“ส่งเสริมการรักการอ่าน,ภาระกิจเข็นครกลงภูเขา? ”


ปัจจุบันมีสื่อมากมายที่กวักมือเรียกหรือเดินเข้าหาผู้คน แต่อีกสักพักหนึ่งคงจะได้รู้กันว่าหนังสือยังมีมนต์ขลังหรือไม่เพียงใด

เคยคุยเรื่องเก่าๆกับแม่ แม่มักจะบอกว่าตอนนั้นเราอายุ ๔ ขวบ ตอนนี้เราอายุ ๖ ขวบ กว่าจะมีความทรงจำเป็นของตนเองก็ราวๆอายุ ๘ - ๙ ขวบซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเรียนหนังสือชั้น ป. ๓ – ป.๔ จำได้ว่าเวลานั้นมีความทรงจำที่แจ่มชัดอยู่หลายเรื่องและหนึ่งในจำนวนนั้นคือเรื่องสื่อและกิจกรรมเพื่อความบันเทิงใจ 

สื่อสมัยนั้นมีไม่มากนัก โทรทัศน์สีขาวดำเพียงช่องเดียวสนุกที่สุดคือดูมวยปล้ำวันอาทิตย์ ฟังเพลงลูกทุ่งจากคลื่นเอเอ็มความถี่เดิมความถี่เดียวเพราะหมุนค้างไว้ตรงนั้นไม่ย้ายไปไหนจำไม่ได้ว่าทำไมถึงต้องเป็นอย่างนั้น เวลานั้นเสียงเพลงน้ำลงเดือนยี่ของรุ่ง แหลมสิงห์ เพลงน้ำท่วมและเสียงขลุ่ยเรียกนาง ของ ศรคีรี ศรประจวบกำลังดัง รวมทั้งเพลงอื่นๆของ ระพิน ภูไท สมัย อ่อนวงศ์ เรียม ดาราน้อย บุปผา สายชล ดังไปทั่วบ้าน 

โก้ที่สุดคือเปิดเครื่องเล่นแผ่นเสียงสเตอริโอให้ดังลั่นประมาณว่าจะอวดเพื่อนบ้านไปด้วยในที แม่มีเพลงโปรดอยู่หลายเพลง เช่น ขอให้เหมือนเดิมของสุนทราภรณ์ พัทยาลาก่อน ของ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส บัวกลางบึงของมัณฑนา โมรากุล ตะรางดวงใจของชาญ เย็นแข เพลงของลุงล้วน ควันธรรมแม่ก็ชอบหลายเพลง ลูกชอบฟัง The Beattle และ Loboแต่ต้องคอยหาโอกาส(แย่ง)จากแม่ที่ชอบฟังเพลงเดิมซ้ำๆบ่อยๆถึงแม้ว่าจะมีเครื่องเล่นเทปแบบเป็นม้วนแบนๆใหญ่เหมือนม้วนฟิล์มหนังอีกเครื่องหนึ่งแต่พวกเราไม่ค่อยสนใจกลับจะมาหาจังหวะฉกฉวยกันเพื่อฟังเครื่องเล่นแผ่นเสียงมากกว่า

ความบันเทิงอีกอย่างหนึ่งคือการไปดูวงดนตรีที่มาแสดงที่โรงภาพยนตร์ใกล้บ้าน วงเรียม ดาราน้อย ผ่องศรี วรนุช สุรพล สมบัติเจริญ เทียนชัย สมญาประเสริฐ รวมดาวกระจาย สุรชัย สมบัติเจริญฯลฯแม่ดูมาแล้วทั้งนั้นและลูกก็ได้ติดสอยห้อยตาม แม่ชอบฟังเพลงและชมการแสดงทุกประเภท ส่วนพ่อนั้นคอดูหนัง วิจารณ์การเมืองและอ่านหนังสือและลูกก็มักได้ไปอยู่ในบรรยากาศนั้นด้วยเพราะพ่อชอบพาไปไหนมาไหนด้วยแม้ว่ามักจะมีข้อติติงและฟ้องแม่เสมอว่าเวลาดูหนัง ลูกถามมากเสียจนพ่อดูไม่รู้เรื่องแต่ในที่สุดพ่อก็ยังพาไปดูหนังด้วยเสมอเหมือนเดิม

 

ตอนเด็กๆชอบนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์พ่อไปไหนต่อไหนมากกว่านั่งรถเก๋งไปกับแม่เพราะชอบความรู้สึกที่มีลมเย็นมาปะทะตัวรอบข้างและหันไปมองอะไรต่อมิอะไรได้รอบตัวโดยไม่มีอะไรเกะกะขวางตา สื่อที่รู้จักต่อมานอกจากหนังสือเรียนคือหนังสือพิมพ์ 

พ่ออ่านหนังสือพิมพ์เป็นประจำเห็นเป็นภาพเจนตาการอ่านหนังสือดูเหมือนว่าจะเป็นการเสพสื่อที่มีความเป็นอิสระที่สุดเพราะพ่อให้เลือกอ่านได้ตามชอบใจ จำได้ว่าพ่อชอบพาไปเที่ยวดูรถที่สถานีรถไฟและได้เห็นหนังสือการ์ตูนครั้งแรกที่นี่ด้วย 


ร้านหนังสือที่สถานีรถไฟจะใช้ลวดขึงยาวจากมุมหน้าร้านทางหนึ่งไปจรดอีกมุมหนึ่งแล้วใช้ลวดหนีบหนีบหนังสือต่างๆไว้เต็มไปหมด ลูกชอบไปยืนเอียงคอมองหนังสือเล่มโน้น โน่น นี่ นั่น เพลินดี วันหนึ่งพ่อบอกว่า “อยากอ่านเล่มไหน? ก็เลือกเอา”แล้วพ่อก็ซื้อให้ตามที่ลูกบอก เช่น การ์ตูนเบบี้ หนูจ๋า รวมรสสำราญ ฯลฯ 

พออีกระยะหนึ่งพ่อก็พาไปที่ทำงานของพ่อซึ่งมีห้องสมุดใหญ่มาก(สมัยนั้น) พอคุยถึงตรงนี้อยากจะบอกว่านึกถึงตอนนี้ทีไรจะมีความสุขมากเพราะช่วงเวลานั้นจะรู้สึกถึงความเป็นตัวของตัวเอง ความมีอิสระ บางครั้งรู้สึกเหมือนโลกทั้งโลกมาอยู่ตรงหน้า ชอบที่ได้อ่านเรื่องราวต่างและได้ท่องเที่ยวไปกับจินตนาการที่หลากหลาย พยาบาลที่ทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ด้วย(ห้องสมุดอยู่ติดกับห้องพยาบาล)จะมาคอยถามและเสนอหนังสือบางเรื่องให้แต่ชอบเลือกเองมากกว่าอย่างไรก็ตามสิ่งที่สัมผัสได้คือความใส่ใจที่ชวนให้รู้สึกอุ่นและสบาย มีหนังสือหลายเล่มที่ประทับใจเช่น

  • ละครชีวิตของหม่อเจ้าอากาศดำเกิง 
  • หลายชีวิตของหม่อนราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชฯ 
  • พานทองรองเลือด ของหลวงวิจิตรวาทการ
  • พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต 
  • ขุนศึก แสนแสบ เกวียนหัก แผลเก่า ของไม้เมืองเดิม
  • ล่องไพร ของ น้อย อินทนนท์
  • เพชรพระอุมา ของ.................................(เรื่องนี้พอสร้างเป็นภาพยนตร์ก็ไปดูด้วย)
  • ข้างหลังภาพ ของ ศรีบูรพา
  • ผู้ดี ของ ดอกไม้สด
  • ฯลฯ

เมื่อมีโอกาสได้รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมการรักการอ่าน(หนังสือ)เมื่ออยู่ในวัยกลางคนจึงถือโอกาสเดียวกันนี้ทบทวนความทรงจำของตนเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปด้วย เห็นว่างานนี้น่าสนุกและท้าทายแต่อีกด้านหนึ่งยอมรับว่าหนักใจราวกับเข็นภูเขาลงครกเลยทีเดียวเพราะ ปัจจุบันมีสื่อมากมายที่กวักมือเรียกหรือเดินเข้าหาผู้คน แต่อีกสักพักหนึ่งคงจะได้รู้กันว่าหนังสือยังมีมนต์ขลังหรือไม่เพียงใดในพื้นที่นำร่อง ๕ ชุมชนที่กำลังดำเนินการอยู่

ขอบคุณพ่อแม่ที่จูงมือลูกเข้าสู่โลกหนังสือตั้งแต่เยาว์วัย

หมายเลขบันทึก: 98381เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2007 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอเชิญชวนนะคะว่าหากใครมีหรือพบเห็นวิธีการนำเสนอหรือการจูงมือผู้คนเข้าสู่โลกของหนังสือและการอ่านที่มีไอเดียเก๋ไก๋ง่ายๆเท่ๆช่วยแนะนำหน่อยนะคะเราจะตามไปดูคะหากโดนใจเราจะนำมาเผยแพร่เพื่อช่วยกันร่วมสร้างสังคมรักการอ่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท