หนังสือสื่อเพื่อพัฒนาเด็กสู่การมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์


เด็กมีความสำคัญอย่างยิ่งถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นอนาคตของชาติ หรือมีผู้กล่าวไว้ในบางสำนวนที่ว่า “อนาคตของชาติกำลังก่อตัวขึ้นในตัวเด็ก”
เรียบเรียงโดย : สรวงธร นาวาผล (กลุ่ม We are happy.      www.wearehappy.in.th)
หัวหน้าโครงการ ชวนอ่านหนังสือดี เปิดพื้นที่การเรียนรู้
โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านแผนงานสื่อสุขภาวะเยาวชน (สสย.)                  
                   มีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจและควรรับรู้ เพื่อเห็นทิศทางร่วมกันในการพัฒนาเด็ก เนื่องจากเด็กมีความสำคัญอย่างยิ่งถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นอนาคตของชาติ หรือมีผู้กล่าวไว้ในบางสำนวนที่ว่า อนาคตของชาติกำลังก่อตัวขึ้นในตัวเด็ก คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการหลักตามแนวทาง โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ของสหประชาชาติ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ ระดับชาติด้านการพัฒนาเด็ก ตามแนวทาง โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก (2550-2559)
                    ทั้งนี้ได้สรุปคุณลักษณะเด็กที่พึงประสงค์ควรจะมีดังนี้*
ความหมายของเด็ก
                   เด็ก หมายถึง ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก)
คุณลักษณะเด็กที่พึงประสงค์
                   ได้มีผู้ทำการวิจัยและมีผู้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับลักษณะเด็กที่พึงประสงค์ไว้เป็นจำนวนมาก (ดูรายชื่อเอกสารในบรรณานุกรม) แต่ไม่มีเอกสารใดที่สามารถระบุได้อย่างเป็นระบบและเป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยรวม นอกจากนี้ เด็กที่พึงประสงค์ถูกจัดไว้ตามความแตกต่างของจุดเน้นและวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ตามกาลเวลา อย่างไรก็ดี ในแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน พ.ศ.2545-2549 ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 และเป็นแผนที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ได้ระบุถึงลักษณะที่พึงประสงค์ไว้ 6 หัวข้อ ปรากฏในนโยบายเยาวนแห่งชาติ และแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนระยะยาว (พ.ศ.2545-2554) ด้วย คณะทำงานได้ร่วมกันพิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมบางข้อเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง และนำเสนอคณะอนุกรรมการฯ สรุปได้ว่าคุณลักษณะเด็กที่พึงประสงค์ควรจะมีดังนี้
1.               มีความรักและความผูกพันในครอบครัว มีน้ำใจ มีเมตตา รู้จักให้อภัย เป็นคนมีความสุข ภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย มีทักษะชีวิตที่มีคุณภาพ รู้จักสิทธิ รู้จักหน้าที่ของตน รู้จักเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก และสิทธิสตรี สามารถปกป้องสิทธิและป้องกันการล่วงละเมิดสิทธิได้อย่างเหมาะสมตามวัย
2.               มีสุขภาพและพลานามัยที่แข็งแรง มีสุขนิสัยที่ดี และมีสุขภาพจิตที่ดี รู้จักสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันตนเองจากโรคภัย อบายมุข และสารเสพติด
3.               มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีจริยธรรมและคุณธรรม มีจิตสำนึกรักความเป็นธรรม และมีพฤติกรรมรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมตามวัย ใฝ่สันติ เคารพความแตกต่างระหว่างบุคคลและความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งการไม่มีอคติต่อบุคคลอื่นด้านเพศ วัย เชื้อชาติ  ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
4.               มีค่านิยมและเจตคติที่ดีต่อการทำงาน มีศักดิ์ศรีและมีความภาคภูมิใจในการทำงานสุจริต มีทักษะที่เหมาะสมและมีการเตรียมความพร้อมในการประกอบสัมมาอาชีพ
5.               ได้รับการส่งเสริมให้มีทักษะการเรียนรู้ตั้งแต่เกิด รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และคิดแก้ปัญหา รวมทั้งการคิดสร้างสรรค์และจินตนาการสนใจและใช้นวัตกรรม ใฝ่รู้และพัฒนาตนเองรอบด้านอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
6.               รู้จักช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำหรับการดำรงชีวิต และการมีอาชีพของตนเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ทันสมัย มีความรู้พื้นฐานทางกฎหมาย รวมทั้ง สนใจติดตาม เรียนรู้และทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย และสังคมโลก เพื่อให้สามารถรู้เท่าทัน และมีการเตรียมตัวเพื่ออนาคต และความมั่นคงของชีวิต
7.               รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นและผู้ด้อยโอกาส มีส่วนร่วมเหมาะสมตามวัย รวมทั้งได้แสดงความคิดเห็นในการสร้างความร่มเย็นเป็นสุขในครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ บนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                   หนังสือในฐานะที่เป็นสื่ออย่างหนึ่ง ที่มีบทบาทในการพัฒนาเด็ก ดังที่แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวไว้ตามหลักใน Facts sheet กันยายน 2549 ว่า หนังสือถือเป็นกลยุทธ์และกระบวนการที่สำคัญต่อการพัฒนาเด็ก นั้น ทั้งนี้จึงน่าจะนำข้อสรุปถึงคุณลักษณะเด็กที่พึงประสงค์ไปเป็นข้อพิจารณาในการผลิตหนังสือ(ดี)ที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพื่อเป็นแนวร่วมสู่การร่วมสร้างเด็กที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้วยเช่นกัน
…………………………………

 

* ที่มา : นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ ด้านการพัฒนาเด็ก ตามแนวทาง โลกที่เหมาะสมกับเด็ก (พ.ศ.2550 2559) โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ จัดทำนโยบายแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการหลักตามแนวทาง โลกที่เหมาะสมกับเด็ก องค์การสหประชาชาติ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการแสงพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 
หมายเลขบันทึก: 99806เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2007 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ท้าฉลาดนะก็ส่งความคิดเห็นมาสิ        

พวกฉลาดน้อยโง่เยอะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท