ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์


นักคิดนักเขียนติดดินผู้ยิ่งใหญ่

    

          ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2483  เป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด  จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา   จบปริญญาตรีและโท สาขา
ประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเป็นอาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนไปศึกษาต่อปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา และกลับมาเป็นอาจารย์ที่เดิม  จนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ และเข้าโครงการลาเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดใน พ.ศ. 2543

         หลังจากสิ้นภาระการสอนในระบบมหาวิทยาลัยปกติ   ปัจจุบัน  อ.นิธิ  ยังคงเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแสดงความคิดสู่สังคมผ่านมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งได้บุกเบิกมาก่อนหน้านี้แล้ว และผ่านรูปแบบบทความทางหนังสือพิมพ์ นิตยสารอยู่เป็นประจำ

          อ.นิธิ  ได้เริ่มเขียนหนังสือและบทความตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมาเขียนอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2519   จนถึงปัจจุบัน มีผลงานกว่า 2,000   ชิ้น และได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือหลายสิบเล่ม เช่น ปากไก่และใบเรือ (2527)  กรุงแตก พระเจ้าตากและประวัติศาสตร์ไทย (2538)  โขน-คาราบาว-น้ำเน่าและหนังไทยว่าด้วยเพลง-ภาษาและนานามหรสพ (2538)  ชาติไทย-เมืองไทย,แบบเรียนและอนุสาวรีย์ (2538)  ผ้าขาวม้า-ผ้าซิ่น-กางเกงใน (2539)   ลัทธิเสด็จพ่อร.5 (2545) ฯลฯ 

          นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่เด่น ๆ อีกมากมาย เช่นประวัติศาสตร์ รัตนโกสินทร์ในราชพงศาวดาร อยุธยา (2521)  การเมืองในสมัยพระนารายณ์ (2522)  สุนทรภู่มหากวีกระฎุมพี (2524)  การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (2529)
ผลงานของ อ. นิธิ  ตลอดกว่า  3  ทศวรรษ   มากมายไปด้วยเรื่องความไม่เข้าใจของคนในสังคมที่แบ่งชั้น วรรณะ การเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งอาจารย์พยายามสะท้อนและชี้ออกมาอย่างกระจ่างแจ้งและเป็นธรรม 

         ต่อมา   อ.นิธิ  ได้รับรางวัล "ศรีบูรพา" ประจำปี   2545
โดย คุณสุวัฒน์  วรดิลก  ประธานคณะกรรมการกองทุน กล่าวยกย่องว่า
         "ความสำคัญของศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์  คือ การใช้ปากกา และความเป็นนักเขียน และนักวิชาการ มาชี้ให้เห็นความสำคัญของสามัญชน โดยย้ำว่า สามัญชนคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริงทั้งในประวัติศาสตร์ และในปัจจุบัน
         ด้วยความเชื่อนี้จึงได้ร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้งสมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน   และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน รวมทั้งสำนักข่าวประชาธรรม  เพื่อสนับสนุนสร้างความเข็มแข็งและเป็นปากเป็นเสียงให้กับสามัญชน หรือคนยากจนทั่วประเทศ ซึ่งถูกโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันของสังคม ปิดกั้นโอกาสด้านการศึกษา การรับ
รู้ข่าวสาร และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกับอภิสิทธิ์ชน
          ผลงานเหล่านี้จึงเป็นการพิสูจน์ความเชื่อในข้อเขียนของท่านในการเสริมบทบาทสามัญชน ให้เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริงในวันนี้สำหรับประชาชนในวันข้างหน้าได้ศึกษา" 

         อ.นิธิพูดถึงความรู้สึกกับรางวัลนี้ว่า "จริง ๆ แล้วผมต้องพูดเลยว่าผมภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิตเลยเพราะว่าชื่อของรางวัลคือ ศรีบูรพา การที่เป็นนักเขียนแล้วได้รับรางวัลในชื่อของศรีบูรพา เป็นเกียรติที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ เลย"  
 

สำหรับผู้เขียนไม่รู้จัก อ. นิธิ  เป็นการส่วนตัว  แต่รู้จัก อ.นิธิ  ผ่านบทความทั้งจากหนังสือพิมพ์รายวัน  รายสัปดาห์  Pocket Book  เวทีเสวนาต่างๆ  มานานนับสิบปี  ผู้เขียนติดตามผลงานของ  อ.นิธิ  อย่างสม่ำเสมอ  และยังได้ติดตาม อ.นิธิ  ไปในเวทีเสวนาสัมมนาต่างๆ  ตามแต่วาระและโอกาสจะอำนวยแต่ทุกครั้งที่ได้ฟัง อ.นิธิ  พูดในเวทีต่างๆ   จะรู้สึกอิ่มเอมใจ เสมือนน้ำที่รดปัญญาของผู้เขียนให้งอกงามขึ้นทุกครั้งไป    
         
อ.นิธิ  มีความเชี่ยวชาญและรอบรู้อย่างลึกซึ้งในหลายศาสตร์  ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา  ประวัติศาสตร์  รัฐศาสตร์  ศิลปวัฒนธรรม  สื่อสารมวลชน  สังคมวิทยา  มานุษยวิทยา  งานเขียนของ  อ.นิธิ   ทันสมัย  ลึกซึ้ง  ผ่านการสังเคราะห์มาเป็นอย่างดี   ซึ่งล้วนให้มุมมองของสังคมไทยตามความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป 
         
งานเขียนของ อ.นิธิ  อ่านสนุก  เพลิดเพลิน  และที่สำคัญทำให้ได้คิด  คิดในสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนได้  แม้จะเป็นเรื่องง่ายๆ  อ่านแล้วเกิดปัญญา ช่วยทำให้ปัญญาเท่าหางอึ่งของผู้เขียนยาวเพิ่มขึ้นมาได้บ้าง
         
นอกจากผู้เขียนจะชื่นชอบยกย่องมุมมองความคิด  การวิเคราะห์สังคมวัฒนธรรมของไทยที่เป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา  และอยู่กับความเป็นปัจจุบันแล้ว   ผู้เขียนยังชื่นชมความเป็นนักวิชาการติดดิน  เรียบง่าย  สมถะ  ไม่มีพิธีรีตอง
         
อ.นิธิ  จึงเป็นนักคิดนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ในใจของผู้เขียนตลอดมา

อ้างอิง
http://www.becnews.com/backissue/f_famous/niti_a.html
http://www.geocities.com/mnu2544/newpage8.html

หญิง  สคส.

หมายเลขบันทึก: 95248เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2007 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยครับ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปการศึกษา

เห็นด้วยค่ะ เคยเรียนกับอาจารย์นิธิ แม้ว่าเราแสดงความคิดเห็นสตึ ไม่ได้เรื่อง แต่อาจารย์ไม่เคยตำหนิหรือว่าเราโง่เลยค่ะ

มีความเป็นครู จิตวิญญาณครูสูงมาก โชคดีค่ะที่ได้มีโอกาสเรียนประวัติศาสตร์กับอาจารย์นิธิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท