ห้องสมุดยุคใหม่


ห้องสมุด
ตอนนี้ ผู้คนในตลาดต่างประเทศเริ่มคุ้นเคยกับ Mobile Library หรือห้องสมุดเคลื่อนที่ได้กันมากขึ้นแล้ว หลังจากที่บริการดังกล่าวเริ่มพัฒนาและโปรโมตกันอย่างจริงจัง เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ปัญหาพื้นฐานของงานบริการห้องสมุดในอดีต มีอยู่มากมาย นับตั้งแต่หนังสือที่ถูกทำลายไปตามกาลเวลา การใช้งานที่ไม่ระมักระวัง ถูกขโมย การเพิ่มจำนวนชั้นและขนาดของพื้นที่สำหรับจัดเก็บ ขึ้นไปเรื่อย ๆ พร้อมกับจำนวนโต๊ะและเก้าอี้ให้คนนั่ง ไปจนถึงโอกาสเสี่ยงที่อาคารจะถูกไฟไหม้ ทำให้หนังสือได้รับความเสียหาย

ปัญหาในด้านของลูกค้าก็มีเหมือนกัน จากการที่ลูกค้าไม่สามารถไปห้องสมุดได้บ่อยดังที่ต้องการไป หรือแม้จะมีความจำเป็นต้องไป โดยการสำรวจพบว่า ลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักอ่าน มีความต้องการจะไปห้องสมุดเพื่ออัพเดต หนังสือใหม่ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์

นอกจากนั้น กิจการห้องสมุดจะสามารถอยู่รอดได้ ต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเหมือนกับบริการอื่นๆ นั่นคือ พยายามวิ่งเข้าไปหาลูกค้าให้มากที่สุด นั่นคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ห้องสุดให้บริการได้ใกล้ตัวลูกค้าเป้าหมายได้มากที่สุด

การสร้างห้องสมุดชั่วคราวเพื่อให้บริการใกล้กับที่อยู่ของลูกค้า จึงพัฒนามาจนถึงยุคของห้องสมุดเคลื่อนที่ ที่ตระเวนออกไปให้บริการตามสถานที่ต่างๆ เวียนกันไปเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่จะจอดแวะตามสวนสาธารณะ หรือที่จอดรถ ในระหว่างวันถึง 20.00 น.

นอกจาก ห้องสมุดเคลื่อนที่แล้ว คู่แข่งสำคัญของกิจการห้องสมุดตอนนี้ ยังมีห้องสมุดดิจิตอล ที่บรรจุข้อมูลหนังสือไว้ในระบบออดิโอ หรือ e-book เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดหนังสือได้จากบ้านของตนเองด้วย

ด้วยเหตุนี้ ห้องสมุดเคลื่อนที่จึงนำเอาอี-บุคหรือออดิโอ บุ๊ค มาผสมผสานกับห้องสมุดเคลื่อนที่ เพื่อให้บริการได้มากในเนื้อที่จำกัดของพาหนะที่ใช้

การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาพัฒนาบริการด้านห้องสมุด เป็นเรื่องที่เอาจริงเอาจังมากขึ้นในทุกวันนี้ และทำท่าว่าจะทำให้บริการด้านห้องสมุดปรับโฉมหน้าไปอย่างมากมายในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะตัวช่วยมีมากมาย ซึ่งใช้ได้ดีและประสบความสำเร็จมาแล้ว ในวงการเพลง รวมทั้งดีวีดี และการดาวน์โหลดเพลงผ่านอุปกรณ์พกพา โดยให้การ์ดแก่ลูกค้าที่เป็นสมาชิกในการใช้บริการจากห้องสมุดได้ รวมทั้งการดาวน์โหลดหนังสือที่ต้องการอ่านด้วย

นักการตลาดพบว่า แนวโน้มของการใช้ระบบโมบายเพื่อการแสวงหาข้อมูลได้รับการยอมรับ และกลายมาเป็นพฤติกรรมที่คุ้นเคยของผู้บริโภครุ่นใหม่และคนทำงานมากขึ้น

ประโยชนที่ผู้ให้บริการห้องสมุดจะได้จากการใช้ห้องสมุดโมบาย นอกเหนือจากการเขาถึงลูกค้าเก่าและใหม่ ก็คือ การประหยัดเวลาและต้นทุนในการบริหารงานห้องสมุดขนาดใหญ่เกินความต้องการของลุกค้าทุกคน ทำให้สามารถดำเนินงานการตลาดแบบเจาะจงหรือ นิชมาร์เก็ตได้มากขึ้น ด้วยการจัดสรรหนังสือออกเป็นหมวดหมู่สำหรับตอบสนองความต้องการด้านข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกันของกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ

จากการดำเนินงานของห้องสมุดเคลื่อนที่ในอังกฤษ พบว่าการเดินทางออกไปให้บริการแต่ละครั้ง สามารถรวบรวมหนังสือไปให้บริการได้ถึง 2,100 รายการ จากเว็บไซต์ของห้องสมุด เรียงลำดับไปตั้งแต่หนังสือขายดีที่สุด ไปจนถึงหนังสือหายาก

รูปแบบการให้บริการที่เปิดเป็นการ์ดให้เข้าไปค้นหาหนังสือ และดาวน์โหลดมาอ่านนี้ อาจจำกัดด้วยจำนวนวันที่ใช้บริการหรือจำนวนครั้ง ซึ่งหากพ้นกำหนดไปแล้ว จะไม่สามารถใช้การ์ดเดิมเปิดอ่านหนังสือได้อีก และหนังสือเล่มนั้นจะถูกส่งกลับไปที่ศูนย์กลาง เพื่อให้สมาชิกคนอื่นอ่านต่อไป เท่ากับลดขั้นตอนการลำเลียงหนังสือคืนชั้น และติดตามล่านักอ่านที่ไม่ยอมคืนหนังสือตามเวลาที่กำหนด และยังไม่มีความเสียหายกับหนังสือหากใช้การดาวน์โหลดทางระบบออดิโอ

มีการประมาณการว่า การให้บริการหนังสือเคลื่อนที่นี้ จะทำให้เกิดต้นทุนราว 60,000 ดอลลาร์สำหรับเวลา 3 ปี ซึ่งถูกกว่าต้นทุนการให้บริการที่ต้องอาศัยพื้นที่และการดูแลรักษามหาศาล และสามารถใช้เงินจำนวนเท่าเดิมหาหนังสือไว้ให้บริการได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว ขณะที่อัตราการหมุนเวียนของหนังสือลดลงจาก 4 สัปดาห์ต่อรอบ เหลือเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ทำให้ประสิทธิภาพในส่วนนี้เพิ่มขึ้นด้วย

อนาคตของบริการห้องสมุดในต่างประเทศ มีแนวโน้มที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจจับมิให้ผู้ใช้บริการดาวน์โหลดหนังสือเกินกว่า 3 เล่มที่เป็นจำนวนสูงสุดที่จำกัดไว้ หรือสามารถใช้บริการดาวน์โหลดหนังสือของนักเขียนหน้าใหม่ฟรีเป็นการทำแคมเปญโปรโมตบริการได้เหมือนกับกิจการอื่น

พัฒนาการของบริการห้องสมุดเกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนทางด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความแพร่หลายของการใช้คอมพิวเตอร์ตามบ้านเรือน

แต่นั่นคงไม่ได้หมายความว่าห้องสมุดที่เป็นตัวอาคารจริงจะสูญหายไป เพราะมีเพียงลูกค้าบางส่วนที่ต้องการบริการห้องสมุดเคลื่อนที่ ในขณะที่ลูกค้าจำนวนมากยังต้องการนั่งสบายๆ เพื่ออ่านหนังสือให้ได้อรรถรสในห้องสมุดที่คุ้นเคยต่อไป  
คำสำคัญ (Tags): #บรรณารักษ์
หมายเลขบันทึก: 88033เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2007 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท