ตัวอย่างการจัดกระบวนการเรียนรู้


การจัดการเรียนรู้
๑. การสำรวจความต้องการ ขั้นแรกควรศึกษาธรรมชาติและกำหนดความต้องการของผู้เรียนโดยการซักถาม สังเกต สัมภาษณ์ พูดคุย หรือทำแบบทดสอบก่อนเรียน เพื่อสร้าง/กระตุ้นความสนใจ สำรวจความสนใจและพื้นฐานความรู้เดิมของผู้เรียนรายบุคคล รวมทั้งศึกษาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ในมาตรา ๒๒ เป็นแนวสำหรับการดำเนินการ

๒. การเตรียมการ ครูต้องเตรียมศึกษาสาระเนื้อหาวิชาในหลักสูตรและ จุดประสงค์ของการเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าหลักสูตรต้องการอะไร แค่ไหน มีจุดประสงค์ของการเรียนรู้อย่างไร และทำไมจึงต้องการอย่างนั้น เพื่อการวางแผนจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีความต่อเนื่อง เชื่อมโยงกัน และหากเป็นไปได้ควรเชื่อมโยงและบูรณาการสาระการเรียนรู้แต่ละวิชาที่สัมพันธ์กันเข้าด้วยกัน เพื่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง และให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงให้มากที่สุด ทั้งนี้ครูต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ตามความสนใจและความถนัดอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองตามความถนัดและความสนใจรายบุคคล เนื่องจากครูไม่ใช่ผู้บอกผู้สอนอย่างเดียว ครูจึงต้องเตรียมแหล่งข้อมูลทั้งที่เป็นสื่อการเรียน ใบความรู้ ใบงาน และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่มีข้อมูลความรู้ ที่ผู้เรียนสามารถเลือกศึกษา ค้นคว้าตามความต้องการ การสำรวจแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์กีฬาและนันทนาการ เป็นต้น

๓. การดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น
- ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
- ขั้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
- ขั้นวิเคราะห์อภิปรายผลงาน องค์ความรู้ ที่สรุปได้จากกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
๓.๑ นำเข้าสู่บทเรียน ขั้นนี้ครูควรใช้ประเด็นคำถามสถานการณ์หรือกิจกรรมที่กระตุ้นหรือท้าทายให้ผู้เรียนเกิดความสงสัยใคร่รู้ ครูควรเป็นกัลยาณมิตรของผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่า ครู คือ เพื่อนที่ช่วยเหลือเขาได้ในทุกเรื่อง ครูต้องรู้จักผู้เรียนรายบุคคลเป็นอย่างดี เพื่อใช้ความถนัด ความสนใจ ลีลาการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นจุดกระตุ้นศักยภาพของแต่ละบุคคลและดึงดูดให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นและเต็มใจ
๓.๒ ขั้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ครูเป็นบุคคลที่สำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ มุ่งจัดกิจกรรมและสร้างบรรยากาศที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิต โดยใช้สื่อที่หลากหลายในลักษณะขององค์รวมที่เหมาะสมกับความสามารถในการเรียนรู้และความสนใจของผู้เรียน คำนึงถึงการใช้สมองทุกส่วน โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมเสนอกิจกรรมและลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน สรุปความรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ทั้งสมาชิกภายในกลุ่มและสมาชิกระหว่างกลุ่มเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการแสวงหาความรู้ การเรียนการสอนไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวอยู่ในพื้นที่ห้องสี่เหลี่ยมในอาคารเป็นที่เรียนเสมอไป เพราะจะเป็นการทำให้ผู้เรียนรู้สึกเครียดกับบรรยากาศ พยายามเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียน ประเภท ทุ่งนา ฟ้ากว้าง กลางป่า ก้อนกรวด ดิน หิน ทราย ดอกไม้ สายลม และวัสดุธรรมชาติให้มาก เด็ก ๆ จะได้เคลื่อนไหวอย่างสนุก-สนาน และเรียนรู้ไปพร้อมกัน
๓.๓ ขั้นวิเคราะห์ อภิปรายผลงาน/องค์ความรู้ ที่สรุปได้จากกิจกรรมการเรียนรู้ ครูและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายผลที่เกิดจากกิจกรรมการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยเน้นให้ผู้เรียนเกิดการค้นพบองค์ความรู้ด้วยตัวเอง ครูเป็นผู้สังเกต เพื่อให้ข้อมูลย้อนกลับให้องค์ความรู้ที่ได้รับชัดเจนเป็นการเสริมแรงและกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจการค้นหาความรู้ต่อไป
๔. การประเมินผล
การประเมินผลสำเร็จของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุดนั้น เป็นการประเมินซึ่งมุ่งเน้นผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยครูจะต้องศึกษามาตรา ๒๖ ของ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ในสาระและจุดเน้น การประเมินเกี่ยวกับพัฒนาการเรียนของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ และการทดสอบเพื่อพัฒนาและค้นหาศักยภาพ จุดเด่น จุดด้อยของผู้เรียน และตรวจสอบว่ากระบวนการเรียนรู้ ได้พัฒนาผู้เรียน ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้หรือไม่ อีกทั้งผลการเรียนของผู้เรียนจะเป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพการสอนของครูด้วย ดังนั้น การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญต้องวัดและประเมินให้ครอบคลุมทุกด้านทั้งในส่วนของกระบวนการและผลงาน ทั้งด้านความรู้ ด้านความรู้สึก และทักษะการแสดงออก ทุกด้าน และประเมินตามสภาพจริง ซึ่งในการประเมินผล สามารถประเมินระหว่างการเรียนการสอน และประเมินสรุปรวม โดยมีขั้นตอนในการประเมิน ดังนี้

 
๔.๑ กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการประเมิน
๔.๒ พิจารณาขอบเขตเกณฑ์ วิธีการและสิ่งที่จะประเมิน ตัวอย่าง เช่น
- ประเมินพัฒนาการด้านศิลปะและดนตรี คณิตศาสตร์ ภาษา วิทยาศาสตร์ พัฒนาการทางร่างกาย พัฒนาการของบุคลิกภาพ เป็นต้น
- ขอบเขตที่จะประเมิน เช่น ด้านความรู้ ทักษะ ความรู้สึก และคุณลักษณะ เป็นต้น
๔.๓ พิจารณากำหนดองค์ประกอบ และผู้ประเมินว่ามีใครบ้างที่จะเป็นผู้ประเมิน เช่น นักเรียนประเมินตนเอง เพื่อนนักเรียน ครูประจำชั้น ผู้ปกครอง ชุมชน หรือผู้เกี่ยวข้อง เป็นต้น
๔.๔ เลือกใช้เทคนิคและเครื่องมือในการประเมินหลากหลายเหมาะสมกับวัตถุ-ประสงค์และเกณฑ์ในการประเมิน เช่น การทดสอบ การสัมภาษณ์ การบันทึกพฤติกรรม แบบสำรวจความคิดเห็น บันทึกจากผู้เกี่ยวข้อง แฟ้มสะสมผลงาน ฯลฯ
๔.๕ กำหนดเวลาและสถานที่ที่จะประเมิน เช่น ประเมินระหว่างนักเรียนทำกิจกรรม ระหว่างการทำงานกลุ่ม/โครงการ วันใดวันหนึ่งของสัปดาห์ เหตุการณ์ / งานพิเศษ ฯลฯ
๔.๖ วิเคราะห์ผลและจัดการข้อมูลการประเมิน
- รายการกระบวนการ
- แฟ้มสะสมผลงาน
- การบันทึกข้อมูล
๔.๗ สรุปผลการประเมินเพื่อพัฒนาและปรับปรุงข้อบกพร่องการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนรวมทั้งปรับปรุง กิจกรรมการเรียนการสอน ในกรณีที่เป็นการประเมินสรุปรวมเพื่อพิจารณาตัดสินการเลื่อนชั้น โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดให้ นำผลการประเมินระหว่างเรียนมาประกอบการพิจารณาด้วย
๕. การสรุปและนำไปประยุกต์ใช้
เป็นขั้นการตกผลึกของกระบวนการเรียนรู้รายบุคคล กล่าวคือ ผู้เรียนแต่ละคนจะเกิดการมองสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นองค์รวม มองอย่างเชื่อมโยง หยั่งรู้ เกิดการค้นพบตัวเอง ว่ามีความสามารถ มีจุดเด่นจุดด้อยทางด้านใด ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน หลังจากที่เขาได้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้และการแสดงออกตามกระบวนการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งพิจารณาได้จากการหาข้อสรุปจากบทเรียน โดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะเพิ่มเติม การแลกเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้การสะท้อนความคิด การแสดงผลงาน การจัดนิทรรศการ การแสดงออกในลักษณะละคร การนำข้อค้นพบ การปรับปรุงตนเองของผู้เรียน เช่น การปรับปรุงบุคลิกภาพ การเข้ากับคนอื่นได้ การเข้าใจผู้อื่น การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ในสถานการณ์ต่าง ๆ การเคารพสิทธิผู้อื่น ตลอดจนการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และการดำรงชีวิตประจำวัน

 

  

หมายเลขบันทึก: 92058เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2007 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท