ความตายในทัศนะของพระพุทธศาสนา


ความตายในทัศนะของพระพุทธศาสนา

 

 

ความตายในรูปของการเปลี่ยนแปลง
        พุทธศาสนาเชื่อว่า ชีวิตมีอยู่ เป็นอยู่ เพราะมีปัจจัยต่างๆ มาประกอบกันอย่างเหมาะสม และปัจจัยสำคัญก็คือ ขันธ์ ๕ ดังที่ได้แสดงมาแล้ว ตามความเชื่อนี้ ความตายก็เป็นอะไรอื่นไปไม่ได้นอกจากคือความสิ้นไปแห่งปัจจัยเหล่านั้น หรือมิฉะนั้นก็เป็นการประกอบส่วนที่ผิดเพี้ยนไป อันเกิดจากความไม่เที่ยงและความไม่มีตัวตน ของปัจจัยเหล่านั้น นี่เป็นหลักกว้างๆ ที่อิงอยู่กับหลักธรรมเรื่อง ไตรลักษณ์ และหลักธรรมเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา ที่ว่าด้วยความเป็นเหตุเป็นผลแบบ อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย ทำนองว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงดับไป
        ความสิ้นไปแห่งเหตุปัจจัยนั้น อาจมองว่าเป็นเพียงมิติหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะที่ชีวิตยังมีอยู่ ความเปลี่ยนแปลงนี้ คือกระบวนการที่ทั้งความเกิดและความดับ เกิดต่อเนื่องสลับกันไป มองในแง่นี้ ในชีวิตก็มีทั้งการเกิดการดับอยู่ตลอดเวลา การเกิดและการดับ ในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตหมดไป คือ ไม่ตาย ในความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป แต่ก็แน่นอนว่าย่อมทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปได้ทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรม ดังจะเห็นได้จากการที่หน้าตาและร่างกายของเราเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ถ้าถือว่าเป็นการตาย นี่ก็คือการตายจากสภาวะหนึ่งแล้วไปเกิดในอีกสภาวะหนึ่ง เช่น จากเด็กเล็กเป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ และเป็นคนชรา เป็นต้น ในความตายแบบนี้เหตุปัจจัยแห่งชีวิตไม่ได้หมด และชีวิตก็ไม่ได้สิ้นไปจริงๆ เพียงแต่เปลี่ยนแปลงสภาวะไปเท่านั้น
แต่ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ทำให้สิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยของชีวิตหมดไป ก็ถือว่าเป็นความตาย ตามหลักความเชื่อในพุทธศาสนา ความเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัยที่ทำให้ชีวิตหมดไป (คือตาย) อาจเกิดได้ในกรณีต่อไปนี้ (พระมหาบุญมี มาลาวชิโร, ๒๕๔๗; พระดุษฎี เมธังกุโร, ๒๕๔๔)
        ๑. สิ้นอายุขัย (อายุกขยมรณะ) คือ ตายเพราะสิ้นอายุ ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เกิดมา กล่าวคือ ทุกสิ่งตกอยู่ในกฎแห่งการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป ชีวิตของมนุษย์ที่เกิดมานั้น แม้จะไม่มีโรคภัยหรือเหตุอื่นให้เสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร ก็ดำรงอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะเปรียบก็คงจะเหมือนชิ้นส่วนอีเลคโทรนิคชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีอายุการใช้งานจำกัดอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อพ้นจากนั้นไป ชิ้นส่วนนั้นก็หมดสภาพ คือไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ต่อไป ชีวิตของคนเราก็คล้ายกัน นั่นคือมีอายุขัยที่จำกัด นอกจากนี้ อายุขัยของคนเรายังไม่เท่ากัน และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย 5 ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่สนับสนุนและเอื้ออำนวยหลายด้าน เช่นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ สภาพแวดล้อมในการทำงาน และรูปแบบตลอดจนพฤติกรรมการดำรงชีวิตเป็นต้น
        การตายเพราะสิ้นอายุขัยนั้น อาจเปรียบได้กับตะเกียงที่ไส้หมด แม้น้ำมันจะยังเหลืออยู่ แต่ก็ไม่สามารถจะให้เปลวไฟที่มีแสงสว่างต่อไปได้
        ๒. สิ้นกรรม (กัมมักขยมรณะ) คือ ตายเพราะสิ้นกรรม กรรมนั้นคือการกระทำซึ่งมีผลสืบเนื่องตามมา (consequences) อาจเป็นกรรมที่ทำในอดีต ซึ่งอาจไกลออกไปจนถึงในอดีตชาติ หรืออาจเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบัน เช่น การดูแลอนามัยเป็นต้น และอาจเป็น กุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าการกระทำที่ได้ทำลงไปนั้นเป็นฝ่ายดีหรือไม่ดี กรรมที่ทำไว้นั้นมีหน้าที่ช่วยสนับสนุนรูปและนาม (ชีวิต) ในภพที่เราเกิดมา เมื่อผลกรรมสิ้นไป ชีวิตก็สิ้นไป เปรียบเหมือนตะเกียงที่น้ำมันหมด แม้ไส้ตะเกียงจะยังเหลืออยู่ เปลวไฟและแสงสว่างก็หมดไป
        ๓. สิ้นทั้งอายุและกรรม (อุภยักขยมรณะ) คือ ทั้งอายุขัยและกรรม สิ้นไปในเวลาเดียวกัน การตายในกรณีเช่นนี้ จะเห็นได้เช่น การตายของผู้สูงอายุที่แก่หง่อม รูปและนาม (ร่างกายและจิตใจ) หมดสภาพ อีกทั้งกรรม คือ การกระทำที่จะเป็นแรงสนับสนุนให้รูปและนามทำหน้าที่ของมัน ก็หมดไป เปรียบเหมือนตะเกียงที่ทั้งน้ำมันและไส้หมดไปด้วยกัน
        ๔. มีเหตุหรือกรรมอย่างอื่นมาตัดรอน (อุปัจเฉทมรณะ) ทำให้ชีวิตสิ้นไปกะทันหัน ทั้งที่น่าจะอยู่ต่อไปได้ ในกรณีนี้ ทั้งอายุและกรรมยังไม่หมด แต่เกิดเหตุทำให้เสียชีวิตกะทันหัน เช่นการตายด้วยอุบัติเหตุ หรือโรคระบาดเฉียบพลันร้ายแรง ท่านเปรียบการตายในกรณีเช่นนี้เหมือนกับตะเกียงที่ทั้งน้ำมันและไส้ยังคงมีอยู่ แต่ไฟดับไปเพราะเหตุอื่น เช่น มีลมพัดมาแรง (เหตุภายนอก) จนทำให้เปลวไฟดับไป เป็นต้น
        ไม่ว่าความตายจะเกิดขึ้นในกรณีใด สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ในทุกกรณีล้วนมีเหตุปัจจัยที่สามารถอธิบายได้ และความตายในทุกกรณีเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลง

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 88302เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2007 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 01:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีเหตุผลในตัว ไม่ต้องคิดสงสัยในความหมายของข้อความ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท