BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๒๓ : ตัวแทนทางศีลธรรม (จบ)


ปรัชญามงคลสูตร

อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย เป็นมงคลข้อสุดท้ายในคาถาที่ ๖ ซึ่งความหมายของคำว่า ประมาท และ ไม่ประมาท ผู้เขียนได้เล่าไว้ในเรื่องเล่าภาษาบาลี ผู้สนใจดู ประมาท ....

ตัวแทนทางศีลธรรม คือ แบบอย่างที่พึงปฎิบัติ ซึ่งใน ๒ ข้อก่อน ผู้เขียนได้เล่าถึง การเว้นจากบาป นั่นคือ ไม่นำวิถีทางที่เป็นบาปซึ่งเป็นกรรมกิเลสมาใช้ในการดำเนินชีวิต ... และ การสำรวมจากการดื่มน้ำเมา นั่นคือ ไม่ท้อถอยในชีวิตจริงด้วยการใช้เหล้าหรือของเมาทุกชนิดเพื่อหลอกตัวเองไปวันๆ... (ผู้เพิ่งเข้ามาดู   ปรัชญามงคลสูตร ๒๑ : ตัวแทนทางศีลธรรม (ต่อ)  และ ปรัชญามงคลสูตร ๒๒ : ตัวแทนทางศีลธรรม (ต่อ) )

ส่วน การไม่ประมาทในธรรมหลาย หมายถึง จะต้องรู้จักควบคุมตัวเอง โดยการไม่มัวเมาหรือหลงไหลไปในสิ่งต่างๆ... โดยย่อที่สุดก็คือ ตามปกติจะต้องรู้จักควบคุมตัวเอง มิให้เข้าไปสู่บาปหรือกรรมกิเลส และไม่ให้เข้าไปสู่วังวนของสุรายาเมาทุกชนิดเป็นดีที่สุด... ประมาณนี้

การดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทนั้น ท่านจำแนกไว้หลายนัย แต่ผู้เขียนจะนำมาเล่าเฉพาะประเด็น ความไม่ประมาท ๔ สถาน กล่าวคือ....

  • ระวังมิให้กายทุจริต คือความประพฤติผิดทางกายเกิดขึ้น
  • ระวังมิให้วจีทุริต คือความประพฤติผิดทางวาจาเกิดขึ้น
  • ระวังมิให้มโนทุจริต คือความประพฤติผิดทางใจเกิดขึ้น
  • ระวังมิให้ อกุศล เจริญขึ้น ซึ่งเป็นข้อสรุปสามข้อเบื้องต้น

.....

ในโลกแห่งความเป็นจริง เราอาจพบผ่านใครบางคนที่เคยเจริญแล้วก็กลับเสื่อมลง หรือใครบางคนที่เคยเสื่อมแล้วกลับเจริญขึ้นมา ...ในสองฝ่ายนี้ ผู้เสื่อมแล้วกลับเจริญ นับว่าเป็นผู้ควรแก่การยกย่อง ....

ในบุคลสองฝ่ายนี้ ผู้ที่เจริญแล้วกลับเสื่อม เพราะภายหลังถูกความประมาทเข้าครอบงำนั่นเอง... ดังนั้น สำหรับผู้ที่รู้สำนึก รู้จักระมัดระวังมิให้ทุจริตเข้าครอบงำได้ ก็จะปราศจากความเสื่อม... ประมาณนั้น

สำหรับผู้ที่เคยเสื่อมแล้ว ภายหลังกลับตัวกลับใจได้ ไม่หลงประมาทมัวเมาในทุจริต ทำให้ค่อยๆ มีความเจริญขึ้นมาก็ดี... หรือผู้ที่มีความเจริญมาตั้งแต่ต้น และรู้จักระมัดระวังมิให้ความประมาทเข้ามาครอบงำก็ดี ... ทั้งสองกลุ่มนี้ นับว่าเป็นผู้ควรที่อนุชนคนรุ่นหลังหรือลูกหลานควรจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง... ซึ่งคนสองกลุ่มนี้เองที่ควรยกย่องว่าเป็น ตัวแทนทางศีลธรรม โดยประการฉะนี้

หมายเลขบันทึก: 94666เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2007 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ กระผมก็ได้แง่คิดที่เป็นประโยชน์ จากบันทึกครับ ขอบพระคุณครับ

กราบนมัสการหลวงพี่ P BM.chaiwut

ตอนนี้ก็พยายามคุมไม่ให้ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต เกิดอยู่ค่ะ สองอย่างหลังนี้ประมาทไม่ได้เลยค่ะ ยิ่งมโนทุจริต ไม่ให้คิดในแง่ไม่ดีนั้น สำหรับดิฉันนับว่ายากมากค่ะ

ดิฉันพบว่าบางทีเราคิดหวังดีในเรื่องหนึ่ง แต่การที่จะให้เรื่องดีๆ เกิดขึ้นนั้น ก็ได้ไปคิดร้ายกับใครบางคนเสียแล้ว คล้ายๆ กับว่าเขาเป็นอุปสรรคน่ะค่ะ

ก็พยายามปล่อยวางอยู่ค่ะ แต่ละวันมีเรื่องสติให้ฝึกได้เยอะมากๆ นับเป็นสิ่งที่ดี..

ขอบพระคุณหลวงพี่มาก ที่เขียนบันทึกเตือนสติเรื่องนี้ค่ะ

P

มีจริยศาสตร์บางสำนักยึดถือว่า คนเรามี มโนสำนึก คือสามารถหยั่งรู้ความถูกผิดในทางจริยธรรมได้โดยตัวเราเอง....ดังนั้น พวกเค้าจึงสอนว่า จงอย่ากระทำสิ่งที่ขัดกับมโนสำนึก (ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี) ของเราเอง... ประมาณนี้

ปกติ ถ้าเราให้เกณฑ์นี้ เราก็พอจะรู้ได้ว่าสิ่งนั้นๆ เราผิดหรือไม่.... 

แต่สำนักนี้ ก็มีผู้ค้านไว้เยอะเหมือนกัน...

เจริญพร

 

กราบนมัสการหลวงพี่ P BM.chaiwut อีกครั้งค่ะ

ตอนนี้ยังไม่กล้าใช้เกณฑ์ตัวเอง (มโนสำนึก) ในทุกเรื่องค่ะ ยอมรับว่าบางเรื่องใช้ แต่บางเรื่องยังรู้สึกว่าถ้าใช้เกณฑ์ตัวเองว่าที่เราทำนั้นตั้งใจดี คงไม่ถือเป็นทุจริต อาจเป็นอคติก็ได้ เพราะเราอาจเข้าข้างตัวเองค่ะ

คงเป็นอย่างที่หลวงพี่ว่าแหละค่ะ ว่ามีผูค้านเยอะเหมือนกัน ตอนนี้สำหรับตัวเอง จะพยายามเน้นว่าให้ดูทัน ตามความคิดตัวเองให้ทัน ให้มีสติ แค่นี้ก็พอใจมากในระดับหนึ่งแล้วค่ะ

ขอบพระคุณสำหรับคำสอนในเชิงลึกนะคะ ทำให้ได้ไตร่ตรองมากขึ้นค่ะ ว่าถูก ผิด มีทั้งอยู่กับเรา หรือกับเขา หรือ บางครั้งก็ไม่มีถูก ไม่มีผิด ค่ะ..

P

ตามที่ว่ามาเรื่องมโนสำนึกนั้น จริยปรัชญาเรียกว่า อัชฌัตติกญาณนิยมทางจริยะ (ethical Intuitionism)...

ถ้าอาจารย์สนใจก็ลองดู http://en.wikipedia.org/wiki/Ethical_intuitionism

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท