มันมีปัญหาครับ


Problem

เป็นคำง่ายๆที่ใครก็พูดกัน  และคนทั่วไปมักคิดว่า  “ปัญหา”  คือข้อขัดข้อง  หรือ  อุปสรรค  ที่ขวางกั้นไม่ให้ได้รับ  หรือประสบความสำเร็จในสิ่งหรือเรื่องนั้นๆ  ซึ่งที่จริงก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ 


พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  ๒๕๔๒  หน้า  ๖๘๗  ระบุว่า 
ปัญหา  น.  ข้อสงสัย,  ข้อขัดข้อง,  เช่น  ทำได้โดยไม่มีปัญหา,  คำถาม,  ข้อความควรถาม,  เช่น  ตอบปัญหา,  ข้อที่ต้องพิจารณาแก้ไข  เช่น  ปัญหาเฉพาะหน้า  ปัญหาทางการเมือง  (ป.)  ปัญหาโลกแตก  (ปาก) น.  ปัญหาที่หาข้อยุติไม่ได้.


แต่ในทางการพัฒนาท่านมักใช้คำว่า  ความตระหนักรับรู้ปัญหา  พูดยาวหน่อย  เขียนเป็นสมการดังนี้

(สภาพหรือสิ่งที่ต้องการ -  สภาพหรือสิ่งที่เป็นหรือมีอยู่ในปัจจุบัน ) x  ความตระหนัก  

หมายความว่า  สภาพความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ต้องการกับสิ่งที่มีอยู่  และเจ้าของปัญหาเห็น  หรือตระหนักว่าความแตกต่งนั้นเป็นปัญหาจำเป็นต้องแก้ไข  จะปล่อยทิ้งเอาไว้ต่อไปไม่ได้นั่นเอง 

ยกตัวอย่าง  เช่น  ในหมู่บ้านมีถนนทั้งหมด  ๗,๐๐๐  เมตร  มีสภาพเป็นถนนลูกรัง  ๕,๐๐๐  เมตร  เป็นถนนคอนกรีตเพียง  ๒,๐๐๐  เมตร  ต้องการให้ถนนในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตในปีต่อไป  ๔,๐๐๐  เมตร  จึงต้องทำถนนคอนกรีตเพิ่มในปีที่จะถึงนี้อีก  ๒,๐๐๐  เมตร  สภาพที่ต้องการถนนคอนกรีต  ๒,๐๐๐  เมตรนี้เองเป็น  “ปัญหา”  คือต้อง  “ตระหนักว่า”  เป็นสิ่งที่จำเป็น  ไม่ทำไม่ได้  หมู่บ้านจะได้มีฝุ่นน้อยลง  การเดินทางด้วยยานพาหนะต่างๆจะได้สะดวกขึ้นตลอดปี  เป็นต้น 

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งมีอยู่ว่า  ในหมู่บ้านมีจักรเย็บผ้าที่มีสภาพดีใช้การได้แต่เจ้าของตั้งประดับบ้านไว้เฉยๆ  ๘๗  คัน  คิดเป็นเงินค่าจักรเย็บผ้าประมาณ  ๒๐๐,๐๐๐  บาท  แต่ทุกบ้านไม่ได้รับผลตอบแทนอะไรเลย  จักรเย็บผ้าทั้ง  ๘๗  คัน  จึงเป็น  “ปัญหา”  การแก้ปัญหานี้  จำเป็นต้องเอาจักรเย็บผ้านี้มาใช้ผลิตให้เกิดประโยชน์ให้ได้  จึงทำการปรึกษาหารือกัน  เพื่อรวมกลุ่ม  จัดการฝึกอบรมทำหมอนอิง  หมอนที่ระลึกใส่ท้ายรถ  หมอนวางหนุนหลังประจำชุดรับแขก  เย็บที่นอน  เย็บผ้าเช็ดเท้า  เย็บถุงมือจับของร้อน  เย็บผ้านวม  ฯลฯ  ส่งร้านของหมู่บ้าน  และส่งขายทั่วไป  ถ้าทำได้ตามสมมุตินี้  ปัญหาเรื่องจักรเย็บผ้า  ๘๗  คันก็หมดปัญหาเรื่องการไม่ได้ใช้งาน  แต่อาจจะมีปัญหาอื่น  เช่น  ปัญหาเรื่องการบำรุงรักษาเกิดขึ้นอีกก็ได้  ซึ่งต้องคิดแก้ไขกันต่อไป


ปัญหาของมนุษย์มีอยู่ตลอดเวลาตามความต้องการของมนุษย์  ยิ่งมีความต้องการมาก  “ปัญหาก็ยิ่งมาก”  ตามไปด้วย  ในทางการพัฒนาท่านจึงแนะนำให้จัดลำดับความสำคัญของปัญหาดังนี้
๑.เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อคนส่วนมาก
๒.เป็นปัญหาที่มีความรุนแรง  /  เร่งด่วน
๓.เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ
๔.เป็นปัญหาที่เป็นสาเหตุของปัญหาอื่น
  

หมายเลขบันทึก: 96560เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2007 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท