ฟ้าผ่า มหันตภัยฤดูฝน (1)


ฟ้าผ่า

ฟ้าผ่า มหันตภัยฤดูฝน 



ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว มนุษย์ก็ได้รับรู้ปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ และพยายามทำความเข้าใจ หาคำอธิบายถึงที่มาของปรากฏการณ์เหล่านี้





ปรากฏการณ์ที่น่ากลัวที่สุดอย่างหนึ่งในธรรมชาติ ก็คงจะเป็นฟ้าผ่าด้วยพลังอันมหาศาล แม้จะทำลายมนุษย์ได้เพียงทีละคน แต่ความตรึงตาตรึงใจในความน่าสพรึงกลัว ก็ไม่แพ้ปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างอื่น มนุษย์เราจึงมีตำนานเทพที่เป็นเจ้าแห่งฟ้าผ่า หรือมีสายฟ้าเป็นอาวุธ ปรากฏมาแต่เมื่อเริ่มมีการบันทึกทางประวัติศาสตร์ หลักฐานเก่าแก่ที่สุด เป็นของชาว Akkadian (ประมาณ ๒๒๐๐ ปีก่อนคริสตศักราช) เป็นแผ่นตราเทพธิดา Zarpenik ในมือถือสายฟ้าเป็นอาวุธ ประทับทรงอสูรกริฟฟอน และสมัยต่อมา ชาวเอเชียกลางก็มีเทพที่ใช้สายฟ้าเป็นอาวุธต่อเนื่องมาไม่ขาด เทพแห่งดินฟ้าอากาศ Teshub ของชาวฮิตไตต์ ในสมัย ๙๐๐ ปีก่อน ค.ศ. ก็ถือสามง่ามสายฟ้าเป็นอาวุธ และต่อมา ชาวกรีกก็รับช่วงให้เทพผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ซีอุส (ดังภาพบน) ถือสายฟ้าเป็นอาวุธเช่นกัน


และในทางตะวันออก ชาวจีนก็มี เทพธิดาเถียนหมู่ เป็นเทพแห่งสายฟ้า พระนางถือกระจกสองบานใช้เป็นที่ส่งสายฟ้าลงมายังพื้นโลก โดยมี หลี่ซู เป็นเทพแห่งฟ้าร้องและมี หลี่กุง แบกกลองเป็นผู้ช่วย





(ภาพ ค้อนของธอร์ ที่ทำเป็นจี้สายสร้อย ใช้ห้อยคอเป็นเครื่องรางของชาวไวกิ้ง)





ในยุโรปภาคเหนือ พวก นอร์สแมน หรือชาวนอร์เวย์โบราณที่เรารู้จักกันว่า พวกไวกิ้ง ก็มีเทพสูงสุดคือ ธอร์ ซึ่งเป็นเทพแห่งสายฟ้า โดยมีความเชื่อว่า ธอร์ มีขวานวิเศษที่เมื่อตีกระทบทั่ง ก็จะเกิดสายฟ้าขึ้นมา เครื่องรางที่ขลังที่สุดของชาวนอร์คือ ค้อนของธอร์ ที่มักจะทำเป็นเครื่องรางห้อยคอกัน


อริสโตเติล(๓๘๔-๓๒๒ ก่อน ค.ศ.)ปราชญ์คนสำคัญชาวกรีก เป็นผู้พยายามให้คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์กับปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นครั้งแรก ในศตวรรษที่ ๔ ก่อนคริสตวรรษ โดยเขียนหนังสือ Meteorologica ซึ่งเป็นหนังสือ ๔ ชุด ชุดแรกอธิบายเรื่องของดาวหาง ลม ฝน เมฆ แม่น้ำ ลำธาร น้ำค้าง ลูกเห็บ และอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งทฤษฎีเรื่อง ดิน น้ำ ลม ไฟ ชุดที่สอง อธิบายเรื่องทะเล แผ่นดินไหว ฟ้าผ่า และฟ้าร้อง ชุดที่สาม เป็นเรื่องพายุเฮอริเคน วังวน และเรื่องแสง ส่วนเล่มสุดท้าย อธิบายถึงคุณสมบัติของสิ่งที่ร้อน หนาว แห้ง และเปียก




คำว่าบรรยากาศ atmosphere ก็เป็นคำที่มาจากภาษากรีก โดยคำว่า atmos แปลว่า ไอน้ำ atmosphere จึงแปลว่า ดินแดนของไอน้ำ แต่วิธีการให้คำอธิบายของอริสโตเติล ก็ได้มาจากการคาดเดา การประเมินเอาเองทั้งสิ้น ไม่ได้อาศัยการทดลอง สำรวจ บันทึก ดังที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันกระทำกัน ความเข้าใจของอริสโตเติลส่วนใหญ่ จึงเป็นอัตตวิสัย ที่ได้ถูกนักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อมาหักล้างไปมากแล้ว




แต่ความเชื่อแบบอริสโตเติล ก็เป็นรากฐานสำคัญทางความคิดในยุโรปก่อนที่จะเกิดวิทยาศาสตร์ปัจจุบันขึ้นมา ในยุคกลางของยุโรป เชื่อกันว่าฟ้าผ่า ฟ้าร้อง เกิดจากภูติผีชั่วร้าย ที่จะกำจัดได้ก็ด้วยเสียงระฆังโบสถ์ คราใดที่มีพายุฟ้าคะนอง พนักงานโบสถ์ก็จะไปดึงเชือกสั่นลั่นระฆังดังก้อง เพื่อไล่วิญญาณร้ายไม่ให้มากล้ำกรายชาวบ้านเมือง ระฆังโบสถ์มักจะสลักคำละตินว่า Fulgura Frango ซึ่งแปลว่า "ข้าจะทำให้สายฟ้าสลายตัว"




(ภาพวาดรูประฆังโบสถ์ บรรทัดสุดท้าย เป็นคำว่า Fulgura Frango)





แต่ความที่โบสถ์คริสต์ มักจะมีหลังคาทรงสูงกว่าบ้านเรือนทั่วไป และยังมีไม้กางเขนตั้งเด่นเป็นสง่าบนยอดสูงสุดเสียด้วย จึงกลับเป็นที่ดึงดูดให้โดนฟ้าผ่ายิ่งกว่าสถานก่อสร้างอื่นใด จึงมักจะเป็นแห่งแรกในเมืองที่โดนฟ้าผ่าเสียหาย อาชีพสั่นระฆังโบสถ์จึงมีความเสี่ยงตายสูงมาก เมื่อมีการจดบันทึกทำสถิติ ปรากฏว่า ระหว่างปี ค.ศ. ๑๗๕๓ ถึง ปี ๑๗๘๖ เป็นเวลา ๓๓ ปี ในประเทศฝรั่งเศส โบสต์คริสต์ถูกฟ้าผ่า ๓๘๖ โบสถ์ พนักงานลั่นระฆัง ถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตไป ๑๐๓ คน ในปี ค.ศ. ๑๗๘๖ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงสั่งให้เลิกธรรมเนียมปฏิบัติที่มีการลั่นระฆังในเวลาฟ้าคะนอง





และในคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ชาวยุโรปก็มักจะนำดินปืนไปไว้ในห้องเก็บของของวัด คงเพราะเป็นที่เดียวในเมืองที่มีห้องเก็บของนิรภัย แต่ก็ปรากฏว่า เมื่อโบสถ์ถูกฟ้าผ่า ดินปืนก็ยิ่งก่อความเสียหายร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก ในปี ค.ศ. ๑๗๖๙ เกิดฟ้าผ่าที่โบสถ์วิหาร St. Nazaire ใน Brescia ประเทศอิตาลี ซึ่งชาวเมืองได้เก็บดินปืนไว้ในห้องนิรภัยของโบสถ์เป็นจำนวนหลายตัน เกิดระเบิดเพลิงไหม้ทั้งเมืองเสียหายไปถึงหนึ่งในหกของอาคารบ้านเรือน มีผู้เสียชีวิตถึงสามพันกว่าคน จนแม้มาถึงปี ค.ศ. ๑๘๕๖ ก็ยังมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก เมื่อฟ้าผ่าโบสถ์ St. Jean ที่ Island of Rhodes มีผู้เสียชีวิตถึงสี่พันคน


เบนจามิน แฟรงคลิน ได้ทำการทดลองไฟฟ้าอันเลื่องชื่อเมื่อปี ค.ศ. ๑๗๕๒ โดยชักว่าวที่ผูกกุญแจโลหะ เพื่อพิสูจน์ว่า ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ทางไฟฟ้า ซึ่งท่านได้ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับปรากฏการณ์ฟ้าผ่าว่าเกิดจากกระแสไฟฟ้า แฟรงคลินได้ให้ความสนใจศึกษาเรื่องไฟฟ้า และฟ้าผ่า ที่สำคัญคือวิธีป้องกันความเสียหายของทรัพย์สินจากฟ้าผ่า ด้วยการตั้งสายล่อฟ้าบนหลังคา ที่คนเรียกกันติดปากว่า Franklin's Rod ก็เริ่มมีคนนำมาใช้กัน



(การทดลองของ เบนจามิน แฟรงคลิน โดย Dave Joly แห่ง National Geographic Society)




แฟรงคลินมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยี หลายๆอย่างก็วัดไม่ได้ต้องใช้สมมติฐานเอา บางสมมติฐานก็ผิด เช่น แฟรงคลิน ไม่ได้เข้าใจถึงอันตรายที่แท้จริงของการทดลองของท่าน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาสายล่อฟ้า โชคดีที่ตัวท่านเองไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด จากการทดลองเสี่ยงตายหลายครั้ง ในขณะที่ นักวิทยาศาสตร์คนอื่นในยุโรปที่เอาวิธีไปใช้ในภายหลัง มิได้โชคดีเช่นนั้น ชาวรัสเซียชื่อ G.W. Richmann ได้เลียนแบบการทดลองห้องล่อฟ้าที่เรียกว่า sentry box ที่มีเสาโลหะสูงๆขึ้นไปล่อฟ้าผ่า เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ของปี ค.ศ. ๑๗๕๒ สายฟ้าฟาดอุปกรณ์ที่ไม่ได้ต่อสายลงดิน ในอพาร์ตเม้นต์ของเขาที่กรุงเซ้นต์ปีเต้อร์สเบิร์ก ยังผลให้ ริชมานสิ้นใจในทันที





ทั้งๆที่มีตัวอย่างพิสูจน์ให้เห็นว่า อาคารที่ติดตั้งเสาล่อฟ้าของแฟรงคลิน รอดพ้นจากฟ้าผ่า ในขณะที่อาคารใกล้เคียง ที่แม้จะต่ำกว่า ก็ยังโดนฟ้าผ่า แต่คนก็ยังไม่ยอมรับกันมาก เพราะการติดตั้งสายล่อฟ้าดูเหมือนเป็นการลบหลู่พระเจ้า คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าการติดตั้งสายล่อฟ้า เท่ากับเป็นการแสดงว่า ไม่เชื่อในความปรานีของพระผู้เป็นเจ้า ว่าจะทรงปกป้องผู้กระทำความดี และมีแต่จะลงโทษผู้ทำความชั่ว แต่โบสถ์แล้วโบสถ์เล่าต้องกลายเป็นเถ้าถ่านไป ระหว่างปี ค.ศ. ๑๓๘๘ ถึงปี ๑๗๖๒ โบสถ์ Campanile แห่ง San Marcos ในเมืองเวนิซ ถูกฟ้าผ่าและไฟไหม้ชนิดไม่เหลือซากถึงเก้าครั้ง ในปี ค.ศ. ๑๗๖๖ ก็ได้มีการติดตั้งสายล่อฟ้าของแฟรงคลิน และก็ไม่เกิดฟ้าผ่าโบสถ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

คำสำคัญ (Tags): #ฟ้าผ่า
หมายเลขบันทึก: 95537เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2007 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท