ก้าวพ้นความทุกข์ด้วยความทุกข์


เรื่องจริงจากชีวิตชาวค่ายอาสาพัฒนาฯ บ้านแม่แจ๊ะ เชียงใหม่

ก้าวพ้นความทุกข์ด้วยความทุกข์

          เมื่อผมมาค่ายนี้ ผมพยายามเก็บอาการเศร้าไว้ ทำหน้าตายิ้มแย้มดูมีความสุข แต่ทุกคืนที่กลับไปนอนก็ยังคิดและฝันถึงเธออยู่... แต่มาวันหนึ่ง ผมพบว่าชาวบ้านและเด็กจำนวนไม่น้อยในหมู่บ้านนี้ต้องกินข้าวกับน้ำ ถ้าดีหน่อยก็กินข้าวกับเกลือ เด็กตัวเล็กซึ่งแม่เสียชีวิตต้องออกไปทำงานทุกวัน...

          ผมรู้สึกสะดุ้งและเหมือนว่าได้หลุดพ้นจากวงจรชีวิตเดิมๆ ปัญหาของตัวผมที่คิดว่าเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ ไม่สามารถแก้ไขได้ ...กลับกลายเป็นปัญหาที่เล็ก และผมรู้สึกว่า มันช่างปัญญาอ่อนมากๆ ผมมีข้าวกินครบทุกมื้อ มีเงินใช้ มีทุกอย่างในชีวิต แต่แค่โดนผู้หญิงทิ้ง ผมกลับรู้สึกเหมือนสูญเสียทุกอย่างในชีวิตไป... แต่พวกเขานั้นไม่มีอะไร วันๆ ข้าวจะมีให้กินรึเปล่าก็ยังไม่รู้...

          มันทำให้ผมรู้ว่า คนที่มีความทุกข์มีปัญหานั้นช่างมีเยอะกว่าผมมากมาย... เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ผมจึงไม่มีเวลาว่างไปทุกข์ใจอีกแล้ว..”

          ชายหนุ่มคนหนึ่งเล่าถึงจุดเปลี่ยนอันงดงามของชีวิต เขาก้าวพ้นความเจ็บปวด ก้าวพ้นความทุกข์แบบฉับพลัน... เมื่อหัวใจของเขามากระทบกับหัวใจของชาวบ้าน เมื่อความทุกข์ของเขามากระทบกับความทุกข์ของชาวบ้าน... เมื่อเขามาอยู่ต่อหน้าความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่กว่า... เขาก็ก้าวพ้นความทุกข์ได้อย่างฉับพลัน...

เด็กๆกินข้าวกับเกลือ...กินข้าวกับน้ำ !

          ผมขึ้นดอยกับน้องๆกลุ่มค่ายนิสิตนักศึกษาอาสาพัฒนา บ้านเซเวียร์ มาใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านของพี่น้องชาวม้ง ที่แม่แจ่ม เชียงใหม่ราว 2 อาทิตย์ มีเรื่องราวมากมายที่เปลี่ยนแปลงชีวิต เปลี่ยนแปลงมุมมอง เปลี่ยนแปลงวิธีคิดของนักศึกษา และแม้กระทั่งตัวผมเอง...

          "แม้จะไม่ได้อาบน้ำหลายๆวัน... ผมก็ไม่รู้สึกทุกข์ใจอะไร กลับรู้สึกว่าเราต้องร่วมทุกข์และขอบคุณชาวบ้านกับเด็กๆที่นี่... ก็พอพวกเรามา น้ำที่เคยมีใช้ก็ขาดแคลนลงไป... ชาวบ้านที่นี่ลำบากกว่าเรามาก เด็กๆและพ่อแม่ในหลายๆครอบครัวต้องกินข้าวกับเกลืออาทิตย์ละไม่น้อยกว่า 3 วัน... เพราะความยากจน... ยิ่งกว่านั้นบางทีเกลือก็ไม่มี... ต้องกินข้าวกับน้ำเปล่าๆ... ผมได้ยินจากปากของแม่ และจากปากของเด็กแล้ว... ถึงกับอึ้ง และน้ำตาคลอเบ้าตาทั้งสองข้าง...อย่างไม่อาจจะหักห้ามใจได้เลย... น้องนักศึกษาบางคนถึงกับเบือนหน้าหนีด้วยความสะเทือนใจ..."

เงินวันละ 40 บาทเลี้ยง 4 ชีวิต

          หมู่บ้านนี้ขาดแคลนน้ำเนื่องจากภัยแล้ง ตอนกลางคืนหนาวจัด ขนาดเราไปอยู่ในช่วงฤดูร้อนนี้ ยังต้องใช้ผ้าห่มสักคนละ 3 ผืนจึงจะทนหนาวไหว ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยมีผ้าห่มไม่พอ อย่างเช่นว่า มีครอบครัวหลายครอบครัวใช้ผ้าห่ม 2 ผืนแบ่งกันห่ม 5 คน ชาวบ้านรับจ้างทำไร่สตอเบอรี่ แต่ต้องทำงานวันเว้นวัน และขึ้นอยู่กับจำนวนผลของสตอเบอรี่ที่บางช่วงออกมาก บางช่วงออกน้อย ช่วงการปลูกและเก็บสตอเบอรี่ใช้เวลา 5 เดือน หลังจากนั้นชาวบ้านจะรับจ้างปลูกกล้าสตอเบอรี่ หรือทำงานรับจ้างอื่นๆ เช่น ขุดดินทำแปลง ทำคันดิน

          อย่างครอบครัวยากจนครอบครัวหนึ่ง แม่ต้องผูกลูกสาวคนเล็กราว 4 เดือนไว้ข้างหลัง อุ้มลูกสาว 4 ขวบ และเดินกับลูกสาวคนโตอายุ 6 ขวบ ข้ามเขา 2 ลูกไปรับจ้างเก็บลูกสตอเบอรี่ โดยจะเก็บตอนสี่โมงเย็นถึงสองทุ่ม หลังจากนั้นจะนำมาเรียงโดยนำลูกสตอเบอรี่มาเรียงไว้บนใบสตอเบอรี่ใส่ตระกร้าพลาสติดไว้จนถึงราวเที่ยงคืน ถ้าต้องมาขายที่ตลาดก็จะนั่งรถเดินทางมาตลอดในเมืองถึงราวตีสอง ตีสาม และรอขายในตอนเช้ามืด กว่าจะกลับบ้านก็ช่วงสายๆ แต่สำหรับแม่กับลูก 3 คนนี้มักจะเสร็จงานเที่ยงคืนและนอนหนาวด้วยผ้าห่มเพียงผืนเดียวที่กระท่อมโล่งๆในไร่ และเดินข้ามเขากลับบ้านในตอนสายของอีกวันหนึ่ง ได้ค่าจ้างวันละ 80 บาท และเนื่องจากการเก็บสตอเบอรี่จะทำวันเว้นวัน เธอจึงต้องใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง คือวันละไม่เกิน 40 บาท สำหรับเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆสำหรับ 4 ชีวิต คือเธอและลูกอีก 3 คน... ซึ่งแน่นอนครอบครัวของเธอก็เป็นหนึ่งในครอบครัวที่ต้องกินข้าวกับเกลือ กินข้าวกับน้ำอาทิตย์ละหลายวันเช่นกัน

เจ็บไข้ไม่มีค่ารถไปหาหมอ

          ลูกสาวคนเล็ก 4 เดือนเป็นไข้ทุกคืนมานานร่วมเดือนแล้ว เธอก็ซื้อยาไข้เด็กจากร้านในหมู่บ้านมาให้ลูกสาวกินแก้ไข้ เพราะเธอไม่มีเงินพอจะที่จะไปอนามัย ซึ่งต้องใช้ค่ารถไปกลับ 80 บาท ถ้าไปโรงพยาบาลใช้ค่ารถไปกลับราว 160 บาท ลูกสาวคนกลางยังไม่ได้แจ้งเกิด เพราะหมอตำแยทำคลอดให้ ถ้าไปทำใบเกิดใช้เงินค่ารถไปกลับ 1,000 บาท เพราะอำเภออยู่ใกล้มาก และต้องมีผู้ใหญ่บ้าน หมอตำแย และพยานไปด้วยกัน เด็กที่ไม่มีใบเกิดจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ เช่นด้านการเรียน การรักษาพยาบาล จะต้องจ่ายเต็มอัตรา สถานะภาพเป็นเด็กเถื่อนนั่นเอง… เธอบอกว่า จะทำอย่างไรได้ ในชีวิตของเธอ เธอไม่เคยหาเงินได้เป็นจำนวนพัน จะหาเงินได้ก็เป็นจำนวนร้อยเท่านั้น...

อาหารเที่ยงมื้อละ 2 บาท 63 สตางค์

          ครูในโรงเรียนนี้มี 3 คน สอนเด็กประถม ป.1-ป.6 ราว 118 คน เด็กมีอาการขาดสารอาหารทั้งหมด หรือที่เราเรียกว่า ทุโภชนาการนั่นเอง แต่โรงเรียนได้ค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็ก 31 คนเป็นจำนวนเงิน 310 บาทต่อวันเท่านั้น (ค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนมาตรฐานอยู่ที่มื้อละ 10 บาทต่อคน) คุณครูก็เลยต้องใช้เงิน 310 บาททำอาหารเลี้ยงเด็ก 118 คนทุกวัน อย่างเช่น ทำข้าวต้มใส่หมู หมี่ผัดใส่ไข่ พะโล้เน้นเต้าหู้ โดยเพิ่มข้าวเป็นหลักเพื่อจะได้พอเพียงสำหรับนักเรียนทุกคน ถ้าเราลองคำนวณดูก็เท่ากับว่าค่าอาหารกลางวันของเด็กที่นี่ตกคนละ 2 บาท 63 สตางค์เท่านั้น... ผมรู้สึกสะท้อนใจขึ้นมาทันทีว่า สำหรับคนในเมือง เงินจำนวน 2-3 บาทนั้นใช้ซื้ออะไรได้บ้าง? และส่วนใหญ่แล้วเราใช้เงินของเราหมดไปกับเรื่องอะไรบ้าง?...

เด็กกินข้าวกับน้ำ แต่หลายคนยังเทข้าวทิ้ง !

          “ประสบการณ์นี้อาจจะไม่ประทับใจ แต่ว่ามันตรึงใจ... หนูได้รู้ว่า ขณะที่หลายคนเทข้าวทิ้งอย่างไม่เสียดาย ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำงานแทบตาย เพื่อหาเงินมาซื้ออาหาร และบางครั้งต้องทานข้าวกับน้ำและเกลือ...

          หนูนับถือเขามาก รวมทั้งครอบครัวของเขาด้วย และสิ่งหนึ่งที่หนูได้คิดคือ จะใช้เงินมากน้อยไม่สำคัญ แต่ให้มันคุ้มกับจำนวนที่ต้องจ่ายไปกับสิ่งที่ได้มา คนบางคนทำงานหลายชั่วโมงกว่าจะได้เงิน 20 บาท แต่บางคนเสียเงิน 20 บาท และเวลา 1 ชั่วโมงกับเกมคอมพิวเตอร์ วิถีทางมันสวนกันมาก หนูคิดว่าหนูคงไม่เป็นแบบนั้น และก่อนจะใช้เงินครั้งใดๆ หนูคงใช้ความคิดไตร่ตรองมากขึ้น และคิดถึงพวกเขาเหล่านั้น ที่ทานข้าวกับนำและเกลือ” โดย เด็กอิงพายเรือ

          นี่เป็นบันทึกจากเยาวชนหญิงคนหนึ่งที่ไปกับเรา การพบกับเรื่องราวความเป็นจริงทำให้เธอย้อนมองกลับมายังชีวิตของเธอเอง และเกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในส่วนลึกของจิตใจ... นักศึกษาอีกหลายๆคนก็เริ่มคิดว่า แทนที่เราจะใช้เงินกินๆเที่ยวๆอย่างฟุ่มเฟือย อย่างกินชาเขียวขวดละ 20 บาท ถ้าเรานำเงินมาเป็นค่าอาหารกลางวันให้น้องๆที่ยากจนได้ 6-7 คน หรือถ้าจะให้น้องได้ค่าอาหารกลางวันตามมาตรฐานก็เป็นค่าอาหารกลางวันได้ 2 คน

เด็ก 10 ขวบถ่ายรูปได้ระดับมืออาชีพ

          วันหนึ่งผมเห็นเด็กๆที่นี่ปั้นดินน้ำมันเป็นรูปกล้องถ่ายรูป แล้วมาขอถ่ายรูปพี่ๆ... ก็เลยจุดประกายขึ้นมาในใจผมว่า ถ้าสอนให้เด็กถ่ายรูป รูปจะออกมาเป็นอย่างไร ในสายตาเด็กนั้นเด็กมองเห็นอะไรบ้าง... ผมก็เลยเริ่มสอนเด็กๆให้ถ่ายรูป มีตั้งแต่เด็ก 5 ขวบจนถึงเด็ก 10 ขวบ...

          แล้วผมก็พบกับความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก... รูปที่เด็กๆถ่ายออกมาเป็นรูปที่มีชีวิตชีวา สวยงามมากอย่างที่ผมไม่เคยคาดคิดมาก่อน... หลายๆรูปเป็นรูปที่ดูเป็นแบบมืออาชีพเลยทีเดียว... อย่างรูปประกอบในบทความนี้ ก็เป็นฝีมือของเด็กๆที่นี่ เด็กที่ยากจนที่กินข้าวกับเกลือ กินข้าวกับน้ำนี่แหละครับ... มีสิ่งดีที่ซ่อนอยู่ มีศักยภาพ มีพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ภายใน... เพียงแต่ว่าเด็กเหล่านี้จะมีโอกาสเหมือนเด็กอื่นๆหรือไม่?

ไม่ใช่เพราะเราดีกว่าเขา แต่เพราะมีโอกาสมากกว่า

น้องนักศึกษาผู้เข้าร่วมค่ายครั้งนี้คนหนึ่งใช้นามปากกาว่า “ซีริน” กล่าวว่า

          “เมื่อได้ใช้ชีวิตนอนกะดินกินกะทราย ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีคลื่นโทรศัพท์ พบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การทำงานของชาวบ้านที่นี่ ทำให้เราเห็นค่าในสิ่งต่างๆมากขึ้น...

          เราได้อยู่ดีกว่าเค้า(มีน้ำมีไฟ มีอาหารกินพร้อมสรรพ)  ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนดีกว่าเค้า แต่เพราะมีโอกาสมากกว่า  โชคดีกว่าได้อยู่ในครอบครัวที่มีพร้อม

          เราได้เรียนสูงกว่าไม่ใช่ว่าเพราะเราฉลาดกว่า (จบปริญญา แต่เค้าได้เรียนแค่ ป. 6) แต่แพราะเรามีโอกาสมากกว่าต่างหาก... เมื่อเรามีโอกาสที่ดีกว่า เราควรนำโอกาสนี้ แบ่งปันให้คนที่มีโอกาสน้อยกว่า...ต่อไป”

หาเงินให้ได้เยอะๆเพื่อตนเอง แต่ยังมีคนอดอยาก?

          “เคยคิดว่า จะเรียนสูงๆ ทำงานหาเงินให้ได้เยอะๆมาเพื่อตนเอง ซื้อหาของที่ตนต้องการให้มากที่สุด แต่ในความเป็นจริงมีคนอื่นอีกมากที่อดอยากมากกว่าเรา ดังนั้นเราจึงควรใช้ความรู้ที่เราเรียนมาให้มีประโยชน์มากกว่าแค่ทำเพื่อตนเองอย่างเดียว พยายามหยิบยื่นโอกาสให้ผู้ขาดโอกาสบ้าง...” น้องซีรินแบ่งปันเพิ่มเติมทิ้งไว้ให้หลายๆคนคิด...

ก้าวต่อไปของชีวิต

          ผมลงจากดอยได้ยินเรื่องราวของเด็กหลายๆคนในเมือง มีเด็กที่กินลูกชิ้น ซึ่งแม้ว่าจะเป็นลูกเล็กๆ แต่ก็กินได้ถึง 14 ไม้ และมีเด็กที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์มากมาย ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องธรรมดาๆของชีวิตเด็กในเมืองก็ตาม... ผมก็ยังรู้สึกสะเทือนใจอยู่ไม่น้อยเมื่อย้อนคิดถึงชีวิตเด็กๆบนดอยที่ผมเพิ่งจะจากมา... และทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ เผื่อว่าจะจุดประกายในหัวใจของผู้คนรอบข้าง ให้ย้อนมองชีวิต และเห็นคุณค่าในสิ่งดีที่มีอยู่ของตนเองว่า สิ่งดีที่มีอยู่ในหัวใจของทุกๆคนนั้น มีคุณค่าคู่ควรแก่การมอบให้กัน... มีคุณค่าคู่ควรแก่การแบ่งปันกัน... เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนนั่นเอง...

          และแม้ว่าเราจะเป็นเพียง คนเล็กๆคนหนึ่ง แต่เราก็เริ่มทำอะไรบางอย่างได้อย่างมีความหมาย... ก็อย่าง ด.ต.วิชัย สุริยุทธ คนธรรมดาๆคนหนึ่ง ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ถูกหาว่าเป็นคนบ้าเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นผู้ที่ปลูกป่ามาแล้วกว่า 2,000,000ต้น (2ล้านต้น) ด้วยปณิธานในหัวใจที่ว่า “...ปลูกต้นไม้ไปเรื่อยๆ ปลูกไปจนกว่าจะตายนั้นแหละ...”ด.ต.วิชัยกล่าวอย่างหนักแน่นว่า


          “ผมยึดหลัก ทำเพื่อความสุขของผู้อื่น ทำให้คนที่ไม่รู้ ทำให้คนที่เสียโอกาส ผมจะปลูกต้นไม้ ไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ผมไม่ได้ปลูกแต่ต้นยางนา คูน ตาล เท่านั้น ผมปลูกขี้เหล็ก สะเดา กระถิน ตะไคร้ โตแล้วให้ดอกออกผลก็เป็นของชาวบ้าน ใครจะกินก็มาเก็บเอา บางคนเก็บไปขาย ส่งลูกเรียน ผมเห็นแล้วก็ชื่นใจ ผมมีความสุขทุกขั้นตอน ตั้งแต่เอาเมล็ดพันธุ์ใส่ถุง แบกจอบ หิ้วขึ้นมอเตอร์ไซค์ ขี่ไปปลูกจนเสร็จสิ้นกระบวนการ ผมจึงตั้งใจปลูกต้นไม้ไปเรื่อยๆ จนกว่าชีวิตจะหาไม่”
--------------------------------------------------------------------------------

ซึ้งถึงคำว่าแม่

          “ประสบการณ์ที่มีความหมายและประทับใจมากที่สุด คือ เราได้กลายเป็นแม่ เพราะมีน้องคนหนึ่งชื่อน้องปลา เราก็ไปเล่นกับน้องเค้า กินข้าวกับน้องเค้า ทำอะไรหลายๆอย่างร่วมกัน จนน้องเรียกเราว่า “แม่หมา” และก็บอกว่า “ถ้าพี่เป็นแม่หมา หนูก็จะเป็นลูกหมา” ทั้งๆที่เด็กผู้ชายซึ่งเรียกกันว่าเป็น “ลูกหมา” จะไม่ค่อยถูกกับเด็กผู้หญิงซึ่งเรียกกันเป็น “แม่หมู” เท่าไร ...หลังๆน้องเค้าก็เรียกเราว่าแม่เฉยๆ... เรารู้สึกว่าเค้าอยากอยู่ใกล้เราตลอดเวลา มากอด มาหอมเหมือนเค้าเป็นลูกเราจริงๆ ทำให้รู้ซึ้งถึงคำว่า “แม่” และรู้ว่าเด็กๆน่ารักแค่ไหน... เป็นความประทับใจที่จะที่มีคนรักเราและทำให้เรารักได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งๆที่เจอกันได้ไม่นาน...”  ฝ้าย

____________________________
คอลัมน์ไต่ตามโค้งตะวัน. อุดมศานต์ พฤษภาคม 2549.

         ท่านที่สนใจจะสนับสนุนค่าอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน โรงเรียนบ้านแม่แฮเหนือ สาขาแม่แจ๊ะ ติดต่อได้โดยตรงที่ อาจารย์บุญศรี สาสุจิตร โทร 053-378154 (กลางคืน 19.00-20.00 น.) ในกรณีส่งธนาณัติ สามารถส่งไปได้ที่ บ้านเลขที่ 45 หมู่ 1 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ 50250 ป.ณ.สะเมิง

หมายเลขบันทึก: 93409เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2007 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท