บทสนทนาพระเซน-พระคาทอลิค การภาวนา-การต่อต้าน ตอนที่ 1


หนึ่งบทสนทนา ระหว่างหนึ่งพระเซน กับหนึ่งพระคาทอลิค ด้วยเรื่องราวแห่งสันติ ด้วยความหมายแห่งอหิงสา เพื่อก้าวพ้นความรุนแรงแห่งยุคสมัย

การภาวนาและการต่อต้าน

บทสนทนา ช่วงที่ 1   

บทแปลความ ข้อความสนทนา ระหว่างหนึ่งอาจารย์เซน กับหนึ่งบาทหลวงคาทอลิค ด้วยเรื่องราวแห่งสันติ ด้วยความหมายแห่งอหิงสา เพื่อก้าวพ้นความรุนแรงแห่งยุคสมัย  

 วิศิษฐ์ วังวิญญู

แปลคัดจากเรื่อง Contemplation and Resistance

ในนิตยสาร ชื่อ Win  

บทสนทนา ช่วงที่ 1 

ข้างล่างนี้เป็นบันทึกคำสนทนาที่ปารีส ๔ มกราคม ๒๕๑๖ ระหว่างติช นัท ฮันห์ กับแดน เบอริแกน คนหนึ่งเป็นอาจารย์เซ็น อีกคนหนึ่งเป็นบาทหลวงคาทอลิค อันเป็นที่รู้จักกันดีในการเผารายชื่อผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร และเป็นผู้ไม่ยอมรายงานตัวต่อการจำคุกตรงตามหมายกำหนด           

ในเวลานั้น พอดีกับสหรัฐอเมริกากำลังฉลองคริสต์มาส อยู่ด้วยการทิ้งระเบิดคุกคามชาวเวียดนาม การหยุดยิงที่มีความหวังว่าจะคงไว้หลายเดือน กลับแตกกระจุยดุจเดียวกับโรงพยาบาลบาชมายในฮานอย แดนมาถึงปารีสได้ไม่ถึงสองอาทิตย์ดี หลังจากที่น้องชายของเขาได้รับการปลดปล่อยออกจากคุก และหลังจากการไปเป็นประจักษ์พยานต่อการก่อสงครามครั้งใหม่ ที่บันไดของโบสถ์นักบุญแฟททริกคาทีคัล ในนิวยอร์ค (คาร์ดินาล ไม่อยู่ไปเยี่ยมกองทัพทหาร)           

ด้วยการเป็นกวี อันมีความผูกพันอยู่กับอหิงสาธรรม ท่านทั้งสองจึงได้รู้จักกันมาเป็นเวลานานพอสมควร แต่การจะได้มาอยู่ใกล้ชิดกัน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน พูดคุยกันและหุงหาอาหารด้วยกัน ในเวลาวิกฤตเช่นนี้ ย่อมเป็นเวลาอันจะอำนวยให้เกิดความเข้าใจและความใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ และคิดว่าการใช้เครื่องบันทึกเสียงคงจะไม่ทำลายบรรยากาศอันมีสุขุมรสเช่นนี้ไปเสีย           

ในบทสนทนานี้ มีหลายตอนที่ขาดหายไป ไม่ใช่ถ้อยคำ หากเป็นความสงบเงียบระหว่างเขาทั้งสอง ระหว่างการเอ่ยนำของแดน กับการตอบรับของ นัท ฮันห์ ครั้งแรกเป็นความเงียบได้ ๑๐ นาที ความเงียบสนิท จนกระทั่งได้ยินเสียงแผ่ว ๆ ของเครื่องบันทึกเสียงได้ และความเงียบในส่วนอื่น ๆ ของการสนทนา ทำให้ท่านทั้งสองเป็น เควกเกอร์ หรือ แทปฟิสต์ หรือผู้อยู่ในสายของการไม่ยึดติดนิกายใดได้อย่างสมภาคภูมิ   

 

.... .... .... .... .... 

บทสนทนา ช่วงที่ 1  

แดน เบอริแกน : เรานั่งอยู่นี้ ด้วยอาการเอาจริงเอาจัง ด้วยความวิเวกแห่งจิตอย่างยิ่ง นึกถึงเพื่อนของเราทั่วโลก และลังเลอยู่ว่าถ้าเราจะพูดถึงความหมายของขบวนการอหิงสา อันประกอบด้วยรากฐานบางอย่าง ประเพณี อำนาจที่มีขอบเขต โดยเฉพาะการค้นหาขบวนการที่ไม่เป็นไปเพื่อการเมือง และไม่โน้มเอียงไปสู่ความรุนแรงนั้นจะเป็นการดีหรือไม่ เราได้เห็นขบวนการที่ผิดพลาดในลักษณะเช่นนี้มามากแล้ว แต่ในหลาย ๆ ด้าน มรดกแห่งอดีตของคริสต์และพุทธ ก็สามารถเข้ากันได้ เช่นในเรื่องความเมตตากรุณา การรู้จักอกเขาอกเรา และความรู้สึกต่อกาลเวลาที่แตกต่างออกไป คือความรู้สึกต่อเวลาที่ยาวนานกว่าและลึกกว่าเมื่อเราอยู่ในคุก ผมเชื่อว่าเรามีความรู้สึกต่อเวลาแตกต่างออกไปด้วย บางทีอาจจะเข้าใกล้สัจจะมากขึ้น  

 

นัท ฮันห์ : เรามักจะจินตนาการว่า ช่วงชีวิตของมนุษย์ก็คือเส้นตรงที่ลากขึ้นบนแผ่นกระดาษจากซ้ายไปขวา บุคคลเกิดขึ้นมาในโลก ใช้ชีวิตอยู่แล้วก็ตายไป เราเลยคิดว่าชีวิตของบุคคลคนหนึ่งก็เหมือนกับเส้นที่ลากไว้บนแผ่นกระดาษตามขวาง แต่ผมคิดว่าการสมมติเช่นนั้นไม่ถูกต้อง ชีวิตไม่สามารถกำหนดให้เป็นเหมือนเส้นที่เราลาก เพราะการมีชีวิตอยู่ไม่ไปในทิศทางเดียว คือจากซ้ายมือมาขวามือ หากไปในทิศทางอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นภาพวาดชีวิตด้วยการใช้เส้นตรงที่ลากตามขวางนั้นจึงไม่ถูกต้อง มันไปทุกทาง ไม่ใช่ ๔, ๘ หรือ ๑๖ ทางเท่านั้น แต่มันมีทิศทางไปมากมาย ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราได้เห็นแจ้งแทงตลอดในสัจจะอันนั้น ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับเรื่องเวลาก็จะเปลี่ยนไป สิ่งนี้นี่เองเวลาคุณนั่งสมาธิ คุณจะไม่รู้สึกว่าได้เดินทางไปกับกาลเวลา หากอยู่ในนิรันดร เราไม่ถูกขัดขวางด้วยความตาย หรือด้วยความเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกที่ได้มีชีวิตอยู่ในสภาวะจิตใจเช่นนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งในการทำตนให้บริสุทธิ์สะอาด ไม่เพียงแต่จะมีผลต่อสภาวะการเป็นอยู่ของเราเท่านั้น หากยังมีผลไปถึงการกระทำ และการไม่กระทำของเราด้วย  

 

แดน : ผมคิดว่าส่วนหนึ่งของความยุ่งยาก ก็คือการตัดสินที่จะกระทำการที่ถูกต้องในเวลาที่ถูกต้อง (หรือเวลาสำหรับการไม่กระทำ) แต่สำหรับคนโดยทั่วไปแล้ว คำถามนี้มักจะไม่มีการได้ถามกัน จะถามกันก็แต่เฉพาะเรื่องการเมืองเท่านั้น และผมคิดว่าความยุ่งยากส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่กับคำถามที่ว่า เราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ทำไมเราจึงยอมรับการมีชีวิตอยู่ ทำไมไม่ตัดขาดออกจากชีวิตทำไมชีวิตถึงมีค่า และเมื่อมีการถามคำถามเช่นนี้ โดยที่ความเข้าใจต่อคุณค่าของชีวิตก็ยังไม่ไกลไปกว่าการถกเถียงกันด้วยถ้อยคำ ผมคิดว่า การกระทำที่ถูกต้องก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับคนคนหนึ่งที่อาจจะพูดขึ้นว่า เมื่อเราตั้งคำถามต่อทุกสิ่งทุกอย่าง คำถามว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในวันหนึ่ง ๆ ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ทุกข์ทรมาน เลยกลายเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เมื่อไม่สามารถจัดการอะไรได้กับคำถามนี้ เราก็พยายามหนีมัน หลังจากนั้นก็บอกว่าคำถามเหล่านั้น "วุ่นวายมากเกินไป" เลยไม่ยอมค้นหาวิธีการจัดการกับคำถามเหล่านั้นอีกเลย วันหนึ่ง ๆ ด้วยสุราเมรัย ยาเสพติด หรือความสิ้นหวังหรือสิ่งที่เขายึดจับได้อื่น ๆ อันรวมศาสนาเข้าไว้ด้วย เขาก็เลยเลิกค้นหามาตรฐานแห่งการดำรงอยู่ ซึ่งจะช่วยให้การต่อสู้เป็นไปได้ในระยะเวลาที่ยาวนานจนตราบเท่าช่วงชีวิตของเขา และการที่จะให้ได้ชีวิตที่ไม่ทำร้ายผู้อื่นและตัวเอง สำหรับผมแล้วจะต้องอาศัยชีวิตเข้าสู่พระผู้เป็นเจ้าที่ลึกซึ้งศีลจริยวัตรอันสม่ำเสมอที่เกี่ยวแก่ความเอร็ดอร่อย ความรู้สึก ความอยากรู้อยากเห็น และการรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนการรับรู้เรื่องการเมือง วัฒนธรรมของเราไม่ได้ตระเตรียมอะไรให้เราเลย เพื่อให้เราได้เข้าใจอย่างที่เราเข้าใจอยู่เดี๋ยวนี้ อันเป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้นหลังจากการเกิดสงครามเวียดนามถึง ๑๐ ปี ประชาชนที่จะสัมผัสกับชีวิตแบบนี้มีน้อยมาก บางทีเราอาจจะคิดว่า นี่เป็นเวลาสมควรที่จะมีการฟื้นฟูศาสนธรรมกันใหม่ ด้วยการหาอะไรที่ลึกลงไปกว่าวัฒนธรรมที่เป็นอยู่นี้ แต่เราก็หาที่ลงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมจึงลากศาสนธรรมไปเป็นเพียงวิธีการสำหรับหลบเลี่ยงคำถามแห่งชีวิตอันนำมาซึ่งความทุกข์ ประชาชนไปโบสถ์เพราะต้องการจะลืม และคนอื่น ๆ ที่จะไม่ไปโบสถ์ก็ต้องการจะลืมเช่นกัน และไม่มีหนทางออกอื่นที่จะช่วยได้  

 

นัท ฮันห์ : เขาพยายามจะลืม เพราะว่าเขารู้สึกเหน็ดเหนื่อย เขาไม่มีกำลังใจที่จะเผชิญหน้ากับปัญหายุ่งยากประจำวัน ตอนแรกเขาอาจจะมีกำลังใจ หากแต่ว่าเขาไม่สามารถยืนหยัดการต่อสู้ไว้เป็นเวลานานได้ นี่เป็นเหตุผลที่เขาพยายามจะลืม และจุดสำคัญอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะเข้มแข็งพอที่จะรับปัญหาเหล่านี้ได้โดยไม่หนีมัน ในกรณีนี้ ผมคิดว่า (ตามประสบการณ์ของผม) ปริมาณของการกระทำมิใช่เป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญคือคุณภาพ เมื่อผมรู้สึกสงบ ระงับ และมีความสุข ผมมีความแน่ใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมทำจะให้ผลดี แต่บางครั้งปัญหาที่อยู่ต่อหน้าผมมาแรง ผมรู้สึกว่าผมไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดในเวลาเดียวกันได้ ตัวอย่างธรรมดา ๆ ก็ได้แก่การอ่านหนังสือพิมพ์ โดยที่อ่านทุก ๆ วัน และอ่านแต่ละเรื่องอย่างละเอียดถี่ถ้วน บางครั้งเราก็หยุดอ่านเราพบตัวเองว่าไม่อยู่ในสภาวะที่จะอ่านหนังสือพิมพ์เหล่านี้ได้ บางครั้งก็เป็นเวลานานถึง ๓ เดือน และหลังจากสามเดือนแล้ว เรามาอ่านหนังสือพิมพ์อีกก็พบว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก ดังนั้น จึงน่าจะมีการจัดการบางอย่างเพื่อให้เราได้ทำนุบำรุงตัวเราเองทางด้านจิตใจ (ให้เกิดชีวิต) เพื่อเราจะได้มีประสิทธิภาพ ด้วยมีปัญหาน้อยลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น  

 

แดน : ผมคิดว่านี่เป็นการต่อสู้กับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ยากของเราอย่างหนึ่ง ซึ่งแนวทางปฏิบัติของวัฒนธรรมได้คุกคามโลก ดังที่เราได้เรียนรู้จากสงครามเวียดนาม แต่อีกด้านหนึ่ง ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมของเรา คือคนหนุ่มทั้งหลายที่มีความตั้งใจดีและมีความสามารถอย่างสูง ซึ่งก็มีอยู่หลายแบบผสมผเสกัน ดังที่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่ผ่านมาในช่วง ๑๐ ปีนี้ กับการที่จะต้องอดทนต่อการถูกทำให้เสียขวัญ การขึ้นโรงศาล การพิจารณาคดีที่ยาวนาน ที่จำขัง การอยู่ใต้ดิน การพลัดพรากครอบครัวและเพื่อน การที่ต้องอดทนต่อสิ่งเหล่านี้ถือเป็นส่วนประกอบที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เราได้เรียนรู้ว่า ความสามารถในการกระทำสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หาได้ยาก ราว ๆ ปี ๑๙๖๕-๑๙๖๖ บางคนในพวกเราถูกคนอื่นรังเกียจ อหิงสาเป็นเรื่องโง่เขลา ไม่ทันสมัย การยอมรับการพิจารณาคดีและยอมเข้าคุกเป็นเรื่องเหลวไหล นี่ไม่ใช่ขบวนการจะต้องแก้แค้น ด้วยการใช้ความรุนแรงและอาวุธ แล้วเราก็เห็นว่ามันไป ๆ มา ๆ เพื่อนของเราและนักต่อต้านที่เป็นคาทอลิคโดนรังเกียจเช่นเดียวกันนี้ เราสูญเสียความเลื่อมใสของคนหนึ่งที่มีต่อเราไปมาก แต่แล้วมันก็กลับมา เราอยู่ในวงจรที่สองแล้ว เป็นทศวรรษที่สอง ๑๙๗๐ เป็นปีแห่งความเข้าใจ พวกเขาเห็นขบวนการอื่น ๆ หายไป เหลือแต่พวกเราที่ยังอยู่ที่นั่น ในตอนปลายของเดือนธันวาคม ๑๙๗๒ ในขณะที่กำลังมีการทิ้งระเบิดต่อเนื่องกันถึง ๑๐ วันที่เมืองนิวยอร์ค มีพวกเราเท่านั้นที่ยังยืนหยัดอยู่ พวกเราและคนหนุ่มที่เคยติดคุกกันมาแล้ว และเป็นพวกเดียวที่เหลืออยู่ในการเรียกให้หยุด เราพูดคุยกับประชาชน ตระเตรียมเอกสาร และยังมีความหวัง ยังมีสัญญาณของความหวัง ผมคิดว่าการกระทำครั้งนี้ไม่ใช่การกระทำที่ยิ่งใหญ่อันใด แต่ก็เป็นการกระทำอย่างหนึ่ง ที่จะประกาศว่าคุณไม่ต้องการเลียนแบบศัตรูของคุณ และเมื่อคุณเลียนแบบศัตรู คุณก็เป็นศัตรูด้วย ดังนั้นถ้าคุณคิดจะใช้ความรุนแรงในขบวนการบางอย่าง คุณก็น่าจะเข้าร่วมกับกองทหารฆ่าชาวเวียดนามได้ เพราะว่าทั้งสองสิ่งก็คือสิ่งเดียวกัน เป็นเรื่องยากสำหรับชาวอเมริกาที่จะเข้าใจ  

 

นัท ฮันห์ : และนั่นยังเป็นปัญหาพื้นฐานที่สุด ที่ผมเห็นในการกระทำของคุณและของเพื่อนของคุณ ก็คือขบวนการเพื่อการตื่น และผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะว่าปัญหาก็คือ การทำให้เกิดความตื่นขึ้น จากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็จะตามมา ถ้าประชาชนไม่ตื่น คุณก็ไม่สามารถทำอะไรเลย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่แรงหนึ่งต่อต้านอีกแรงหนึ่ง ว่าแรงไหนจะได้อยู่บนผืนแผ่นดินนี้ แต่ปัญหาคือความตื่น ตรงกันข้ามกับความหลงลืม ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วและอาชญากรรมที่มีอยู่มากมาย คนฆ่ากันหรือประกอบอาชญากรรมมิใช่ว่าเขาจะต้องเป็นโหดร้ายโดยสันดาน แต่เป็นเพราะเขาหลงลืม เขาไม่ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ด้านแม้แต่ภายในตัวเขาเอง ดังนั้นผมจึงสามารถตั้งชื่อขบวนการของคุณได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดการตื่นทางมโนวิญญาณ ซึ่งเป็นหัวใจของมนุษย์ 

 แดน : ผมหวังเช่นนั้น ผมคิดหวนไปถึงเรื่องที่คุณได้พูดก่อนหน้านี้ คือเรื่องการตื่นตูมในเหตุการณ์ต่าง ๆ ความกระหายในข่าวใหม่ ๆ ทุก ๆ วัน ประชาชนต้องการจะซึมซาบ ความยุ่งเหยิง การนองเลือดและความรุนแรงที่ไม่น่าเชื่อเหล่านี้ จึงนำมาซึ่งความหลงลืม โดยแกล้งทำเป็นตื่น บุคคลอุดมคติ (ตามแนวความคิดนี้) คือคนรู้เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอ่านหนังสือพิมพ์ทั้งหมด แต่บ่อยครั้งเขาจะเป็นคนที่ตระหนักน้อยที่สุดว่าอะไรเกิดขึ้นกับประชาชนจริง ๆ และตระหนักถึงตนเองน้อยที่สุดด้วย  

 

นัท ฮันห์ : นั่นเป็นความจริง เพราะบางคนอ่านหนังสือพิมพ์ด้วยเหตุที่ว่า เขาไม่สามารถอดทนต่อการต้องอยู่ในที่ใดที่หนึ่งโดยไม่ได้ทำอะไร ดังนั้นเขาจึงไม่อยากรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ หากแต่เพียงต้องการเติมอะไรบางอย่างใส่หัวตัวเองให้เต็มเท่านั้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเผชิญกับความว่างเปล่าและความอ้างว้างในตัวของเขาเอง  

 

แดน : ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องจักรกับมโนวิญญาณ ตามท้องเรื่องนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เครื่องจักรในตะวันตก ถ้าเปรียบเทียบแบบให้เกินจริงอยู่หน่อย ก็เปรียบได้กับตัวที่กินทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นแบบอย่างอันหนึ่งที่มนุษย์ควรปฏิบัติตามและได้มาซึ่งประสิทธิภาพ ผลได้ การปะทะและมิจฉาทิฏฐิของมโนวิญญาณ ในที่นี้ความแตกต่างระหว่างเครื่องจักรกับมโนวิญญาณของมนุษย์ก็จะหายสาบสูญไป ทั้งสองต่างพยายามจะครอบครองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราได้เรียนรู้จากทศวรรษที่แล้วว่าชั่วระยะเวลาหนึ่ง คนที่มีอำนาจในรัฐบาลจะไม่มีประสบการณ์ทางมโนวิญญาณอื่นใดนอกไปจากที่ผ่านออกมาจากเครื่องจักร นั่นก็คือลูกระเบิดนั้นเอง ทางเดียวที่จะมีอำนาจอยู่ได้ในโลก ก็คือการมีคำสั่งเหนือเครื่องจักร ซึ่งก็คือการมีคำสั่งจะให้อยู่หรือตายก็ได้ และจะไม่มีความแตกต่างระหว่างการทิ้งลูกระเบิดอันเป็นวิธีการทางมโนวิญญาณอันหนึ่งกับตัวมโนวิญญาณเอง ดังนั้นการเดินสวนทางกับสิ่งนั้น หรือการหาหนทางที่จะเดินสวนทางกับสิ่งนั้น หรือที่เราพูดไว้ที่แคตันส์วิลล์ว่า การปฏิเสธต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นทั้งหมด เป็นสิ่งที่ยากและนำมาซึ่งความทุกข์ทรมาน ผมไม่สามารถบรรยายออกมาได้ว่าเครื่องจักรได้ชัยชนะเหนือมโนวิญญาณของเราได้อย่างไร จนกระทั่ง "คำสั่งแห่งความจำเป็น" (Order of Necessity) ประกาศออกมา เราเชื่อว่า "ความรุนแรงไม่ใช่สิ่งจำเป็น" ถ้ามองในทัศนะของอภิปรัชญา ความรุนแรงเป็นแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น (ไม่เป็นอย่างอื่น) ความรุนแรงเป็นคำสั่งแห่งความจำเป็นด้วยตัวของมันเอง และการก้าวหลีกจากความจำเป็นไปสู่อิสรภาพ ก็คือการก้าวไปสู่อหิงสา เพราะมันเป็นทางเดียวที่จะไปสู่อิสรภาพ  

 

นัท ฮันห์ : ความรุนแรงทำลายมโนวิญญาณ  

 

แดน : ใช่ แต่นั่นหมายถึงความรู้สึกนึกคิดภายในความรู้สึกนึกคิดของตนเอง เพราะว่าเครื่องจักรอยู่นอกตัวมันเองโดยสิ้นเชิง เครื่องจักรไม่มีมโนวิญญาณอยู่เลยแม้แต่น้อย และทำลายมโนวิญญาณ จนมันเอาชนะได้ บางคนพูดว่าการมีจิตเป็นกุศลเป็นการประพฤติตนให้ถูกต้องต่อโลก แต่นั่นเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะมันยังเป็นการประพฤติตนให้ถูกต้องต่อตนเองอีกด้วย ต้องเป็นทั้งภายในและภายนอกจึงจะเข้าทำนอง  

 

นัท ฮันห์ : เครื่องจักรของความรุนแรงทำลายมโนวิญญาณ เพราะว่ามันก่อให้เกิดความกลัว ก่อให้เกิดความสิ้นหวัง ก่อให้เกิดความรู้สึกและอารมณ์ทุกอย่างที่จะทำร้ายมนุษย์และอหิงสกรณียะ แน่นอนเราจะต้องเป็นปฏิปักษ์ต่อเครื่องจักรของความรุนแรงและด้วยเหตุผลเดียวกัน เราจะต้องเป็นปฏิปักษ์ต่อความคิด และความรู้สึกที่จะใช้เครื่องจักรอันนั้น  

 

แดน : ในเวลาที่เครื่องจักรประกาศชัยชนะเหนือมนุษย์ทั้งหญิงและชายเช่นนี้ ผมคิดว่าการภาวนาจะกลายเป็นรูปแบบของการต่อต้านอย่างหนึ่ง และควรจะนำไปสู่การต่อต้านระดับโลก ถึงขนาดที่บุคคลจะไม่สามารถประกาศว่าเขาสัมผัสกับพระผู้เป็นเจ้าได้อีกต่อไป ถ้าหากเขายังทำตนเป็นกลางกับเครื่องจักรอยู่ และปล่อยให้มนุษย์ต้องล้มตายไป ผมเอาเรื่องนี้ขึ้นก็เพราะว่าเรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดอีกด้วย และเนื่องด้วยความสับสนของวัฒนธรรมของเรา คนส่วนใหญ่จึงพากันไปภาวนากันอย่างสิ้นหวัง (แม้ว่าจะไม่รู้ตัวก็ตาม) พวกเขาปฏิบัติสมาธิเพื่อความเป็นกลาง คือการหาอะไรมาป้องกันระหว่างตัวเขากับโลกที่ไม่น่าอยู่ แทนที่เป็นโอกาสที่จะอุทิศตัวให้แก่ประชาชนและความหวัง แทนที่จะหาสิ่งที่แตกต่างออกไปอันเป็นสิ่งใหม่ให้แก่ประชาชนผู้ทุกข์ยาก เรามีตัวยาวายร้ายชื่อ "การภาวนา" ผู้ปฏิบัติอาจเรียกตัวเองว่า ผู้คลั่งไคล้พระเยซูเจ้า สาวกของพระกฤษณะหรือของพระพุทธเจ้า อาจใส่เครื่องนุ่งห่มแตกต่างออกไป อยู่ในถนน ภิกขาจารสวดมนต์ และอาศัยอยู่ในคอมมูน แต่เขาไม่สนใจอะไรเกี่ยวกับสงครามเลย เขาพูดเหมือนกับ บิลลี กราแฮม ว่า "พระเยซูเจ้า โปรดช่วย" นั่นเป็นแต่เพียงการพูด ไม่ได้ลงความเห็นว่าจำเป็นจะต้องทำอะไร ดังนั้นเขาก็กลายมาเป็นทรัพยากรอีกชนิดหนึ่งของวัฒนธรรม หาได้เป็นทรัพยากรที่เป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมไม่  

 

นัท ฮันห์ : ในเรื่องสมาธินี้ด้วย ผมคิดว่าการได้สัมผัสกับความเป็นจริง ซึ่งเราใช้ชีวิตอยู่ได้กินลึกเข้าไปในจิตใจของเรา และพวกเราหลายคนต้องการการเยียวยา คนเป็นจำนวนมากทั้งตัวผมและเพื่อนของผมหลายคน เราต้องการเวลาสักเล็กน้อย สถานที่ การอยู่โดยลำพังตนเองและสมาธิ เพื่อที่จะเยียวยาบาดแผลที่กินลึกเข้าไปในจิตใจของเรา นั่นไม่ได้หมายความว่า เมื่อผมซึมซาบอยู่กับการเฝ้ามองดูเมฆโดยไม่ได้นึกถึงเวียดนาม แล้วหมายความว่าผมไม่เอาใจใส่เวียดนาม แต่ผมต้องการให้ก้อนเมฆเยียวยาบาดแผลฉกรรจ์นั้นต่างหาก พวกเราหลายคนได้รับบาดแผลมา เราเข้าใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในความต้องการที่จะรับการรักษาเยียวยานั้น 

หมายเลขบันทึก: 99720เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2007 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 12:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • ยินดีอย่างมากครับ สำหรับการตามอ่าน
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท