การบริหารความขัดแย้ง (8)


การเป็นผู้บริหารนั้น ต้องชนะตนเอง ก่อนชนะผู้อื่น

แล้วสภามหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) ก็ลงมติถอดถอน  นายวิวัฒน์ชัย  อัตถากร  จากตำแหน่งอธิการบดี  ด้วยมติ  20 : 1

ผมเขียนเรื่องการบริหารความขัดแย้ง (5)  ในมหาวิทยาลัยศิลปากร  เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคู่กรณี  คือ  อธิการบดี  กับคณบดี 13 คณะ  โดยผู้ที่จะต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งคือ  สภามหาวิทยาลัย  แต่ผมเสนอความเห็นให้อธิการบดีเป็นผู้ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยเหตุผล “ความเหมาะสม”

ผมเขียนเรื่องการบริหารความขัดแย้ง (6)  เพื่อเสนอภาวะผู้นำ  และเสนอสิ่งที่ผมค่อนข้างกลัวในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  คือคำพูดที่ว่า  “ขอให้เสียสละลาออกจากตำแหน่ง  ไม่อยากใช้มติถอดถอน  เพราะจะเสียประวัติอธิการบดี

แล้วสิ่งที่ผมกลัว (คาดเดา) ก็เป็นจริง  คือ  สภามหาวิทยาลัยศิลปากร  มีมติถอดถอนอธิการบดี  โดยการใช้อำนาจสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา 16 (7)  (พิจารณาดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง  และพิจารณาถอดถอนอธิการบดี)  ในการประชุมสภา มศก.  วาระพิเศษ  เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550  ณ  สำนักงานอธิการบดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร

เหตุผลในการถอดถอน  คือ  พิจารณาเรื่องการบริหารและการทำงานของอธิการบดี  โดยมีข้อมูลสนับสนุน  สรุปได้ 2 ประเด็น  คือ
           1.  ข้อร้องเรียนของคณบดี 13 คณะ  จาก 14 คณะ  คือ  อธิการบดีไร้ประสิทธิภาพ  ทำงานล่าช้า  และไม่เอื้อต่อการทำงานของ มศก.
           2.  ผลสำรวจความคิดเห็นที่มีต่อการปฏิบัติงานของอธิการบดี  คือ
                2.1  การดำเนินงานตามนโยบายมีความชัดเจน
                        ชัดเจน  33.52 %  ไม่ชัดเจน  66.48 %
                2.2  มหาวิทยาลัยศิลปากรมีการเปลี่ยนแปลง
                        ดีขึ้น  24.74 %    ไม่เปลี่ยนแปลง  42.14 %      ถดถอย  27.19 %   อื่นๆ 5.93 %
                2.3 ความพึงพอใจต่อการบริหารงาน
                        พอใจ  36.81%    ไม่พอใจ  46.06%      อื่นๆ  17.13%

หากสรุปจากข้อมูลข้างต้น  อธิการบดีขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ  นำไปสู่มติถอดถอน  คือ  ไม่เหมาะสมในการเป็นอธิการบดี

การถอดถอนครั้งนี้  จึงไม่ใช่ความผิดทางวินัย  การทุจริต  และการกระทำผิดอาญา

หากพิจารณาขั้นตอนในการสรรหาอธิการบดีของทุกมหาวิทยาลัย  การดำเนินการขั้นตอนสุดท้ายก็คือ  ผู้ผ่านการสรรหานำเสนอนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัย  และกรรมการสภามหาวิทยาลัยลงมติเห็นชอบ  คือ  เห็นถึงความเหมาะสมว่า  สมควรที่จะเป็นอธิการบดี

ผมนำเรื่องนี้มาเขียนอีกก็เพื่อจะวิเคราะห์แนวทางการบริหารความขัดแย้ง  โดยสุดท้ายสภามหาวิทยาลัยใช้อำนาจในการยุติความขัดแย้ง  โดยการถอดถอนอธิการบดี

เซอร์เมอร์ฮอร์น (John R. Schermerhorn Jr. 1996) สรุปว่าความขัดแย้งในองค์การ  คือ  การตกลงกันไม่ได้  หรือความเห็นไม่ตรงกัน (Disagreements) ระหว่างบุคคลในองค์กร  โดยจำแนกเป็น 2 ลักษณะ  ดังนี้
           1.  ความขัดแย้งเนื่องจากสาระของงาน (Substantial Conflicts)
           2.  ความขัดแย้งเนื่องจากอารมณ์ (Emotion Conflicts)

เหตุผล  ของสภามหาวิทยาลัยคือ  ข้อ 1  ความขัดแย้งเนื่องจากสาระของงาน

วิธีการที่สภามหาวิทยาลัยใช้เพื่อยุติความขัดแย้ง  คือ

     ขั้นตอนที่ 1  ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง  โดย  นายชุมพล  ศิลปะอาชา  เป็นประธาน
      ผล  สภาฯ มีมติมอบให้นายกสภาฯ  และกรรมการไปขอให้อธิการบดีเสียสละลาออกจากตำแหน่ง  แต่อธิการบดีไม่ลาออก

     ขั้นตอนที่ 2  ตั้งคณะกรรมการสำรวจความคิดเห็นของประชาคม มศก.  โดย  นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  เป็นประธาน
     ผล  ประชาคมส่วนใหญ่  เห็นว่าการบริหารตามนโยบายไม่ชัดเจน (66.48%)  มหาวิทยาลัยไม่เปลี่ยนแปลงและถดถอย (42.14%  และ 27.19%)  และไม่พอใจในการบริหารและอื่นๆ (46.06%  และ 17.13%) 

     ขั้นตอนที่ 3  ประชุมหารือ  โดยอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง  และพิจารณาว่าการตัดสินใจอย่างไรจึงจะดีที่สุด  และเป็นคุณแก่มหาวิทยาลัยมากที่สุด
      ผล  สภามหาวิทยาลัยลงมติถอดถอน

การดำเนินงานข้างต้น สอดคล้องกับวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  โดยศึกษาสาเหตุของความขัดแย้งจากปัจจัยต่างๆ ตามความเห็นของ Schmidt ดังนี้
           1.  ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง (Information & Facts) กรณีนี้เกิดจากการร้องเรียนเรื่องประสิทธิภาพการบริหาร  และผลการสำรวจความคิดเห็น  ตลอดจนการอภิปราย
           2.  เป้าหมาย (Goals) ขององค์กรที่ประชาคมเห็นร่วมกัน คือ  นโยบาย  และทิศทางการบริหารองค์กรที่ชัดเจน
           3.  ค่านิยม (Values) ที่คนในองค์กรยอมรับ  และเห็นว่าเป็นพฤติกรรมการบริหารที่ดี
           4.  โครงสร้าง (Structure) การบริหารองค์กรที่มีสายการบังคับบัญชาแต่ละระดับ  คือ  สภามหาวิทยาลัย  อธิการบดี  คณบดี  ฯลฯ
           5.  การเปลี่ยนแปลง (Change) ถ้าไม่เป็นไปตามความคาดหวังของคนองค์กร  ก็เกิดความขัดแย้ง  และต้องแก้ปัญหาความขัดแย้ง

ส่วนวิธีการที่ใช้ในการแก้ปัญหา คือ  วิธีเจรจาต่อรอง  ซึ่งตามหลักการมี 2 วิธี  คือ
           1.  การเจรจาต่อรองแบบแจกแจง (Distributive Negotiation) เป็นการเจรจาต่อรองที่เน้นข้อกล่าวหา
           2.  การเจรจาต่อรองแบบยึดหลักการ (Intrigrative Negotiation) เป็นการเจรจาต่อรองที่มุ่งให้ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะ (Win-Win)

สภามหาวิทยาลัยใช้วิธีการแรกในการเจรจาต่อรอง  และสุดท้ายใช้วิธีการตัดสินความขัดแย้งโดยการใช้อำนาจ  เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นไม่มีโอกาสที่จะเลือกวิธีการที่สองได้เลย

แน่นอนที่สุด  ผลที่จะต้องตามมาคือ  การที่สภามหาวิทยาลัยจะต้องถูกดำเนินการทางกฎหมาย

ลองคิดดูเล่นๆ  สุดท้ายใครจะเป็นผู้ชนะในที่สุด

การเป็นผู้บริหารนั้น  ต้องชนะตนเอง  ก่อนชนะผู้อื่น 

หมายเลขบันทึก: 99656เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2007 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน ท่านพี่สมบัติ

 เรื่องนี้เป็น กรณี ศึกษา ที่น่าสนใจนะครับ ผู้นำสูงสุด ระดับอุดมศึกษา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท