การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ช่วยเเก้วิกฤติของประเทศได้จริงหรือ


การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ช่วยเเก้วิกฤติของประเทศได้จริงหรือ

สังคมไทยในปัจจุบันนับว่าอ่อนแอลง  โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ผลักดันให้สังคมเป็นสังคมที่มุ่งความสำเร็จทางวัตถุ คนในสังคมมุ่งความสำเร็จของชีวิตของตนในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอำนาจเกียรติและผลประโยชน์ ความสำเร็จนี้อยู่ในระบบแข่งขัน ซึ่งหมายถึงการแข่งขันแย่งชิงแสวงหาผลประโยชน์ ความสำเร็จก็คือการชนะการแข่งขันเพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด   แนวโน้มของสังคมจึงเป็นเป็นสังคมแห่งธุรกิจในระบบแข่งขันเพื่อกำไรสูงสุด บนฐานแห่งทิฏฐิที่มองความสำเร็จทางวัตถุเป็นจุดหมายของชีวิตและสังคม (พระธรรมปิฏก, ม.ป.ป.)  ในส่วนของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยในปัจจุบัน  เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวทุนนิยม  โดยเลียนแบบปรัชญาและแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะการนำเอาทฤษฎีการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย  (Modernization Theory) มาเป็นตัวแบบของการพัฒนา  แต่การนำเอาทฤษฎีภาวะทันสมัยซึ่งใช้ตัวแบบของทุนนิยมมาใช้ในการพัฒนาประเทศนั้นก็นับได้ว่ามีความจำเป็น     เพราะเป็นกระแสหลักในการพัฒนาของโลก  ถ้าไทยไม่ยอมก้าวลงไปร่วมในกระแสหลักของทุนนิยมนี้  ก็จะถูกทอดทิ้งให้ล้าหลังและจะเสียเปรียบไม่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้  แต่ผลจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวคิดดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่าส่งผลให้เกิดปัญหาและวิกฤตการต่างๆ ตามมามากมาย  ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาแนวทางทุนนิยมไม่เหมาะสมกับภาคส่วนของสังคมที่ยากจนล้าหลังด้วยเหตุหลายประการ  ประการแรก  ปรัชญาทุนนิยมก่อให้เกิดกิเลสตัณหา  (desire) ของมนุษย์เป็นตัวกระตุ้นผลักดันมนุษย์ให้พยายามแข่งขันกันสะสมทุนให้ร่ำรวยสูงสุด   ประการที่สอง วิธีการให้ได้ทุนมากก็คือ  การแข่งขันเสรีซึ่งคนจนหรือคนส่วนใหญ่ในชนบทที่ล้าหลังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันกับคนรวยและคนในเมืองได้  ยิ่งแข่งขันกันนานเท่าไร  คนจนก็จะถูกทิ้งให้ล้าหลังยากจนขึ้นทุกที  ประการที่สาม  รางวัลหรือผลที่ทุนนิยมใช้ล่อใจก็คือ  ความสุขสบายอย่างล้นเหลือที่เห็นได้จากการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมาบำรุงบำเรอความสุขต่างๆ  เหล่านี้แสดงถึงการบริโภคนิยมอย่างเต็มที่ ซึ่งคนยากคนจนไม่สามารถที่จะจัดหามาได้  ถ้าเกิดหลงตามอย่างที่โฆษณาจูงใจให้มัวเมาก็จะต้องหมดตัวและเกิดเป็นหนี้สิน  การพัฒนาแนวทางทุนนิยมเพียงแนวทางเดียวจึงไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนในภาคส่วนสังคมที่ยากจนล้าหลังให้อยู่รอดปลอดภัยได้   (วัชรี  ทรงประทุม, 2549)  เมื่อวิเคราะห์วิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นพบว่าแท้ที่จริงแล้วมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับปัญหาของระบบการศึกษาของประเทศไทยอยู่ไม่น้อย เพราะถ้าหากการศึกษาสามารถผลิตและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศไทยให้มีคุณภาพมากกว่านี้ ประเทศไทยก็คงจะไม่ประสบปัญหาต่างๆมากมายดังที่เป็นอยู่   วิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากวิกฤติทางการศึกษา หรือวิกฤติทางการพัฒนาคน      แนวทางแก้ปัญหานั้นจำเป็นต้องมีการปฏิรูปสังคมโดยรอบด้าน  ให้มีความเข้มแข็งจึงจะพ้นวิกฤต การปฏิรูปการศึกษานับได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง ที่จะช่วยให้สังคมไทยเข้มแข็งขึ้นโดยทั่วตลอดทั้งสังคม ทั้งนี้เนื่องจากประเทศที่เจริญทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงนั้น  พลเมืองจะต้องมีความสามารถในการผลิตหรือในการสร้างสรรค์ จึงจะสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืนได้ เศรษฐกิจที่มั่นคงมีแก่นนั้น ต้องมีฐานในตัวคน คือ ความสามารถในการผลิตและในการคิดสร้างสรรค์ (พระธรรมปิฏก, ม.ป.ป.)  การดำเนินงานของรัฐบาลในปัจจุบันจึงเล็งเห็นว่า "การศึกษา" จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างและพัฒนาคน เพื่อทำให้สังคมเกิดความเข้มแข็ง   สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างร่มเย็นสมานฉันท์  โดยการศึกษานั้นจะต้องอาศัย "คุณธรรม" เป็นพื้นฐาน  และเพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสอดรับกับทิศทาง และเป้าหมายการจัดการศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่เป็นยุคของการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาเองในฐานะตัวแทนภาครัฐจึงมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาโดยมุ่งเน้นไปที่การนำ "คุณธรรมนำความรู้" เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีการดำเนินการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

........................................

โดย คนึงนิจ อนุโรจน์

หมายเลขบันทึก: 94406เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2007 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2013 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท