะฮฺกับต่างศาสนิกที่ค้าขายสุรา โดยไม่อนุญาตให้เก็บเป็นสุราหรือสุกร แต่ให้เก็บเป็นเงินตรา ถึงแม้ว่าจะเป็นรายได้ที่มาจากสุราและสุกรก็ตาม เพราะภาษีญิซยะฮฺนั้นเป็นสิทธิของรัฐ และถือเป็นค่าตอบแทนในการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ชาวต่างศาสนิก แต่ถึงกระนั้นก็ตามการเก็บภาษีญิซยะฮฺจากต่างศาสนิกที่ค้าขายสุราก็ยังเป็นความคิดเห็นของเศาะฮาบะฮฺ และท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ ก็มีการรายงานทัศนะตรงข้ามว่า ท่านไม่ได้เก็บภาษีญิซยะฮฺจากรายได้ของสุราด้วย ทั้งๆที่ทัศนะของเศาะฮาบะฮฺก็ยังไม่มีสถานะเป็นหลักฐานเหมือนบทบัญญัติ และยังเป็นทัศนะที่ไม่ค่อยตรงกับหะดีษของนบีที่ไม่อนุญาตให้รับรายได้จากการค้าขายสุรา ด้วยเหตุนี้เองท่านอิมามอิบนุฮัมบัลจึงได้แสดงทัศนคติต่อทัศนะของอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบที่ให้เก็บญิซยะฮฺจากการค้าขายสุราว่า เป็นทัศนะที่ไม่ดีและฉันไม่ชอบ[12]

ประการที่ 2

ทัศนะของอุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ ที่อนุญาตให้รับรายได้จากการค้าขายสุราในนามภาษีญิซยะฮฺนั้น มิได้หมายรวมว่ารัฐอิสลามอนุมัติให้ค้าขายสุราในสังคมมุสลิมได้แต่อย่างใด เพราะโดยกฎหมายอิสลามแล้วไม่อนุญาตให้มุสลิมทำธุรกิจเกี่ยวกับสุรา แต่สำหรับต่างศาสนิกที่เชื่อว่าการดื่มสุราไม่เป็นที่ต้องห้ามในศาสนาของเขา กฎอิสลามก็อนุมัติให้เขาเหล่านั้นผลิต ดื่ม และค้าขายสุราได้โดยไม่เปิดเผย เพราะกฎอิสลามยอมรับให้ต่างศาสนิกอาศัยอยู่บนแผ่นดินอิสลามโดยใช้กฎศาสนาของเขาเป็นเกณฑ์ หากศาสนาของเขาไม่มีข้อห้ามในสิ่งหนึ่งสิ่งใดรัฐอิสลามก็ไม่ขัดข้องที่จะให้พวกเขาทำสิ่งเหล่านั้น ยกเว้นสิ่งที่ขัดกับกฎหมายอิสลามก็จำต้องรักษาสภาพสังคมมุสลิมโดยไม่ให้เปิดเผยการกระทำที่ต้องห้ามในสังคมมุสลิม ถึงแม้ว่าเป็นที่อนุญาตในศาสนาอื่นก็ตาม

ท่านอิมามกุรฏุบียฺกล่าวไว้ในตัฟซีรของท่าน (เล่ม 8 หน้า 113) ว่า ถ้าต่างศาสนิกได้ชำระญิซยะฮฺที่ถูกกำหนดแก่พวกเขาแล้ว ก็จำต้องให้อิสรภาพแก่เขาในการครอบครองทรัพย์สินของเขา รวมทั้งสวนองุ่นและการผลิตสุรา โดยให้กระทำอย่างปกปิดและไม่ขายให้แก่มุสลิม ทั้งยังต้องไม่เปิดเผยการค้าสุราและสุกรในตลาดของมุสลิม ถ้าหากเปิดเผยสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากนั้นก็ต้องทำลายและลงโทษผู้ที่กระทำ และถ้าหากมีมุสลิมทำลายสุราของต่างศาสนิกที่ได้จ่ายญิซยะฮฺแล้วโดยที่เขาก็มิได้ทำการค้าขายสุราของเขาอย่างเปิดเผย เช่นนี้ถือว่ามุสลิมผู้นั้นละเมิดสิทธิของต่างศาสนิกและบางทัศนะบังคับให้เขาต้องชดใช้ด้วย

สำหรับการรับค่าตอบแทนจากต่างศาสนิกที่มีรายได้ที่หะรอม(เช่น รายได้จากการค้าขายสุรา)นั้น ถ้ามุสลิมขายสินค้าหรือบริการที่หะล้าลให้แก่ต่างศาสนิกเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ก็อนุญาตให้รับค่าตอบแทนดังกล่าวได้ ท่านอิมามอิบนุตัยมียะฮฺได้กล่าวว่า สิ่ง(หะรอม)ที่ได้มาด้วยความเชื่อว่าไม่ใช่หะรอมโดยการตีความ ก็อนุญาตให้มุสลิมแลกเปลี่ยนได้ ถึงแม้ว่าฝ่ายที่แลกเปลี่ยนฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นได้มาด้วยสัญญาที่หะรอมก็ตาม อาทิเช่น ต่างศาสนิกที่มีรายได้จากการขายสุรา ก็อนุญาตให้มุสลิมทำการค้ากับเขาได้ ถึงแม้ว่าไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับมุสลิมที่จะขายสุรา ดังที่ อุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ กล่าวว่า จงให้เขาขายและเอารายได้ของมัน(ประเด็นภาษีญิซยะฮฺ)[13]

จากการอธิบายข้างต้นสามารถเข้าใจได้ว่ารายได้จากสิ่งหะรอมของต่างศาสนิกนั้น ถ้าเป็นค่าตอบแทนให้กับมุสลิมในสิ่งหะล้าลที่มุสลิมได้ขายให้เขาไปนั้น ก็จะไม่ถือว่าเป็นการหะรอมสำหรับมุสลิม ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการมอบรายได้ที่หะรอมให้โดยมิได้เป็นค่าตอบแทนอย่างกรณีของเงิน สสส.

บางท่านอาจคิดว่านบีเคยรับฮะดียะฮฺ(ของขวัญ)จากต่างศาสนิก ทำให้รายได้ของท่านมีสิ่งหะรอมปะปนด้วย แต่ข้ออ้างนี้มิใช่เหตุผลที่พอเพียงในการใช้เป็นข้ออ้างเพื่อรับเงินจากกองทุน สสส. เพราะของขวัญ(ฮะดียะฮฺ)นั้นไม่ได้อยู่ในสถานะของเงินภาษี และของขวัญนั้นอาจมาจากรายได้ที่ปะปนระหว่างสิ่งหะล้าลกับสิ่งหะรอมของต่างศาสนิกด้วย แต่กองทุน สสส. นั้นมาจากแหล่งที่หะรอมอย่างแน่นอน อนึ่งการรับเงินกองทุน สสส. ก็เท่ากับเป็นการยอมรับในระบบภาษีอากร ที่ให้การยอมรับในผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่จ่ายภาษีถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นระบอบญาฮิลียะฮฺที่มุสลิมต้องออกห่างและปฏิเสธเท่าที่จะกระทำได้

ประการที่ 3

พี่น้องมุสลิมทั่วไปและนักวิชาการต้องเข้าใจด้วยว่าการกระทำบางอย่างนั้นไม่เพียงพอที่จะค้นหาหลักฐานที่จะบ่งชี้ว่าการกระทำนั้นๆเป็นที่อนุญาตหรือไม่ตามหลักศาสนา ในเมื่อการกระทำนั้นจะส่งผลตามมาซึ่งความเสียหายในด้านศาสนา เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในระดับบุคคลหรือมวลชน ซึ่งการกระทำเช่นนี้จำต้องมองถึงอนาคตอีกด้วย ที่นักวินิจฉัยทางนิติศาสตร์อิสลามเรียกว่า อัลมะอาล และจะใช้หลักการ ซัดดุซซะรออิอฺ คือการป้องกันและปราบปรามเพื่อมิให้เกิดซึ่งความเสียหายในอนาคต

ในกรณีกองทุน สสส. นั้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามันจะทำให้สังคมมุสลิมเรามีจุดยืนที่อ่อนลงต่อโครงการอื่นๆ ที่อาจตามมา ซึ่งมีความร้ายแรงกว่ากองทุน สสส. อาทิเช่น หากรัฐบาลได้นำภาษีสถานบันเทิง บ่อนคาสิโน อาบอบนวด หรืออื่นๆ มาสนับสนุนกิจกรรมสตรีหรือดูแลสตรีที่ถูกข่มขืนหรือมีปัญหาทางสังคม หรือถ้ารัฐบาลนำภาษีหวยบนดินมาสนับสนุนนักเรียนที่เรียนศาสนาในต่างประเทศ สังคมมุสลิมจะมีทัศนคติอย่างไรต่อโครงการเยี่ยงนี้ ก็ในเมื่อเคยรณรงค์สนันสนุนและกระตือรือร้นต่อกองทุน สสส.มาแล้ว ผมคาดว่าอีกไม่นานสังคมมุสลิมเราคงมองเรื่องเงินหรือรายได้ที่หะรอมว่าเป็นประเด็นที่ไร้สาระที่ควรมองข้ามไป เป็นเพราะเห็นองค์กรมุสลิมที่เป็นระดับแกนนำยังขอความช่วยเหลือจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และเห็นนักวิชาการมุสลิมระดับประเทศยังพยายามสุดความสามารถเพื่อที่จะหาหลักฐานมารองรับกองทุน สสส. ซึ่งวินัยของสังคมมุสลิมในการรักษาสภาพความบริสุทธิ์แห่งความเป็นมุสลิมนั้นจะเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะนักวิชาการได้เสนอเพียงทัศนะที่อนุโลมทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้สังคมมุสลิมไม่เดือดร้อนและสามารถเข้ากับสังคมต่างศาสนิกได้อย่างง่ายดาย

ประการที่ 4

ถ้าเราลำดับหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้จะพบว่าทั้งอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ชี้ขาดให้ห่างไกลจากสุราและมิให้เกี่ยวข้องกับมันแม้แต่น้อย ซึ่งแหล่งหลักฐานสองแหล่งนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะบัญญัติมาตรการให้แก่สังคมมุสลิมอย่างชัดเจน และอีกประการหนึ่งคือในภาคปฏิบัติของเหล่าเศาะฮาบะฮฺ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเคาะลีฟะฮฺ เช่น อุมัร อิบนุลค็อฏฏ๊อบ ที่เราได้นำเสนอการพิพากษาของท่านข้างต้นนั้น ย่อมเป็นน้ำหนักเสริมในเรื่องความตระหนักในจุดยืนของประชาชาติอิสลามต่อปัญหาสุรา ผู้ศรัทธาที่นิยมชมชอบความประพฤติของบรรพชนยุคแรก(อัสสะละฟุศศอลิหฺ) จะถือว่าการปฏิบัติของคนในยุคแรกที่อยู่บนบรรทัดฐานของอัลกุรอานและหะดีษเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ของบทบัญญัติอันมีความน่าเชื่อถือได้สูงสุดสำหรับผู้วินิจฉัยและชี้ขาดปัญหาของศาสนา แต่ที่ผมแปลกใจคือมีบางกลุ่มที่อ้างตนเป็นสะละฟียูนคือแบบฉบับผู้ศรัทธาหรือผู้นิยมบรรพชนยุคแรกของประชาชาติอิสลาม กลับไม่เอาหลักฐานที่สมบูรณ์แบบคือความประพฤติของบรรพชนยุคแรก อันประกอบไปด้วยหลักฐานจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ มิหนำซ้ำยังเอาข้อวินิจฉัยของผู้รู้ยุคหลังมาหักล้างและยังสร้างความสับสนในตัวบทที่มีความชัดเจน

ประการที่ 5

ทุกวันนี้ผมอับอายกลุ่มพุทธศาสนิกชนหลายกลุ่มที่ออกมาต่อต้านสิ่งอบายมุข เช่น ต่อต้านบ่อนคาสิโน หวยบนดิน นำโรงงานผลิตเหล้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันนักวิชาการมุสลิมเรากลับแข่งขันกันเสาะหาหลักฐานเพื่อมารองรับกองทุน สสส. และยังตั้งสถาบัน สสม. เพื่อแจกจ่ายเงินกองทุนนี้ให้สังคมมุสลิมโดยเฉพาะ กิจกรรมที่กองทุน สสส. ได้จัดขึ้นในสังคมมุสลิมก็ถูกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ซึ่งเห็นได้อย่างเด่นชัดว่าบทบาทของกองทุน สสส. ในสังคมมุสลิมสูงกว่าในสังคมที่ไม่ใช่มุสลิม

ประการที่ 6

ผมก็ยังยืนยันว่ากองทุน สสส. หรือทรัพย์สินต่างๆ ที่มาจากแหล่งหะรอมนั้นสามารถนำไปใช้ในสาธารณประโยชน์ที่ไม่ใช่กิจกรรมทางศาสนาได้ เช่น บำบัดผู้ป่วยมะเร็งเนื่องจากสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา เป็นต้น เพราะอยู่ในขอบข่ายของแหล่งรายได้หะรอม ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้เฉพาะกรณีฎอรูเราะฮฺ(คือมีความจำเป็น) แต่ปัญหาทุกวันนี้คือ สสส. และ สสม. รณรงค์ที่จะนำเงินก้อนนี้มาสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม เช่น อบรมภาคฤดูร้อนที่มีสอนอัลกุรอาน บูรณะมัสญิดและกิจกรรมของมัสญิด คิตานหมู่ ทุนการศึกษาของนักศึกษามุสลิม และอื่นๆ ทั้งๆที่สังคมเราไม่มีฎอรูเราะฮฺแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องไปใช้เงินประเภทนี้ หากยังมีสิทธิของมุสลิมในเงินภาษีอากรที่หนุนงบประมาณแผ่นดินแต่ไม่ได้ถูกแจกจ่ายแก่สังคมมุสลิมอย่างเป็นธรรม เหตุใดมุสลิมจึงไม่เรียกร้องสิทธิตรงนี้ แทนที่จะคอยรับเงินจากแหล่งหะรอมล้วนๆ และหาเหตุผลทางศาสนาเพื่อให้สามารถนำเงินนั้นมาใช้ได้

ประการที่ 7

บางคนอาจมองไม่เห็นอันตรายและความชั่วร้ายของเงิน สสส. เพราะในความเข้าใจหรือมโนภาพของตนยังเชื่อว่าประเด็นนี้คือภาษีที่เก็บจากประชาชนก็ไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ ก็เหมือนนักวิชาการบางคนที่มองประเด็นอาหารเซ่นไหว้ว่าเป็นเพียงทรัพย์สินที่ไม่มีเจ้าของสามารถบริโภคได้ การมองประเด็นแบบนี้ถ้าเป็นคนเอาวาม(คนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้รู้)ก็อาจให้อภัยได้ แต่ถ้ามีนักวิชาการมองปัญหาเช่นนี้ ก็ต้องตำหนิและท้วงติง

ประการที่ 8

การที่ผมตอบโต้ในเรื่องนี้อาจมีคำพูดที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ผมเห็นว่าการมุ่งมั่นของนักวิชาการมุสลิมที่จะใช้เงินกองทุน สสส. และการรณรงค์ให้สังคมมุสลิมยอมรับในกิจกรรมของ สสส. ตลอดจนการนำเสนอหลักฐานอย่างคลาดเคลื่อน ถึงขั้นที่ท่านอุมัรถูกข้อครหาว่าเก็บภาษี(ธุรกิจ)จากสุรา ผมว่ามันร้ายแรงและรุนแรงกว่า

สุดท้ายนี้ผมขอยืนยันว่าผมเคารพในสิทธิของนักวิชาการที่จะมีความเห็นต่างกัน ผมเคารพในสิทธิของนักวิชาการที่จะมีข้อวินิจฉัยตรงข้ามกัน ผมเคารพในสิทธิของนักวิชาการที่จะนำเสนอสิ่งที่ตนเองวินิจฉัยและเชื่อถือ ผมเคารพในสิทธิของสังคมที่จะเลือกเอาซึ่งทัศนะที่มีน้ำหนักมากกว่าตามหลักวิชาการ แต่ผมขอใช้สิทธิ์วินิจฉัยและนำเสนอความคิดส่วนตัว พร้อมทั้งท้วงติงความคิดที่ผมเห็นว่าเป็นอันตรายต่อสังคม ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ที่อัลลอฮฺให้แก่มุสลิมทุกคนอยู่แล้วดังพระดำรัสของพระองค์ในซูเราะฮฺอาลิอิมรอนว่า “และจงให้มีกลุ่มหนึ่งจากพวกเจ้า เรียกร้องสู่ความดี และปราบปรามมุงกัร(ความชั่วร้าย)” และหะดีษที่บันทึกโดยอิมามมุสลิม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านได้เห็นมุงกัร(ความชั่วร้าย) ก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยมือ(คืออำนาจ) ถ้าไม่สามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น(ตักเตือนด้วยวิชาความรู้) ถ้าไม่สามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจ(คือคัดค้านและเกลียดชังด้วยความรู้สึก)” และผมมองประเด็น สสส. นี้ว่าเป็นมุงกัรชัดๆ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะนิ่งเฉยและปกปิดความเชื่อเพื่อเคารพและให้เกียรติและเคารพในสิทธิ์ของความเห็นต่าง

--------------------------------------------------------------------------------

[1] ดูฟัตหุลบารี เล่ม 5 หน้า 93

[2] เล่ม 6 หน้า 75

[3] ดู ชัรหฺ ศ่อฮี้ฮฺมุสลิม ของอันนะวะวียฺ เล่ม 5 หน้า 439

[4] บทความเรื่อง เงินบาปจะนำไปใช้ในชีวิตเราได้หรือไม่?

[5] ดูอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺ 29

[6] คืออะฮฺลุลกิตาบยิวและคริสต์ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินอิสลามและจ่ายภา

การใช้ประโยชน์ของมุสลิมจากภาษีสุรา ภาษีสุกรที่เก็บโดยรัฐบาลไทย ในมุมมองของกฎหมายอิสลาม

เขียนโดย ดร.มะรอนิง สาแลมิง

ปัญหาภาษีสุรา ภาษีสุกร ที่เก็บโดยรัฐบาลไทยและเป็นงบพัฒนาประเทศ เป็นปัญหาหนึ่งที่มุสลิมในประเทศไทยให้ความสนใจ และสับสนในเรื่องข้อกำหนดของศาสนาว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติ หรือเป็นสิ่งที่ต้องห้าม สาเหตุจากข้อบัญญัติศาสนาที่ห้ามมุสลิมเกี่ยวข้องกับสุรา สุกรหรือการพนัน ซึ่งในอัลกุรอาน และในสุนนะฮฺของท่านรอซูล ( ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้บัญญัติอย่างชัดเจนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิม แต่สิ่งที่หลาย ๆ คนสับสนก็คือ ภาษีดังกล่าวทั้งผู้ให้และผู้เก็บไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม และประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอิสลาม

คำถามก็เกิดขึ้นว่าผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมทำธุรกรรมต่าง ๆ ในรัฐหรือประเทศที่มิใช่เป็นรัฐหรือประเทศอิสลาม ระหว่างผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมด้วยกันจำต้องใช้กฎหมายอิสลามเป็นบรรทัดฐานด้วยหรือไม่ ? และความแตกต่างของรัฐมีผลต่อข้อแตกต่างของข้อกำหนดในอิสลามหรือไม่ ? หากการทำธุรกรรมระหว่างผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมด้วยกันเป็นสิ่งที่ชอบธรรมระหว่างพวกเขา และสิ้นสุดลงแล้ว สิ่งเหล่านั้นจะมีผลต่อการทำธุรกรรมกับมุสลิมอีกหรือไม่ ? และ สถานภาพของมุสลิมในประเทศไทยอยู่ในสถานภาพอะไร ? และเงิน สสส. ไม่ผิดกฎหมายไทยโดยเอกฉันท์ของนักปกครองและนักกฎหมายไทย แต่มันผิดกฎ ศาสนบัญญัติอิสลามจริงหรือ ?

ที่จริงข้อสับสนดังกล่าวที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นข้อสับสนที่ตรงประเด็น เพราะภาษีสุรา ภาษีสุกร ที่เก็บโดยรัฐบาลในประเทศไทย ที่ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่กฎหมายอิสลาม เป็นปัญหาที่มีลักษณะหลายแง่หลายมุมที่ต้องพิจารณา การชี้ขาดว่าเป็นสิ่งหะรอม เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิม หรือเป็นสิ่งที่อนุมัติ ก็ต้องอาศัยการมองในแง่มุมต่าง ๆ ไม่ใช่มองแค่มุมเดียว หรือมองแค่ในมุมมองที่เป็นหุกมตักลีฟียฺ ( คือหุกม 5 ประเภท นั่นคือ วาญิบ สุนัต อนุมัติ หะรอม มักรูฮฺ ) อย่างเดียว แต่ต้องอาศัย หุกมวัฎอียฺที่เป็นหุกมเชิงวิธีการ หรือเชิงโครงสร้าง (นั้นก็คือ สะบับ ชะรัต รุกุ่น มาแนะ รุคเสาะ อะซีมะฮฺ ศีหะฮฺ และบุฏลาน ) ด้วย ประเภทต่าง ๆ ของหุก่มวัฎอีย์ที่กล่าวมานี้อาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้หุกมตักลีฟีย์เปลี่ยนไปก็ได้ และเป็นการมองปัญหาในแง่มุมต่าง ๆ อย่างครบถ้วน หาไม่แล้ว เราอาจเป็นคนที่ให้คำชี้ขาดโดยที่ยังมีข้อบกพร่องในกระบวนการพิจารณาอยู่ และอาจจะอยู่ในกลุ่มที่อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ในอัลกุรอานที่มีความว่า :

“ และพวกเจ้าอย่ากล่าวตามที่ลิ้นของพวกเจ้ากล่าวเท็จขึ้นว่า นี่เป็นที่อนุมัติ และนี่เป็นที่ต้องห้าม ( โดยไม่มีหลักฐาน และพยาน ) เพื่อที่พวกเจ้าจะกล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺนั้น พวกเจ้าจะไม่ได้รับความสำเร็จ ” ( อันนะหลฺ โองการที่ 116 )

และเพื่อเป็นการตอบข้อสับสนในประเด็นต่าง ๆ ข้างต้นนี้ กระผม ใคร่ขอแยกปัญหาต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นข้อ ๆ เพื่อเป็นข้อพิจารณาสำหรับผู้อ่านดังนี้

1. การทำธุรกรรม หรือนิติกรรมสัญญาระหว่างผู้ที่มิใช่มุสลิมด้วยกัน ในสิ่งที่พวกเขายอมรับว่าเป็นสิ่งหะลาล หรือที่ถูกต้องตามกฎหมายของพวกเขา เป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ในมุมมองของกฎหมายอิสลาม ?

ตอบ : การทำธุรกรรม หรือนิติกรรมสัญญาระหว่างผู้ที่มิใช่มุสลิมด้วยกัน เช่น การแต่งงาน การซื้อขายสุรา การซื่อขายสุกร หากสิ่งที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่พวกเขายอมรับ หรือกฎหมายของพวกเขาให้การรับรองว่าถูกต้อง กฎหมายอิสลามถือว่าการทำธุรกรรมหรือการทำนิติกรรมสัญญาหรือการกระทำของพวกเขาเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ชายหญิงที่แต่งงานตามประเพณีหรือตามพิธีกรรมศาสนาหรือกรอบกฎหมายกำหนดของพวกเขา กฎหมายอิสลามถือว่าทั้งสองเป็นผู้ทรงสิทธิ์ซึ่งกันและกัน สินสอดที่ฝ่ายหญิงได้รับ ก็ถือเป็นทรัพย์สินที่หะลาล ลูกที่เกิดมาก็ถือว่าเป็นลูกที่ถูกต้อง สามารถนับวงศ์ตระกูลได้โดยชอบธรรม และหากสามี ภรรยาคู่นั้น เข้ารับอิสลามพร้อมกัน ก็ไม่ต้องทำการแต่งงานใหม่ ซึ่งหากพิจารณาตามกฎหมายอิสลามในเรื่องว่าด้วยการแต่งงานอิสลามได้กำหนดรูปแบบ วิธีการ การแต่งงานโดยชัดเจน ซึ่งหากมุสลิมคนหนึ่งคนใดทำการแต่งงานที่ผิดหลักการศาสนาโดยตั้งใจ การกระทำของเขาก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม เงินสินสอดเป็นเงินที่ไม่บริสุทธิ์ ลูกที่เกิดมาก็เป็นลูกที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่มิใช่มุสลิม ที่แน่นอนแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ที่เขาเหล่านั้นจะทำการแต่งงานตามกฎหมายอิสลาม แต่ขณะเดียวกัน อิสลามยอมรับถึงความชอบธรรมทางการกระทำของพวกเขา หากสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่กฎหมายของพวกเขายอมรับ ซึ่งนี่คือข้อแตกต่างที่ชัดเจนในแง่กฎหมายอิสลามระหว่างการกระทำที่มีมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้อง กับการกระทำของผู้ที่มิใช่มุสลิม

การซื้อขายสุรา หรือการซื้อขายสุกร หากสังคมหรือกฎหมายของผู้ที่มิใช่มุสลิมเห็นว่า สุรา และสุกรเป็นทรัพย์ที่เป็นสินค้า หรือเป็นสิ่งที่สังคมหรือกฎหมายของพวกเขายอมรับว่าเป็นสิ่ง

หะลาล หรือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการทำธุรกรรมซื้อขายระหว่างพวกเขาเป็นเรื่องปกติธรรมดา กฎหมายอิสลามก็ให้การยอมรับถึงการทรงสิทธิ์ของผู้ครอบครองในสุราและสุกร และเมื่อมีการซื้อขายผู้ขายก็ทรงสิทธิ์ในราคา ผู้ซื้อก็ทรงสิทธิ์ในสินค้า ถึงแม้ว่าการค้าขายนั้นจะไปเกิดขึ้นในรัฐของอิสลามก็ตาม และถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิมที่จะฆ่าสุกรของพวกเขา

ท่านเชค อิบนุก็อยยิม อัลเญารซียะฮฺ ได้อ้างคำกล่าวของ ยะอฺกูบ อิบนุบัคตานว่า ท่านได้ถามท่านอิหม่ามอะหฺมัด อิบนุหัมบัล ถึงสุกรและสุราของผู้ที่มิใช่มุสลิมที่อยู่ในอาณาจักรของอิสลาม ท่านอิหม่ามอะหฺมัด อิบนุหัมบัลตอบว่า “ เจ้าอย่าฆ่าสุกรของพวกเขา เพราะพวกเขาทรงสิทธิ์ในพันธะสัญญา และจงอย่าริบเอาสุราและสุกรจากพวกเขา เพราะพวกเขาทรงสิทธิ์ที่จะทำการซื้อขายระหว่างพวกเขา ” (อิบนุก็อยยิม : อะหฺกามุล อะฮฺลุลซิมมะฮฺ : 1995 : 1: 63)

และหากพวกเขาอยู่ในรัฐหรือประเทศที่มิใช่เป็นประเทศอิสลาม แน่นอน สิ่งเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมสำหรับพวกเขาในเชิงกฎหมายขึ้นมาอีก เพราะพวกเขามิต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ของกฎหมายอิสลาม โดยความเห็นตรงกันของนักกฎหมายอิสลาม ( ศ.ดร.อับดุลอาซิซ อิบนุ มับรูก: 2005 : 1 / 327 – 328 )

2. เมื่อการทำธุรกิจหรือนิติกรรมสัญญาของพวกเขาเป็นสิ่งที่กฎหมายอิสลามให้การยอมรับว่าชอบธรรม เงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่ได้จากการทำธุรกรรม หรือการทำนิติกรรมสัญญาดังกล่าวของพวกเขา มุสลิมสามารถทำการซื้อ ขาย ในเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายอิสลาม หรือรับในรูปแบบ รับบริจาค รับของขวัญ ได้หรือไม่ ?

ตอบ: เช็คอิบนุก็อยยิม กล่าวว่า “ เมื่อพวกเขาเหล่านั้น (ผู้ที่มิใช่มุสลิม) ได้ชำระค่าต่าง ๆ ที่เป็นหน้าที่ของพวกเขา จะเป็นภาษีส่วนตัว (ภาษีคุ้มครอง) ภาษีที่ดิน ค่าปรับ (สินไหม) จ่ายหนี้ หรืออื่น ๆ ที่มาจากสิ่งต้องห้ามในระบบกฎหมายของเรา (มุสลิม) แต่ของพวกเขาไม่ได้ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม เช่น เหล้า สุกร ถือว่าเป็นสิ่งอนุมัติสำหรับเราที่จะได้รับจากเขาเหล่านั้น นี้คือทัศนะของอิหม่ามอะหฺมัด (อัล-ฮัมบาลีย์) และนักกฎหมายอิสลามท่านอื่น ๆ ที่เป็นชาวสะลัฟ…… แท้จริงเหล่าปฏิเสธชน เมื่อได้ทำการซื้อขายสิ่งเหล่านั้น (สุรา ,สุกร) ระหว่างพวกเขาแล้ว ถือว่าพวกเขาได้ดำเนินธุระกรรม บนพื้นฐานในสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นสินค้า และมูลค่าที่ชอบธรรม และในเมื่อเรารับมูลค่าจากพวกเขา ก็ถือว่าเรารับมูลค่าที่หะลาล (ชอบธรรม) ของพวกเขา ” (อิบนุก็อยยิม : 1995 : 1 : 63)

3. ในรายงานของมุสลิม หะดีษที่ 1,599 ความว่า “ แท้จริงสิ่งหะลาลมีความชัดเจน และสิ่งหะรอมก็มีความชัดเจน (เช่นเดียวกัน) และระหว่างหะลาลกับหะรอมจะมีสิ่งคลุมเครือ ซึ่งคนส่วนมากจะไม่รู้ ใครที่สำรวมตนจากข้อคลุมเครือนั้น ก็เสมือนว่าเขาได้ปกป้องศาสนา และเกียรติของเขาให้บริสุทธิ์ และใครที่ตก (กระทำ) ในสิ่งที่มีความคลุมเครือ ก็จะตก (กระทำ) ในสิ่งที่หะรอม ”

หะดีษบทนี้ไม่ได้ห้ามไม่ให้มุสลิมทำในสิ่งที่หะรอมชัดเจนเท่านั้น แต่ยังห้ามไม่ให้มุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้องในสิ่งที่คลุมเครืออีกด้วย และเป็นสิ่งที่ชัดเจนแล้วว่า สุรา สุกร เป็นสิ่งหะรอมในกฎหมายอิสลาม โดยอัลกุรอาน ซุนนะฮฺ ของท่านรอซูล และเป็นสิ่งที่อุละมาอฺให้ความเห็นโดยมติเอกฉันท์ ซึ่งมุสลิมไม่ว่าใคร ไม่สามารถปฏิเสธถึงข้อกฎหมายนี้ได้ แล้วการที่มุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้องกับภาษีสุรา ภาษีสุกร หรือภาษีการพนัน เป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งหะรอมที่ชัดเจน หรืออย่างน้อย ก็เข้าไปเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นชุบหาต (คลุมเครือ) หรือไม่ ?

ตอบ: ที่จริงแล้วไม่ใช่เฉพาะหะดีษที่กล่าวมาข้างต้นที่เราต้องมาพิจารณา แต่ยังมีอีกสองหะดีษที่ควรพิจารณาด้วย นั่นคือ

1. หะดีษรายงานโดยอัล-บุคอรี หะดีษลำดับที่ 2,236 และรายงานโดยมุสลิม หะดีษลำดับที่ 1,581 ที่มีความว่า “ อัลลอฮฺได้ประณามญะฮูด แท้จริงหลังจากที่อัลลอฮฺได้ทำการห้ามบริโภคมันสัตว์ที่ตายเอง แต่พวกเขาได้ทำการละลายมันด้วยการลนไฟ และจัดการขาย และพวกเขาได้เอามูลค่ามาใช้จ่าย ”

2. หะดีษรายงานโดย อันนะซาสาอีย์ และอัลหากิม (ซึ่งท่านกล่าวว่า หะดีษนี้มีความสมบูรณ์ (ถูกต้อง) ในเชิงสายรายงาน) มีความว่า “ จงละทิ้งสิ่งที่สูเจ้ามีความลังเล ไม่แน่ใจ สู่สิ่งที่สูเจ้าไม่มีความลังเล ”

การตอบคำถามนี้ต้องอาศัยการพิจารณาด้วยการตั้งข้อสังเกตต่อความเป็นจริงและความหมายของหะดีษต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นด้วยข้อสังเกตต่อไปนี้

ข้อสังเกตที่หนึ่ง : สำหรับมุสลิมสุรา สุกร เป็นสิ่งหะรอมที่ชัดเจน

สุรา สุกร เป็นสิ่งต้องห้ามที่ชัดเจน และหะรอมสำหรับมุสลิมในทุกบริบท โดยที่กฎหมายอิสลามห้ามไม้ให้เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบการผลิต การขาย การทำงานในโรงงาน การโฆษณา การขับรถบรรทุกหากเป็นสุรา หรือการเลี้ยงสุกร รับเลี้ยง (ด้วยการเอาเงินเดือน) ขาย รับจ้างบรรทุก หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวกับสุกร และหากใครเข้าไปเกี่ยวก็ถือว่าผิดกฎหมายอิสลาม เงินที่ได้มาก็เป็นเงินที่ไม่ชอบธรรม และหากใครปฏิเสธข้อกฎหมายที่ว่าสุกร สุราเป็นสิ่งหะรอม โดยตั้งใจ เขาก็อาจจะตกศาสนาก็ได้ ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีข้อขัดแย้งกันระหว่างนักกฎหมายอิสลามหากมุสลิมอยู่ในรัฐอิสลาม

ข้อสังเกตที่สอง : สุรา สุกร เป็นสิ่งหะลาล และชอบธรรมที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่มิใช่มุสลิม

การทำธุระกรรม เช่น การซื้อขาย การเก็บภาษี หรืออื่น ๆ หรือการทำนิติกรรมสัญญา เช่น การแต่งงาน ระหว่างผู้ที่มิใช่มุสลิมด้วนกันในรัฐของเขา ไม่สามารถนำกฎหมายอิสลามมาเป็นบรรทัดฐานได้ และกฎหมายอิสลามให้การยอมรับว่า การกระทำของพวกเขาในสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งชอบธรรม ตราบใดที่การกระทำนั้นเป็นสิ่งที่กฎหมายในสังคมของพวกเขายอมรับว่าถูกต้อง ไม่ผิดกฎหมายของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักกฎหมายอิสลามมีความเห็นตรงกันในประเด็นนี้ ( ศ.ดร.อับดุลอาซีว อิยนุ มับรูก : อิคติลาฟูด – ดา ไรดฺ: 1/327 – 328 )

สรุปจากสองข้อสังเกตข้างต้น สุรา สุกร เป็นสิ่งต้องห้าม หะรอมสำหรับมุสลิมที่จะไปเกี่ยวข้องในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม จะเป็นในรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายอิสลาม หรือในรัฐปฏิเสธชนก็ตาม (ในทัศนะส่วนมากของนักกฎหมายอิสลาม) ซึ่งเป็นสิ่งหะรอมที่ชัดเจน ส่วนผู้ที่มิใช่มุสลิม สุรา สุกร หากอยู่ในรัฐของพวกเขา และกฎหมายของพวกเขาให้การยอมรับว่าสิ่งเหล่านั้นถูกต้อง และชอบธรรมด้วยกฎหมายของพวกเขา กฎหมายอิสลามให้การรับรองว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรมสำหรับพวกเขา และเป็นสิ่งหะลาลโดยชัดเจนสำหรับพวกเขา (ในเชิงกฎหมาย)

ข้อสังเกตที่สาม : ภาษีสุรา ภาษีสุกร เป็นชุบหาตสำหรับมุสลิมหรือไม่ ? โรงงานสุรา ผู้ดื่มสุรา ผู้ซื้อสุรา ผู้เก็บภาษีสุรา ทุกฝ่ายล้วนเป็นคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม และรัฐบาลก็ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษีตามพระราชบัญญัติให้การเก็บภาษีเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและถูกด้วยกฎหมายของประเทศ การเก็บภาษีต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ เมื่อผู้จ่ายโดยเจ้าของโรงงาน หรือผู้ค้า (มิใช่มุสลิม) ให้กับผู้เก็บซึ่งเป็นรัฐ (มิใช่มุสลิม) การดำเนินการจ่ายภาษี และการเก็บภาษีก็ได้สิ้นสุดลงระหว่างพวกเขา (ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม) การกระทำของพวกเขาถือว่าเป็นสิ่งชอบธรรมด้วยกฎหมาย โดยที่มุสลิมไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องใด ๆ การกระทำของผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ชอบธรรมในเชิงกฎหมายที่กฎหมายอิสลามให้การรับรอง (สำหรับพวกเขา) และถือว่ากระบวนการเก็บภาษีได้สิ้นสุดลงแล้ว

การได้มาซึ่งประโยชน์ต่าง ๆ ของมุสลิมในประเทศไทย ในรูปแบบโครงการ ความช่วยเหลือ ทุนการศึกษา หรืออื่น ๆ ที่รัฐจัดสรรจากภาษีที่มาจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการรับในสถานะพลเมืองของประเทศ การจัดสรรดังกล่าว ไม่ได้เจาะจงกับพลเมืองที่เป็นมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นนโยบายของรัฐที่จัดสรรให้กับพลเมืองทั้งประเทศ ซึ่งกระบวนการเก็บภาษีระหว่างรัฐกับผู้เกี่ยวข้องได้สิ้นสุดแล้ว และเป็นสิ่งชอบธรรม การได้มาของมุสลิมจึงเป็นการได้มาในรูปงบ หรือค่าใช้จ่ายของรัฐที่พึงมีต่อพลเมือง ซึ่งมันไม่ได้อยู่ในบริบทของภาษี หรืออยู่ในกระบวนการเก็บภาษีอีกแล้ว แต่มันอยู่ในบริบท หรือในรูปของงบประมาณของรัฐ ซึ่งระหว่างการเก็บภาษี กับการเป็นงบประมาณ จะเป็นงบพัฒนาหรืออะไรก็ตาม ถือว่าเป็นคนละประเด็นกัน และการที่จะถือว่าภาษีเหล่านี้เป็นสิ่งชุบหาตสำหรับมุสลิมหรือไม่ การที่จะตอบคำถามนี้ สิ่งสำคัญอันดับแรก ต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของชุบหาตก่อนว่ามันคืออะไร?

ท่าน อัลคูตอบีย์ ได้นิยามชุบหาตว่า “ ทุกสิ่งที่มีความคล้ายกับหะลาล ในมุมหนึ่ง และคล้ายกับหะรอมในอีกมุมหนึ่ง ” จากนิยามนี้ แสดงให้เห็นถึง การนิยามบนพื้นฐานของการตั้งชื่อชุบหาตนั้น ก็คือสิ่งที่คล้ายกับหะลาลในอีกมุมหนึ่ง และคล้ายกับหะรอมในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งนักกฎหมายเท่านั้นที่สามารถโยงได้ว่าอันไหนมันชัดเจนกว่า (ระหว่างสองมุมที่กล่าวถึง) ความคลุมเครือเกิดขึ้นจากความขัดแย้งของนักกฎหมาย หรือความขัดแย้งของหลักฐานทางกฎหมาย หรือเพราะกฎหมายไม่ได้ระบุ (บัดรุดดีน อัลไอนีย์ : อุมดะตุลกอรี : 1/334)

ในขณะที่ อัลอิซซู อินบนุ อับดุลสะลาม ได้นิยามชุบหาตว่า “ หากหลักฐานทางกฎหมายมีความใกล้เคียงกันในเรื่องของหะลาล หะรอม ถือว่าเป็นชุบหาต ”

และได้กล่าวว่า “ และการเลี่ยงมัน เป็นการละทิ้งชุบหาต เพราะว่า มันคล้ายกับว่ามันหะลาล เพราะมีหลักฐานทางกฎหมายที่ชี้ว่ามันหะลาล และคล้าย ๆ กับว่ามันเป็นสิ่งหะรอมเพราะมีหลักฐานทางกฎหมายว่ามันหะรอม ซึ่งหากใครห่างไกลจากกรณีอย่างนี้ คือผู้ที่ปกป้องศาสนาและเกียรติของตัวเอง ” (กอวาอิดุลอะหฺกาม ฟี มะศอลิหุลอะนาม : 2 / 92 – 93)

จากการพิจารณาคำนิยามของท่านอิหม่ามอิซซุดดีนข้างต้น จะเห็นได้ว่า ชุบหาตเกิดขึ้นจากความคลุมเครือของหลักฐานทางกฎหมาย ที่ชี้ถึงหะลาล และหะรอมในสิ่งหรือกรณีเดียวกัน

สรุปข้อสังเกตข้อที่สาม

ปัญหาที่เรากำลังพูดถึงนั้นก็คือ ภาษีสุรา ภาษีสุกร หากพิจารณาจากคำนิยามของชุบหาต ของนักกฎหมายอิสลามทั้งสอง จะเห็นได้ว่ามันมีความเกี่ยวข้องกัน หากเป็นกรณีที่มุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้อง และเป็นกรณีเดียวกันที่กระบวนการดำเนินการยังไม่สิ้นสุด แต่ถ้าหากเป็นคนละกรณี กรณีการเก็บภาษีสุรา ภาษีสุกร ได้สิ้นสุดระหว่างคู่กรณีนั้น ก็คือเจ้าของสุรา หรือสุกร กับรัฐที่ไม่ใช่มุสลิมทั้งคู่ ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่สามารถใช้บรรทัดฐานกฎหมายอิสลามได้ และมันได้จบสิ้นตามกระบวนการ การดำเนินการที่ชอบธรรมของคู่กรณีแล้ว ส่วนการได้มาของงบต่าง ๆ ที่มุสลิมได้รับมาจากรัฐบาล เป็นกรณีสัมพันธภาพ ระหว่างรัฐกับมุสลิม ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการเก็บภาษีสุรา ภาษีสุกร ฉะนั้น การรับประโยชน์ของมุสลิมจากรัฐบาล จึงไม่ใช่อยู่ในขอบเขตความหมายของชุบหาต ถึงแม้ว่า สุรา สุกร จะเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิมก็ตาม และถึงแม้ว่าความรู้สึกของเราอาจจะขยะแขยงกับที่มาของงบดังกล่าวก็ตาม เพราะชุบหาตไม่ใช่สิ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึก ซึ่งมันเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ใครก็ได้ จะรู้สึกอย่างไร ฉะนั้น ความรู้สึกจะแตกต่างตามมุมมองของแต่ละคน แต่ชุบหาตอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางกฎหมายที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ดังนั้นชุบหาตที่ต้องเลี่ยงและมีผลคือ ชุบหาตที่มีความชัดเจน

อิหม่ามอัสสะยูตีได้กล่าวว่า “ เงื่อนไขที่จะถือว่าเป็นชุบหาต คือ จะต้องมีความเด่นชัดในรูปของการเป็นชุบหาต หาไม่แล้วมันก็จะไม่มีผล ” (อัล – อัซบาหุ วันนาซออิร : 124)

อิหม่ามอัรรอฟิอี ได้กล่าวว่า “ สิ่งที่ทำให้ออกจากแนวชุบหาต เข้าสู่บริบทของ วัสวัส (ลังเล) คือ การคิดไกลนอกเหนือความจริง แท้จริงอันนี้ไม่ใช่เป็นชุบหาตที่สมควรหลีกเลี่ยง ตัวอย่างเช่น ไม่ยอมแต่งงานกับสตรีทั้งประเทศเพราะกลัวว่าจะมีคนที่เป็นมะหฺรอมอยู่ ” (อุมดาตุลกอรี : 1 / 344)

อิหม่ามกุรตุบีกล่าวว่า “ การสงวนในเรื่องที่คล้าย ๆ กับกรณีนี้ แท้จริงมันคือ วัสวัส ที่มาจากซาตาน เพราะมันไม่มีความหมายที่ชี้ถึงการเป็นชุบหาตเลย สาเหตุที่ทำให้เขาต้องตกไปอยู่ในวังวนของการลังเลนี้ก็เพราะ ความไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ” (อุมดาตุลกอรี : 1 / 344 )

ข้อสังเกตที่สี่ : หะดีษห้ามไม่ให้ทำการไหละฮฺ

หะดีษที่กล่าวเพิ่มเติมหะดีษที่หนึ่ง เป็นหะดีษที่ห้ามไม่ให้ทำการไหละฮฺ ซึ่งชี้ถึงสาเหตุการถูกประณาม นั้นก็คือ จากการกระทำเพื่อทำให้สิ่งหะรอม กลับกลายเป็นสิ่งหะลาล โดยเอาสิ่งต้องห้ามมาแปรเปลี่ยนสภาพ และชื่อ เพื่อให้เป็นสิ่งที่อนุมัติโดยที่ลักษณะนี้ เป็นนิสัยของชาวยะฮูด ซึ่งมุสลิมมิควรเอาเยี่ยงอย่าง

แต่หากพิจารณาหะดีษนี้กับปัญหาเรื่องภาษีที่เรากำลังพูดถึง จะพบว่ามีสิ่งที่คล้ายคลึงกันนั้นคือ สุรา สุกร เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิม โดยที่มุสลิมมิสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องใด ๆ กับกิจการ กระบวนการ ที่มีสุรา สุกร เข้ามาเกี่ยวข้อง จะเป็นการซื้อขาย การผลิต เป็นคนในโรงงาน หรืออื่น ๆ ที่เป็นเหตุให้ได้มาซึ่งประโยชน์ที่เป็นมูลค่าของสินค้า หาไม่แล้ว มุสลิมคนนั้นก็จะอยู่ในสถานะเหมือนยะฮูด กลุ่มชนที่ถูกประณาม แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ กรณีภาษีที่เรากำลังพูดถึง เกิดจากการกระทำของผู้ที่มิใช่มุสลิม ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและถูกต้องสำหรับพวกเขา โดยไม่สามารถเอากฎหมายอิสลามมาเป็นบรรทัดฐานได้ สำหรับความเกี่ยวข้องของมุสลิมนั้น ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสุรา สุกร แต่การได้มาของงบ เป็นการได้มาในบริบทของสิทธิการเป็นประชากรและพลเมืองของประเทศซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ ต้องจัดสรรให้ความช่วยเหลือ ฉะนั้น การเก็บภาษีสุรา ภาษีสุกร เกิดขึ้นระหว่างรัฐกับประชากรที่ไม่ใช่มุสลิมทั้งคู่ และกระบวนการการดำเนินการได้จบสิ้นลงระหว่างคู่กรณีแล้ว โดยไม่มีมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้อง นี่คือ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างหะดีษกับกรณีภาษีที่เราพูดถึง

ข้อสังเกตที่ห้า : หะดีษที่ส่งเสริมให้สงวนตัว

หะดีษที่สองที่กล่าวเพิ่มเติม เป็นหะดีษหนึ่งที่ส่งเสริมให้มุสลิมสงวนตัวไม่ให้ไปคลุกคลี หรือทำในสิ่งที่จิตใจไม่มีความสบายใจ เพราะความไม่แน่ใจ กลัวว่าจะเป็นสิ่งหะรอม หรือชุบหาต ซึ่งเป็นหลักการใหญ่หลักการหนึ่งที่มุสลิมสมควรจะยึดเป็นลักษณะเฉพาะตัว แต่ถ้าหากพิจารณาหะดีษนี้กับปัญหาภาษีที่เรากำลังพูดถึงในฐานะที่เป็นมุสลิม และปัจเจกบุคคลจะยึดถืออย่างไร?

อิสลามให้เกียรติกับสิทธิส่วนตัว ฉะนั้นถ้าหากเราคิดว่าเราไม่มีความจำเป็นต้องไปรับความช่วยเหลือจากรัฐในกรณีเกี่ยวกับเงินส่วนนี้ ก็เป็นสิทธิส่วนตัวที่คน ๆ นั้นพึงกระทำได้ และเป็นการดี เพราะความมีเกียรติของคนรับย่อมไม่เหมือนกับเกียรติของคนให้ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องส่วนรวมก็ควรพิจารณาถึงหลักฐานและหลักการเป็นหลัก ไม่ใช่เอามิติส่วนตัวหรือความรู้สึกของตัวเองเข้าไปตัดสิน ซึ่งมิติส่วนรวม หรือมิติทางสังคม ต้องพึ่งกฎเกณฑ์ ระบบและอะไร ๆ อีกมาก ในเรื่องนี้ ศ.ดร.อับดุลมาญิดอันนัจญาร์ได้กล่าวว่า “อาจจะเป็นฮิกมะฮฺอย่างหนึ่งที่อัลลอฮฺทรงวางฐานกฎเกณฑ์ของสภาพสังคมที่ใช้กฎหมายอิสลามเป็นศูนย์อำนาจ บนมิติทางสังคม ด้วยการวางกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ถาวร และมั่นคง ฉะนั้นเป็นสิ่งที่อำนวยต่อระบบที่ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน แต่สภาพสังคมที่คำนึงถึงความอยู่รอดของชนมุสลิมชนกลุ่มน้อยที่อยู่ภายใต้ของอำนาจรัฐที่ไม่ใช้กฎหมายอิสลามเป็นศูนย์อำนาจที่มีสภาพทางปัญหาสภาพการเป็นอยู่ สภาพทางสังคมที่หลากหลายนี้ จึงสมควรใช้มิติทางสังคมที่อยู่ในรูปแบบของสภาพกว้าง ๆ ” (นะฮฺฮู ตะศิลฟิกฮี ลิลอะกอลิยาต อัล มุสลิมะฮฺ ฟี อัลฆอรบี : ศ.ดร.อับดุลมาญิด อัล นัจญารฺ : หน้า 2 )

4. การที่มีการกล่าวว่าตลอดประวัติศาสตร์สังคมมุสลิม บรรพบุรุษและนักปราชญ์อิสลามได้สร้างชื่อเสียงและจุดยืนต่ออบายมุขต่าง ๆ หากมุสลิมท่านใด (ตามทัศนะนี้) ได้ใช้กองทุน สสส. ปัจจุบันนี้ ก็เปรียบเสมือนกำลังทำลายชื่อเสียง ศักดิ์ศรีและความบริสุทธิ์ของมุสลิม คำกล่าวข้างต้นนี้เป็นจริงแค่ไหน ?

ตอบ: การเชิญชวนให้ทำความดีและการห้ามปรามในสิ่งทีชั่วร้ายเป็นหน้าที่ของมุสลิมชน และเป็นหลักการใหญ่หลักการหนึ่งที่มุสลิมพึงต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะหากอยู่ในรัฐและสังคมที่อยู่บนพื้นฐานการใช้กฎหมายอิสลาม หาไม่แล้วก็ถือว่ามุสลิมคนนั้น ขาดความรับผิดชอบ และไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐอิสลาม แต่กระนั้นก็ตามกฎหมายอิสลามก็ยังวางกรรมสิทธิ์หน้าที่ของบุคคลในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิด ฟิตนะฮฺ โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มิใช่มุสลิม ก็จะมีบรรทัดฐานทางกฎหมายที่แตกต่างจาก การมูอามาละฮฺกับมุสลิมด้วยกันเอง ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในอิสลาม แต่กับศาสนิกอื่น ปรากฏว่า ศาสนาอิสลามให้การยอมรับถึงความชอบธรรมในสิ่งเหล่านั้น ถึงแม้ว่าแน่นอนที่สุด กฎหมายอิสลามได้วางเงื่อนไข และกำหนดกรอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในสังคมที่รัฐอิสลามมีอำนาจอยู่ แต่สรุปแล้วกฎหมายอิสลามก็ให้โอกาสผ่อนคลายในเชิงกฎหมายกับสังคมของผู้ที่มิใช่มุสลิม ที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม เช่นสุรา สุกร หากเป็นสิ่งที่สังคมของคนที่มิใช่มุสลิมยอมรับสิ่งดังกล่าวนี้เป็นทรัพย์ที่ชอบธรรม หรือเป็นการกระทำที่ชอบธรรมระหว่างพวกเขา กฎหมายอิสลามก็ให้การรับรองเชิงมิติทางสังคมของผู้ที่มิใช่มุสลิม ตราบใดที่สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ไม่มีมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือตราบใดที่การกระทำเหล่านั้นไม่ไปสร้างปัญหากับสังคมส่วนรวม ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นข้อยืนยันอย่างหนึ่งว่า กฎหมายอิสลามเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ เป็นกฎหมายที่ให้การยอมรับความแตกต่างและหลากหลายของกลุ่มชน ที่อาศัยอยู่ในรัฐของอิสลาม หากผู้อ่านต้องการรายละเอียดในเรื่องเหล่านี้สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ อะหฺกาม อะฮฺลลุลซิมมะฮฺ ของอิบนุ ก็อยยิม และหนังสือ อัลอัมวาล ของอบีอุบัยดฺ และหนังสือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของศาสนิกอื่นในรัฐอิสลาม ฉะนั้น การกล่าวอ้างของผู้ที่เห็นว่าการรับประโยชน์จากงบพัฒนา สสส. ของมุสลิมว่าเป็นการทำลายเกียรติ และประวัติอันดีงามของมุสลิมในมิติการห้ามปรามอบายมุขนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่เกินความเป็นจริง เพราะนักปราชญ์อย่างอิหม่าม อะหฺมัด ท่านอิบนุก็อยยิม และนักปราชญ์อีกหลาย ๆ ท่านที่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องกฎหมาย และเจตนารมณ์กฎหมายอิสลามคงจะฟัตวาเป็นอย่างอื่นหากการมองปัญหามองได้แค่ด้านเดียว โดยมองแค่มิติของมุสลิมเท่านั้น ส่วนสิทธิของศาสนิกอื่นที่อยู่ร่วมโลกถูกมองข้าม หากเข้าใจมิติที่กล่าวมาแล้ว คำตอบของปัญหาก็คือ มันไม่ใช่การทำลายเกียรติของตัวเอง ศาสนา หรือประวัติศาสตร์ แต่เป็นการอยู่ในกรอบของกฎหมายตราบใดที่กฎหมายอิสลามให้การยอมรับในสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้น สรุปแล้ว การที่ผู้ที่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อนุมัติก็เป็นผู้ที่อยู่ในกรอบของกฎหมายอยู่ จึงเป็นการกล่าวที่เกินจริงหากผู้กล่าวอ้างอย่างที่ระบุในคำถาม มองในมิติทางสังคมและมองในกรอบของกฎหมายอย่างครบถ้วน

5. การเทียบเคียงกรณีภาษีสุรา ภาษีสุกรที่รัฐ จัดให้ สสส. ดำเนิน และบริหารส่วนนี้ กับทรัพย์สินหะรอมที่อยู่ในบัยตุลมาล (กระทรวงการคลังของรัฐอิสลาม) เป็นการเทียบเคียงที่ถูกต้องหรือไม่ ?

ตอบ: การใช้หลักการเทียบเคียงระหว่างกรณีดังกล่าวเป็นการเทียบเคียงไม่ตรงประเด็น

( กียาสมะอะฟาริก) เป็นการใช้หลักการเทียบเคียงที่ไม่ถูกต้อง เพราะกรณีของทรัพย์สินหะรอมที่เกิดพลัดหลงเข้าไปในบัยตุลมาลนั้น จำนวนของมันเข้าไปปะปนจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนเป็นทรัพย์สินบริสุทธิ์ อันไหนเป็นทรัพย์สินที่ต้องห้าม ฉะนั้น นักกฎหมายอิสลามจึงมีความเห็นตรงกันว่า ในกรณีเช่นนี้ หากเกิดขึ้นในรัฐอิสลาม หรือในเมืองหนึ่งเมืองใดของรัฐอิสลาม ก็เป็นการอนุโลมสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ในกรณีภาษีสุรา ภาษีสุกร ที่รัฐจัดให้กับ สสส. เป็นที่แน่นอนว่า มาจากทรัพย์สินที่เกิดจากสุรา และสุกร โดยไม่ต้องสงสัย ฉะนั้น การใช้หลักการเทียบเคียงดังกล่าว เป็นการใช้หลักการเทียบเคียงที่ไม่ถูกต้อง

และกรณีของทรัพย์สินหะรอมในบัยตุลมาลนั้น เกิดขึ้นโดยมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้องในประเทศหรือรัฐที่ใช้กฎหมายอิสลามปกครอง ซึ่งแตกต่างจากกรณีภาษีสุรา ภาษีสุกร ภาษีการพนันที่เก็บโดยรัฐบาลไทย เป็นการกระทำที่เกิดระหว่างพลเมืองที่มิใช่มุสลิมกับรัฐที่ปกครองที่ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยซึ่งการเก็บภาษีดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของสังคมว่าชอบธรรม และกระบวนการก็ได้สิ้นสุดระหว่างพวกเขาแล้ว ฉะนั้น หากเอาประเด็นภาษีสุรา ภาษีสุกร ภาษีการพนันที่เก็บโดยรัฐบาลไทย ไปเทียบเคียงกับทรัพย์สินหะรอมที่อยู่ในบัยตุลมาลจึงเป็นการเทียบเคียงที่ไม่ถูกต้อง เป็นการใช้หลักการกียาสที่มีเหตุผลแตกต่างกัน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบโดยหลักการวินิจฉัย

6. หากงบที่บริหารโดย สสส. ที่มาจากภาษีสุรา ภาษีสุกร ไม่ได้ใช้หลักการกียาสดังกล่าว การบอกว่างบดังกล่าวเป็นงบที่ชอบธรรม มุสลิมสามารถใช้ประโยชน์ได้ จะใช้หลักการใด ?

ตอบ: ผมคิดว่าคำตอบตั้งแต่หน้าแรกคงจะชัดเจนว่า การที่กฎหมายอิสลามให้การยอมรับถึงความชอบธรรมของการมูอามะละฮฺ ระหว่างผู้ที่มิใช่มุสลิมด้วยกันนั้นคือ คำตอบ ฉะนั้นกรณีนี้เป็นกรณีที่ต้องแยกประเด็นให้ชัดเจน และทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างรัฐอิสลามกับรัฐที่ไม่ใช่รัฐอิสลาม และความแตกต่างของบุคคลที่นับถือศาสนาอิสลามกับบุคคลที่นับถือศาสนาอื่น ในบริบทความชอบธรรมในเชิงกฎหมาย ความชัดเจนก็จะเกิดขึ้น

สุดท้ายนี้ กระผมใคร่ขอเรียกร้องจากผู้รู้ในสังคมบ้านเราน่าจะจับเข่าพูดคุยกันและแสดงความคิดเห็นในเชิงสัมมนาวิชาการหรือประชุมหาความชัดเจนในระดับที่เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นและความสบายใจของมุสลิมในสังคมบ้านเรา เพื่อไม่ให้เกิดฟิตนะฮฺ ซึ่งกระผมเห็นว่าเป็นการไม่สมควรที่ปัญหาซึ่งมีความละเอียดอ่อนอย่างกรณีนี้จะใช้เวทีทางสื่อหนังสือพิมพ์หรือสือทางอินเตอร์เน็ตเพื่อแสดงความเห็นหรือฟัตวา และขอให้อัลลออฮฺคุ้มครองทุกคน

วัสลาม

นายมะรอนิง สาแลมิง

อีกท่านหนึ่ง

คำชี้ขาดทางศาสนา(ฟัตวา) / ศุกร์ 11 มกราคม 2551 / 9.00 น.

อัสสลามุอะลัยกุมฯ ทุกท่าน

ผมได้อ่านคำวินิจฉัยของสำนักจุฬาราชมนตรี ที่ 03/ 2549 เรื่อง "การนำงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพมาใช้ในสังคมมุสิลม" แล้ว ประเด็นที่จะมาเล่าให้ฟัง(ก่อนอื่นต้องทราบก่อนนะครับว่าคำวินิจฉัยของจุฬาฯ นั้นเป็นในรูปคณะผู้มีความรู้ทางศาสนา)คือ ยก ประวัติศาสตร์สมัยการปกครองของท่านคอลีฟะฮ์อุมัร บิน ค๊อตต๊อบ(นาบีให้การรับรองการปฎิบัติ-การใช้-คือให้ถือเป็นแบบอย่างได้-ของคอลีฟะฮ์อัรรอชีดีนทั้ง 4 ท่าน-อบูบักร,อุมัร,อุษมาน,และท่านอาลี) ท่านอุมัรได้จัดเก็บภาษี(ญิซยะฮ์)จากการขายสุราและสุกรของชาวซิมมีย์(ซึ่งไม่ใช่มุสลิม-แต่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม-ปรากฎในหะดีษซอเฮียะฮ์ รายงานโดย อบูอุบัย ในหนังสือ อัลอัมวาส) ความว่า บิล้าลได้รายงานท่านอุมัรว่า เจ้าหน้าที่ของคอลีฟะฮ์ได้ยึดเอาสุกรและสุรามาเป็นภาษี(ญิซยะฮ์) ท่านอุมัรจึงสั่งว่า "อย่าได้ยึดเอาสุกรและสุราเป็นภาษี แต่จงปล่อยให้ชาวซิมมีย์ดำเนินการขายสิ่งเหล่านั้นไปก่อน จึงค่อยเก็บภาษ๊จากราคาขายนั้น" เอียะอ์ลาอ์อัซซุนัน เล่ม 10 หน้า 5103 / ดังนั้นเมื่อรัฐอิสลามเก็บภาษีจากการขายสุราหรือสุกร(ซึ่งทั้ง 2 สิ่งเป็นสิ่งหะรอมของมุสลิม)เพื่อนำมาเป็นงบประมาณช่วยเหลือประชาชนของตนได้ พลเมืองมุสลิมย่อมรับความช่วยเหลือจากรัฐกาเฟรที่เก็บภาษ๊ดังกล่าวมาใช้ได้(อย่างสิ้นสงสัย)เช่นกัน / จากคำวินิจฉัยของจุฬาฯ ข้างต้นมีผู้มาขยายความเป็น 2 ประเด็นคือ

1.ลักษณะของงบประมาณที่ได้มาจากการเก็บภาษีสุราและบุหรี่

- เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสุราและบุหรี่เป็นสิ่งที่ต้องห้ามสำหรับศาสนา สิ่งใดที่เป็นที่ต้องห้ามตามหลักศาสนาแล้ว จะนำมาค้าขายหรือทำธุรกรรมอื่นใดระหว่างมุสลิมด้วยกันไม่ได้ - ดังฮะดีษที่บันทึกโดย อัดดารุกุฎนีย์, อะหมัด และอัฎำอบรอนีย์ ความว่า "เมื่ออัลลอฮ์ทรงห้ามสิ่งใด ก็ทรงให้ราคาของสิ่งนั้นเป็นอันต้องห้ามด้วย"

- ท่านอิบนุซัย (ในสังกัดมัซฮับ-มาลิกีย์) ได้มีทัศนะสรุปว่า หากศาสนิกชนอื่นเข้ารับอิสลามโดยมีสุราไว้ในครอบครองก็ให้เขาเทมันทิ้งเสีย แต่หากเขาได้ขายสุราไปก่อน(เป็นมุสลิม)แล้ว ก็สามารถครอบครองมรัพย์สินที่ได้จากการขายสุรานั้นต่อไปได้

- ท่านอิหม่ามอิบนุตัยมียะฮ์ (ในสังกัดมัซฮับ-ฮัมบาลีย์) และท่านอิหม่ามอิบนุก็อยยิม (ในสังกัดมัซฮับ-ฮัมบาลีย์) ให้ทัศนะสรุปว่า "ราคาของสุราที่ขายไป(โดยคนที่ไม่ใช่มุสลิม)นั้น มุสลิมสามารถรับมาครอบครองได้(รับชำระหนี้-ทำธุรกรรมการเงิน ฯลฯ ได้) โดยอิงหลักฐานจากท่าน อุมัรอิบนุค๊อฎฎ๊อบ ได้ปฎิบัติ

2. สถานภาพของผู้ให้และผู้รับงบประมาณ

- ผู้ให้ภาษี(ไม่ใช่มุสลิม+ค้าขายของที่ศาสนาห้าม) จ่ายภาษี -> รัฐอิสลาม -> ผู้รับเป็นมุสลิม ทัศนะ คือ อนุมัติ อิงการปฎิบัติสมัยท่านคอลีฟะฮ์อุมัรอิบนุค๊อฎฎ๊อบ

- ผู้ให้ภาษี(ไม่ใช่มุสลิม+ค้าขายของที่ศาสนาห้าม) จ่ายภาษี -> รัฐกาเฟร -> ผู้รับเป็นมุสลิม ทัศนะ คือ อนุมัติ ยิ่งกว่าข้อแรก

- กรณีการนำฮะดีษที่รายงานโดย อัดดารุกุฎนีย์ , อะหมัด , และอัฎฎ๊อบรอนีย์ ที่มีใจความว่า "เมื่ออัลลอฮ์ทรงห้ามสิ่งใด ก็ทรงให้ราคาของสิ่งนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามด้วย" นำมาเป็นหลักฐานห้ามการรับงบสนับสนุนของ สสส.นั้น / ท่านเชค อัชรอฟ อลีย์ อัตตะราบะวีย์ (อุลามะฮ์แห่งศตวรรษที่ 14 ) ได้ให้ทัศนะสรุปใจความว่า "ฮะดีษนี้เจาะจงจำเพาะมุสลิม กล่าวคือ เมื่ออัลลอฮ์ทรงห้ามสิ่งใดแก่มุสลิมแล้วก็ทรงห้ามมิให้มุสลิมนำสิ่งนั้นไปค้าขายหรือแสวงหากำไรจากสิ่งนั้นด้วย แต่ในส่วนการปฎิบัติของศาสนิกอื่นอนุญาตให้มุสลิมรับเอาส่วนที่เป็นสิทธิของตนมาจากคนเหล่านั้นได้" / หากว่าฮะดีษข้างต้นเป็นที่ต้องห้ามในทุกกรณี(ไม่ว่าเขาจะเป็นมุสลิมหรือกาเฟร)แล้ว ท่านคอลีฟะฮ์อุมัร ย่อมไม่สั่งการให้เก็บภาษีจากการขายสุราหรือสุกร(มาใช้)อย่างแน่นอน

อินชาอัลลอฮ์ หวังว่าคงพอสร้างความเข้าใจได้นะครับ หวังว่าหากมีข้อขัดข้องประการใดคงต้องขอ กทม.ช่วยครับ ส่วนเอกสารต้นฉบับผมไม่มี มีแต่สำเนา เกรงว่าแฟ๊กซ์หรือสแกนแนบไปให้จะอ่านได้ไม่ชัด ขออภัยมา ณ ที่นี้ และที่สรุปทัศนะวินิจฉัย(ที่ขยายความข้อวินิจฉัยของสำนักจุฬาราชมนตรี)นี้ ผมก็ไม่ทราบบทความนี้เป็นของใครก็ขออภัยอีกเป็นครั้งที่ 2 ผู้ใดทราบโปรดไขข้อข้องใจด้วยจะเป็นพระคุณ

วะบิลลาฮิเตาฟีก วัลฮิดายะฮ์ /วัสสลามฯ

จากพี่น้องของท่านในศาสนา / อนุพล(อุซามะฮ์-เชียงใหม่)

ฝากไว้ เพียงเท่านี้ก่อน ทุกคนมีสิทธิ ที่คิด มีสิทธิออกความคิดเห็น

ซึ่งเป็นข้อดีอย่างยิ่งในสังคมมุสลิม

แต่ ณ. วันนี้ ผมขอทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ตามความสามารถ

ขอบคุณมากสำหรับความปราถนาดีในครั้งนี้

รู้จักกับองค์กร สสม. สักหน่อยซิครับ

ที่มา วารสารสุขสาระ

http://www.suksara.org/main/content.php?page=content&category=19&id=1

แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย

แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ศึกษานโยบายเพื่อการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีเจตนาที่จะผลักดันให้เกิดความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพ ตลอดจนดูแลสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในด้านสุขภาวะให้เข้มแข็งในหมู่ชาวไทยมุสลิม ถึงแม้ว่าปัญหาสุขภาพหลายๆ ปัญหาของชาวไทยมุสลิมจะไม่ได้แตกต่างไปจากปัญหาสุขภาพของชาวไทยกลุ่มอื่นเลย แต่เนื่องจากว่ามุสลิมมีความผูกพันในศาสนา นำศาสนาเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน การแก้ไขปัญหาสุขภาพจึงหนีไม่พ้นที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเช่นนี้ด้วย

ด้วยตระหนักในประเด็นดังกล่าว การดำเนินงานของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาทำความเข้าใจหลักการของศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสุขภาวะ และภูมิหลังของชาวไทยมุสลิมในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ความเข้าใจในหลักการของอิสลามในส่วนที่เกี่ยวกับสุขภาวะ ทำให้สามารถรู้ได้ว่ามุสลิมมีภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เป็นทุนทางสังคมอยู่มากน้อยเพียงใด และจะนำมาเผยแพร่ใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ความเข้าใจในภูมิหลังของชาวไทยมุสลิมช่วยให้สามารถระบุลงไปได้ว่า ปัญหาสุขภาวะของชาวไทยมุสลิมมีอะไรบ้าง เป็นปัญหาร่วมของมุสลิมในทุก ๆ กลุ่มหรือเป็นปัญหาเฉพาะกลุ่ม เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับหลักศาสนาอย่างไร นอกจากนี้การทำความเข้าใจกับบุคลากร องค์กรมุสลิม หรือองค์กรอื่น ๆ ที่มีบทบาทในสังคมมุสลิมไทยก็ได้ทำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า กลไกในการสร้างเสริมสุขภาวะของชาวไทยมุสลิมอยู่ที่ใด ควรขับเคลื่อนในลักษณะใดจึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ

แม้ว่าปัญหาด้านสุขภาพหลายปัญหาที่ชาวไทยมุสลิมประสบอยู่ ยังไม่ได้รับการดูแลจัดการอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องยอมรับว่า บางปัญหานั้นไม่ใช่สิ่งที่จะแก้ไขได้ในระยะสั้น แต่อาจต้องอาศัยระยะเวลาที่นานในระดับหนึ่ง เพื่อให้การดำเนินงานตามแผนฯ นี้ผลิดอกออกผลต่อไป

วัตถุประสงค์ของ สสม.

เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะในอิสลามและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาวะมุสลิมไทย

เพื่อผลักดันให้เกิดมาตรการทางสังคมในการควบคุมการบริโภคบุหรี่และสิ่งเสพย์ติดอื่นๆ ในหมู่ชาวไทยมุสลิม

เพื่อสร้างเครือข่ายการถ่ายทอดองค์ความรู้อิสลามกับสุขภาวะที่จะโน้มนำให้ชาวไทยมุสลิมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่สร้างปัญหาสุขภาพ

เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำในการสร้างเสริมสุขภาวะ

เพื่อพัฒนาชุมชนและมัสยิดตัวอย่างที่ให้ความสำคัญกับภาวะสุข

ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ สสม.

ยุทธศาสตร์การรวบรวมและสร้างองค์ความรู้ เน้นองค์ความรู้อิสลามกับสุขภาวะซึ่งชาวไทยมุสลิมพร้อมยอมรับ และปัญหาสุขภาวะชาวไทยมุสลิมซึ่งยังมีการศึกษาวิจัยค่อนข้างน้อย

ยุทธศาสตร์สร้างกระแสครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย ที่มีปัญหาสุขภาวะชัดเจนและมีความพร้อมในแง่ของผู้ปฏิบัติงาน

ยุทธศาสตร์สร้างปัจจัยเปลี่ยนแปลงสังคม โดยการดำเนินงานแนวดิ่งที่เน้นบางประเด็นหลัก ซึ่งการดำเนินงานจะมีรูปธรรมที่ชัดเจน และสามารถเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงหรือเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาวะ โดยแยกเป็นตัวกระตุ้นใน 3 ระดับ คือ ชุมชน มัสยิด และผู้นำ

ประสานสื่อ โดยเน้นสื่อของชาวไทยมุสลิมในทุกๆ สื่อ ให้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงและถ่ายทอดองค์ความรู้ และความเคลื่อนไหวของแผนงานฯ แก่ชาวไทยมุสลิมในทุกกลุ่ม ในทุกพื้นที่ของประเทศ

แผนภาพยุทธศาสตร์ สสม.

โครงสร้างและกลไกการทำงาน

โครงสร้างการบริหาร แบ่งเป็น 3 ระดับ

ระดับแรก เป็นส่วนกลางที่ทำงานทางด้านบริหาร มีหน้าที่พัฒนาและประยุกต์แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะชาวไทยมุสลิมร่วมกับกลุ่มแกนนำ ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของพื้นที่และเวลา กระจายงานหรือกิจกรรมต่างๆ ให้กับกลุ่มแกนนำ เครือข่าย และพันธมิตร ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการอื่นๆ ซึ่งครอบคลุมถึงกิจกรรมที่ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ และการติดตามตรวจสอบความสำเร็จของโครงการหรือแผนงานที่ได้มอบหมายออกไป และการผลักดันในระดับนโยบายของรัฐและองค์กรศาสนา

ระดับที่สอง เป็นกลุ่มแกนนำซึ่งประกอบด้วยผู้ประสานงาน และเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงาน รวมทั้งแกนนำอื่นๆ ที่ไม่ได้สังกัดแผนงานฯโดยตรง มีหน้าที่ประสานงานกับส่วนกลางและส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่รับผิดชอบหรือประเด็นที่รับผิดชอบ

ระดับที่สาม คือเครือข่ายและพันธมิตรซึ่งอาจเป็นบุคคล เช่น นักพัฒนาสังคม นักวิชาการศาสนา และองค์กรต่างๆ ของชาวไทยมุสลิม เป็นกลุ่มที่มีเจตน์จำนงและเป้าหมายที่จะร่วมงานในการสร้างเสริมสุขภาวะชาวไทยมุสลิม สามารถเข้ามีบทบาทในบางขั้นตอนหรือทุกขั้นตอนของกิจกรรม

การติดตามและการประเมินผล

โดยทั่วไป การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของแผนงานฯ จะทำอย่างน้อย 2 ระดับ คือ การติดตามและประเมินผลเป็นช่วงๆ ในขณะที่กิจกรรมกำลังดำเนินอยู่และยังไม่เสร็จสิ้น และการติดตามและประเมินผลเมื่อโครงการเสร็จสิ้นลงแล้ว การติดตามและประเมินผลจะทำทั้งโดยหน่วยงานภายนอกหรือโดยองค์กรที่ปฏิบัติงาน และโดยประชาชนที่มีส่วนได้และส่วนเสียจากแผนงานหรือโครงการ

แผนงานฯ จะทำการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานต่างๆ ทั้งที่เป็นของส่วนกลาง ศูนย์ประสานงานภาค และพันธมิตรเป็นช่วงๆ ในขณะที่โครงการฯ กำลังดำเนินอยู่และยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ในเบื้องต้นกำหนดให้เป็นทุกๆ 6 เดือน การติดตามและประเมินผลในลักษณะนี้จะช่วยให้แผนงานฯ สามารถตรวจสอบความก้าวหน้าและประสิทธิภาพของโครงการและกิจกรรมต่างๆ ทำให้สามารถปรับกลยุทธและท่าทีในการดำเนินงานเพื่อให้ดียิ่งขึ้นได้

คณะกรรมการกำกับทิศทาง สสม.

นายดำรง พุฒตาล ที่ปรึกษา

นายเขตรัฐ เทพรัตน์ ที่ปรึกษา

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มาหวิทยาลัย ที่ปรึกษา

นพ.สมัย ขาววิจิตร ที่ปรึกษา

อาจารย์อรุณ บุญชม ที่ปรึกษา

ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานกรรมการ

ศ.นพ.สนาน สิมารักษ์ กรรมการ

ดร.ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ กรรมการ

นพ.อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต กรรมการ

อาจารย์วิทยา วิเศษรัตน์ กรรมการ

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข กรรมการ

ดร.สวนา พรพัฒน์กุล กรรมการ

นายดิน อารีย์ กรรมการ

รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน กรรมการ

ศ.ดร.พลโทสมชาย วิรุฬหผล กรรมการ

ผู้แทน สสส. กรรมการ

รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ กรรมการและเลขานุการ

กระจ่างมากครับ ได้ประโยชน์ในทางวิชาการ ควรเผยแพร่สู่สาธารณะให้มากกว่านี้ หากเครือข่ายฟัตวาสำเร็จคงจะได้ฟังฟัตวาเรื่องนี้อีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท