ประชุมพัฒนาโครงการฯพื้นที่ดำเนินการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ จ.นครศรีฯ


วันศุกร์ที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม "ผู้แทนคณะทำงานสวัสดิการชุมชนภาคใต้" จัดขึ้นที่สถานีอนามัยควนสวรรค์ ต.นาแว อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช  เพี่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนที่ชุมชนเป็นแกนหลัก จัดโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ วันนี้ชาวบ้านมาประชุมกันคับคั่งเต็มห้องประชุมอนามัยเลยก็ว่าได้ บรรยากาศช่วงเช้าฝนตกพอประมาณเป็นอุปสรรคการเดินทางนิดหน่อย ทำให้กว่าจะเดินทางไปถึงและเริ่มการประชุมก็สายเล็กน้อย เมื่อไปถึงแล้วก็เริ่มการประชุมกันทันที เริ่มต้นการประชุมด้วยประเด็นความเข้าใจของชาวบ้านที่มาร่วมการประชุมวันนั้น ณ ปัจจุบันแม้ว่าจะผ่านการทำงานกลุ่มมากันบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีความเข้าใจในความหมายที่แตกต่างออกไป บ้างว่า

 สวัสดิการสังคมคือ

-ภูมิคุ้มกัน/หลักประกันในทุกกรณี ซึ่งจะต้องมีความเทียมกัน

- คือการช่วยเหลือ เด็ก ผู้ด้อยโอกาส คนชรา คนพิการ

- คือการช่วยเหลือกัน สามารถพึ่งตนเองได้ ได้จากการรวมทุนกันในชุมชน

-คือตัวเติมเต็มสิ่งที่ยังขาดแคลนเช่น ปัจจัย 4

 

ซึ่งความหมายของคำว่าสวัสดิการสังคม(จากเอกสารประกอบการประชุมการขับเคลื่อนงานสวัสดิการสังคมของ พม. โดยสนง.คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ สนง.ปลัดกระทรวง พม.)หมายความว่า ระบบจัดบริการทางสังคม เกี่ยวกับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนาและการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม ตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน มีคุณภาพชีวิตและพึ่งตนเองได้ทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรมตามมาตรฐาน ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรมและบริการทางสังคมทั่วไป โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนต้องได้รับ และมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ

 

โดยผู้รับสวัสดิการจะต้องมีการรวมทุน มีการสร้างการออม มีการช่วยเหลือกัน(ข้อนี้ต้องให้ความสำคัญมาก เพราะผลสำเร็จไม่ได้หมายถึงจำนวนเงินเพียงอย่างเดียว) และพึ่งตนเองได้ แทนที่จะมอบให้เป็นภาระของรัฐแต่เพียงผู้เดียว

 ซึ่งการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการตำบลจะต้องมีกฎเกณฑ์ดังนี้

1.เป็นกองทุนที่มาจาก 2 หมู่บ้านขึ้นไป

2.ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน

3.ต้องมีพื้นฐานมาจากองค์กรการเงินชุมชน

4.มีคณะกรรมการกองทุนที่มาจากหลายหมู่บ้าน

5.มีการสมทบ และให้การสนับสนุนจากอบต.

6.ต้องตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

ภายใต้หลักการสำคัญของการจัดสวัสดิการชุมชนก็คือ

1.การจัดสวัสดิการชุมชนต้องมีความสอดคล้องกันในแต่ละพื้นที่ ลอกเลียนกันไม่ได้

2.การเริ่มต้นนั้นต้องค่อยเป็นค่อยไป คนในชุมชนต้องทำใจและมีความพร้อม รู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

3.ควรใช้เงินเป็นเครื่องมือไม่ใช่เป้าหมาย โดยใช้เงินเป็นเครื่องมือให้คนอยากทำความดี สร้างความคิดในการช่วยเหลือกันและกัน

4.การจัดสวัสดิการต้องช่วยเหลือแบบไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกในชุมชน โดยการสร้างข้อตกลงร่วมกัน ผ่านกฎระเบียบ กติกา

5.กิจกรรมทุกอย่างสามารถก่อให้เกิดสวัสดิการชุมชนได้อย่างเป็นองค์รวม

6.การจัดสวัสดิการต้องทำให้เกิดระบบการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ

7.การจัดสวัสดิการชุมชนต้องทำด้วยความรัก อดทนและเสียสละ

 ซึ่งในช่วงบ่ายก็ได้มีการนำเสนอตัวอย่างตำบลที่ได้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการตำบลไปแล้วหลายตำบลมีที่ไปที่มาที่น่าสนใจมากๆ จะเอามาเล่าให้ฟังในวันพรุ่งนี้ละกันนะคะ
คำสำคัญ (Tags): #สาระการประชุม
หมายเลขบันทึก: 95016เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2007 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท