ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

วิถีกินต่างวัฒนธรรมของนักธุรกิจข้ามชาติ


ในคอลัมน์ Etiquette นิตยสาร Gourmet&CUISINE มกราคม 2550

        เรื่องของวัฒนธรรมมีผลกระทบต่อความสำเร็จในการทำธุรกิจ  ทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กรท่ามกลางโลกธุรกิจข้ามชาติอย่างทุกวันนี้  

        การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยม มารยาท ขนบธรรมเนียม และพิธีการของวัฒนธรรมต่างๆ  เป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับผู้ที่ต้องทำธุรกิจที่มีตลาดอยู่ทั่วโลก       

        ผู้ที่ขาดความตระหนักในความแตกต่างทางวัฒนธรรม  อาจทำบางสิ่งบางอย่างที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด  จนอีกฝ่ายต้องขุ่นเคือง  เกิดผลเสียหายต่อชื่อเสียงของตนเอง ขององค์กร และเป้าหมายทางธุรกิจที่ตั้งไว้          

        ในบรรดาเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมนั้น    มารยาทเกี่ยวกับการกินนับว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ   แม้ยุคนี้จะถือว่าเป็นโลกไร้พรมแดน  แต่ชาติต่างๆ ก็ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติของตนเอง  และจะรู้สึกพอใจต่อชาวต่างชาติที่ปฏิบัติตนได้ถูกธรรมเนียมของชาติตน

        ดังนั้น ก่อนที่จะไปรับประทานอาหารหรือเลี้ยงรับรองลูกค้าชาติใด   ควรเตรียมสร้างความประทับใจด้วยการหาความรู้เพื่อขัดเกลาตนเองให้มีพฤติกรรมที่ถูกต้องซะก่อน

        นี่คือการบ้านสำหรับนักธุรกิจข้ามชาติค่ะ 
       
หาคำตอบ 6 ประเด็นหลักเกี่ยวกับวิถีกินของชนชาตินั้นๆ ให้รู้และเข้าใจก่อนการเผชิญหน้ากัน

        ©           การนั่ง   ควรรู้แนวปฏิบัติว่าใครควรนั่งตรงไหน   ต้องรอให้มีคนพาไปนั่งหรือไม่  มีธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดที่นั่งติดกันของผู้ชาย/ผู้หญิงหรือเปล่า ฯลฯ

        ©           การกิน  ควรรู้ว่ามีการใช้เครื่องมืออุปกรณ์อะไรในการกิน  เช่น มีด ส้อม ช้อน มือ หรือตะเกียบ  มีวิธีใช้อย่างไร  มีข้อควร/ไม่ควรปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือนั้นๆ หรือไม่ ฯลฯ

        ©           ภาษาท่าทาง  ควรรู้ว่าจะต้องนั่งอย่างไร   จะวางมือตรงไหน วางข้อศอกบนโต๊ะได้หรือไม่  ถ้าต้องนั่งบนพื้น  จะนั่งแบบไหนจึงถูกต้อง ฯลฯ

        ©           การสนทนา  ควรรู้ว่าการพูดคุยในช่วงเวลากินอาหารทำได้หรือไม่  ถ้าทำได้ ควรเป็นเรื่องแบบไหน  หากจะสนทนาเกี่ยวกับธุรกิจ เป็นการเหมาะสมหรือเปล่า ฯลฯ

        ©           บ้าน/ภัตตาคาร  ควรรู้ว่ามีอะไรที่แตกต่างกันระหว่างมารยาทในการกินอาหารที่บ้านกับกินที่ภัตตาคาร   เวลาไปที่บ้านต้องมีของขวัญติดมือไปหรือเปล่า  ถ้ามีควรเป็นอะไร  ใครเป็นคนจ่ายค่าอาหารเวลาไปกินในภัตตาคาร?

        ©           อาหาร  ควรรู้ว่าอาหารอะไรที่นิยมรับประทานกัน   การชมผู้ปรุงอาหารเป็นมารยาทที่ดีหรือไม่  ควรชมอย่างไร   ต้องกินอาหารให้หมดจานหรือไม่   ถ้าขอเติมอาหารอีกจะสุภาพมั๊ย ฯลฯ

        ยกตัวอย่างว่าคุณกำลังจะไปเจรจาธุรกิจที่ญี่ปุ่น   ก็ศึกษาหาคำตอบจากกรอบหัวข้อทั้ง 6 ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ   ซึ่งข้อมูลที่จะได้ก็เช่น  ในการนั่ง แขกคนสำคัญที่สุดจะนั่งตรงกลาง ห่างจากประตูที่สุดและเริ่มกินเป็นคนแรก   ในการกินจะใช้ตะเกียบ  เวลาใช้ก็ต้องไม่นำตะเกียบไปชี้โน่นชี้นี่  ไม่ใช้ตะเกียบจิ้มอาหาร  ไม่ทิ่มลงในชามข้าว ฯลฯ  ภาษาท่าทางที่ควรแสดงออกคือ  ลองกินอาหารทุกอย่างๆ ละนิดละหน่อย  ซดน้ำซุปจากถ้วยโดยทำเสียงดัง  กินอาหารโดยไม่เหลือทิ้งในจาน  การสนทนาในระหว่างรับประทานอาหารทำได้เพียงเล็กน้อย  เป็นต้น

        ถ้าไปเยอรมัน ก็จะได้ข้อมูลเช่น  ในการนั่งควรยืนรอจนกว่าจะมีผู้นำไปนั่ง  ในการกินจะถือส้อมมือซ้าย มีดมือขวา ไม่เริ่มรับประทานอาหารจนกว่าเจ้าภาพจะส่งสัญญาณให้ลงมือได้  การวางข้อศอกบนโต๊ะอาหารเป็นกิริยาที่ไม่ดี  อาหารทุกอย่างต้องกินในจาน  บอกว่าคุณอิ่มด้วยการวางส้อมและมีดขนานกันทางด้านขวามือของจาน เป็นต้น

        เวลาไปตะวันออกกลาง  ผู้ที่เป็นแขกจะได้รับเกียรติให้กินอาหารส่วนที่ถือว่าดีที่สุด เช่น หัวหรือตา  ไม่ควรปฏิเสธที่จะกิน   ไม่ใช้มีดหรือส้อม  แต่ใช้มือขวาเท่านั้นในการกิน  ไม่ต้องห่วงเรื่องทำเลอะเทอะ  เมื่ออิ่มแล้วต้องเหลืออาหารไว้ในจานบ้าง  เพราะหากกินจนเกลี้ยงจะมีการนำมาเติมให้อีกทันที ฯลฯ

        เหล่านี้คือตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ ของข้อมูลที่คุณควรหาความรู้เกี่ยวกับวิถีกินในวัฒนธรรมต่างๆ ที่จะต้องไปเผชิญ  ถ้าทำได้ทุกครั้งเมื่อไปยังที่ต่างวัฒนธรรม  จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวคุณเองและเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจด้วย       

        ถ้าไม่หาความรู้เรื่องนี้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ  ก็หาเพื่อใช้เพิ่มเสน่ห์ให้กับตนเองก็แล้วกัน 

หมายเลขบันทึก: 99599เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2007 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท