BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

บัญญัติ ญัตติ


บัญญัติ ญัตติ

สองคำนี้โอนสัญชาติมาเป็นคำไทยนานแล้ว ซึ่งคนไทยโดยมากก็รู้กันทั่วไปว่าจะใช้อย่างไร... แต่ความหมายเดิม ผู้เขียนคิดว่าคงจะมีน้อยคนที่จะเข้าใจจริงๆ จึงนำมาเล่าเล่นๆ....

บัญญัติ และ ญัตติ มาจากรากศัพท์เดียวกัน คือ ญา รากศัพท์ แปลว่า รู้ ... ซึ่งมีการปรุงศัพท์ขึ้นมาดังนี้...

ญา + ติ = ญัตติ

ป + ญา + ติ = ปัญญัตติ (บัญญัติ) 

เฉพาะ ปัญญัตติ พอแปลงสัญชาติมาเป็นคำไทย นิยมใช้ บ. ใบไม้ แทน ป. ปลา (พยัญชนะบาลี ไม่มี บ.ใบไม้) ... และลบ ต. เต่า ที่ซ้อนกันออกไปหนึ่งตัว จึงเขียนเป็น บัญญัติ ....

......

ญัตติ มาจากรากศัพท์ว่า รู้ ... ถ้าจะแปลตามวิเคราะห์ก็อาจแปลได้ว่า สิ่งที่ยังบุคคลให้รู้ซึ่งสิ่งนั้น ... เช่น ถ้อยคำที่พูดออกไป จะทำให้บุคคลรู้ความหมายบางอย่างได้ ดังนั้น ถ้อยคำจึงชื่อว่า ญัตติ

ในภาษาไทย ญัตติ จะเป็นหัวข้อที่เสนอในที่ประชุมเพื่อยกขึ้นมาถกเถียงหรือลงความเห็นกัน... ดังนั้น ญัตติ จึงใช้ตรงกับความหมายเดิม...ซึ่งถ้าถือตามนัยนี้ ญัตติ อาจแปลเป็นคำไทยแท้ได้ว่า กระทู้ .... 

ยกเว้นในหนังสือตรรกศาสตร์ ของอาจารย์จำนง ทองประเสริฐ .... ท่านนำคำว่า ญัตติ มาใช้แทนคำว่า Proposition ... แต่รู้สึกว่า คำนี้จะไม่ติดตลาด เพราะในหนังสือตรรกศาสตร์เล่มอื่นๆ มักจะใช้คำว่า ประพจน์ ประโยคตรรก แทนคำนี้มากกว่า...

สำหรับผู้เขียนเองก็มักใช้คำว่า ประพจน์ แทนคำนี้ เพราะเกรงว่านักเรียนจะเข้าใจผิด และไปสับสนกับคำว่า ญัตติ ที่ใช้แทนคำว่า กระทู้ ในภาษาไทยทั่วๆ ไป....

..........

ส่วนคำว่า บัญญัติ ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่าหมายถึง เรื่องที่ถูกกำหนดไว้ก่อน แต่งตั้งไว้ ระบุไว้ และมีผลบังคับในสิ่งนั้น... ประมาณนี้ 

เมื่อมาดูตามความหมายเดิม ป + ญา + ติ = ปัญญัตติ (บัญญัติ)

ป = ทั่ว ข้างหน้า ก่อน ออก (เป็นอุปสัค)

ญา = รู้ (เป็นรากศัพท์)

ติ = เป็นปัจจัยไม่มีความหมายอะไรโดยเฉพาะ

ญา รากศัพท์ที่แปลว่า รู้ นี้ไม่มีปัญหาอะไร... ส่วน ป. อุปสัค ผู้แปลจะต้องนำความหมายที่เหมาะสมเพื่อนำมาเชื่อมโยง... ซึ่งผู้เขียนคิดว่า ทั่ว และ ก่อน น่าจะเหมาะสมที่สุดในคำว่า บัญญติ ที่มีใช้อยู่ในภาษาไทย...

บัญญัติ จึงน่าจะแปลว่า รู้ทั่ว หรือ รู้ก่อน

รู้ทั่ว หมายถึง สิ่งที่ถูกทำให้เป็นที่รู้ทั่วไป

รู้ก่อน หมายถึง สิ่งที่ถูกทำให้เป็นที่รู้กันก่อน

นั่นคือ บัญญัติ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ ซึ่งไม่มีใครอ้างได้ว่าไม่รู้ และจะมีผลบังคับได้ก็ต้องประกาศให้ทุกคนรู้ก่อน ... ประมาณนี้

ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า บํญญัติ ในภาษาไทยก็คือ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย นั่นเอง.... 

คำสำคัญ (Tags): #ญํตติ#บัญญัติ
หมายเลขบันทึก: 98704เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2007 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการคะพระคุณเจ้า

ขอบคุณมากนะคะเป็นประโยชน์มากเลย

อาจารย์สั่งให้หารากศัพท์ของคำนี้

เปิดมาดู ดีใจมากคะที่พบ

ขอนำไปใช้ประโยชน์ในทางการศึกษานะคะ

นมัสการเจ้าค่ะ

ขอบพระคุณเจ้าค่ะที่นำมาให้ศึกษา

อยากเรียนภาษาบาลีอยู่เจ้าค่ะ

นมัสการลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท