ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

กินชาสูง...สูงยังไง?


จาก "กินชาสูง" ในนิตยสาร 'นะดี

          High tea แปลว่า ชาสูง  จะสูงยังไง  ก็ต้องติดตามดู... 
         
ขอท้าวความตามเรื่องแบบเจาะลึกถึงต้นสาย  ก่อนจะไปถึงปลายทาง   จะได้กินชาสูงกันได้รสชาติเพิ่มขึ้น   
         
อ้อ! คำว่า กินชาไม่ใช่ ดื่มชาที่ใช้ตรงนี้   ตั้งใจเลยแหละ    อ่านจบเมื่อไหร่ก็จะรู้เองว่าทำไม?

          เรื่องก็มีอยู่ว่า... 
         
สมัยก่อนโน้น   ไม่ต้อง'ประมาณ'เลย  เพราะรู้วันแน่นอน  
วันนั้นคือ
16 ธันวาคม  ..1773   ชาวอาณานิคมอเมริกันกลุ่มหนึ่งพากันปลอมตัวเป็นอินเดียนแดง   ลอบขึ้นไปบนเรือสินค้าที่ทอดสมออยู่บริเวณท่าเรือเมืองบอสตัน   สมัครสมานสามัคคีช่วยกันยกลังบรรจุสินค้าโยนลงทะเลจนหมดเกลี้ยง!! 
         
สินค้าในลังคือใบชาล้วนๆ   ถ้าอยู่ด้วยวันนั้น  คงจะได้เห็นน้ำทะเลเปลี่ยนสีเพราะชาจำนวนมหาศาล  

          เหตุการณ์นี้ ได้รับการบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ของอเมริกา   โดยขนานนามว่า “Boston Tea Party”   นับเป็นงานปาร์ตี้น้ำชาที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดชนิดข้ามยุคเลยทีเดียว
         
สาเหตุของเรื่องเป็นการต่อต้านมาตรการเกี่ยวกับภาษีเครื่องดื่ม  ไม่ใช่ต่อต้านชา   และเหตุการณ์ครั้งนี้นำไปสู่การแยกทางกันเดินอย่างถาวรระหว่างอเมริกากับอังกฤษ 

          ครั้งนี้  ถือได้ว่า ชาเป็นผู้รับเคราะห์  เพราะดันไปอยู่ตรงนั้นพอดี   ชาวอาณานิคมมิได้มีจิตคิดประทุษร้ายชาแต่อย่างใด   หากตอนนั้นเป็นเรือบรรทุกกาแฟ  งานนี้ก็จะต้องกลายเป็นปาร์ตี้กาแฟไป  
         
มองโลกในแง่ดี  ก็อาจพูดได้ว่า  ชาจะดังซะอย่าง  กาละเทศะจึงอำนวย  ยังไงๆ ก็หยุดไม่ได้ 
         
หลังจากวันนั้น  ชาวอาณานิคมก็ไม่ได้ยุติการดื่มชาแต่อย่างใด  แค่ยุติการดื่มชากับพวกอังกฤษเท่านั้น

          ตอนนี้บาดแผลเก่าจางหายไปแล้ว  สองประเทศหันหน้าเข้าหากัน  พูดถึงกันและกันในฐานะบ้านพี่เมืองน้อง  ความสัมพันธ์ของสองประเทศเหนียวแน่นมั่นคง พัลวันพัลเกซะจนแทบจะแยกไม่ออกว่า  วัฒนธรรมอันไหนเป็นของใคร
         
ในบรรดามรดกตกทอดที่ชาวอังกฤษมอบให้ชาวอเมริกัน   ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบกันมากคือ Afternoon Tea  การดื่มน้ำชาตอนบ่าย 
         
และก็เป็นธรรมเนียมของคนอเมริกันที่ไม่อยากเป็นเงาของอังกฤษ  พยายามจะสร้างอะไรๆ ที่เป็นของตัว  เลยสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา  เรียกว่า High Tea 

          คำ ๆ นี้แฝงทัศนะของชาวอเมริกันที่มีต่อชาว่า  เป็นของสูงศักดิ์ และคงความลี้ลับซ่อนไว้ในตัว
         
การใช้คำว่า High Tea  นั้น  ความจริงมีมาก่อนหน้านี้แล้ว   โดยคนอังกฤษใช้เรียกเวลาน้ำชาที่เกิดขึ้นระหว่างเวลา 5 –6 โมงเย็นในสมัยวิคตอเรีย ซึ่งเป็นช่วงเวลาการดื่มชาของชนชั้นกรรมาชีพ   
         
คนอังกฤษชั้นสูงโดยทั่วไปจะดื่มชากันตอนบ่าย 4 โมง   และเรียกมื้อนั้นว่า  Afternoon Tea  ไม่ปะปนกัน   
         
เรียกว่าแบ่งชนชั้นวรรณะกระทั่งเวลาของการดื่มชา และการเรียกชื่อชาเลยแหละ

          สำหรับคนอเมริกัน   High Tea  เป็นการกินอาหารมื้อหลักมื้อหนึ่ง    จะกินกันในช่วงเวลาหลังเลิกงานกลับมาบ้าน   ก็ตกราวๆ 5-6 โมงเย็นเหมือนกัน 
         
ความแตกต่างระหว่าง High tea กับ Afternoon tea   คือลักษณะของอาหารที่เสริฟ  สำหรับ High tea นั้น จะเสริฟอาหารหนัก  เทียบกันได้กับอาหารมื้อเย็น            

          ธรรมเนียมการกินชาแบบนี้  ไม่มีกฏระเบียบอะไรเกี่ยวกับรายการอาหารที่จะเสริฟกับชา   มักจะเป็นของกินง่ายๆ ประเภทของทอด พาย เนื้อย่าง แคสเซอโรล  ขนมปัง เนยแข็ง ขนมเค้ก 
         
โดยทั่วไป  จะเป็นบรรดาของเหลือในตู้กับข้าวที่พยายามกำจัดให้หมดไป  จนทำให้หน้าตาของอาหารมื้อนี้เป็นแบบนานาสารพัดร้อยแปดพันเก้า  อะไรทำนองนั้น  
         
คนอเมริกันเปรียบภาพลักษณ์ของอาหารแบบนี้ไว้ซะเพราะพริ้งว่า “a patchwork quilt of food”   นึกเห็นภาพอาหารหลากหลาย  อย่างละนิดละหน่อย มาอยู่รวมกันบนโต๊ะ        

          High tea เหมาะที่สุดสำหรับเป็นอาหารมื้อเย็นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาว  เพราะเป็นมื้อที่อบอุ่นสบาย เพิ่มพลังสำหรับต่อสู้กับความหนาวเย็นของอากาศ           
         
การกินชาแบบ High tea นั้น  ชาจะถูกเสริฟพร้อมกับการกินอาหาร   และเสริฟกันอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่กิน   ฉะนั้นต้องแน่ใจว่าตั้งกาน้ำร้อนไว้อย่างเพียงพอสำหรับชงชาให้ทุกคน
         

          สำหรับเมืองไทย  วันไหนอากาศเย็นหน่อย   คิดอยากจะจัด High tea เลี้ยงมิตรสหาย  แล้วเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า  จะเสริฟชาชนิดไหนดี? ขอแนะนำ English Breakfast  
         
เห็นชื่ออย่างนี้  อย่าแปลว่าอาหารเช้าแบบอังกฤษเชียวนะ   เพราะในบรรดา 3 ตระกูลหลักของชา  อันได้แก่  Black,  Oolong   และ Green นั้น   English Breakfast เป็นชื่อทางการของชาชนิดหนึ่งในตระกูลชาดำ (Black Teas)   
         
เรียกกันอย่างนี้เพราะเป็นชาแบบ ดั้งเดิมของชาวอังกฤษ  และมักจะนิยมดื่มในตอนเช้า   
         
ชานี้เป็นลูกผสมระหว่างชาลังกาหรือชาซีลอนกับชาอินเดีย
  ถ้าไม่ชอบชนิดที่แนะนำมานี้  ก็หาชนิดที่ตัวเองชอบก็แล้วกัน

          ชนิดไหนก็เป็นชาสูงได้ทั้งนั้น!  

หมายเลขบันทึก: 96929เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2007 00:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ ป้าเจี๊ยบ  

ตามอ่านเรื่องชามาตลอด..ขอบคุณนะคะ ได้ความรู้เรื่องชามากทีเดียว

เรื่อง High Tea กับ Afternoon Tea เป็นความรู้ใหม่จริงๆ เขากินกันเป็นวัฒนธรรมเลยนะคะ แต่ตอนอยู่อเมริกาไม่เคยสัมผัสหรือมีประสบการณ์กับเรื่อง high tea เลยค่ะ สังสัยอยู่กันคนละสังคม อิอิ สังคมนศ.ป.เอก ตอนเรียนอยู่ ส่วนใหญ่เป็นกาแฟดำแบบ filter หม้อโตๆ อย่างเดียวเลยค่ะ ...

ขอบคุณอีกครั้งสำหรับความรู้ใหม่ค่ะ..

สมัยเรียนป้าเจี๊ยบเป็นคนเดียวใน Department ที่เป็นสิงห์โค้กค่ะ ดื่มกาแฟไม่เป็น เพราะดื่มทีไร ใจสั่นมือสั่นทุกที พอเลิกโค้กก็มาจ๊ะเอ๋กับชานี่แหละค่ะ

มีประโยชน์ ได้ความรู้ดีมากเลยค่ะป้าเจี๋ยบ วันไหนไปทาน (มีร้านใกล้บ้าน) แล้วจะเอารูปมาฝากแปะไว้บันทึกนี้นะคะ

ขอบคุณค่ะ  แวะไปดูและทักทายที่บันทึกของคุณมัทนาแล้วค่ะ : ) 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท