ปอเนาะกับความสำคัญ


ความสำคัญของปอเนาะ
ความสำคัญของความรู้ในอิสลาม
         อิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญมากต่อการแสวงหาความรู้ อิสลามไม่เพียงแต่จะสอนให้มนุษย์มีความรักในความรู้ แต่อิสลามยังเรียกร้องให้ทุกคนแสวงหาความรู้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใด จะอยู่ในยามที่คับขันหรืออยู่ในภาวะศึกสงครามก็ตาม เพราะความรู้นั้นเป็นพื้นฐานของการพัฒนามนุษย์ เป็นกุญแจของความเจริญทางวัฒนธรรมและอารยธรรม ความรู้มีความสำคัญในทุกขั้นตอนของการมีอยู่ของมนุษย์ ความรู้เท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์รู้จักตัวเอง รู้จักจักรวาล และรู้จักผู้อภิบาลผู้ทรงสร้าง โองการแรกที่ถูกประทานลงมายังศาสดามุฮัมมัด ( ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน ) นั้นเป็นโองการที่เกี่ยวกับความรู้ ( อัลกุรอาน 96:1-5) เพราะพระองค์อัลลอฮทรงรู้ว่ามนุษย์ที่มีความรู้เท่านั้นที่สามารถจะแยกแยะระหว่างความดีและความชั่วได้ อิสลามได้ตระหนักถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และไม่คำนึงว่าความรู้นั้นจะเป็นความรู้ทางโลกหรือทางธรรมและไม่คำนึงว่าความรู้นั้นจะมาจากผู้ใด เพราะความรู้ในอิสลามนั้นเป็นความรู้ที่บูรณาการ ดังที่นักปรัชญามุสลิมท่านหนึ่งได้กล่าวว่า ความรู้ในอิสลามจะครอบคลุมทั้งความรู้ทางธรรมและทางโลก โดยไม่คำนึงว่า ความรู้นั้นจะได้มาจากประสบการณ์ สันชาติญาณ หรือเหตุผล แต่มีเงื่อนไขว่า ความรู้ทั้งหมดเหล่านั้นต้องไม่ขัดแย้งกับวะฮี ( วิวรณ์ ) ที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประทานมา แท้ที่จริงแล้ว อิสลามถือว่าความรู้ใดก็ตามที่ไม่ขัดแย้งกับวะฮี ความรู้นั้นย่อมถือว่าเป็นความรู้ของอิสลาม (Rizavi,1986) ด้วยเหตุผลดังกล่าว อิสลามจึงเน้นถึงการแสวงหาความรู้จากผู้รู้ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตามดังโองการที่ว่าดังนั้นเจ้าจงสอบถามผู้ที่มีความรู้เถิด หากแม้นพวกเจ้าไม่รู้ ” ( อัลกุรอาน 16:43) ทำไมมุสลิมต้องแสวงหาความรู้ คำตอบของคำถามนี้ได้ปรากฏในโองการ อัลกุรอานความว่า จงประกาศเถิดบรรดาผู้รู้กับผู้ไม่รู้นั้นจะเทียมกันหรือ อันที่จริงบรรดาผู้มีวิจารณญาณทั้งหลายย่อมสำนึกแน่ ( อัลกุรอาน 39 : 9) การที่อิสลามได้ให้ความสำคัญกับความรู้ เพราะด้วยความรู้เท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์เป็นที่สมบูรณ์และมีความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในโลกนี้หรือโลกหน้า ดังวัจนะของศาสดามุฮัมหมัด ( ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน ) ความว่า ใครก็ตามที่ประสงค์ ( ความสำเร็จในกิจการของ ) โลก ( นี้ ) เขาจงปฏิบัติมันด้วยความรู้ และใครก็ตามที่ต้องการ ( ความสำเร็จใน ) โลกหน้า เขาจงปฏิบัติมันด้วยความรู้ และใครก็ตามที่ต้องการทั้งสองด้วยกัน เขาจงปฏิบัติด้วยความรู้ เนื่องจากการได้มาซึ่งความรู้ถือเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่ง แม้นแต่ท่านศาสดามุฮัมหมัด ( ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน ) ผู้ซึ่งเป็นที่รักของอัลลอฮฺและเป็นแบบอย่างแห่งมนุษยชาติยังคงขอให้พระองค์อัลลอฮฺทรงเพิ่มพูนความรู้ให้กับท่าน ดังโองการความว่า และเจ้าจงวิงวอนต่อพระองค์เถิดว่า โอ้องค์อภิบาลโปรดเพิ่มพูนความรู้แก่ข้าพเจ้าเถิด ( อัลกุรอาน 20 : 114) อิสลามถือว่าการแสวงหาความรู้เป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งสำหรับมวลมนุษย์ และถือเป็นหน้าที่ของมวลมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นมุสลิม พวกเขาเหล่านั้นจะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศาสนาของตน เพราะศาสนาคือวิถีแห่งการดำเนินชีวิต การแสวงหาความรู้ใดๆ ก็ตามที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ที่แสวงหาได้กลายเป็นผู้รู้แต่ยังถือเป็นผลบุญสำหรับผู้ที่แสวงหา ดังที่ท่านศาสดา ( ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน ) กล่าวความว่า ผู้ใดที่ออกไปเพื่อแสวงหาความรู้ ดังนั้นเขาผู้นั้นอยู่ในหนทางของอัลลอฮจนกระทั่งเขาได้กลับ ( ยังบ้านของเขา )บันทึกโดยติรมีษี นอกจากนี้ ด้วยความรู้จะทำให้มนุษย์มีสถานภาพที่สูงขึ้น ดังที่พระองค์อัลลอฮฺตรัสไว้ ความว่า แน่นอนอัลลอฮทรงยกย่องบรรดาผู้ศรัทธาจากพวกเจ้าและบรรดาผู้ได้รับความรู้หลายฐานันดร( อัลกุรอาน 58 : 11) จะทำให้มนุษย์เกรงกลัวต่อผู้อภิบาลและเป็นผู้สืบทอดมรดกของท่านศาสดา ( ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ทาน ) ดังโองการของอัลลอฮฺ ความว่า แท้จริงผู้ที่เกรงกลัวต่ออัลลอฮในบรรดาทาสของพระองค์คือบรรดาอุละมาอ ( บรรดาผู้รู้ )( อัลกุรอาน 35 : 28) และวัจนะของท่านศาสดา ( ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน ) บรรดาอุละมะอ ( ผู้รู้ ) คือ ผู้สืบทอดมรดกของบรรดาศา สดา ” ( รายงานโดยอิบนุ มาญะฮ ) อิสลามถือว่ามนุษย์ทุกคนมีชาติกำเนิดที่ต่ำต้อย หากมนุษย์ไร้ซึ่งความรู้เขาย่อมจะเป็นผู้ที่ต่ำต้อย ในทางกลับกันหากเขามีความรู้ เขาจะเป็นผู้ที่สูงส่ง ปราชญ์มุสลิมอิบนุ มัซอูดกล่าวว่า บุคคลซึ่งได้รับความรู้นั้นสูงส่งยิ่งกว่าผู้ที่มีศรัทธาแต่ไม่ได้รับความรู้ (Abdul Rahman,1982) การมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ การแสดงพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ล้วนได้รับอิทธิพลจากความรู้ อารยธรรมของมนุษย์แต่ละยุคแต่ละสมัยล้วนขึ้นอยู่กับความรู้ของพวกเขาเหล่านั้น และความรู้นั้นไม่เพียงแต่จะมีความสำคัญต่อบรรดามุสลิม แต่ความรู้นั้นจะมีความสำคัญต่อมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกชนชาติทุกศาสนา ทัศนะของอิสลามที่มีต่อความรู้ข้างต้นก็เป็นแรงผลักดันที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดสถาบันศึกษาปอเนาะในภูมิภาคแห่งนี้
หมายเลขบันทึก: 97871เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท