ศิลปะบำบัดเพื่อรอยยิ้มของเด็กป่วยระยะสุดท้าย


ความสวยงามของผลงานศิลปะ ไม่สำคัญเท่าความสุขในการสร้างสรรค์งานศิลปะ

          ได้อ่านบทความ  "ศิลปะบำบัด  แต้มรอยยิ้มเด็กป่วย  ลมหายใจสุดท้าย"  จากหนังสือพิมพ์มติชน  ประจำวันที่  21  พฤษภาคม  2550   ซึ่งเขียนโดย  คุณสุทธาสินี  จิตรกรรมไทย  อ่านจบแล้วรู้สึกอิ่มเอมใจ  จนอดไม่ได้ที่จะต้องนำเสนอให้ชาว Blogger  (โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้อ่านบทบาทเรื่องนี้)  ได้รับทราบ  

         กิจกรรมดีๆ  เช่นนี้  เกิดขึ้นที่ แผนก (หอ)  ผู้ป่วยเด็กเรื้อรัง  ตึก สก.  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ภายใต้ชื่อ "โครงการศิลปะบำบัดเพื่อผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้าย"  ซึ่งมี  "พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง" ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านศิลปะบำบัด โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กป่วยเรื้อรัง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ  ด้วยความเชื่อที่ว่า  "การดูแลผู้ป่วยต้องใช้หลายมิติ ไม่ใช่ใช้ยาอย่างเดียว ศิลปะเป็นอีกอย่างที่ช่วยดูแลผู้ป่วย จึงเข้าร่วมกับโรงพยาบาลทำเรื่องศิลปะบำบัดให้ผู้ป่วยเด็ก"  ตั้งแตปี  2548  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กที่ป่วยจนมีอาการซึ่งทางการแพทย์ระบุว่าอยู่ในระยะสุดท้าย โดยมากป่วยเป็นโรคไต โรคมะเร็ง ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งกระดูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว ฯลฯ   ได้ผ่อนคลายด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปะรูปแบบต่างๆ จะได้ไม่จมจ่อมอยู่กับโรคหรือความเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญ  
          ต่อมามี  "เครือข่ายพุทธิกา" เข้ามาเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญ ด้วยการเปิดรับอาสาสมัครเข้ามาดูแลผู้ป่วยเด็กด้านกิจกรรมทางศิลปะ และช่วยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สร้างงานศิลป์  ทางโครงการฯ  เปิดรับอาสาสมัครโดยไม่จำกัดเพศหรืออายุ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางศิลปะ แต่ต้องมีจิตอาสา คือ พร้อมช่วยเหลือผู้อื่น และต้องมีภูมิคุ้มกันโรคหัดและอีสุกอีใส เพราะภูมิต้านทานของเด็กจะต่ำและไวต่อโรคเหล่านี้  โดยระยะเวลาของการเป็นอาสาสมัคร คือ 3 เดือน ซึ่งอาสาสมัครต้องมาดูแลผู้ป่วยเด็กอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และในช่วง 3 เดือน อาสาสมัครต้องมาพบหมอพัชรินทร์  อย่างน้อย 8 ครั้ง ในบ่ายวันอังคารหรือวันพุธ เพื่อพูดคุยกับหมอว่าเกิดปัญหาในการทำงานหรือไม่
        โดยอาสาสมัคร 1 คน ดูแลผู้ป่วยเด็ก 1 คน เพื่อส่งเสริมให้เด็กใช้จินตนาการกับงานศิลปะได้อย่างเต็มที่ แต่อาสาสมัครอาจไม่ได้ดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง เพราะแพทย์อาจอนุญาตให้เด็กกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้หากอาการดีขึ้น บางกรณีเด็กเสียชีวิต อาสาสมัครต้องทำใจให้เข้มแข็ง พร้อมดูแลเด็กคนอื่นต่อไป

        ศิลปะในที่นี้มีทั้ง การวาดรูป ทำกรอบรูป ทำโมบายล์แขวน ปั้นดินน้ำมัน ฯลฯ เรื่อยไปถึงการฟังนิทาน  ซึ่งอาสาสมัครไม่ต้องสอนเทคนิคการวาดหรือการทำงานศิลปะให้เด็ก ไม่ต้องทำให้เด็ก เพียงแต่กระตุ้นเด็กให้เกิดความรู้สึกสนุกในการสร้างงานศิลปะ เด็กก็จะวาดหรือปั้นดินน้ำมันไปตามพัฒนาการของเด็กเอง
        
ใครไม่มีแรงระบายสีก็ให้ติดสติ๊กเกอร์ลงในสมุดภาพ หรือเป็นผู้กำกับคอยบอกให้ผู้ปกครองช่วยปั้นดินน้ำมันเป็นรูปต่างๆ มีแรงน้อยลงไปอีกก็ให้ฟังนิทาน หากเป็นเด็กโตอาสาสมัครจะชวนคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่าประสบการณ์ในชีวิต หรือระบายสิ่งที่อยู่ในใจ

         หลังร่วมโครงการศิลปะบำบัดแล้วพบว่าเด็กหลายคนมีพัฒนาการทางอารมณ์ดีขึ้น สื่อสารกับครอบครัวและคนรอบข้างมากขึ้น นอกจากนั้น  ก็ยังมีกิจกรรมทางศาสนาเข้ามาเสริม เช่น สวดมนต์ก่อนนอน การนิมนต์พระมารับบาตรที่แผนกผู้ป่วยเด็กโรคเรื้อรังทุกวันพฤหัสบดี ฯลฯ และมีโครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ มีรถเข็น 1 คัน ใส่หนังสือนิทานเด็ก หนังสือธรรมะ ฯลฯ ให้เด็กและผู้ปกครองได้ยืมอ่านด้วย

         เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ควรยกย่องชมเชยอย่างยิ่ง  ใครสนใจเป็นอาสาสมัครโครงการศิลปะบำบัดเพื่อผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้าย  สามารถติดต่อไปได้ที่  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ได้เลยคะ

                                                                                          หญิง สคส. 

หมายเลขบันทึก: 98367เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2007 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ศิลปะบำบัดเป็นแนวคิดที่ดีครับ ใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการพื้นฟูสภาพจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าที่ผมเข้าใจ ศิลปะสามารถใช้เป็นเครื่องระบายสภาพอารมณ์ต่างๆที่ถูกเก็บกดได้เป็นอย่างดี ผู้ที่กำลังทุกข์สามารถระบายความรู้สึกเก็บกดต่างๆของตนเองโดยผ่านทางศิลปะได้และมักจะได้ผลดีกว่าการบำบัดดดยวิธีพูดแบบปกติ จะลองยกตัวอย่างนะครับจากผลลานของเด็กคนหนึ่ง

[IMG]http://i53.photobucket.com/albums/g76/Vedora-kingdom/Vedorascursemini.gif[/IMG]

นี่เป็นภาพวาดที่ถูกวาดขึ้นโดยเด็กคนหนึ่งที่มีสภาพจิตใจยำแย่ จะเห็นว่าเขาพยายามระบายความทุกข์และสิ่งต่างๆลงไปในรูปภาพ หลังจากวาดภาพนี้เสร็จสุขภาพจิตเขาก็ดีขึ้นเสมือนเปลี่ยนเป้นคนละคนเพราะเขาได้ตอบสนองและระบายความทุกข์ของตนเองลงไปจนหมดแล้ว

นี่ก็เป็นอีกภาพที่แสดงได้อย่างชัดเจน

[IMG]http://i53.photobucket.com/albums/g76/Vedora-kingdom/crasyBeheris.jpg[/IMG]

ส่วนภาพนี้จะพิเศษไปกว่าภาพอื่นๆเพราะว่าภาพนี้ถูกวาดขึ้นเพื่อชดเชยความทุกข์ที่เกิดจากเวลาที่ไม่สามารถหวนกลับคืนมาได้ อย่างที่เห็น ตัวละครในภาพนี้คือโครนอส(เทพแห่งเวลาของกรีก)ในนิยายของเด็กคนนี้ที่กำลังอุ้มเด็กคนหนึ่ง นั่นหมายถึงคนที่วาดภาพนี้วาดโดยความทุกข์ที่ได้สูญเสียเวลาในวัยเด็กไปอย่างไม่มีทางหวนกลับคืนมาได้

 ครับ ศิลปะสามารถใช้บำบัดจิตได้ เห็นได้ชัดที่สุดก็คือตัวอย่างสามภาพ ภาพทุกภาพล้วนถูกวาดขึ้นเพื่อชดเชยหรือเป็นตัวแทนของความทุกข์ในใจเด็กคนนี้

อยากรู้มั้ยทำไมผมถึงรู้ เพราะว่าผมนี่แหละคือเด็กที่วาดภาพสามภาพนี้เอง ผมเห็นด้วยกับวิธีการบำบัดโดยใช้ศิลปะเพราะผมเคยลองกับตัวเองมาแล้วโดยที่เมื่อก่อนผมอาจไม่รู้ตัวเลยก็ได้และก็อยากจะช่วยเยียวยาเด็กๆทั้งหลายที่อาจจะทุกข์เช่นเดียวกับผมโดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องบำบัด

แต่ว่า ผมติดใจอยู่เรื่องนึงในหลักการนี้ที่ว่ามันคล้ายกับทฤษฎีของอาจารย์ของผม WebmasterAKD ที่ว่าผู้คนทุกสภาพจิตมักแสวงหาความสมดุล หมายถึงคนทุกคนล้วนปรารถนาที่จะชดเชยสิ่งที่ตนเองได้รับด้วยสิ่งที่ตรงข้ามกัน ครับมันเป็นแนวคิด อาจารย์ผมยังบอกอีกว่าศิลปะในบางครั้งอาจจะใช้เป็นเครื่องชดเชยได้ดีหากคนคนนั้นปรารถนาที่จะชดเชยสิ่งที่เขาได้รับโดยการระบายความโกรธแค้น ก็จะกลายเป็นว่าแทนที่จะระบายความโกรธแค้นด้วยการเข้าทำร้ายผุ้อื่นเลยกลายเป็นวาดภาพปิศาจที่น่าเกลียดน่ากลัวแทน ผมเลยเห็นว่าศิลปะบำบัดใช้ได้ดีในสังคมปัจจุบัน

เกือบลืมอ้างอิงลิงค์ของ WebmasterAKD เห่อๆ

http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Pid=100235

อ้อ ผมไม่มั่นใจจะครับว่ารูปภาพจะแสดงผล ถ้ารูปภาพไม่แสดงก็ให้ก๊อบลิงค์ไปเปิดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท