ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

ปิกนิก...กิจกรรมดีๆ สำหรับครอบครัวและมิตรสหาย


จาก “ปิกนิก” ในคอลัมน์ Etiquette นิตยสาร Gourmet&Cuisine

           คำว่า ปิกนิก เป็นการพูดทับศัพท์คำว่า Picnic ในภาษาอังกฤษ  ซึ่งมีอธิบายไว้ว่าเป็นการไปเที่ยวนอกบ้านและนำอาหารไปรับประทานกลางแจ้ง

          สมัยที่เป็นเด็ก การไปปิกนิกจัดเป็นกิจกรรมประจำครอบครัวก็ว่าได้   เพราะคุณแม่ชอบพาลูกๆ ไปปิกนิก  เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้ลูกๆ กินข้าวได้อร่อย

          ตอนวัยอนุบาล  หลังบ้านที่นครศรีธรรมราชเป็นทุ่งนา  พอเกี่ยวข้าวเสร็จ  ทุ่งนาก็เป็นสีน้ำตาลสวย   มีต้นข้าวเอนล้มระเนระนาด บ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง   เงาจากตัวบ้านทำให้เกิดที่ร่มกลางทุ่งนา  คุณแม่ให้คนงานปราบพื้นที่ให้เรียบลง  แล้วเอาเสื่อไปปูกลางทุ่ง  จัดสำรับอาหารไปกินกัน และเล่นว่าว 

          โตขึ้นมาหน่อย  ย้ายมาอยู่เพชรบุรี   มื้อเย็นหลายมื้อเป็นรายการปิกนิกที่หาดเจ้าสำราญ   คุณแม่ก็จัดแจงพาลูกๆ ไปออกกำลังกายด้วยการเล่นน้ำทะเล  และเตรียมอาหารใส่ปิ่นโตไปด้วย

อาหารที่จัดไปแต่ละครั้ง  จะมีอาหารที่ลูกๆ ไม่ยอมกิน 1 อย่างอยู่ด้วยเสมอ   อย่างเช่นครั้งหนึ่งเป็นแกงขี้เหล็ก   ซึ่งเวลาอยู่ที่บ้าน   ถึงคุณแม่จะบอกว่าอร่อยยังไง   ลูกๆก็ไม่ยอมแตะ แต่ครั้นพอเล่นน้ำทะเลกันจนเหนื่อยและหิวจัด   ข้าวราดแกงขี้เหล็ก แนมด้วยไชโป๊วผัดไข่ที่คุณแม่จัดวางไว้   กินกันได้เอร็ดอร่อย  และขอเติมอีกด้วยซ้ำไป

          กว่าจะรู้ว่าเป็นแผนของคุณแม่ในการฝึกลูกๆ ให้กินอาหารได้หลากหลาย   ก็จนโตเป็นผู้ใหญ่แล้วนั่นแหละ

          เวลาเดินทางไปไหน คุณแม่จะเตรียมอาหารและภาชนะต่างๆ พร้อม   และจะหยุดและตามสวนป่า หรือศาลาริมทางเพื่อกินอาหารกัน 

          พอใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก  การไปปิกนิกก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่นิยมมาก โดยเฉพาะเวลาที่อากาศดีๆ  สวนสาธารณะต่างๆ ก็มีพื้นที่สำหรับการปิกนิก   นั่นหมายถึงมีแม้กระทั่งเตาสำหรับทำอาหารกลางแจ้ง  พอกลับมาเมืองไทย  เวลาไปเที่ยวไหนก็อดที่จะทำแบบที่คุณแม่เคยทำไม่ได้  คือการเตรียมอาหารไปด้วย  และแวะรับประทานบริเวณที่มีบรรยากาศดีๆ

          น้องชายคนเล็กยิ่งพิศมัยการปิกนิกมาก  จะมีชุดปิกนิกเป็นตะกร้าที่เปิดออกมามีจานชามถ้วยช้อนส้อมมีดผ้าเช็ดมือ   พร้อมหยิบใช้   รวมทั้งเสื่อผ้าปูนั่ง  กระติกน้ำ และของใช้ต่างๆ ที่ทำให้การปิกนิกรื่นรมย์   และมักจะพาภรรยาและลูกสาวลูกชายไปเที่ยวท่ามกลางธรรมาชาติพร้อมกับเตรียมอาหารไปปิกนิกบ่อยๆ

          เมื่อเร็วๆนี้ ไปเยี่ยมเขาดินยุคปรับปรุง  เห็นครอบครัวหลายครอบครัว  มีตั้งแต่คุณตาคุณยายจนถึงหลานตัวเล็กๆ นั่งล้อมวงกินอาหารที่จัดปิ่นโต หรือกล่องพลาสติกนำมาเอง

          นอกจากนั้น  หลายๆ ที่ท่องเที่ยวก็จะได้พบเห็นการกินอาหารแบบปิกนิกกันได้ไม่ยาก มีทั้งแบบหรูประเภทมีชุดอุปกรณ์ปิกนิกพร้อมสรรพ เหมือนยกบ้านมาด้วย    และแบบลูกทุ่งประเภทอะไรก็ได้

          ปิกนิกแบบไปทำอาหารรับประทาน  มีข้อควรระวังคือ  ไฟ  ต้องก่อไฟในสถานที่ที่กำหนดให้  และบางที่มีเตาแบบถาวรตั้งไว้เป็นจุดให้ปิ้งย่างได้ด้วย  เมื่อใช้เสร็จแล้ว อย่าลืมดับให้เรียบร้อยจริงๆ! 

          ทำความสะอาดสถานที่เมื่อใช้เรียบร้อยแล้ว  เพราะถ้าทุกคนไม่สนใจ  ต่อไปก็จะไม่มีที่สวยๆดีๆ ไว้ให้ปิกนิกกันต่อไป

          ปิกนิกแบบนำอาหารปรุงสำเร็จหรืออาหารสำเร็จรูปไปรับประทาน  มีสิ่งที่ต้องปฏิบัติด้วยเช่นกัน เพราะการไปปิกนิกเป็นการใช้สถานที่ที่เป็นสาธารณะ  นั่นหมายถึงทุกคนสามารถไปใช้ได้ฟรี   ดังนั้น การแบ่งปัน การไม่รบกวนกัน  การไม่ทำสกปรก  ล้วนเป็นเรื่องที่พึงสังวรณ์         

          สถานที่ไปปิกนิก ไม่มีใครมาตามเก็บตามกวาด  เมื่อใช้แล้วก็ต้องจัดให้คืนสู่สภาพเดิม  หรือสภาพพร้อมให้ผู้อื่นมาใช้ได้ต่อ

          จิตสำนึกร่วมกันในการรักษาสถานที่และอุปกรณ์ที่มี  คือคุณสมบัติของพลเมืองดีค่ะ  

          

             

หมายเลขบันทึก: 97110เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2007 00:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท