การฟื้นฟูประสาทสัมผัสด้วยศิลปะ


การพัฒนางานประจำเกิดจากประสบการณ์ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันกับผู้ป่วย....การให้การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด จึงต้องคำนึงถึงบริบทของผู้ป่วยโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อที่จะให้บริการได้อย่างเหมาะสม
การฟื้นฟูประสาทสัมผัสด้วยศิลปะ                 สังคมสงเคราะห์   เป็นหนึ่งในทีมสหวิชาชีพภายในสถาบันธัญญารักษ์ ที่มีภารกิจในการบริการ บำบัด ฟื้นฟู ดูแลช่วยเหลือทางสังคมให้แก่ผู้ป่วยยาเสพติดและครอบครัว ในทุกๆขั้นตอนของกระบวนการบำบัดรักษา โดยรูปแบบการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจะให้บริการทั้งแบบรายบุคคล ( ช่วยเหลือตามสภาพปัญหา )  และแบบกลุ่ม ( กิจกรรมกลุ่มบำบัด ) ซึ่งกิจกรรมกลุ่มบำบัดจะมีรูปแบบและวิธีการดำเนินกิจกรรมที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของผู้ป่วย เช่น การทำกิจกรรมกลุ่มกับผู้ป่วยระยะฟื้นฟูสมรรถภาพแบบผู้ป่วยนอกรูปแบบ Matrix Program เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้ Cognitive Behavior Group , การทำกิจกรรมกลุ่มทักษะทางสังคมกับผู้ป่วยระยะฟื้นฟูสมรรถภาพแบบผู้ป่วยใน เพื่อฟื้นฟูทักษะทางสังคมที่จำเป็นของผู้ป่วยให้กลับมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมกลุ่มบำบัดทางสังคมกับผู้ป่วยระยะบำบัดด้วยยา เพื่อให้ผู้ป่วยรับรู้สภาพปัญหาของตนเอง และฟื้นฟูสมรรถภาพเบื้องต้น ทั้งสนับสนุนให้ผู้ป่วยเรียนรู้ทักษะทางสังคม สามารถปรับตัวในขณะที่เข้ารับการบำบัดรักษาภายในหอผู้ป่วยบำบัดยาได้                การดำเนินกิจกรรมกลุ่มบำบัดทางสังคมกับผู้ป่วยระยะบำบัดด้วยยาของกลุ่มงานสังคมสงเคราะห์  สถาบันธัญญารักษ์  ในระยะแรกได้นำแนวคิดเรื่อง ทักษะการเลิกยาระยะเริ่มต้น และการป้องกันไม่ให้กลับไปเสพยาซ้ำตามรูปแบบของ Matrix Program ไปใช้ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยระยะบำบัดด้วยยาส่วนใหญ่ยังมีอาการ Withdrawal ของยาเสพติด การนำ Cognitive Behavior Group ไปใช้จึงยังไม่เหมาะสม  กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์จึงมีการพัฒนาวิธีการดำเนินกิจกรมให้เป็นลักษณะการทำกิจกรรม ( Activity)  คือจะใช้อุปกรณ์ / สื่อ ในการทำกิจกรรมกับผู้ป่วยมากขึ้น หลังจากพัฒนาวิธีการดำเนินกิจกรรม พบว่าผู้ป่วยเกิดการรับรู้ เรียนรู้ สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ยังพบปัญหาว่าผู้ป่วยบางรายที่มีอาการ Withdrawal ทางร่างกาย เช่น มือสั่น, ความจำและสมาธิสั้น, มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและการทรงตัวยังมีขีดจำกัดในการทำกิจกรรม กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์จึงมีการพัฒนาวิธีการดำเนินกิจกรรมเพื่อพยายามให้เกิดความเหมาะสมกับพยาธิสภาพของผู้ป่วยระยะบำบัดด้วยยามากขึ้น โดยนำกิจกรรม การฟื้นฟูประสาทสัมผัสด้วยศิลปะ มาใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยเบื้องต้น เนื่องจากในช่วงที่ผู้ป่วยใช้ยาเสพติดจะส่งผลต่อประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การมองเห็น ,การฟัง, การสัมผัส เกิดปัญหาด้านการควบคุม ( Motor) การเคลื่อนไหว, การทรงตัว , ความคิด , สมาธิ , ความจำ , ความรู้สึก ,ความไว้วางใจ ฯลฯ โดยรูปแบบกิจกรรมจะเน้นให้ผู้ป่วยรับรู้สภาพปัญหาของตนเอง  ผลของการใช้ยาเสพติดที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิต รวมทั้งฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย ฟื้นฟูประสาทสัมผัส การควบคุมตนเอง , การเคลื่อนไหว , การคิดอย่างเป็นระบบ มีการนำสื่อ / อุปกรณ์ ง่ายๆมาใช้ประกอบในการดำเนินกิจกรรม ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าร่วมกิจกรรม มีส่วนร่วมได้มากขึ้น  เกิดการรับรู้ เรียนรู้เข้าใจได้ง่าย และเมื่อผู้ป่วยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ก็จะสนับสนุนให้เกิดความภาคภูมิใจ และรับรู้ เห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งขณะนี้กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์กำลังดำเนินการประเมินผลของกิจกรรม การฟื้นฟูประสาทสัมผัสด้วยศิลปะและจะรวบรวมข้อมูลที่ได้ มาวิเคราะห์ วางแผน และพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมให้มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป
คำสำคัญ (Tags): #สังคมสงเคราะห์
หมายเลขบันทึก: 98258เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2007 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ดีครับ   แต่อยากให้อธิบาย ให้เห็นรูปธรรมการฟื้นฟูด้วยประสาทสัมผัสเนี่ย ทำอย่างไร  เผื่อ ที่อื่นหรือคนรู่นต่อไป จะได้นำไปใช้ได้ด้วยครับ

ประสาทสัมผัสมี 2 รูปแบบ ได้แก่

- ธรรมดา เช่น การมองเห็น , การได้ยิน , การได้กลิ่น , การชิมรส , การสัมผัส

- สัมผัสชีวิต คือการสัมผัสรับรู้ว่าร่างกายของเราอยู่ดีหรือไม่ รู้จักความหมายของชีวิต เช่น การรับรู้ตัวตน ,การทรงตัว, การเคลื่อนไหว ,รับรู้ความรู้สึกต่างๆ หิวน้ำ  เจ็บป่วย ฯลฯ

การเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัสและศิลปะทุกแขนงจะช่วยให้เรารับรู้ เข้าใจสัมผัสชีวิตมากขึ้น การฟื้นฟูประสาทสัมผัสด้วยศิลปะเป็นกิจกรรมที่ฝึกการรับรู้ผ่านสัมผัสต่างๆ เช่น

-การฝึกสมาธิและการรับรู้โดยใช้ความเงียบ   โดยให้ยืนแล้วสังเกตผิวสัมผัสของเท้ากับพื้นว่ามีจุดใดหรือส่วนใดที่สัมผัสกับพื้นบ้าง หลังจากนั้นให้โน้มมาข้างหน้า  โน้มด้านหลัง ซ้าย ขวา หมุนทวนเข็มนาฬิกา แล้วสังเกตว่าการสัมผัสของเท้ากับพื้นต่างกันอย่างไร

-การฟื้นฟูประสาทสัมผัสด้านการฟังเพื่อฝึกสมาธิและการรับรู้ โดยให้ยืนเป็นวงกลม สมาชิกในกลุ่มทุกคน  ยืนตรง  หลับตา เอามืออุดหู และทำเสียง " Hum..."( เหมือนผึ้ง ) สังเกตตนเองว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง การสั่นสะเทือนของเสียงเป็นอย่างไร หลังจากนั้นถามความรู้สึกของสมาชิกแต่ละคน ( เป็นการฝึกสมาธิ ) เมื่อสังเกตตนเองได้แล้วให้สมาชิกยืนตรงทำเสียง Hum ฟังเสียงตนเอง เสียงเพื่อนที่อยู่ด้านซ้าย ขวา เปรียบเทียบว่าได้ยินเสียงอย่างไร  และให้สมาชิก ทำเสียง Hum เดินไปรอบๆห้อง เพื่อฟังเสียงของเพื่อนแต่ละคน  สังเกตประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น หากเราต้องการฟังเสียงของเพื่อน เราอาจต้องลดเสียงของเราลง เปรียบกับชีวิตประจำวัน บางครั้งหากเรายึดตนเองมากเกินไป ไม่เปิดใจฟังใคร  เราก็จะปฏิเสธผู้อื่นไม่ฟังผู้อื่น เป็นต้น

- การฟื้นฟูประสาทสัมผัสด้านการมองเห็น โดยหาอุปกรณ์อะไรก็ได้วางบนพื้นหลังที่มีสีที่แตกต่างกัน เช่น แขวนเสื้อสีเหลืองไว้หน้ากระดานดำ จ้องมองรูปร่างของเสื้อสักครู่ประมาณ 3-5 นาที แล้วนำเสื้อออกแต่ให้จ้องมองตรงจุดรูปร่างที่แขวนเสื้อนั้นต่อไปเรื่อยๆสักระยะหนึ่ง สังเกตว่าเห็นอะไรบ้าง ซึ่งหากนำเสื้อสีเหลืองออกแล้ว เมื่อจ้องมองต่อไปจะยังคงเห็นเป็นรูปร่างของเสื้อนั้นอยู่แต่จะเห็นเป็นสีม่วงแทน( สีตรงข้ามจากสีจริง)  เพื่อให้รู้จักสังเกตตนเอง ฝึกการรู้จักรับเข้าแล้วผ่อนออก  รู้จักปลดปล่อยอย่างเหมาะสม  เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการฟื้นฟูประสาทสัมผัสด้านอื่นๆที่ใช้ในการฟื้นฟูเบื้องต้นกับผู้ป่วยยาเสพติด เช่น ฝึกการคิด ,ความไว้วางใจ ฯลฯ

ขออนุญาตเผยแพร่ต่อทีม QIT สุรานะจ๊ะ  ขอบคุณมาก

จากพี่แอน

ถ้าต้องการพัฒนาให้ผู้ป่วยมีทักษะทางสังคม

สังคมบำบัด จะเป็นกิจกรรมแบบไหนค่ะ

ผู้ป่วยจึงจะได้ทักษะทางสังคมอย่างเหมาะสม

คำว่าทักษะทางสังคมมีความหมายที่ค่อนข้างกว้างค่ะ.....เป็นความสามารถในการอยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้อื่น ได้แก่ ความสามารถในการใช้คำพูดและภาษาท่าทาง เพื่อสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของตน และความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของอีกฝ่ายไม่ว่าจะในการแสดงความต้องการ ความชื่นชม การปฏิเสธ การสร้างสัมพันธภาพ ตลอดจนการสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจในตนเอง รวมถึงการวางแผนและการจัดการกับปัญหา เพื่อใช้ในการอยู่ร่วมกันกับบุคคลรอบข้างและในสังคมได้.....

ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวคิดว่า...การเลือกรูปแบบกิจกรรมควรดูที่กลุ่มเป้าหมายและบริบทอื่นๆร่วมด้วย หากผู้ป่วยเป็นกลุ่มที่ยังมีอาการทางยาเสพติดหรือ Cognitive ยังไม่ค่อยดี การทำกิจกรรมก็ไม่สามารถจะเป็นกิจกรรมที่เป็นเหตุเป็นผลหรือฝึกการคิดได้ก็ต้องเป็นการฟื้นฟูประสาทสัมผัสและการรับรู้ไปก่อน....แต่หากผู้ป่วยการรับรู้ดีกิจกรรมที่ใช้ก็สามารถเป็นกิจกรรมที่ฝึกให้คิด ฝึกปฏิบัติในทักษะแต่ละด้านที่ต้องการฟื้นฟู เช่น การสื่อสาร การสร้างสัมพันธาพ การเสริมความภาคภูมิใจ การรับรู้คุณค่าในตนเอง ฯลฯ ทักษะทางสังคม เป็น Skill ต้องอาศัยการฝึกฝนการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และฝึกบ่อยๆๆ ซึ่งบางรายก็อาจต้องอาศัยการฟื้นฟูเป็นรายบุคคลด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท