การจัดการความรู้ครอบครัวเข้มแข็ง


ครอบครัวเข้มแข็ง

            ความรู้อยู่ในตัวคน สามปีของการทำงานโครงการครอบครัวเข้มแข็งได้สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างหลากหลาย และได้ต้นพบทุนความรู้ที่มีอยู่ในตัวคณะทำงาน แกนนำชุมชน และครอบครัว ได้นำมาต่อยอดความรู้วิชาการ และทักษะสมัยใหม่ที่สถาบันครอบครัวรักลูกได้ถ่ายทอดให้กับจังหวัด ในสามปีแห่งการเรียนรู้ครอบครัวเข้มแข็ง เราได้นำการจัดการความรู้มาใช้ในการพัฒนางานอย่างไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนหลังการปฏิบัติงาน (AAR) การสรุปบทเรียน (Lesson Leaned) การค้นหาภูมิปัญญาคำสอน (AI) และการเล่าเรื่อง (Story Telling) แต่เป็นเพราะเราไม่ได้ใช้คำว่าจัดการความรู้ (KM) 

            วันนี้ (17 พฤษภาคม 2550) คณะทำงานโครงการครอบครัวเข้มแข็งจึงได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง การจัดการความรู้ ขึ้น ณ วัดอรัญญาวาส อำเภอเมืองน่าน กลุ่มเป้าหมายคือคณะทำงานครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน และทีมวิทยากรกระบวนการจังหวัดทหารบกน่าน ผมและคุณพยอม วุฒิสวัสดิ์ (สนง.เกษตรจังหวัดน่าน) สวมบทเป็นคุณอำนวย เราเริ่มต้นกระบวนการด้วยคำถามว่า การจัดการความรู้เราเข้าใจว่าเป็นอย่างไร ? ให้ทุกคนเขียนบัตรคำ หลังจากนั้นเราก็นำไปแปะข้างฝาไว้ เราไม่ได้ความหมาย เพราะไม่สำคัญเท่ากับความเข้าใจและลงมือปฏิบัติ แล้วให้ทุกคนได้ดู VCD เรื่อง เสียงกู่จากครูใหญ่ (ได้มาจากอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์) เป็นเรื่องราวของครูนักพัฒนาของประเทศเกาหลี โดยเราตั้งคำถามไว้ว่า เราได้เรียนรู้อะไร และมีการจัดการความรู้อย่างไร ? ในหนังเรื่องนี้ หลังจากนั้นก็ให้คุณหมอชาตรี  เจริญศิริ ศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน ได้เล่าเรื่องราว การจัดการความรู้ คุณหมอใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยไม่ใช้เทคโนโลยีใดๆ มาช่วยเลย โดยยกตัวอย่างความรู้เรื่องการกินมะไฟจีน การกินเห็ด โดยเน้นให้เห็นว่า ความรู้มีอยู่ในทุกแห่ง อยู่ในตัวคน การจัดการความรู้สามารถทำได้โดยตั้งเป้าหมายให้ชัด เริ่มจากสิ่งง่ายๆ จากประสบการณ์ และวิถีชีวิตของเราเอง ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเล่าเรื่อง การบันทึก การถ่ายทอด คุณหมอเล่าเรื่องได้อย่างมีอรรถรสมาก เป็นการเรียนรู้อย่างมีสุขภาคบ่ายเราเริ่มด้วยให้คุณพยอมเล่าประสบการณ์การจัดการความรู้ของสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน พร้อมยกตัวอย่างการจัดการความรู้ ผลที่ได้ และหลุมพรางในการจัดการความรู้ เป็นการเล่าเรื่องประสบการณ์ผ่านการคุยกันอย่างฉันท์มิตร หลังจากนั้นผมเองได้ให้โจทย์คิดต่อโดยแบ่งกลุ่มเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มคณะทำงานครอบครัวเข้มแข็ง และทีมวิทยากรกระบวนการจังหวัดทหารบกน่าน โดยให้คิดต่อว่าจะมีการจัดการความรู้ในโครงการอย่างไร แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สำหรับโครงการครอบครัวเข้มแข็งเองได้ข้อสรุปว่าสามปีที่ผ่านมาได้สร้างกระบวนการเรียนรู้และเรื่องราวดีดีมากมาย ดังนั้นเราจะเริ่มการจัดการความรู้จากประเด็นที่เราเห็นว่าถ้ามีการจัดการความรู้และนำมาพัฒนาต่อยอดจะทำให้เกิดพลังในการเคลื่อนไหวงานครอบครัวเข้มแข็งอีกมาก โดยแบ่งเป็นสองระดับคือระดับจังหวัด จะจัดการความรู้เรื่องของการจัดกระบวนเรียนรู้และหลักสูตรการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม, เครือข่ายเยาวชนครอบครัวเข้มแข็งระดับชุมชน จะจัดการความรู้เรื่องการลดละเลิกสุรา, เศรษฐกิจพอเพียง, ภูมิปัญญาคำสอน, ชุมชนต้นแบบ, ครอบครัวต้นแบบ, กระบวนการจัดเวทีชุมชนโดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มทีละเรื่องๆ ไปทุกเดือน ได้ชุดความรู้ต่างๆ เป็นคลังความรู้ของโครงการ และนำเผยแพร่ต่อไป ท้ายสุดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ข้อสรุปว่าต่อไปเราจะใช้กระบวนการเรียนรู้จากของจริงเป็นการเรียนรู้เรื่อง KM ของพวกเรา คืบหน้าอย่างไรก็จะนำมาแลกเปลี่ยนกันใน GotoKnow ต่อครับ

หมายเลขบันทึก: 98560เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2007 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท