CV ของคนที่อินแปง


บรมครูเหล่านี้ไม่เพียงมีความเข้าใจในเรื่องต้นไม้และป่าอย่างลึกซึ้ง แต่ยังเชื่อมโยงไปสู่ "สภาวะที่เหนือขึ้นไป" ซึ่งก็คือความยิ่งใหญ่ของธรรมชาตินั้นเอง

  หากจะเปรียบ CV เป็นบันทึกเกียรติประวัติและผลงานของนักวิชาการแล้วล่ะก็ "สวน" คงเป็นบันทึกเกียรติประวัติและผลงานของคนที่อินแปงโดยแท้เทียว

   "สวน" ในที่นี้คือพื้นที่เกษตรที่คนที่รับเอาแนวคิดแบบอินแปงหรือแบบวนเกษตร คือ การปลูกทุกอย่างที่กินใช้ และ กินใช้ทุกอย่างที่ปลูก ดังนั้น สวนของแต่ละคนจึงเปรียบเสมือนเกียรติภูมิของคนผู้นั้น เป็นสนามในการลองผิดลองถูก, เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นพื้นที่ในการหล่อเลี้ยงชีวิต

    ไม่ต่างกับ CV ของนักวิจัย, สวนของคนอินแปงหรือคนวนเกษตรก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ประเภทเพิ่งเริ่มต้น, ประเภทขั้นกลาง, ขั้นครู และขั้นบรมครู

    ผมโชคดีที่ได้ไปเห็นสวนของคนในหลากหลายระดับ มีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุย และได้เห็นถึงความภูมิใจในการมีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาตัวเองผ่านการทำสวนแบบนี้

     ได้ไปดูสวนของคุณสุก, คุณเปี๊ยก ซึ่งอยู่ในระดับเริ่มต้น เพิ่งรับเอาแนวคิดนี้มาทำได้ไม่เกินสองสามปี สวนจึงเป็นลักษณะที่ต้นไม่ยังไม่ทึบ ไม่ร่มรื่น และพันธุ์ไม้ยังไม่หลากหลาย ไม้หลายชนิดที่ปลูกยาก เช่นผักหวาน ก็ยังมีปัญหาปลูกกล้าแล้วตาย, ปัญหาการปรับปรุงดิน, ปัญหาการป้องกันวัวไม่ให้เข้ามากินพืชพันธุ์ในสวน การจัดเรียงประเภทของต้นไม้ในสวน ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาของ"มือใหม่"ที่ต้องประสบพบเจอทั้งสิ้น

    ระดับสวนที่เป็นขั้นกลางก็ได้แก่ประเภทที่มีความรู้ว่าจะเลี้ยงต้นไม้ประเภทที่ตัวเองต้องกินใช้ อย่างไรบ้าง ต้นไม้จึงจะเติบโต อยู่รอดและเก็บกินในส่วนของตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผักตลาดมากมายนัก

    ส่วนขั้นครูนั้นเป็นสวนที่มีระบบอันซับซ้อน มีพันธุ์ไม้หลากหลายมีความทึบ ความครึ้ม ความร่มเย็น มีสัตว์หลายประเภทเข้ามาอาศัยอยู่ในสวน เช่น นก งู แมลงประเภทต่างๆ ดินในสวนประเภทนี้จะไม่แห้งเลยเพราะมีเงาไม้คลุมตลอดเวลา รวมทั้งมีใบไม้ตกลงมาทับทบกันชั้นแล้วชั้นเล่า มีมดแมลงไส้เดือนช่วยย่อยสลายให้ใบไม้กลายเป็นดินอีกที เจ้าของก็มีความรู้ไม่ใช่แค่เรื่องต้นไม้เดี่ยวๆ แต่ละประเภทเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงความรู้เรื่อง "ความสัมพันธ์ระหว่างต้นไม้" ว่าต้องปลูกต้นนี้ใกล้กับต้นนั้น มันจึงจะเกื้อกูลกัน จะมีสัตว์ประเภทนี้มาอาศัย จะมีแมลงประเภทนั้นมาให้เก็บกินในฤดูนี้ ฯลฯ

    ส่วน CV ของศาสตราจารย์ในวิธีคิดแบบปลูกกินปลูกใช้นี้ ได้แก่สวนระดับบรมครูครับ

    สวนบรมครูทำให้เรานึกถึงคนปลูกต้นไม้ในหนังสือของ ฌ็อง ฌิโอโน (มูลนิธิโกมลคีมทองพิมพ์ให้เราอ่านเมื่อหลายปีก่อน) บรมครูเหล่านี้ปลูกต้นไม้ถึงขั้นที่เราไม่รู้เลยว่ามันเคยเป็นพื้นที่ว่างเปล่ามาก่อน เมื่อเข้าไปในสวนเราจะเข้าใจว่ากำลังอยู่ในป่า (ผมรู้สึกว่ามันเป็นป่ามากกว่าป่าจริงๆ ที่ได้ไปเดินสำรวจกับคณะตรวจไฟป่ามาเสียอีก) ป่าทึบที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมบูรณ์แบบมีสัตว์ใหญ่และแปลกตากว่าที่พบเห็นทั่วๆไป เช่นนกขนาดใหญ่ แมงมุมตัวยักษ์ ตั๊กแตนใบไม้กิ่งไม้ ตัวเงินตัวทองขนาดน้องๆ จระเข้ ฯลฯ บรมครูเหล่านี้ไม่เพียงมีความเข้าใจในเรื่องต้นไม้และป่าอย่างลึกซึ้ง แต่ยังเชื่อมโยงไปสู่ "สภาวะที่เหนือขึ้นไป" ซึ่งก็คือความยิ่งใหญ่ของธรรมชาตินั้นเอง (อย่างลืมว่าการ "รู้แจ้ง"ของอริยบุคคลทั้งหลายล้วนเกิดขึ้นในสภาวะที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติอันสมบูรณ์)

    คิดไปคิดมาก็คงเหมือนกับนักวิจัยและนักวิชาการทั้งหลายที่เริ่มแรกก็ล้มลุกคลุกคลาน ไต่มาถึงขั้นพอพึ่งตัวเองได้ แล้วก็ถึงขั้นเชี่ยวชาญในสาขาที่ตัวเองสังกัด แต่พอก้าวข้ามมาถึงระดับบรมครูแล้วย่อมเห็นถึงความเชื่อมโยงของเรื่องที่ตนเองเชี่ยวชาญกับเรื่องที่เป็นสภาวะธรรมชาติ จึงไม่แปลกที่เราจะมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องกล้วยไม้ที่เข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ เรามีหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาแต่ได้รับรางวัลแมกไซไซด้านบริการสังคม เพราะท่านเหล่านี้ก้าวข้ามขั้นของข้อจำกัดความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาสู่ขั้นหลอมรวมกับธรรมชาติแล้วนั้นเอง

คำสำคัญ (Tags): #ทุนทางสังคม
หมายเลขบันทึก: 96906เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2007 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับคุณ  สุธี

  • ผมชอบประโยคนี้มากครับ

การปลูกทุกอย่างที่กินใช้ และ กินใช้ทุกอย่างที่ปลูก 

ขอบคุณครับ

ขอให้รายละเอียดเกี่ยวกับรูปข้างบนหน่อยนะครับ ทุกรูปผมถ่ายเองกับมือ

รูปแรกคือสวนคุณเปี๊ยกแม้จะทำมาได้ไม่ถึงสองปี แต่ความตั้งใจและความมุ่งมั่นก็ทำให้คุณเปี๊ยกเป็นมือใหม่ในวงการที่น่าจับตามอง

รูปถัดมาคือสวนชั้นดีที่มีความทึบและร่มรื่น มันเจ๋งเสียจนกระทั่งว่าสามารถเอาชาวบ้านเข้าไปประชุมประจำปีเกี่ยวกับเรื่องการเกษตรได้เป็นร้อยๆ คน

 

อีกสองรูปถัดมาอยากจะให้เห็นถึงความหลากหลายของสัตว์ที่มีอยู่ในสวน

ผมเกิดมาก็เพิ่งเคยเจองูกินกบให้เห็นต่อหน้าต่อตาก็คราวนี้ล่ะครับ โชคดีที่วิ่งไปเอากล้องมาถ่ายได้ทัน

 รูปสุดท้ายคือสวนระดับ Master Yoda คือวนเกษตรของพ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมที่สนามชัยเขต ฉะเชิงเทราครับ ที่นี่คือ เมกกะแห่งเกษตรแบบพึ่งตัวเองครับ มองเผินๆ เหมือนปลูกบ้านอยู่ในป่า แต่หารู้ไม่ว่า กาลเวลายี่สิบกว่าปีกับความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ช่วยให้ผืนดินที่เสื่อมโทรมจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว กลายเป็นป่าทึบที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศเราครับ

 

มัทกับโบไปฝึกงานที่สนามชัยเขต แต่ไม่เคยได้เจอ พ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ตัวเป็นๆเลย มีแต่คนพูดถึง คนชี้ให้ดูบ้่าน ถ้ามีโอกาสอยากกลับไปจัง

ตอนนี้พ่อมัทก็ทำสวนอยู่ แต่ปลูกต้นที่จะกิน ไม้ผลทั้งนั้น เห็นสวน master yoda แล้วขอส่งบันทึกไปให้พ่ออ่านนะ

อินแปง ชื่อนี้อยู่ในความทรงจำตลอด เพราะตอนอยู่ประถมเคยไปอบรมที่นั้น สนุกมากค่ะ ได้ความรู้ ได้เพื่อน ได้ฝึกทักษะให้กลับตัวเอง อยากกลับไปอีกครั้ง แต่ไม่ได้ติดตามข่าวสารเลยค่ะ บ้านอยู่ อ. ภูพานค่ะ แต่ตอนนี้ทำงานที่ กทม คิดถึงทุกคนที่ อินแปงค่ะ

สวัสดี คุณหมอ แวะมาทักทายครับ คงจำกันได้นะ

และทักทายน้องจ๋อมที่เคยมาอินแปง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท