คลื่นใต้น้ำ......สึนามิทางการเงิน


การตักน้ำใส่ตุ่มที่มีรูรั่วเล็กๆ เต็มไปหมด แม้ว่าเราจะเร่งตักเท่าใดน้ำก็คงจะเต็มตุ่มได้ยาก เอ...แล้วควรจะทำอย่างไรให้น้ำเต็มตุ่ม?
ระยะหลังเรามักได้ยินคำว่า "คลื่นใต้น้ำ" บ่อยๆ... แรกๆ ฟังดูก็น่าวิตกกังวลและน่ากลัวอยู่ไม่น้อย ไปๆ มาๆ คลื่นดูจะยังสงบราบเรียบ จนหลายคนเริ่มคลายความกังวล หรือแทบจะลืมไปแล้วด้วยว่า "คลื่นใต้น้ำ" อาจจะยังคงคุกรุ่นอยู่
ข้อมูลจากคลังความรู้ใน website ของราชบัณฑิตยสถาน (www.royin.go.th/th/knowledge) บัญญัติคำว่า "คลื่นใต้น้ำ" ไว้เพื่อให้ตรงกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า swell ซึ่งหมายถึง คลื่นในมหาสมุทรที่มีช่วงคลื่นยาวสม่ำเสมอและยอดเรียบ เคลื่อนตัวมาจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ไกลมาก คลื่นใต้น้ำเป็นคลื่นที่มองเห็นไม่ชัดเมื่ออยู่ในทะเลลึก แต่เมื่อเคลื่อนที่ถึงฝั่งจึงเป็นคลื่นขนาดใหญ่ ชาวเรือถือว่าเป็นสัญญาณบอกเหตุจะเกิดพายุ
ใครนึกไม่ออก ลองย้อนนึกถึงคลื่นยักษ์สึนามิดู ก็จะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีการใช้คำว่า "คลื่นใต้น้ำ" ในทางการเมืองบ่อยๆ ซึ่งใช้ในความหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีความเคลื่อนไหวจากสาเหตุที่ไม่เปิดเผย ที่ภายนอกดูเหมือนสงบเรียบร้อย และยังหมายถึงกลุ่มคนที่แอบเคลื่อนไหวเพื่อดำเนินการที่รุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นความหมายในทางภูมิศาสตร์หรือในทางการเมือง คำว่า "คลื่นใต้น้ำ" ก็ดูจะลงเอยน่าหวาดวิตกอยู่ไม่น้อย ทีนี้เราลองมาเปรียบเทียบ "คลื่นใต้น้ำ" กับเรื่องเงินๆ ทองๆ ดูบ้าง เพราะเราอาจกำลังประสบกับ "คลื่นใต้น้ำ" อยู่ก็เป็นได้
หลายคนอาจจะรู้สึกว่าชีวิตก็ดำเนินไปตามปกติ ราบเรียบ ไม่มีเหตุการณ์อะไรตื่นเต้น คนจำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยวางแผน ไม่ค่อยสังเกต ไม่สำรวจตรวจสอบสภาวการณ์ทางการเงินของตนเอง จึงไม่รู้สถานะทางการเงินที่แท้จริงของตนเอง
เงินหามาได้ ก็ใช้ไป หมดแล้วเดี๋ยวก็หาใหม่ได้ หลายคนไม่รู้ว่าเงินส่วนใหญ่หมดไปเพราะจ่ายค่าอะไร เพราะซื้ออะไร หลายคนไม่ค่อยใส่ใจการใช้จ่ายเงินจำนวนไม่มาก หยิบใช้ จ่ายไปอย่างรวดเร็ว เห็นปุ๊บ ซื้อปั๊บ อย่างเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ราคาประหยัด 199 บาท หรือข้าวของกระจุกกระจิก ตั้งแต่กิ๊บติดผม ตุ๊กตา กำไล ต่างหู กระเป๋าเครื่องสำอาง อุปกรณ์เสริมโทรศัพท์มือถือ ปากกา ดินสอ ยางลบ สารพัด ประเภท 19, 29, 39 หรือ 59 บาท
หลายคนซื้อเพราะราคาโดนใจ ทั้งที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ และหลายคนก็ลงเอยด้วยการไม่เคยได้ใช้ข้าวของเหล่านี้เลย ซึ่งเบี้ยหัวแตกเหล่านี้ เมื่อรวมๆ กันแล้วมักเป็นเงินก้อนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว.... ใครไม่เคยรวมตัวเลขดู แนะนำให้ทดลองดูค่ะ แล้วจะตกใจเพราะได้พบกับคลื่นใต้น้ำที่กำลังก่อตัวอย่างเงียบเชียบ คอยจะพรากเงินไปจากกระเป๋าเราอย่างไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัว
เงินจำนวนเล็กๆ น้อยๆ ที่จ่ายบ่อยๆ เหล่านี้อาจจะให้ประโยชน์กับเราได้บ้างในปัจจุบัน แต่หากเราจะสามารถเก็บรักษารวบรวมไว้ใช้ในอนาคต ประโยชน์ที่เกิดขึ้นอาจจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าทวีคูณ ทั้งจากจำนวนเงินที่รวมกันเป็นก้อนใหญ่ขึ้น และจากดอกผลที่งอกเงย พอกพูนขึ้น ซึ่งเงินก้อนนี้ อาจจะช่วยให้เราสามารถผ่านวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นได้ หลายคนขยันขันแข็ง มุ่งหาเงิน แต่หากลืมพิจารณาการเก็บเงิน ออมเงินไว้บ้าง บางทีการหาเงินได้เยอะแยะก็ไม่สามารถสร้างความมั่งคง หรือสร้างหลักประกันใดๆ ในชีวิตได้
ลองเทียบกับการตักน้ำใส่ตุ่ม หรือใส่กะละมังที่มีรูรั่วเล็กๆ เต็มไปหมด แม้ว่าเราจะเร่งตักเท่าใดน้ำก็คงจะเต็มตุ่ม เต็มกะละมังได้ยาก เอ...แล้วควรจะทำอย่างไรให้น้ำเต็มตุ่ม?
เราควรจะเร่งตักน้ำให้มากขึ้น ให้เร็วขึ้น หรือจะเริ่มจากการอุดรูรั่วของกะละมังก่อน? การเร่งตักน้ำ หรือทำงานให้หนักขึ้นเพื่อเร่งหาเงินโดยไม่สนใจจะอุดรูรั่วนั้น แม้ว่าจะหาเงินได้เต็มตุ่ม เต็มกะละมัง แต่เงินที่มี หรือที่หามาได้ก็จะเต็มตุ่มอยู่ได้ไม่นาน มันจะค่อยๆ รั่วไป ซึมไปตามรูรั่วเล็กๆ ที่มีอยู่เต็มไปหมด รูรั่วเล็กๆ เหล่านี้ มักจะเป็นค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูไม่น่าจะสร้างความเดือดร้อน เสียหายหรือสร้างประโยชน์ให้เราได้มากนัก จึงเหมือนคลื่นใต้น้ำที่ก่อตัวอยู่ใต้ท้องทะเลที่ดูสงบเรียบร้อยดี
แต่การสะสมความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ บ่อยๆ เข้าก็สร้างความเดือดร้อนครั้งใหญ่ๆ ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว การรู้วิธีดูลางบอกเหตุจึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญ
อย่างหลายคนมัวแต่ตั้งหน้า ตั้งตาหาปลา อยากจะได้ปลาให้เต็มลำเรือเร็วๆ ก็มุมานะหาวิธีจับปลาสารพัด สารพัน แม้จะจับปลาได้เต็มลำเรือ หากไม่รู้วิธีดูสัญญาณบอกเหตุว่าจะมีพายุมา ปลาที่มีอยู่เต็มลำเรือก็อาจจะหายไปในพริบตาได้อย่างน่าเสียดาย สัญญาณหรือลางบอกเหตุเป็นสิ่งที่สังเกตได้ การตรวจสอบ การสังเกตพฤติกรรมการใช้จ่าย การใช้ชีวิตในแต่ละวันแต่ละเดือนของเราเอง จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราสังเกตเห็นรูรั่วเล็กๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน การถามตัวเองถึงความจำเป็นในการใช้งานก่อนการตัดสินใจซื้อจะช่วยเราได้มาก
ความช่างสังเกตของชาวประมง หรือนักท่องเที่ยวที่รู้จักสัญญาณบอกเหตุอย่างเช่น การเห็นน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เขาเหล่านั้นมีเวลาในการหาทางรอด ใครที่ยังไม่เห็นรูรั่วหรือไม่ทันสังเกตการก่อตัวของคลื่นใต้น้ำในกระเป๋าสตางค์คงต้องเริ่มต้นอย่างเร่งด่วน

โชคดีที่คลื่นใต้น้ำหรือสึนามิทางการเงิน เราสามารถรับมือและป้องกันได้ง่ายกว่าสึนามิในมหาสมุทรหรือคลื่นใต้น้ำทางการเมืองที่จะสร้างความเดือดร้อนเสียหาย ความสูญเสียต่อคนหมู่มาก เริ่มต้นสังเกตและเร่งจัดการสลายคลื่นใต้น้ำทางการเงินก่อนที่มันจะกลายเป็นสึนามิเข้ามาถึงฝั่งแล้วจะสายเกินแก้นะคะ และ "ปมาโท มจฺจุโน ปทํ ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย"

ที่มา : http://www.msnth.com/msn/money2/psaving_index.aspx

 
คำสำคัญ (Tags): #การออม
หมายเลขบันทึก: 96520เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2007 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท