BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ตุลาการภิวัฒน์


ตุลาการภิวัฒน์

เสร็จสิ้นคดียุคพรรคไปแล้ว กองเชียร์แต่ละฝ่ายก็คงจะสมหวังหรือผิดหวังบ้างแตกต่างกันไปใน ยุคตุลาการภิวัฒน์ ....

ตุลาการภิวัฒน์ คำนี้ ผู้เขียนเพิ่งได้ยินไม่นาน และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ใช้คนแรก หรือเป็นศัพท์ที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศหรือไม่... แต่คำนี้สะดุดความรู้สึกผู้เขียนทันที เพราะเป็นคำที่มาจากบาลีภาษา.... ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะแยกศัพท์ได้ทำนองนี้..... 

ตุล + การ + อภิวัฒน์ = ตุลาการภิวัฒน์

ตุล แปลว่า ไตร่ตรอง ชั่ง  ไต่สวน กำหนด หรือ ตัดสิน

การ แปลว่า กระทำ

อภิวัฒน์ แปลว่า เจริญทับ ... ซึ่งไม่ได้อรรถรส สำนวนไทยแท้ๆ ควรแปลว่า ครอบงำ หรือ ควบคุม

( อนึ่ง การแยกศัพท์ทำนองนี้ แยกตามร่องรอยของคำที่มองเห็นเท่านั้น มิได้แยกตามหลักสนธิ เพราะผู้เขียน โมเม เอาว่าคำนี้เขียนขึ้นมาเพื่อ ล้อเลียน บางอย่าง เท่านั้น ) 

ดังนั้น ตุลาการภิวัฒน์ = ตัดสิน + กระทำ + ควบคุม

และเมื่อแปลให้ได้ความหมายเป็นหนึ่งเดียวก็มีปัญหา ว่าจะแปลเป็น กัตตุวาจก (บ่งชี้ผู้กระทำ) หรือ กรรมวาจก (บ่งชี้สิ่งที่ถูกกระทำ).. เพราะแตกต่างกัน ดังนี้

การควบคุมซึ่งผู้กระทำการตัดสิน .... นี้แปลเป็น กัตตุวาจก

การถูกผู้กระทำการตัดสินควบคุม ..... นี้แปลเป็น กรรมวาจก

.....

ดังนั้น ยุคตุลาการภิวัฒน์ จึงอาจแปลได้ ๒ นัย ตามข้างต้นได้ดังนี้

ยุคที่ควบคุมซึ่งผู้กระทำการตัดสิน .... (กัตตุวาจก)

ยุคที่ถูกผู้กระทำการตัดสินควบคุม .... (กรรมวาจก)

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า คำนี้ซึ่งใช้เรียกสถานการณ์ของเมืองไทยขณะนี้ว่า จะใช้ในความหมายแรกหรือความหมายที่สอง....

จึงใคร่ถามว่า ในความเห็นของท่าน ท่านคิดว่า...สังคมไทยขณะนี้เป็นยุคใดกันแน่ ระหว่าง ยุคที่ควบคุมซึ่งผู้กระทำการตัดสิน และ ยุคที่ถูกผู้กระทำการตัดสินควบคุม ?.... 

คำสำคัญ (Tags): #ตุลาการภิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 99796เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2007 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

เข้าสถานการณ์ดีครับ :-)

 

วาจก ภาษาอังกฤษคือ voice หรือเปล่าครับ? 

นมัสการค่ะท่าน

ตามความเห็นของดิฉัน เป็นทั้งคู่ค่ะ เช่น

  1. ตอนตัดสินเรื่อง กฟผ. น่าจะมีเรื่องกระแสปนอยู่บ้างหรือเปล่า  ยุคที่ควบคุมซึ่งผู้กระทำการตัดสิน???

.... 

2.แต่เรื่องยุบพรรค น่าจะเป็น ยุคที่ถูกผู้กระทำการตัดสินควบคุม ?...??ไม่แน่ใจค่ะ. 

P

วาจก ก็คงจะคล้ายๆ กับ voice นั่นแหละ

อังกฤษมี เอกตีฟว้อยส์ แพรสซิปว้อยส์ ... ส่วนประเด็นย่อยยิ่งไปกว่านี้ หลวงพี่ไม่แน่ใจว่าเคยเรียนหรือไม่ ....

บาลีมี ๕ วาจก กล่าวคือ

กัตตุวาจก ผู้กระทำ เช่น ทายโก ผู้ให้

กัมมวาจก ผู้ถูกกระทำ เช่น ทตฺโต ผู้อันเขาให้ (มา)

ภาววาจก ความมีความเป็น เช่น ทานํ การให้

เหตุกัตตุวาจก ผู้สั่งให้กระทำ เช่น ทาเปตุ จงยังเขาให้- ให้

เกตุกัมมวาจก ผู้ถูกสั่งให้กระทำ เช่น ทาปิยเต ผู้อันเขาสั่งให้- ให้

ศัพท์เหล่านี้ มาจาก ทา รากศัพท์ แปลว่า ให้ ... แล้วนำมาปรุงเป็น คำนาม หรือ คำกิริยา ... ตามหลักไวยากรณ์

วาจก ตามศัพท์ แปลว่า บอก (กิริยา) ซึ่งเป็นเครื่องหมายรู้ว่า กิริยานั้นเป็นอย่างไร ......

เจริญพร 

P

อาตมาก็เพียงตั้งข้อสงสัยว่า....

ตุลาการ มีหน้าที่ตัดสินเพื่อความเป็นไปของบ้านเมือง .. หรือ

ตุลาการ ถูกสั่งการจาก... ให้ตัดสินอย่างนั้น

อย่างไรก็ตาม ตุลาการ ถือว่าสำคัญสำหรับยุคนี้

ก็นำมาเล่าเล่นๆ เท่านั้น....

เจริญพร 

"จงยังเขาให้- ให้" ข้อนี้งงดีจังเลยนะครับ

P

อ๋อ... พอดียกตัวอย่างไม่เหมาะสม นะ

จะยกตัวอย่างใหม่เฉพาะ เหตุกัตตุวาจก กับเหตุกัมมวาจก .. ดังนี้

  •  เหตุกัตตุวาจกบ่งชี้ ผู้ใช้ให้กระทำ ตัวอย่าง....

สามียังภรรยาให้หุงอยู่ซึ่งข้าวสุก สามิโก ภริยํ โอทนํ ปาเจติ

  • เหตุกัมมวาจกบ่งชี้ ผู้ (หรือสิ่ง) ที่ถูกใช้ให้กระทำ ตัวอย่าง... 

ข้าวสุกอันสามียังภรรยาให้หุงอยู่ สามิเกน ภริยํ โอทโน ปาจาปิยเต

.......... 

คำว่า ให้ ในภาษาไทย บางครั้งก็เป็น กิริยา บางครั้งเป็นเพียง คำที่แหนบเข้ามา เท่านั้น.... (หลวงพี่ยกตัวอย่างมั่วๆ ไง น้องวีร์....)

ส่วนในอังกฤษ นอกจากเรื่อง ว้อยซ์ แล้ว คงต้องนำเรื่องไดเร็ก อินไดเร็ก มาอธิบายเสริมด้วย...

แค่นี้นะ จะลงไปเวียนเทียน..

เจริญพร 

นมัสการพระคุณเจ้า

บันทึกของพระคุณเจ้าเป็นประโยชน์มาก  เป็นแสงสว่างแห่งปัญญา  

ผมมองว่า ตุลาการภิวัฒน์ = ตุลาการ + อภิวัฒน์   แปลว่า ความก้าวหน้ายิ่งของตุลาการ  หรือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของตุลาการ   หรือการที่ศาลมีวิธีคิด มีความรู้ใหม่ๆ สำหรับใช้ในการตัดสินคดี

ที่ต้องมีตุลาการภิวัฒน์ เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากเหลือเกิน ศาลต้องตามให้ทัน จะตามทันต้องมีวิธีคิดใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ

มองอย่างนี้ไม่ทราบว่าถูกต้องไหม

นมัสการมาด้วยความเคารพยิ่ง

วิจารณ์

P

Prof. Vicharn Panich

 

  •  ตุลาการภิวัฒน์ = ตุลาการ + อภิวัฒน์   แปลว่า ความก้าวหน้ายิ่งของตุลาการ

ตามที่อาจารย์หมอว่ามา ก็ถูกต้องตามหลักภาษา เพราะอุปสัคว่า อภิ แปลว่า ยิ่ง ก็ได้... และคำขยายความเพิ่มเติมก็เหมาะสมกับความหมายที่มีอยู่...

อนึ่ง อาตมายังมีความเห็นว่า ไม่ใช่เฉพาะตุลาการเท่านั้น ที่จะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ แม้แวดวงอื่นๆ ก็ควรจะปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของยุคสมัย เพราะมิฉะนั้น ก็อาจสูญพันธ์แบบไดโนเสาร์ก็ได้ (......)

เจริญพร 

วันก่อนนี้ดูช่อง 9 เขาว่าไดโนเสาร์คงพัฒนาการมาเป็นไก่และนกทุกวันนี้ เพราะลักษณะคล้ายกันหลายอย่าง.

แบบนี้ผมจะเรียกว่าไดโนเสาร์อภิวัฒน์ไปเป็นไก่ได้หรือเปล่าครับ?

P

वीर

 

น้องวีร์มาปัญหายากอีกแล้ว..

จาก ไดโนเสาร์ เป็น ไก่ (นก) ... จัดเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ นั่นคือ จากสิ่งหนึ่งมาเป็นสิ่งหนึ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป...

ตามนัยนี้... ถ้าจะใช้คำว่า อภิวัฒน์ รู้สึกว่าจะไม่ใกล้เคียง... ส่วนศัพท์ที่ใกล้เคียงที่พอจะนึกได้ตอนนี้ ก็คือ ปริวัตต์ ซึ่งตามศัพท์แปลว่า เป็นไปรอบ แต่โดยอรรถก็พอจะแปลว่า เปลี่ยนแปลง ได้ แต่ก็ไม่ค่อยตรงตัวนัก...

ส่วนคำบาลีที่มีความหมายตรงตัวตามนี้ คิดว่าคงจะมี แต่ตอนนี้ หลวงพี่ยังนึกไม่ออก... 

ตามความเห็นส่วนตัว คำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาอื่น เราอาจกำหนดความหมายและการใช้ใหม่ได้... ตี่ต่างว่า น้องวีร์เขียนตำราด้านนี้ แล้วกำหนดให้ใช้คำนี้แทนความหมายนี้ ก็อาจเป็นไปได้ (ถ้ามีผู้ยอมรับและใช้ตาม)

เจริญพร

ขอบพระคุณหลวงพี่มากครับ ที่ให้ความรู้.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท