ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

กินดินเนอร์ทางธุรกิจ


จากคอลัมน์ Etiquette ในนิตยสาร Gourmet&CUISINE

           ในวงการธุรกิจ  การเจรจาตกลงทางการค้า การแนะนำตัว การแสดงความขอบคุณหรือแม้แต่การประชุม   มักจะมีการเลี้ยงอาหารเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ 

         การเลี้ยงอาหารที่มีพิธีรีตรองมากหน่อย  จนคนรุ่นใหม่มักจะวางตัวไม่ถูกคือ งานเลี้ยงแบบนั่งโต๊ะอย่างเป็นทางการ   ที่คนไทยมักเรียกว่าไปกินดินเนอร์   แต่จัดให้กินกันได้ทั้งมื้อกลางวันและมื้อเย็นอาหารที่เสริฟจะเป็นชุดๆ  เรียงตามลำดับ  แต่ละชุดเรียกกันว่าคอร์ส   มีอุปกรณ์ที่ใช้ในการกินวางไว้ให้เพียบ   เห็นแล้วชวนให้งงดีเหมือนกัน 

         มารยาทในโต๊ะอาหารมีบทบาทสำคัญที่จะสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า หุ้นส่วน หรือเจ้านาย    หลายคนอาจคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ   แต่ความจริงแล้ว   พฤติกรรมในโต๊ะอาหารเป็นเครื่องบอกให้ผู้อื่นทราบว่าเราได้รับการอบรมกล่อมเกลามาดีหรือไม่เพียงไร  การมีภาพลักษณ์โดยรวมที่ดีช่วยเสริมความสำเร็จในอาชีพการงาน   

         ฉะนั้น  รู้ไว้บ้าง  ทำให้ถูก   ก็มีแต่ผลดีกับตัวเอง  ขณะนี้ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศหลายแห่ง  สอนมารยาทในโต๊ะอาหารให้กับนักศึกษาที่เรียนทางด้านบริหารธุรกิจด้วยซ้ำไป          

         เรื่องแรกที่ควรรู้  คือ ผ้าเช็ดปาก ผ้านี้จะพบวางอยู่บนจาน   อาจพับเป็นรูปต่างๆ เพื่อความสวยงาม  ผ้านี้สำคัญตรงที่เป็นสัญญาณบอกว่าเริ่มกินแล้วนะ   โดยคนที่จะส่งสัญญาณมีคนเดียวคือเจ้าภาพ   โดยเจ้าภาพจะเป็นผู้ที่คลี่ผ้าเช็ดปากของตนออก   ซึ่งเป็นสัญญาณบอกให้แขกทำเช่นเดียวกัน อย่าได้เผลอนั่งปุ๊บหยิบผ้าออกมาคลี่ปั๊บซะล่ะ

         การคลี่ผ้า  ให้คลี่ออกวางไว้บนตัก   ถ้าเป็นผ้าผืนเล็กที่ใช้กับมื้อกลางวัน ก็คลี่ออกให้หมด  หรือคลี่เพียงครึ่งเดียวในแนวนอน ถ้าหากผ้านั้นเป็นแบบผืนใหญ่ที่มักใช้สำหรับมื้อเย็น

         ผ้านี้สมควรอยู่บนตักตลอดเวลากิน  จะใช้ก็เพียงเพื่อเช็ดปากเท่านั้น เวลาใช้จะเช็ดแบบป้ายเอาๆ ก็ไม่ได้ซะด้วย   ให้ใช้แตะๆ ที่ริมฝีปากเบาๆ เท่านั้น   และถ้ามีความจำเป็นต้องลุกจากโต๊ะ  ให้วางผ้าไว้บนเก้าอี้ 

         เจ้าภาพจะใช้ผ้านี้ส่งสัญญาณจบรายการกินด้วยเช่นกัน  โดยวางผ้าของตนบนโต๊ะ  คุณก็วางผ้าบนโต๊ะตามเช่นกัน   ให้วางไว้ทางขวามือของจานอาหาร   ทั้งนี้วางให้เรียบร้อยหน่อย   ไม่ใช่ขยุ้มๆ  แต่ก็ไม่ถึงกับต้องพับให้เหมือนเดิมแต่อย่างใด   

         เรื่องถัดมาคือ การสั่งอาหาร ในกรณีที่เจ้าภาพไม่ได้เตรียมการไว้   ให้คุณและแขกคนอื่นๆ สั่งเองหลังจากดูเมนูแล้ว  ถ้ามีรายการอาหารที่คุณไม่รู้จักหรือไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร  ให้ถามคนเสริฟได้ตามที่ต้องการจะรู้   เพราะเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องบอก   ถามซะให้รู้เรื่องก่อนที่จะได้อาหารที่คุณกินไม่ลงหรือมีส่วนผสมที่คุณแพ้ 

         ตามปกติ  เจ้านายของคุณหรือเจ้าภาพมักจะให้คุณสั่งก่อน  โดยตนเองจะสั่งเป็นคนสุดท้าย  แต่บางสถานที่  คนเสริฟอาจจะกำหนดเอง เช่น  รับออเดอร์ของแขกที่เป็นสุภาพสตรีก่อน   จะยังไงก็ตาม  ในฐานะแขก คุณไม่ควรสั่งอาหารที่มีราคาแพงที่สุดในเมนู

         เรื่องที่เป็นความหนักใจของคนส่วนมากคือ  การใช้อุปกรณ์การกิน  การเลือกใช้อุปกรณ์การกินมากมายที่วางอยู่ตรงหน้า   ไม่ยากอย่างที่เห็นในครั้งแรก    

         เริ่มจากมีด ส้อม หรือช้อน ที่อยู่ริมนอกสุด   แล้วขยับเข้ามาด้านใน  อุปกรณ์แต่ละชิ้นใช้สำหรับแต่ละคอร์สของรายการอาหารที่คุณสั่ง   ส้อมสำหรับสลัดจะอยู่ซ้ายมือสุด   ตามมาด้วยส้อมของอาหารจานหลัก    ช้อนซุบจะอยู่ขวามือสุด  ถัดเข้ามาเป็นมีดสำหรับสลัด และมีดสำหรับอาหารจานหลัก   ช้อนและส้อมสำหรับของหวานวางอยู่เหนือจานหรือมาพร้อมกับการเสริฟ     ถ้าคุณจำกฎได้ว่า นอกเข้าในก็เป็นอันว่าไปได้สวย         

         การใช้มีดกับส้อมในการกินมี 2 วิธีคือ แบบอเมริกันและแบบยุโรป   ถนัดแบบไหนก็ใช้แบบนั้น    แบบอเมริกัน จะถือมีดมือขวา ส้อมมือซ้าย   ใช้มีดและส้อมช่วยกันตัดอาหารเป็นคำๆ    พอให้ได้เป็นชิ้นๆ สัก 2-3 ชิ้น  แล้ววางมีดบนขอบจานด้านบน  โดยเอาด้านคมหันเข้าหาตัว  เปลี่ยนเป็นถือส้อมด้วยมือขวา   แล้วจิ้มหรือตักอาหารใส่ปาก    โดยส้อมหงายขึ้น    สำหรับคนที่ถนัดซ้าย ก็สลับมือกัน

         แบบยุโรปทำเหมือนกันในตอนแรก  คือใช้ส้อมในมือซ้ายกดอาหารที่จะตัด มือขวาถือมีดตัด  แต่ไม่มีการเปลี่ยนมือเมื่อตัดเสร็จแล้ว   ใช้ส้อมคว่ำหน้าลง  แล้วจิ้มหรือตักอาหารใส่ปาก   ทำเป็นคำๆ  ไปเรื่อยๆ            

         สำหรับการกินซุบ   ให้ใช้ช้อนตักออกไปจากตัว  และกินในลักษณะจิบจากด้านข้างของช้อน   ไม่ใช่ซดดังโฮกๆ   และเมื่อซุบใกล้จะหมด  สามารถยกถ้วยหรือจานเอียงขึ้นเพื่อตักได้    โดยเอียงออกจากตัวเช่นกัน         

         ถ้ามีขนมปังเสริฟด้วย  ให้ใช้มือบิเป็นคำๆ   ทาเนยโดยใช้มีด   และส่งเข้าปากได้เลย   ไม่ใช้มีดกับส้อมในการตัดขนมปัง   รวมทั้งไม่หยิบขนมปังทั้งก้อนขึ้นกัด กินเสร็จ  วางจานไว้อย่างนั้นแหละ   ไม่ต้องเลื่อนหรือผลักจานออกจากตัว   

         วิธีส่งสัญญาณบอกว่าคุณเสร็จแล้ว   คือการวางมีดและส้อมไว้บนจาน   ใบมีดหันเข้าหาตัวคุณ  คว่ำส้อมลง   วางไว้เคียงกันในลักษณะที่เหมือนกับแนวเข็มนาฬิกาชี้ตรงเลข 10 กับเลข 4         

         อุปกรณ์ใดใช้ไปแล้ว  ไม่ต้องเอาไปวางคืนที่   อุปกรณ์ใดไม่ใช้ก็ทิ้งไว้บนโต๊ะตามเดิม  และอย่าลืมว่า  ช้อนที่ใช้แล้ว ไม่ทิ้งคาไว้ในถ้วย  ให้วางบนจานรองถ้วย    แต่ถ้าเป็นจานซุบคุณทิ้งช้อนซุปไว้ในจานได้             

         เรื่องทั่วไปในการกินแบบทางการ ที่ปฏิบัติแล้วช่วยเสริมมาดให้ตัวเองก็ได้แก่

  • สั่งอาหารที่กินด้วยมีดกับส้อม  ดีกว่ากินด้วยมือ 
  • ไม่ควรสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์  และงดการสูบบุหรี่
  • การนั่งตัวตรง   เวลายังไม่กิน  ให้วางมือบนตัก  ถ้าวางบนโต๊ะ  ข้อมือควรอยู่ตรงขอบโต๊ะ   การวางข้อศอกบนโต๊ะเป็นมารยาทที่พอรับได้ระหว่างรอคอยคอร์สต่างๆ ที่จะมาเสริฟ   แต่ขณะกินโปรดอย่าเอาข้อศอกขึ้นมา 
  • ไม่เติมเครื่องปรุงก่อนชิม
  • เคี้ยวอาหารโดยที่ปากปิดสนิท   แม้ว่าจะสามารถพูดคุยได้เมื่อมีอาหารเล็กน้อยอยู่ในปาก  แต่ไม่ควรพูดเลยก็มีอาหารอยู่เต็มปาก   ถ้าอาหารเกิดติดฟัน   ควรลุกจากโต๊ะไปจัดการในที่ลับตา   แต่พยายามอย่าลุกจากโต๊ะจนกว่าการกินจะยุติ   ยกเว้นว่าจำเป็นจริงๆ
  • ถ้าอยากได้อะไรบนโต๊ะที่เอื้อมไม่ถึง  บอกคนอื่นให้ช่วยส่งต่อให้
  • ถ้ามีอุปกรณ์ใดหล่นพื้น  หยิบขึ้นมาถ้าหยิบถึง และส่งสัญญารบอกคนเสริฟว่าคุณต้องการชิ้นนั้นใหม่   ถ้าหยิบไม่ถึง ให้บอกคนเสริฟว่าคุณทำชิ้นไหนตกแล้วขอชิ้นใหม่ 
  • อาหารที่บังเอิญกระเด็นออกนอกจาน  สามารถหยิบขึ้นมาได้โดยใช้อุปกรณ์การกินนั่นแหละตักขึ้นมาแล้ววางไว้ที่ขอบจาน
  • ถ้าเกิดอาการกินไม่เข้า  ต้องคายออก  โปรดอย่างคายลงในผ้าเช็ดปาก   ให้ใช้อุปกรณ์ที่ส่งอาหารเข้าปากนำอาหารออกมา   แล้ววางไว้บนขอบจาน   ถ้าจะให้ดี  ควรหาอาหารอื่นมาบดบังไว้ 

         ความจริงยังมีเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับการกินดินเนอร์อย่างเป็นทางการแบบนี้อีกเยอะ  เขาถึงต้องสอนกันในมหาวิทยาลัยไงล่ะ  แต่แค่นี้ก็ทำให้ดูดีได้แล้ว   มีโอกาสทำจริงเมื่อไหร่   อย่าหลุดก็แล้วกัน  

         ความสำเร็จในอาชีพของคุณอาจจะอยู่ตรงนี้ด้วยก็เป็นได้ ?  

หมายเลขบันทึก: 99560เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2007 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะป้าเจี้ยบ

วันก่อนไปทานข้าวกับเพื่อนชาวเกาหลีใต้ ชวนเค้าทานข้าวต้มกุ้ย มีตะเกียบและช้อนอันเล็ก

เค้าเห็นเราใช้มือสองมือถือข้างนึงเป็นช้อน ข้างนึงเป็นตะเกียบ เค้าบอกว่า ถ้าเป็นที่เกาหลีถือว่าเสียมารยาท (ไม่มีมารยาทน่ะเอง) เพราะเค้าจะใช้มือเดียวทานค่ะ แล้วอุปกรณ์ที่ไม่ใช้จะวางไว้ข้างจาน (ไม่ได้วางบนจาน)

บางครั้งพิธีการต่างๆ ของหลายหลายเชื้อชาติเนี่ย เรียนรู้ไว้ก็ดีนะคะ แต่...ถ้าไม่ถือมากให้วุ่นวายก็ยิ่งดี แฮะๆ

^___^

คุณ IS คะ

  • ป้าเจี๊ยบเขียนเรื่องมารยาทการกินของเกาหลีลงนิตยสารไปนานแล้ว  จะค้นดูต้นฉบับเอามาลงในบันทึกให้นะคะ
  • เรื่องพวกนี้ส่วนมากไม่ต้องจำหรอกค่ะ ถ้าไปกินอาหารของชาติต่างๆ  ยอมออก start ช้ากว่าเพื่อนหน่อย คอยสังเกตว่าเพื่อนต่างชาติของเราทำยังไง ก็ทำตามกันไป กลมกลืนสบายใจดี

ฟอมอลดินเนอร์ คืออารัยค่ะ

เหมือนกับดินเนอร์เฉยๆหรือป่าวค่ะ

ถ้าเหมือนกันก็คงใช้คำเดียวกัน

คำแรกคือกินอาหารเย็นแบบเป็นทางการหรือแบบมีพิธีรีตอง

คำหลังคือกินอาหารเย็นธรรมดา

ไม่มีไรทำอ่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท