บทถอดความ ต่อกร กฎระเบียบด้วย การบริโภคความน่ารัก ตอน 1


งานนำเสนอ ถอดความวาทกรรม และภาพสะท้อนทางวัฒนธรรม การแต่งตัวด้วยการบริโภคความน่ารักในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

ต่อกร กฎระเบียบด้วย การบริโภคความน่ารัก

ไบรอัน เจ. แมคไว Brain J. McVeighถอดความจาก Brain J. McVeigh (2000) “Countering the Official Code by “Consuming Cuteness” ” in Wearing Ideology: State, Schooling and Self-Presentation in Japan, Berg: Oxford, pp.157-181.
เรียบเรียงโดย เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ
 


การบริโภคเชิงทัดทาน

<p>
      ไบรอัน สนใจศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของคนญี่ปุ่น เฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงทศวรรษ 1960 อันเป็นสมัยที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังถีบตัวสูง </p>
<p>      แทนที่ผู้เขียนจะสนใจพฤติกรรมการบริโภคทั่วๆ ไป เขากลับสนใจบุคลิกลักษณะที่โดดเด่นของคนญี่ปุ่นประการหนึ่ง นั่นคือความน่ารัก</p><p>
      ความน่ารักในวัฒนธรรมญี่ปุ่น มิใช่เป็นเพียงเสน่ห์ธรรมดาๆ อย่างที่เราเข้าใจ หากความน่ารักยังเป็นทางออกหรือการต่อกรที่เหนือชั้นกับบุคลิกภาพที่เป็นทางการ       ที่เรียกว่า เหนือชั้นก็เพราะประสิทธิภาพในการฝืนของมัน นั่นคือ ความน่ารักเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความขัดขืนซ่อนเร้นอย่างหนึ่ง เป็นรูปแบบของพฤติกรรมการบริโภคที่ต้านทานการบริโภคกระแสหลัก ท้าทายหลักการแห่งความเป็นเอกภาพ ล้อเลียนแบบแผนมาตรฐาน ปฏิเสธภาพลวงของประชามติหนึ่งเดียวโดยปราศจากการใช้ความรุนแรง </p>
<p>
      เป็นการประท้วงที่ดูเหมือนไร้พิษสง แต่ก็ทรงประสิทธิภาพ เพราะเป็นเสมือนการดื้อเงียบ ปฏิเสธด้วยรอยยิ้มที่ใครๆ ก็ชอบและนิยมจนยอมรับ       “การบริโภคเชิงทัดทาน” (resistance consumption) คือคำสำคัญของบทนี้ หมายถึงพฤติกรรมการบริโภคที่มีเป้าหมายเพื่อปะทะกับระเบียบแบบแผนการบริโภคที่เป็นทางการ ซึ่งทรงพลังครอบงำวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การจับจ่ายใช้สอย การซื้อเสื้อผ้าสวมใส่ การจัดแสดงสินค้า การมอบสิ่งของให้กันและกัน รวมทั้งการค้าและการแลกเปลี่ยน</p>
<p> </p>


      การบริโภคแบบนี้ มิได้หมายถึงการลุกฮือขึ้นประท้วงอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีการจัดตั้งและเจตจำนงที่ชัดเจน ทั้งยังไม่ได้ท้าทายอย่างตรงไปตรงมา หากแหย่เล่น ไม่ได้เยาะเย้ย แต่ก็เหน็บพอขำขัน ไม่ได้สำทับ แต่ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่พยายามโค่นล้ม แต่ก็ขึ้นมาแทนที่ไปเสียฉิบ       และแม้จะไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่ก็เอาเรื่องใช่ย่อย ความน่ารักไม่ใช่ตัวบ่อนทำลาย แต่ก็เบนความสนใจไปจากแบบแผนหลักที่ได้ผล 

</span><p>
      การบริโภคเชิงทัดทานไม่ได้ชวนปฏิวัติ แต่ก็หนุนการมีส่วนร่วมประท้วงอย่างสุขสันต์ พฤติกรรมที่เกี่ยวโยงกับการบริโภคความน่ารักจึงไม่ใช่การชนกับรัฐ สถาบันหรือองค์กรใดๆ อย่างประเจิดประเจ้อ และก็ไม่มี แถลงการณ์ทางการเมือง” (political statements) ใดๆ ด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างอำนาจไม่ใช่เป้าหมายโดยตรง       ผู้บริโภคที่ปรารถนาการบริโภคแบบนี้จะอุทิศตัว ยอมรับสภาพชีวิตแบบนี้ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อสั่งสมทุนเอาไว้สำหรับบริโภคต่อๆ ไปนั่นเอง </p>
<p></p>


      แล้วทำไม สังคมญี่ปุ่นจึงปลดปล่อยความตึงเครียดออกมาลักษณะนี้

</span><p>
      เป็นที่ทราบกันดีว่า สังคมญี่ปุ่นนั้นมาจากสังคมศักดินาที่ให้ความสำคัญกับลำดับชั้นและต้นสังกัดของปัจเจกบุคคล ทั้งในระดับโรงเรียน สถานที่ทำงาน บริษัท หรือสัญชาติ การแสดงต้นสังกัดของบุคคล ไม่ว่าจะยุ่งยากสลับซับซ้อนหลายสังกัดแค่ไหนก็ถือเป็นสิ่งที่ควรเปิดเผย ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ขณะเดียวกัน จารีตทำนองนี้ก็บีบรัดปัจเจกให้ฝืนยอมรับมิใช่น้อย </p>
<p>
      ถึงแม้สังคมญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับการแนะนำตัว แต่จารีตหรือค่านิยมเช่นนี้กลับไม่เปิดโอกาสให้บุคคลประพฤติตนนอกลู่นอกทาง ทำตัวไร้เดียงสา หรือโดดเด่นจนออกนอกหน้า ผลก็คือ ปัจเจกบุคคลอาจดูดซับเอาสาระของอุดมการณ์ที่ว่านี้เข้าไป ขณะเดียวกัน พวกเขาก็จัดสรรสาระข้างต้นอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อต่อรองกับเป้าประสงค์จากชนชั้นสูงดังกล่าว</p>
<p>
      “การทำตัวเด่นและการกล้าแสดงออกต่างได้รับการสนับสนุนในนัยยะนี้</p>
<p>
      วัยรุ่นสาวบางคนถึงกับเปรยว่า แฟชั่นไม่ใช่เรื่องทำตัวให้ดูดีเพื่อให้ผู้อื่นพอใจ แต่แต่งตัวเพื่อตัวฉันเอง เพื่อให้ฉันรู้สึกดี ออกมาดูดี เพื่อนๆ ยอมรับนับถือ” </p>
<p>
      บทความชิ้นนี้จึงกล่าวถึง ความน่ารักผ่านตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นลักษณะการบริโภคเชิงทัดทานมากมาย ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ </p>
<p>
      1.ความน่ารักได้แพร่กระจายไปทั่วทุกหัวระแหงของวัฒนธรรมตลาดจนก่อตัวเป็นรูปลักษณ์เด่นชัดสำหรับให้บุคคลใช้แสดงตัวตน </p>
<p>
      2.ความน่ารัก สุนทรียะประจำวันอันดาษดื่น และสาระอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เหล่านี้ล้วนสะท้อนภาพตรงข้ามของอุดมการณ์ที่เป็นทางการจากฟากรัฐ และการผลิตแบบทุนนิยม นั่นคือ ความน่ารักก็ดี การพักผ่อนในยามว่างก็ดี คืออีกด้านของความเอาจริงเอาจัง หรือแรงงาน การแสดงความน่ารักออกมาเท่ากับการประกาศว่ามีพื้นที่ภายนอกกฎระเบียบของการงานอยู่ ซึ่งถูกใช้เป็นเสมือนพื้นที่แสดง ความชอบส่วนตัว” (self-likeness หรือ jibun-rashisa) </p>
<p>
      3.ถึงแม้ดูเหมือนความน่ารักจะปรากฏสวนทางกับระบบระเบียบของวิถีทุนการผลิต แต่ในระดับลึกลงไป ความน่ารักกลับเป็นตัวอย่างการเชื่อมต่อขั้นพื้นฐานระหว่างทุนนิยมแบบผู้ผลิตกับทุนนิยมแบบผู้บริโภค ซึ่งต่างก็ดำรงอยู่ได้ด้วยการมีอยู่ของกันและกัน </p>
<p>
      นัยยะของเหตุผลข้อสุดท้ายนี้หมายถึง การบริโภคแยกไม่ออกจาก การผลิตการงานกับการเล่นก็เช่นกัน เวลางานกับชั่วโมงพักผ่อนจึงซ้อนทับกันอยู่บนช่วงเวลาเดียวกัน


สไตล์ที่ขัดแย้งกันของสุนทรียะ-จริยธรรม</p>
<p>
      คำถามสำคัญในส่วนนี้คือ ทุนนิยมแบบผู้ผลิตกับแบบผู้บริโภคถูกแสดงออกผ่านสไตล์ของตนอย่างไรบ้าง      ไบรอันตระหนักว่าคำถามข้างต้นตอบยาก แต่เขาก็ยังพยายามตอบโดยเริ่มจากการแบ่งหัวข้อพิจารณาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือความเป็นเอกภาพ (uniformity) หรือ อุดมการณ์ที่เป็นทางการของการผลิตแบบทุนนิยม (“official ideology” of capitalist production) อีกส่วนคือการปราศจากเอกภาพ (non-uniformity) หรือ อุดมการณ์ที่ไม่เป็นทางการของการบริโภคที่นิยมกันทั่วๆ ไป (“antiofficial ideology” of popular consumption)</p>
<p>
      และดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น คำว่า ต้าน” (anti) ในบริบทนี้ ไบรอันมิได้หมายถึงการต่อต้านโดยตรง จัดเตรียมมา หรือว่ามีจุดประสงค์ หากเขาตีกรอบนัยยะให้หมายเพียงการต่อต้านโดยอ้อม ต้านโดยไม่มีการตระเตรียมไว้ล่วงหน้ามาก่อน และก็ยังเป็นการต้านที่ปราศจากเป้าหมายด้วย</p>
<p>
      ความต่างสำคัญระหว่างอุดมการณ์ทั้งสองคือ อุดมการณ์แรกได้ครอบครองสิทธิในการนิยาม พร้อมๆ กับกลยุทธ์สารพัด ขณะที่อุดมการณ์อย่างหลังกลับไม่ค่อยสนใจแสวงหาเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่ถูกกำหนดโดยศูนย์กลางอำนาจเท่าใดนัก      อย่างไรก็ดี มิติทางจริยธรรมในความหมายของไบรอัน อุดมการณ์ทั้งสองต่างก็ยังต้องอิงพึ่งพิงกันและกัน หากไม่มีการบริโภค การผลิตก็ไร้ความหมาย และหากปราศจากการผลิต การบริโภคก็บังเกิดขึ้นไม่ได้ </p>
<p>
      การบริโภคความน่ารักจึงเป็นตัวขับเคลื่อนพลังการผลิตที่คอยผลิตสิ่งของน่ารักๆ เพื่อสั่งสมเป็นทุนทางวัฒนธรรม ความปรารถนาและความฝันของนักบริโภคจึงแยกไม่ออกจากอุปสงค์และความจำเป็นต้องการของนักการผลิต นอกจากนี้ อุดมการณ์ทั้งสองข้อที่กล่าวมายังเป็นผลผลิตของความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างรัฐกับทุนที่ทรงอิทธิพลในสังคมญี่ปุ่นด้วย</p>
<p>
      สำหรับมิติทางสุนทรียะหรือความงาม สไตล์ของอุดมการณ์ทั้งสองต่างก็มีนิยามความสวยงามของตัวเอง อาทิ อุดมการณ์ข้อแรกเห็นว่า การแต่งกายที่รัดกุม เสื้อผ้าสีพื้นๆ ทึบทึม ผืนผ้าเรียบกริบ มีลายเส้นตรงๆ เข้ามุมผ้าเรียบร้อย ดูเป็นทางการ คือลักษณะที่เรียกว่าสวยงาม ขณะที่อุดมการณ์อย่างหลังกลับเห็นตรงกันข้าม </p>
<p>
      ไม่ว่าจะเป็นสีสันที่ฉูดฉาดของเสื้อผ้า เนื้อผ้าที่ยับย่น ขาดรุ่ย ไม่ได้ดุล ไม่เป็นระเบียบ ขาดๆ เกินๆ มุมและเส้นโค้งเว้า บางครั้งก็ปรากฏลอยปักเป็นรูปสิงสาราสัตว์ขนาดเล็กๆ เหล่านี้ล้วนเป็นรายละเอียดของความงามในโลกทัศน์ของอุดมการณ์อย่างหลังทั้งสิ้น</p>
<p>
      “ชุดนักเรียนน่ารักๆ” (cute uniforms หรือ kawai seifuku) ของโรงเรียนเอกชนบางแห่ง คือจุดบรรจบระหว่างความเป็นทางการกับความไม่เป็นทางการ ซึ่งให้ความรู้สึกถึงความอ่อนเยาว์ สดใสร่าเริง ไร้เดียงสา ดังปรากฏหลักฐานในสมุดภาพรวมชุดนักเรียนมัธยมของเด็กผู้หญิงในกรุงโตเกียวของโมริ (Mori) ปี 1985 เป็นต้น</p>
<p>
      ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของรูปวาดเด็กผู้หญิงที่ปรากฏในสมุดภาพดังกล่าวคือ ดวงตากลมโต ใบหน้ากลมกลึง ขนาดศีรษะค่อนข้างใหญ่เกินสัดส่วนปกติ รอยยิ้มที่ปรากฏก็มักสื่อให้เห็นวัยใสของรูปวาดด้วยริมฝีปากที่เผยอออกเพียงเล็กน้อย</p>
<p>
      ความน่ารักที่ปรากฏจึงเกิดจากการผสมผสานที่พอดีกันระหว่างความเรียบง่าย (jimi) กับความสดใสของสีสัน (hade) เป็นความพอเหมาะพอเจาะที่เกิดขึ้นจากส่วนผสมที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง ที่สำคัญคือ คู่ตรงข้ามนี้ ต่างมีความหมายแฝง กล่าวคือ ความเรียบง่าย สื่อถึงความเป็นผู้ใหญ่ การควบคุม ความซับซ้อน เชย น่าเบื่อหน่าย ขณะที่สีสันสดใสจะหมายถึงเยาวชน ความว่องไว กิจกรรมสันทนาการที่สนุกสนาน และความพิลึก</p>
<p>
      บางที ด้วยเหตุนี้เองที่ทั้งนาฬิกาข้อมือ แว่นตา และนาฬิกาปลุกสีสันบาดตาบาดใจจึงขายดิบขายดีในหมู่วัยรุ่น ขณะที่สิ่งตรงข้ามกลับถูกมองว่าเหมาะ เท่ และเก๋ สำหรับสุภาพบุรุษ ซึ่งถูกคาดหวังจากสังคมว่าควรมีบุคลิกภาพที่เคร่งขรึม ไปกันได้กับสไตล์ที่เป็นทางการ</p>
<p>
      ไบรอันได้จำแนกประเภทของท่าทีในการแสดงออกตัวตนของคนญี่ปุ่นเป็น 3 แบบคือ ท่าทีแบบแรกจะมองเรื่อง ความเหมาะสม” (appropriation) โดยตั้งประเด็นไว้ว่า พฤติกรรม รูปแบบ หรือสไตล์ไหนที่สังคมถือว่าเหมาะสม พวกเขาจะประพฤติในทางตรงกันข้ามเสมอ ตั้งแต่แสดงออกมาแบบน่ารักๆ ไปจนถึงแบบที่เรียกว่า ขว้างโลก” (rebellious) ท่าทีต่อมาเพ่งเล็งไปที่การค่อยๆ ฝืน ต้าน กัดกร่อนกฎระเบียบทีละเล็กทีละน้อย (subversion) และค่อยเป็นค่อยไป ไม่ล้มครืนระเบียบแห่งความเป็นทางการทั้งหมดในคราวเดียว และท่าทีสุดท้าย เป็นการลบความหมายเดิม แล้วสร้างความหมายใหม่ขึ้นแทนที่ (conversion) พูดอีกอย่างคือ เป็นการตีความรูปแบบหรือพฤติกรรมเดิมนั้นๆ เสียใหม่ เพื่อนำไปแทนที่ความหมายเดิม</p>
<p>
      ท่าทีแรกเป็นสไตล์สำคัญที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในสังคมญี่ปุ่น โดยเฉพาะหมู่ผู้นิยมขว้างโลกทั้งหลาย ตั้งแต่พวกพังค์ติดหรู (haute punks) สวมใส่ชุดหนังอิตาลีราคาแพง ไล่ไปจนถึงสาวกสไตล์พังค์ธรรมดาๆ นุ่งกางเกงยีนส์สุดเท่ ตลอดจนบรรดาแร็พเปอร์ (rappers) และกลุ่มก๊วนต่างๆ อย่างเช่นกลุ่มนักบิด และนักเต้น Yoyogi Park Sunday ที่ชอบแต่งตัวสไตล์พังค์ แล้วมารวมตัวเพื่อเต้นรำกันตามที่สาธารณะ </p>
<p>
      อนึ่ง พฤติกรรมทำนองนี้ของพวกเขา อาจดูเหมือนไม่เหมาะไม่ควรในสายตาของผู้ใหญ่หัวโบราณ แต่ในที่นี้ กลับไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายหรือเสื่อมเสียใดๆ หากมองว่าเป็นลักษณะสไตล์ของพฤติกรรมแบบหนึ่ง (เรียกตามสหรัฐฯ ว่าสไตล์ “baaad”) ที่ทำไปเพื่อเป็นที่สะดุดตาของใครๆ (“to be conspicuous” หรือ medatsu) ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว ย้อมสีผมแปลกตา แต่งหน้าราวกับภูตผี เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกของการฝืนกฎระเบียบ</p>
<p>
      ปรกติแล้ว การแต่งหน้าทาตาของพวกเขาถือเป็นข้อห้าม ตราบใดที่ยังอยู่ในวัยเรียน ไม่ว่าจะแต่งแบบเข้มข้นอย่างที่กล่าวมา หรือแต่งสไตล์ธรรมดาๆ การเห็นพวกเขาแต่งหน้ามาโรงเรียนจัดเป็นเรื่องที่ผิดระเบียบ เนื่องจากสถานที่อย่างโรงเรียนถือเป็นสถานที่สาธารณะที่เป็นทางการ มีระเบียบกำกับ อย่างไรก็ดี หากใครจะแต่งหน้าก็มักเป็นช่วงเวลาหลังเลิกเรียน หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งอยู่นอกเวลาควบคุมของกฎระเบียบข้อบังคับ </p>
<p>
      นอกจากนี้ ต้องย้ำกันในเบื้องต้นก่อนว่า การแต่งกายที่พิลึกพิลั่นนั้น ไม่จำเป็นต้องแลดูสกปรกเสมอไป กล่าวคือ การแต่งกายของบางกลุ่ม ถึงแม้จะสนุกสุดเหวี่ยง เป็นตัวของตัวเอง แต่ก็สะอาดสะอ้าน หรูหรา และภูมิฐาน ดังเช่น กลุ่มนักบิดรถเครื่อง และนักแข่งรถยนต์ </p>
<p>
      ที่จริง ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกที่ต้องการผิดระเบียบ อาทิ กลุ่ม amekaji ที่ชื่นชอบรสนิยมคนอเมริกัน โดยเลียนแบบสไตล์การแต่งตัวที่เรียบง่าย กลุ่ม “preppy” นักเรียนมีฐานะที่อยากผิดกฎ กลุ่มผู้รักการผจญภัย (outdoor) กลุ่มคลั่งไคล้ความเป็นผู้ดีอังกฤษ รวมทั้งผู้นิยมแฟชั่นสไตล์ ฟาสซิสต์” (fascist fashion) และกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบแต่งตัวปอนๆ สะพายกระเป๋าย่าม (เหมือนถุงผ้าสะพายสำหรับการเดินทางแสวงบุญ) อันเป็นที่นิยมในเมืองโอซาก้า (conspicuous poverty) </p>
<p>
      สนนราคากระเป๋าย่ามของพวกเขาไม่เป็นปัญหา หากคือเสน่ห์ของไลฟ์สไตล์ เพราะยิ่งประเป๋าดูไม่มีราคา ปราศจากซึ่งความคิดสร้างสรรค์มากเท่าไหร่ กระเป๋าชิ้นนั้นก็ยิ่งน่าหลงใหล น่าใช้ และน่าครอบครองมากขึ้นเท่านั้น</p>
<p>
      ท่าทีที่สองเป็นการฝืนระเบียบเล็กๆ น้อยๆ และที่ชัดเจนเห็นจะเป็น ชุดนักเรียนซึ่งเริ่มจากชุดนักเรียนที่ถูกระเบียบเหมือนๆ กัน จากนั้นจึงค่อยๆ ต่างกันไปตามรสนิยมของแต่ละคน </p>
<p>
      นักเรียนหญิงบางราย นอกจากแต่งหน้าทั้งที่ยังอยู่ในชุดนักเรียนแล้ว พวกเธอยังฝ่าฝืนกฎระเบียบของโรงเรียนอย่างไม่เกรงอกเกรงใจใคร ด้วยการสวมกระโปร่งสั้นจู๋ ไม่ก็ยาวกรอมเท้า ถุงเท้าก็ยาวหรือไม่ก็สั้นเกิน ไม่พอดีกับมาตรฐานที่โรงเรียนระบุไว้ ส่วนนักเรียนชายจะก่อกวนกฎระเบียบโดยการปลดกระดุมเสื้อบ้าง ปล่อยชายเสื้อบ้าง บางรายยังใส่ต่างหู สวมรองเท้าและถือกระเป๋าผิดระเบียบ ย้อมสีผม รวมทั้งเจาะจมูก เจาะริมฝีปาก ซึ่งเป็นไปตามความนิยม </p>
<p>
      นักเรียนชายบางรายยังสวมกางเกงผิดระเบียบที่ประดับกระเป๋าผ้าเย็บติดกางเกงมากเกินจำเป็น บางรายเลื่อนขอบกางเกงต่ำกว่าเอวหลายเซนติเมตร จนเห็นกางเกงชั้นใน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นอเมริกันเรียกว่าสไตล์ ฮิป-ฮอปหรือสไตล์หลุดๆ” (slovenly style) ในสังคมญี่ปุ่น</p>
<p>
      สำหรับรองเท้า รองเท้าส้นตึกของนักเรียนหญิงถูกมองว่าน่ารัก น่าสวมใส่ เพราะทำให้พวกเธอนึกถึงตัวการ์ตูนน่ารักๆ อย่างมิกกี้เม้าส์ และนักแสดงตลกชาวอังกฤษอย่างชาร์ลส์ แชปปลิน นอกจากนี้ รองเท้าคู่ใหญ่ๆ (degagutsu) รองเท้าหัวโต (odekogutsu) และรองเท้าหน้าตาตลกๆ (bakagutsu) ที่นิยมกัน โดยเฉพาะในเมืองโอซาก้า ก็เป็นสัญลักษณ์ของพฤติกรรมที่ต้องการกัดกร่อนกฎระเบียบในบริบทนี้เช่นกัน</p>
<p>
      ที่น่าสนใจอีกอย่างคือชุดที่คล้ายชุดชั้นใน” (lingerie-like dresses) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ ชุดดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับพร้อมๆ กับเสียงติเตียนในเวลาเดียวกัน หรือการปรากฏขึ้นของการเต้นระบำโป๊บนบาร์เหล้า (otachidai gyaru หรือ platform girls) ของสาวๆ ให้ผู้ชายสุขใจที่ได้บริโภคทางสายตา ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ก็จัดอยู่ในพฤติกรรมที่ท้าทายจารีตทางสังคมเจ้าระเบียบอย่างญี่ปุ่นด้วย (บางเมือง เช่น โอซาก้า นอกจากสาวๆ แล้ว ยังมีหนุ่มๆ นุ่งน้อยห่มน้อยเต้นระบำทำนองนี้เหมือนกัน)</p>
<p>
      ท่าทีสุดท้ายเป็นท่าทีต่อกรที่มีชั้นเชิงที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงความหมายของการบริโภควัตถุธรรมเสียใหม่อย่างสุดโต่ง ล้มล้างโครงสร้างคำอธิบายที่ทรงพลังหรือทัศนคติเดิมๆ ที่รับรู้กันมา เช่น นักเรียนหญิงบางรายกล่าวว่า ไม่ใช่เพราะฉันดูเซ็กซี่ทั้งๆ ที่อยู่ในชุดนักเรียน แต่เป็นเพราะชุดนักเรียนนี่แหละ ที่ทำให้ฉันดูเซ็กซี่และน่ารัก”      ท่าทีนี้มิได้ฝืนกฎระเบียบด้วยการยียวนหรือแปลงภาพลักษณ์ภายนอกดังเช่นสองท่าทีที่กล่าวมา หากแต่เป็นการต่อกรเชิงความหมาย ด้วยการตีความพฤติกรรมและรูปแบบเดิมๆ เสียใหม่ (reinteprets) ซึ่งนัยยะนี้ ทางสถาบันการศึกษาแถบโต้ตอบไม่ได้เลย</p>
<p>
      ด้วยท่าทีเช่นนี้ ชุดนักเรียนที่เดิมถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของเด็กก็กลับกลายแปรเปลี่ยนไปเป็นความเซ็กซี่แบบน่ารักๆ ความสดใส ใจกว้าง” “ซื่อสัตย์จริงใจและ พลังใจรักอิสระ” (power of being liberated หรือkaihoteki na chikara) นัยยะนี้ วัยรุ่นได้ใช้ความน่ารักสื่อถึงความเท่” (cool หรือkakkoi) “เก๋” (chic หรือ iki) “มีสไตล์” (stylish หรือ oshare) ซึ่งให้ ความรู้สึกถึงการปลีกตัวออกจากสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นการปลีกตัวที่พวกเขาและเธอยินดีที่ได้แสดง ความชอบส่วนตัว” (self-likeness หรือ jibun-rashisa)</p>
<p>
      ยิ่งไปกว่านั้น ความน่ารักยังถูกใช้เป็นเครื่องต่อรองทางการเมืองของสตรีเพศด้วย โดยใช้เป็นคำนิยามบรรทัดฐานของเพศสภาพในมิติทางสังคม ปฏิเสธโครงสร้างสังคมที่ให้ชายเป็นใหญ่ หญิงเป็นรอง” (male = superordinate, female = subordinate) </p>
<p>
      อนึ่ง ต้องบอกให้ทราบทั่วกันก่อนว่า ลึกๆ แล้ว เด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นเองก็ไม่ปรารถนาที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีภาระมากมายรอคอยให้รับผิดชอบ พวกเขาจึงเฝ้าแต่ตามใจตัวเอง หวนนึกถึงความหลังในวัยเด็ก และเย้ยหยันคุณค่าหลักของสถาบันทางสังคมและการรักษาจริยธรรมในการทำงาน” </p>
<p>
      ความน่ารักจึงหมายถึงการทำตัวเหมือนเด็ก อย่างการทำร้ายร่างกายตัวเอง การนั่งยืนปลายเท้าชี้เข้าหากัน นัยน์ตาเบิกกว้าง สดใส กำลังลดน้ำหนัก ทำอะไรซื่อบื่อ ปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ขัน และความนึกคิดที่มาพร้อมกับความเป็นผู้ใหญ่


ความน่ารักระดับสถาบันหรือองค์กร</p>
<p>
      จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าความน่ารักก็คือการต่อต้านขัดขืนระบบระเบียบชนิดหนึ่ง เพียงแต่ดำเนินหรือเป็นไปอย่างสงบ ไม่ร้ายแรงหรือเป็นอันตรายใดๆ และไม่ใช่ตัวชี้วัดสำนึกความรู้ผิดชอบ ทุกคนคาดเดาผลของพฤติกรรมได้ นั่นคือเป็นการขัดขืนทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับไปโดยปริยาย      วาทกรรมความน่ารักยังปรากฏในรูปของวัตถุที่สื่อแสดงภาพลักษณ์ของบริษัทห้างร้าน องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสถาบันครอบครัวในบางกรณี และรูปลวดลายที่นิยมมากที่สุดตลอดกาลคือรูปลาย สัตว์</p>
<p>
      สายการบิน ANA (All Nippon Airways) เลือกลวดลายน่ารักๆ อย่างลายการ์ตูนยอดนิยมพีนัตส์ (Peanuts) มิกกี้เม้าส์ และตัวการ์ตูนเอก 5 ตัวจากเรื่องโปเกมอน (Pokemon กร่อนมาจากคำว่า Pocket Monsters) มาพิมพ์ลายบนเก้าอี้นั่งและถ้วยน้ำดื่มที่ใช้บริการลูกค้า</p>
<p>
      สายการบิน JAL (Japan Airlines) ก็เช่นกัน แต่รายนี้ดูท่าไม่สำเร็จ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ประท้วงของบริกรสาวบนเครื่องที่ไม่พอใจในชุดเครื่องแบบลวดลายรูปสัตว์หน้าตาตลกๆ เสียก่อน</p>
<p>
      เหตุการณ์นี้น่าสนใจตรงที่เหตุผลของบริกรสาวระบุว่า การสวมชุดเครื่องแบบลวดลายตัวการ์ตูนรูปสัตว์ต่างๆ นั้น เท่ากับเป็นการดูถูกทางเพศและความเป็นมนุษย์แบบหนึ่ง โดยเปรียบพวกเธอเป็นดั่งสัตว์ตัวน้อยที่ต้องคอยการปกป้องดูแล โอบอุ้ม ประคบประงม รวมทั้งการถูกควบคุม ซึ่งเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีสตรีอย่างพวกเธอลงไปเท่ากับสิงสาราสัตว์เหล่านั้น</p>
<p>
      มีรายงานว่า โรงงานผลิตตุ๊กตาหมีสัญชาติเยอรมันยอมรับว่าได้ผลิตตุ๊กตาหมี (Teddy Bear) ประเภทจำกัดจำนวนเป็นพิเศษในญี่ปุ่นถึง 9 ประเภทด้วยกัน และเรียกชื่อใหม่ว่า Japan Teddy รวมทั้งตุ๊กตามิฟูยุ (Mifuyu แปลว่าฤดูหนาวอันสวยงาม) และตุ๊กตาหมีตัวพิเศษสำหรับเทศกาลกีฬาโอลิมปิคที่เมืองนากาโน้ในปี 1998</p>
<p>
      ถึงแม้จะมีตัวการ์ตูนรูปสัตว์มากมายที่ถูกนำมาใช้สื่อถึงความน่ารัก อาทิ ตัวหนู หนูพุ๊ก (hamsters) และหมี แต่ก็มีสัตว์บางชนิดที่ไม่เคยถูกมองว่าน่ารักเลย อย่างเช่นกวางกาโมชิกะ (kamoshika) อันเป็นเหตุให้มีผู้กล่าวว่า เพราะเหตุนี้เอง กวางกาโมชิกะจึงสูญพันธุ์ไปในท้ายที่สุด</p>
<p>
      ครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยหรือสถาบันที่เล็กที่สุดก็เช่นเดียวกัน ไบรอันกล่าวว่า ถุงมือของสาวน้อยที่มีรูปรอยลวดลายสัตว์ขนาดเล็กๆ ก็เป็นพื้นที่สื่อถึงความเป็นครอบครัวได้ อาทิ นิ้วกลางที่หมายถึงมารดา ทำเป็นรูปการ์ตูนสวมหมวก ทาลิปสติ๊ก สวมสร้อยคอไข่มุกและต่างหู ขณะที่นิ้วชี้ (หมายถึงบิดา) เป็นลายผู้ชายสวมหมวก แว่นตา และเน็คไทสีเขียว ในที่นี้ การสร้างหรือกล่อมเกลาความรู้สึกเด็กสาวให้นึกถึงครอบครัวของตนอาจยังไม่ชัดนัก แต่ที่แน่ๆ นักออกแบบถุงมือคู่นี้เจาะจงสื่อเช่นนั้น</p>
<p>
      ไบรอันยังระบุด้วยว่า ภาชนะ เสื้อผ้า และของเล่นเด็กรูปรถ เรือ และจรวดน่ารักๆ ที่เห็นกันทั่วไปในห้างสรรพสินค้าและตามโรงแรม ล้วนเป็นการใช้ ความน่ารักเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กได้เรียนรู้โลกของผู้ใหญ่ที่พวกเขาจำต้องเผชิญในโลกแห่งความเป็นจริง </p>
<p>
      อีกตัวอย่างคือ ของเล่นยอดฮิตอย่าง ทามาก็อตจิ” (tamagotchi หรือ tamagotch) สัตว์เลี้ยงเสมือนจริง (virtual pet) ผลงานการประดิษฐ์ของ อากิ มาอิตะ (Aki Maita) ถือเป็นการค้าขายความน่ารักที่เปลี่ยนจากสัตว์เลี้ยงมีชีวิตจริงๆ ไปสู่สัตว์เลี้ยงอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผู้เลี้ยงสามารถพกพาติดตัวไปไหนต่อไหนก็ได้เพราะมีขนาดเล็กกะทัดรัด ไม่เกะกะ ไม่เป็นปัญหาต่อพื้นที่ใช้สอยในที่พักอาศัยอันคับแคบของคนเมือง และรูปทรงกลมกลึงที่คล้ายไข่ไก่แสนน่ารัก น่าสัมผัสนั้น แม้แต่ผู้ใหญ่ก็อดซื้อหามาเลี้ยงมาเล่นเองไม่ได้ </p>
<p>
      “สัญชาตญาณแห่งความเป็นแม่” (maternal instinct) ยังเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ไบรอันยกมาสนับสนุนปรากฏการณ์ความนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเสมือนจริงตัวนี้      ที่สำคัญ ของเล่นชนิดนี้ ยังสร้างความรู้สึกของความเป็นพวกพ้องหรือกลุ่มก้อนเดียวกันในหมู่ผู้รักและหลงใหลเจ้าทามาก็อตจ์ เป็นชุมชนคนรักเจ้าไก่ทามาก็อตจ์ ทั้งๆ ที่ของเล่นหรือสัตว์เลี้ยงชนิดนี้เล่นได้เพียงคนเดียว และสมาชิกในชุมชนนี้ก็ไม่จำเป็นต้องพบเจอกันแต่อย่างใด</p>
<p>
      ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันดังกล่าวได้ขยายความนิยมข้ามขอบเขตประเทศสู่สากล น่าทึ่งที่สิ้นปีค.ศ.1997 มีรายงานว่าของเล่นชิ้นนี้ขายในประเทศญี่ปุ่นได้ถึง 15 ล้านชิ้น และ 20 ล้านชิ้นในต่างประเทศทั่วโลก</p>
<p>
      ในโลกของการค้าและการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร ความน่ารักยังถูกนำไปใช้เป็นกุศโลบายชี้ชวนให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจและเชื่อตาม เช่น คู่มือแนะนำสินค้าและบริการที่พูดคุยสอนสั่งผู้ใช้อย่างทื่อๆ ไม่ต่างอะไรกับหุ่นยนตร์ คงใช้ไม่ได้ผลเมื่อเทียบเคียงกับคุณูปการของภาพนักแสดงตลกขำขัน แม่หญิงยิ้มหวานเย้ายวนใจ และความสดใสของเด็กๆ ซึ่งให้ภาพของความรู้สึกเสมือนมิได้ถูกบังคับให้ชมและรับสารในโฆษณา</p> <p>
      เรือนร่างของเรายังใช้เป็นพื้นที่แสดงความน่ารักได้อีก อาทิ ลวดลายน่ารักๆ บนเล็บมือและเล็บเท้าที่วาดเป็นรูปการ์ตูนเจ้าหมีพูห์ (Winnie the Pooh) เจ้าตูบลายจุด (101 Dalmatians) และสิงโตเจ้าป่า (Lion King)</p>
<p>
      ในหมู่วัยรุ่นสาว นามบัตรที่เรียกว่า เมอิชิ” (meishi) น่ารักๆ เต็มไปด้วยรายละเอียดของไลฟ์สไตล์ผู้ครอบครองบัตร ก็เป็นอีกพื้นที่ของความน่ารักที่รวบรวมและแสดง ตัวตน” (self-expression) ของผู้ถือ ทั้งชื่อโรงเรียนต้นสังกัด เบอร์โทรศัพท์มือถือ วงดนตรีที่ชื่นชอบ ฉายานาม (live name) ที่ใครๆ ต่างนิยมเรียกขาน นอกจากนี้ บัตรบางใบยังไฮเทค มีบาร์โค้ดเก็บรายละเอียดของข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย </p>
<p>
      พูดถึงบาร์โค้ด ในสังคมวัยรุ่นญี่ปุ่น ยังนิยมสักฝั่งบาร์โค้ดในร่างกาย เก็บรวมข้อมูลส่วนตัวที่ต้องอาศัยเครื่องสแกน (scanner) เท่านั้น ถึงจะอ่านข้อมูลได้ เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่เป็นระบบ (systematic live) อย่างหนึ่ง และดูเหมือนเป็นความพยายามที่จะกำกับควบคุมชีวิตของเรานั่นเอง</p>
<p>
      ที่จริง ข้อมูลที่ว่านี้ก็มิได้เป็นความลับหรือสำคัญอันใด เช่น เก็บบันทึกวันเกิดของดารานักร้องที่ตนชื่นชอบ ซึ่งการสักบาร์โค้ดถูกมองว่าน่ารักแปลกๆ และเท่สุดๆ (super cool) แม้พวกเราบางคนอาจไม่รู้สึกร่วมด้วยก็ตา</p>

หมายเลขบันทึก: 94757เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2007 00:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคณ kati

เบิร์ดอ่านแล้วชอบจัง " การบริโภคความน่ารัก " เป็นการแสดงความต่อต้านที่ละมุนละม่อมเหลือเกิน

เบิร์ดนึกถึงชุดนักเรียนของเด็กไทย ทรงผม การแต่งตัว แฟชั่น ฯลฯที่เทรนด์ญี่ปุ่นเคยครองตลาดมาก่อน ถ้ามองดูแล้วก็เหมือนการต่อต้านกฎระเบีบย ประเพณี ความเชื่อของ " ไทย " ด้วยหรือเปล่าคะ ? แล้วเกาหลีล่ะคะ..เข้าข่ายนี้ด้วยมั้ย ?

ขอบคุณมากค่ะที่เอาเรื่องน่ารักๆแต่มีสาระมาฝาก

 

ขอบคุณมากครับ คุณ เบิร์ด 

เท่าที่มีคนเคยศึกษา ถึงพฤติกรรมการแต่งตัว โดยเฉพาะเครื่องแบบ และการแสดงออก ประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบบังคับ หรือมีกฎระเบียบในเรื่องการแต่งตัว มักผจญกับการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจแตกต่างกันไปครับ

ผมไม่แน่ใจในกรอบการมองของเกาหลี แต่ยังไงจะพยายามอ่าน พยายามถามไถ่ และหาข้อสมมุติฐานที่น่าสนใจมานำเสนอครับ

ขอบคุณมากครับ สำหรับประเด็นนำเสนอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท