Stevens-Johnson syndrome


Stevens-Johnson syndrome

            เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา กลุ่มงานเภสัชกรรมได้รับแจ้งจากตึกนิลว่า มีผู้ป่วยสงสัยว่าจะแพ้ยาแต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นตัวใด กลุ่มงานฯ จึงได้ส่งเภสัชกรเข้าไปพบผู้ป่วยเพื่อดูอาการในเบื้องต้น พบว่าลิ้นของผู้ป่วยมีลักษณะลอกเป็นแผ่นขาวคล้ายผิวถูกน้ำร้อนลวก ริมฝีปากบวมหนามีแผลหลุดลอกและตกสะเก็ดในบางจุด ลิ้นคับปากพูดไม่ค่อยถนัด นอกจากนี้ยังมีผื่นบริเวณคอบ้างเล็กน้อย จากการซักประวัติเพิ่มโดยแพทย์ประจำตึกทำให้ทราบว่า ผู้ป่วยมีแผลที่อวัยวะเพศด้วย โดยเป็นแผลพุพองเช่นเดียวกับบริเวณในช่องปาก ตรวจสอบประวัติการได้รับยาของผู้ป่วยมีดังนี้
                   2  มีนาคม 2550   Vit B co tablet  1x3  pc
                   6  มีนาคม 2550   Diazepam inj.
                   7  มีนาคม 2550   Dilantin  3 hs , B co 1x3 pc , Amitriptyline 25 mg  1 hs

             ผู้ป่วยเริ่มมีอาการผิดปกติตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2550 เป็นต้นมา ได้รับแจ้งจากพยาบาลผู้ดูแลว่าผู้ป่วยมีแผลพุพองและเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ และได้ให้การพยาบาลตามอาการมาจนกระทั่งถึงวันที่ 12 มีนาคม 2550  แพทย์จึงได้สั่งหยุดยา Dilantin ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุของการแพ้และให้ยารักษาอาการแพ้ยาดังกล่าวตามอาการแพ้ ซึ่งได้แก่ Prednisolone 5 mg tablet 4x3 pc , Atarax tablet 1x3 pc, Dexamethasone injection  4 mg IV ทุก 6 ชั่วโมง  หลังจากหยุดยา Dilantin และได้รับยารักษาอาการแพ้แล้วผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ แผลดีขึ้น ผื่นดีขึ้น จนกระทั่งในวันที่  16 มีนาคม 2550  แพทย์ได้ปรับยา Prednisolone จาก 4x3 pc เป็น 3x3 pc  และในวันที่เขียนเรื่องนี้อยู่นั้น ได้รับคำยืนยันจากพยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยว่าอาการผู้ป่วยยังคงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคงต้องใช้เวลาสักระยะเพื่อรักษาแผลให้หายเป็นปกติ  จากอาการดังที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถระบุในเบื้องต้นได้ว่าผู้ป่วยน่าจะเกิดอาการแพ้ที่เรียกว่า Stevens-Johnson syndrome 

                 เราจะมาทำความรู้จักกับ Stevens-Johnson syndrome กันนะคะ โดยหลังจากผู้ป่วยได้รับยาที่แพ้ก็จะมีอาการผิดปกติขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอ ปวดข้อ ผื่นที่ขึ้นระยะแรกอาจเป็นผื่นแดงบริเวณกว้าง ๆ เป็นจุดล็ก ๆ และเป็นปื้นใหญ่ตรงกลาง ต่อมาเริ่มมีตุ่มน้ำ และผิวหนังมีการหลุดลอกบริเวณเยื่อบุอ่อน เช่น ในปาก เยื่อบุตา อวัยวะเพศ มักเกิดเป็นแผลพุพองมากกว่าหนึ่งแห่ง และจะเกิดขึ้นก่อนที่จะมีผื่นตามตัว ยาที่อาจเป็นสาเหตุคือยากลุ่ม Sulfa  ยากันชักเช่น Dilantin , Phenobarb , Carbamazepine  และกลุ่มยารักษาอาการทางข้อและกระดูก เช่น Piroxicam  หรือแม้กระทั่งยากลุ่ม Antibiotic ตัวอื่น เช่น กลุ่ม Penicillin

                สำหรับยาในสถาบันฯ ที่พบว่าเคยมีผู้ป่วยเกิดอาการแพ้แบบนี้ ได้แก่ Brufen และ Dicloxacillin จึงอยากจะขอความร่วมมือจากพี่ ๆ น้อง ๆ พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาเหล่านี้ให้ช่วยกันสังเกตอาการผู้ป่วย และรีบรายงานแพทย์ให้ทราบกันด้วยนะคะ  ช่วย ๆ กันค่ะ


เอกสารอ้างอิง
        ชำนาญ ชอบธรรมะสกุล.   คู่มือการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ทางระบบผิวหนัง (Skin Disorders) 
 ฉบับปรับปรุง.   กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2548.   

คำสำคัญ (Tags): #แพ้ยา
หมายเลขบันทึก: 87506เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2007 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แสดงความชื่นชมในการทำงานครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท