สวนพลังชีวิต


สวนบำบัดทำได้ทั้งปีและสามารถทำนอกสถานที่หรือผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมที่บ้านโดยไม่ต้องมีพยาบาลพิเศษหรือเครื่องมือราคาแพง ผู้ป่วยจะรู้สึกสนุกสนานและมีความสุขในการบำบัดและสามารถแสดงผลงานให้ผู้อื่นได้ชื่นชม กิจกรรมสวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ช่วยให้เกิดการผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด การเพาะปลูกหรือการได้เห็นความเติบโต งอกงามของสรรพสิ่งทำให้เกิดคุณค่าและเห็นความงดงามใน ตนเองได้

สวนบำบัดคืออะไร

สมาคมสวนบำบัดอเมริกาให้ความหมายของคำว่า “สวนบำบัด” คือ กระบวนการในการใช้ประโยชน์จากพืชและการทำสวนเพื่อพัฒนาการปรับตัวของคนในด้านการเรียนรู้ ร่างกาย จิตใจ สังคม กล่าวคือ 
ด้านร่างกาย สวนบำบัดจะเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่น การเคลื่อนไหว ทำให้กล้ามเนื้อของมือและการทรงตัวดีขึ้น 
ด้านจิตใจ สวนบำบัดจะพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง การพึ่งพาตนเอง การลดความเครียด ระบายความโกรธและอารมณ์ต่างๆ ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีสติมากขึ้น รู้จักการแก้ปัญหาต่างๆดีขึ้น
ด้านสังคม สวนบำบัดจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าการสัมพันธ์กับผู้อื่น การร่วมมือกับผู้อื่นมีความสำคัญ การตระหนักถึงพันธะต่างๆที่ต้องมีต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต การทำงานเป็นกลุ่ม การเรียนรู้ถึงความสำเร็จ ความล้มเหลว และการเรียนรู้การช่วยเหลือกันในกลุ่มคนที่มีความพิการเหมือนกัน

ข้อดีของสวนบำบัด

คือ ความแตกต่างจากวิธีบำบัดอื่นๆ สวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยสามารถทำได้ กิจกรรมต่างๆสามารถปรับได้ตามความสามารถ พื้นที่การทำงานสามารถปรับระดับตามสภาพของผู้ที่นั่งรถเข็นหรือก้มไม่ได้ 

สวนบำบัดทำได้ทั้งปีและสามารถทำนอกสถานที่หรือผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมที่บ้านโดยไม่ต้องมีพยาบาลพิเศษหรือเครื่องมือราคาแพง ผู้ป่วยจะรู้สึกสนุกสนานและมีความสุขในการบำบัดและสามารถแสดงผลงานให้ผู้อื่นได้ชื่นชม 

กิจกรรมสวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ช่วยให้เกิดการผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด การเพาะปลูกหรือการได้เห็นความเติบโต งอกงามของสรรพสิ่งทำให้เกิดคุณค่าและเห็นความงดงามใน ตนเองได้

สวนบำบัดเหมาะสำหรับใคร ?

มนุษย์ได้เริ่มทำสวนมาตั้งแต่อดีต จากประวัติศาสตร์พบว่ามีการเริ่มทำสวนตั้งแต่ 8,000 ปี ก่อนคริสต์กาล ในยุคแรกๆนั้นมนุษย์ทำสวนเพื่อเป็นแหล่งอาหาร แหล่งยาสมุนไพร ต่อมาเมื่อมีความเจริญมากขึ้นก็มีการทำสวนเพื่อความสวยงาม เราสามารถกล่าวได้ว่าการทำสวนนั้นเป็นการรังสรรค์มนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและด้วยความซับซ้อนของสังคมยิ่งทำให้มนุษย์มีความเครียดสูงขึ้น 

มนุษย์ยิ่งกลับมาแสวงหาและไขว่คว้าการทำสวนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม การทำสวนเป็นหนทางที่เชื่อมโยงมนุษย์ให้อยู่กับธรรมชาติโดยไม่ขาดจากกันโดยสิ้นเชิง มนุษย์ค้นหาและพัฒนาการทำสวนเพื่อผลทางจิตใจมากขึ้นได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งถึงธรรมชาติโดยผ่านการทำสวนนานาชนิด 

ทางด้านนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าบรรพบุรุษของมนุษย์คงเติบโตและอาศัยในเขตที่ลุ่มหนองน้ำซึ่งมีต้นไม้ใหญ่และทุ่งหญ้าสีเขียว 
ดังนั้นต้นไม้จึงให้ความรู้สึกปลอดภัย เมื่อความสามารถของเราเริ่มลดน้อยลงเนื่องจากสูงอายุหรือพิการเราจะเริ่มไขว่คว้าหาสวน ลานหญ้าเพราะเป็นความต้องการลึกๆ ในหัวใจของเราที่ต้องการอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ เรารู้ดีว่าการพักผ่อนและการผ่อนคลายมีความสำคัญต่อจิตใจและจิตวิญญาณ สวนเปิดโอกาสให้เราพักผ่อนโดยไม่มีขอบเขตจำกัด 

พืชได้ให้รางวัลแก่เราทั้งในทันทีและต่อเนื่องยาวนาน เมล็ดพืชที่งอกช้าๆ ยอดไม้และใบอ่อนที่ผลิจากกิ่ง ผลไม้ที่ค่อยๆสุกอย่างช้าๆ การได้เก็บมะเขือเทศจากต้น การได้ปลูกข้าวและพืช ผักที่ปู่ ย่า ตายายได้ปลูกต่อกันมาหลายชั่วอายุคนมีคุณค่าต่อจิตใจเป็นอย่างยิ่งและได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเพาะปลูกเพื่อเป็นอาหารเท่านั้น แพทย์และนักจิตวิทยาได้ทำการศึกษาและพบว่าการทำสวนมีผลดีต่อร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยในโรงพยาบาลใช้ยาแก้ปวดและอยู่ในโรงพยาบาลน้อยลงเพียงแค่ได้มองเห็นต้นไม้จากหน้าต่าง 

การได้นั่งรถเข็นหรือเดินเล่นในสวนสาธารณะทำให้ความดันเลือดลดลง ข้อมูลต่างๆที่ปรากฏบอกให้ทราบว่า การทำสวนเหมาะสำหรับมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งผู้ป่วย ผู้พิการและคนปกติทั่วไป

สวนบำบัดกับผู้ป่วยเด็ก

กิจกรรมในสวนแต่ละชนิดจะถูกออกแบบเพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะด้าน การได้รดน้ำต้นไม้ด้วยสายยางหรือบัวรดน้ำ การได้ขุดดิน การได้ขยับย้ายกระถางต้นไม้จะเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ เช่น แขน ขาและกล้ามเนื้อลำตัว 

การพัฒนากล้ามเนื้อย่อย เช่น การทำงานของมือ นิ้วมือ การหยิบจับ การทำงานประสานกันระหว่างตาและมือจะพัฒนาโดยการเพาะเมล็ดพืช การถอนหญ้า การถอนวัชพืชและการไถพรวนดิน การใช้ขวดสเปรย์พ่นน้ำ การหยิบจับหอยทากที่เกาะต้นไม้ ใบไม้ การทำป้ายชื่อและการปักป้ายชื่อต้นไม้ในกระถาง

ประสาทสัมผัสที่มือและผิวหนัง กลิ่นและการสัมผัสจะพัฒนาโดยการสัมผัสกับดอกไม้ การได้กลิ่นหอมและกลิ่นระเหยจากสมุนไพรชนิด ต่างๆ ความแตกต่างของการได้สัมผัสกับทราย หญ้ามอสและกรวด ความแตกต่างระหว่างความเปียกชื้นและความแห้งของวัตถุที่ใช้ใน การปลูกต้นไม้และความแตกต่างของอุณหภูมิของอากาศในเรือนเพาะชำและข้างนอก

การทำงานหรือการมองเห็นการแยกแยะสิ่งต่างๆ ด้วยสายตา จะดีขึ้น เนื่องจากการได้สังเกตและการฝึกแยกแยะต้นไม้ต่างๆในสวน ความสามารถของผู้ป่วยเด็กในการฟังและจดจำดีขึ้นโดยการฝึกทำตาม คำสั่ง เช่น “จงค้นหาต้นไม้ที่มีดอกขนาดใหญ่” และการแยกแยะเสียงต่างๆ โดยการเขย่าฝักถั่วหรือฝักของเมล็ดต่างๆที่มีเสียงดังเวลาเขย่า

ผู้ป่วยเด็กๆจะได้เรียนรู้การมีปฎิสัมพันธ์กับคนอื่นเมื่อได้เล่นสนุกกับผู้ป่วยเด็กคนอื่น เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร การใช้คราด ใช้จอบทำงานช่วยลดลดความก้าวร้าว การทะนุถนอมดูแลต้นไม้จะเพิ่มการเห็นคุณค่าของตนเองและเกิดความรับผิดชอบมากขึ้น

สวนบำบัดกับผู้พิการ

การทำสวนบำบัดของผู้พิการถ้ามีการดูแลและแนะนำทางการแพทย์จะทำให้สามารถวางแผนการทำสวนให้มีผลต่อการบำบัดฟื้นฟูทางร่างกายอย่างดียิ่ง ข้อต่อต่างๆ กล้ามเนื้อทุกมัดของร่างกายจะได้ทำงานเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่

สำหรับผู้พิการทางการมองเห็น การจัดสวนต้องเน้นให้ผู้พิการได้มี ความสุขกับสวนและขณะเดียวกันต้องป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ 
การออกแบบสวนทำเหมือนการออกแบบสวนบำบัดทั่วไปเพียงแต่เพิ่มโอกาสหรือวิธีให้ได้สัมผัสกับสวนมากขึ้น เช่น พืชในสวนต้องเน้นพืชที่ให้กลิ่นและสัมผัส เช่น พวกกะเพรา สะระแหน่ เมื่อจับหรือขยี้จะได้กลิ่นหอม ชื่นใจ 

ไม้ดอกที่มีกลิ่นหอม เช่น มะลิ ลั่นทม ราชาวดี ควรเน้นต้นไม้ที่ไม่มีหนาม ดอกไม้ที่มีสีสดใส เช่น แดง ส้ม เหลืองขาว จะช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาทางสายตา หรือสายตาเลือนรางมองเห็นได้ง่าย
สัญลักษณ์หรือป้ายควรวางใกล้ทางเดินพิมพ์ตัวหนังสือด้วยตัวหนาหรือตัวนูนสีดำบนพื้นขาวหรือพื้นเหลืองอาจมีตำหนิ หรือหนังสือเบรล บนป้ายร่วมด้วย และมีการยกขอบตลอดทางเดิน 
หากมีน้ำพุหรือน้ำตกจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีจะทำให้ได้สัมผัสกับน้ำแต่น้ำไม่ควรลึกเกินกว่า 2-3 ฟุตและมีผู้ดูแล

กรณีที่มีเด็กเล็ก อาจจะมีการกระจายเสียงโดย เทป เช่น การแนะนำสวนจะทำให้คนตาบอดได้เข้าใจและสัมผัสกับสวนมากขึ้น 
วัสดุที่ใช้ในสวนควรเป็นวัสดุที่คงทน เช่น การใช้หินหรือปูนแทนไม้ซึ่งอาจจะผุและหากไม่ทันสังเกตอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้และการทำพื้นถนนควรใช้วัสดุที่พื้นผิวหยาบเมื่อเปียกน้ำจะได้ไม่ลื่น


สวนบำบัดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วย

การมีต้นไม้ดอกไม้ทำให้สิ่งแวดล้อมดูสวยงาม เป็นคุณค่าที่ไม่สามารถวัดได้ การได้หายใจอากาศที่สดชื่น แสงแดดและการทำกิจกรรมที่บริหารร่างกาย การได้เก็บเกี่ยวผลไม้ที่เกิดขึ้น การปลูกต้นไม้ด้วยมือ การรู้สึกถึงคุณค่าของตนเองเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุและผู้พิการพัฒนาขึ้น

การทำสวนบำบัดสามารถปรับไปทำในอาคารหรือในห้องก็ได้สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียงเป็นเวลานานหรือผู้ป่วย ผู้พิการที่เคลื่อนไหวตัวลำบาก 

สำหรับผู้ที่ต้องนอนอยู่บนเตียงไม่สามารถเดินออกมาที่สวนเราสามารถทำชั้นวางต้นไม้และวางกระถางต้นไม้บนชั้น อาจจะใช้หลอดไฟที่ให้แสงแบบธรรมชาติที่เรียกว่าDAY LIGHT หรืออาจหมุนเวียนนำต้นไม้ออกไปกลางแจ้งแล้วนำต้นไม้อื่นมาวางแทนก็จะเป็นการประหยัดค่าไฟฟ้า ที่สำคัญอาจเลือกต้นไม้ที่ปรับตัวในห้องได้ดี เช่น พูลด่าง ลิ้นมังกร เฟิร์น เป็นต้น 

ต้นไม้บางประเภทจะคายออกซิเจนในเวลากลางคืนจึงไม่ต้องกลัวว่าถ้าปลูกในห้องแล้วจะถูกแย่งออกซิเจนในเวลากลางคืน ต้นไม้ที่ให้ออกซิเจนในเวลากลางคืนได้แก่ ลิ้นมังกร กล้วยไม้ ตะบองเพชร สับประรดสี

สำหรับในอาคาร หรือในห้องที่แสงสว่างน้อย การใช้ไฟ DAY LIGHT จะช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ตามปกติซึ่งจะต้องเปิดไฟวันละ 16 ชั่วโมง ไม่ควรใช้กระจกเงาเพื่อที่จะสะท้อนแสงแดดจากภายนอกไปสู่ต้นไม้เพราะจะทำให้เกิดความร้อนสูงกว่าปกติและทำให้เกิดไฟไหม้ได้
สวนบำบัดสามารถทำได้ทั้งในบริเวณระเบียงบ้าน มุมเล็กๆในห้องหรือแม้แต่อาจจะเป็นกระถางต้นไม้เล็กๆเพียงต้นเดียวกับม้านั่ง นั่งสบายๆ สักตัวหนึ่งเท่านี้ก็เพียงพอสำหรับความมีชีวิตชีวาและการนั่งเล่นพักผ่อนแล้ว

สวนบำบัดกับคนปกติทั่วไป

ความจริงการทำสวนบำบัดก็คือการทำสวนแบบธรรมดาทั่วไปนั่นเอง เพียงหากแต่ว่าผู้ทำสวนมีข้อจำกัดหรือข้อบกพร่องทำให้การทำสวนไม่สะดวกก็อาจต้องมีการปรับสภาพพื้นที่หรืออุปกรณ์ให้ตอบสนองต่อการทำกิจกรรมนี้ของบุคคลเหล่านั้นเท่านั้นเอง โดยหากได้รับคำแนะนำจากผู้มีความรู้ด้านการฟื้นฟูสภาพก็จะเป็นผลดีในหลายๆด้านต่อผู้ที่มีข้อจำกัด

แต่สำหรับคนปกติทั่วไปซึ่งไม่มีข้อจำกัดใดๆนั้นจึงสามารถมีความสุขและรับประโยชน์จากจากการทำสวนดังที่ทราบกันทั่วไปเป็นปกติ

การทำสวนบำบัดในประเทศต่างๆ

นายแพทย์ประพจน์ เภตรากาศได้เขียนถึงเรื่องการทำสวนบำบัดในประเทศออสเตรเลียและประเทศแคนาดาไว้ในหนังสือหมอชาวบ้านฉบับเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม พ.ศ. 2546 ดังนี้

การทำสวนบำบัดในประเทศออสเตรเลีย

ประเทศออสเตรเลียมีสวนบำบัดแห่งหนึ่งชื่อสวนเควินไฮซ์ เป็นสวนบำบัดสำหรับผู้คนทุกวัยที่มีความพิการหรือมีความต้องการพิเศษ คำขวัญของศูนย์นี้คือ “ให้มนุษย์ได้เติบโต”เพราะการทำสวนได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์และการเรียนรู้ระหว่างผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็กๆและอาสาสมัครที่ช่วยงานสวนบำบัดโดยสวนนี้เปิดให้ทุกคนที่มีความต้องการพิเศษและต้องการฟื้นฟูสภาพ เช่น เด็กพิเศษจากโรงเรียน ผู้ใหญ่จากศูนย์ฟื้นฟูสภาพ ผู้สูงอายุจากบ้านพักคนชราหรือศูนย์คนชราต่างๆ สวนแห่งนี้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการแบ่งปันในขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมจะได้มีเพื่อนใหม่ เรียนรู้ร่วมกันและสนุกสนานร่วมกันด้วยกิจกรรมหลากหลาย เช่น ปลูกผักสวนครัว ไม้ดอก สมุนไพร การปักชำต้นไม้ การปลูกต้นไม้ในกระถาง การทำดอกไม้อัดแห้ง การได้ชื่นชมกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ การฝึกอบรมประจำเดือนสำหรับอาสาสมัคร

ทุกๆคนที่มีใจรักต้นไม้ไม่ว่าจะเป็นนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด ครู พยาบาลหรือวิชาชีพต่างๆสามารถทำสวนบำบัดได้ทั้งสิ้นและสามารถทำได้ทั้งปี ทั้งในบ้านพักอาศัย สถานีอนามัย บ้านพักคนชรา โรงพยาบาลชุมชน ศูนย์ฟื้นฟูสภาพและสถานที่ต่างๆแม้กระทั่งที่ทำงานของแต่ละคน

คนปกติทั่วไปสามารถร่วมกิจกรรมของสวนบำบัดเควินไฮซ์ได้โดยการเป็นอาสาสมัครช่วยทำกิจกรรมต่างๆของสวน 

นอกจากนี้สวนบำบัดยังเปิดรับบริจาคจากผู้ที่มีความสนใจและต้องการสนับสนุนโดยอาจสมัครเป็นสมาชิกซึ่งจะได้รับจดหมายข่าวรายสองเดือนหรือบริจาคซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆเกี่ยวกับการทำสวนหรือบริจาคต้นไม้ ดิน เครื่องมือทำสวน กระถางปุ๋ย ตะกร้าและอื่นๆ

ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือสวนบำบัดเควินไฮซ์ได้ชักชวนให้สนับสนุนกิจกรรมของสวนโดยอาจระบุไว้ในพินัยกรรมเพื่อว่าแม้ชีวิตจะลาจากโลกนี้ไปแล้วแต่ทุกคนก็ยังไม่ลืมและไม่ทิ้งสวน แห่งนี้

การทำสวนบำบัดในประเทศแคนาดา

ในประเทศแคนาดาก็มีการทำสวนบำบัดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุโดยหน่วยงานหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการทำสวนบำบัดชื่อ “ชาวสวนในเมือง (City Farmer)” โดยหน่วยงานนี้เริ่มทำสวนบำบัดตั้งแต่ พ.ศ. 2531 โดยการทำกระบะไม้ที่ยกสูงจากพื้นดิน 5 กระบะเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้นั่งรถเข็นและได้เชื้อเชิญผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยในศูนย์ฟื้นฟูสภาพต่างๆ เข้าร่วมทำสวนโดยการรดน้ำ หว่านเมล็ดพืช และทำสิ่งประดิษฐ์จากพืชที่ได้จากสวน เด็กที่เป็นอัมพาตแขนและขา ผู้สูงอายุในวัยเก้าสิบและผู้พิการประเภทต่างๆได้มาร่วมกิจกรรมสวนบำบัดพร้อมกับผู้ดูแลหรือพี่เลี้ยง

ภายใน 2 ปีหน่วยงานนี้ได้พบว่าทุกคนที่เข้าร่วมมีความสุขอย่างมากเนื่องจากได้หายใจอากาศที่บริสุทธ์ ได้ดมกลิ่นดอกไม้ ลิ้มรสผักผลไม้สดๆจากสวน รวมทั้งการได้ออกแรงเคลื่อนไหวในการทำสวนและการมีความสัมพันธ์ระหว่างชาวสวนและเพื่อนๆที่มาทำสวนด้วยกัน หน่วยงานชาวสวนในเมืองจึงได้ขยายกิจกรรมสวนบำบัดเพื่อให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุได้เข้าร่วมสวนบำบัดอย่างต่อเนื่อง

ผู้พิการที่อาศัยอยู่ในศูนย์ฟื้นฟูสภาพเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมสวนบำบัดซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งของการฟื้นฟู

บอกว่า “ มีความสุขมากที่ได้ปลูกต้นไม้ รดน้ำ พรวนดิน ทะนุถนอมดูแลและเก็บเกี่ยวพืชที่เพาะปลูกขึ้นเพื่อทำดอกไม้แห้งที่มีกลิ่นหอม” บางคนบอกว่า “การได้ทำสวนทำให้ได้กลับไปหาความฝันที่แท้จริงและการทำสวนเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมาก” หรืออีกความเห็นหนึ่งของผู้พิการที่ได้ทำกิจกรรมนี้ที่เป็นการยืนยันว่าการทำสวนเป็นการบำบัดที่ดีเยี่ยมคือ “การได้นั่งรถเข็นไฟฟ้าทำสวน การได้เห็นดอกไม้ที่สวยงาม การได้สกปรกเลอะเทอะจากการทำสวนเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุด”

ส่วนคำถามที่ว่าการทำกิจกรรมสวนบำบัดนั้นเป็นภาระสำหรับเจ้าหน้าที่ของศูนย์หรือสถาบันต่างๆหรือไม่นั้น ผู้จัดการศูนย์ฟื้นฟูสภาพแห่งหนึ่งกล่าวว่า “ไม่เลยเพราะผู้พิการหรือผู้ป่วยมีความกระตือรือร้นในการทำสวน คนเหล่านี้จะยืดแข้งยืดขา ใช้สายตา แขน ขา ในการทำสวนอยู่ตลอดเวลา”

การทำสวนบำบัดนั้นเรียบง่าย นั่นคือให้ผู้พิการได้ทำสวนเหมือนอยู่ในบ้านของตนเอง พวกเขาจะออกไปที่สวนบำบัดเพื่อปลูกไม้ดอก ผักในตะกร้าที่แขวนหรือกระบะที่ยกสูงสำหรับปลูกต้นไม้โดยสามารถปลูกได้ในขณะที่อยู่บนรถเข็น 

เครื่องมือทำสวนอาจปรับให้เหมาะกับสภาพความพิการของมือและกิจกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือการนำผลผลิตจากสวนมาประดิษฐ์เป็นของขวัญหรือใช้ตกแต่งห้องให้สวยงาม

ผู้อำนวยการหน่วยงานชาวสวนในเมืองผู้พัฒนาโปรแกรมได้จัดทำรูปแบบต่างๆของสวนบำบัดกล่าวว่า “ทุกคนสามารถทำสวนได้ไม่เกี่ยวกับการเมือง อายุ ความร่ำรวยหรือภูมิหลังใดๆและหน่วยงานต้องการแสดงให้เห็นว่าความพิการไม่เป็นเครื่องกีดขวางในการได้รับความสุขจากการทำสวน”

สวนบำบัดในประเทศไทย

วันชัย ฤทธิ์ลิขิต ผู้จัดการค่ายห้วยน้ำใส จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวถึงการทำสวนบำบัด ในโครงการสวนพลังชีวิต : สวนบำบัดทุกข์ ในบริเวณค่ายห้วยน้ำใส ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมค่ายพักแรมและฝึกอบรมของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กและมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ว่า “การทำสวนเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ เด็ก คนยากจน คนรวย และมีประโยชน์ หลากหลาย เช่น ด้านร่างกาย”

การทำสวนจะเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่น การเคลื่อนไหวทำให้กล้ามเนื้อของมือและการทรงตัวดีขึ้น การทำงานต่างๆก็ทำให้การทรงตัวดีขึ้น ส่วนทางด้านจิตใจการทำสวนจะพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง การพึ่งตนเอง การลดความเครียด ระบายความโกธร และอารมณ์ต่างๆ ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีสติมากขึ้น และรู้จักการแก้ปัญหาต่างๆดีขึ้น ด้านสังคม การทำสวนจะทำให้เกิดความรู้สึกถึงการต้องสัมพันธ์กับผู้อื่น การร่วมมือกับผู้อื่น การตระหนักถึงพันธะต่างๆ ที่ต้องมีต่อธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิต การทำงานเป็นกลุ่ม การได้เรียนรู้ถึงความสำเร็จและล้มเหลว

สวนพลังชีวิต : สวนบำบัดทุกข์ของเราจัดสรรพื้นที่ไว้ 11 ไร่เรากะไว้ว่า จะมีอาคารอเนกประสงค์ ๑ หลัง ประกอบด้วยห้องครัว(เผื่อไว้ทำอาหารชีวจิต) ห้องสมุด ห้องกิจกรรม (อาจจะมีการสอนโยคะ ไทเก็ก หรือร้องรำทำเพลงก็น่าสนุก) มีห้องนอนด้วยอยู่บนชั้นลอย สำหรับคน ๒๐ คน ห้องน้ำ ๖-๘ ห้อง พร้อมกับสระว่ายน้ำในร่ม แบ่งเป็น สระเล่นน้ำของเด็กเล็ก สระเล่นน้ำเด็กโต สระผู้ใหญ่ ใช้ทำวารีบำบัด

รอบๆอาคารจะมีพื้นที่ ๓ ไร่ แบ่งเป็นสวนปาล์ม อยู่ด้านทิศตะวันตก เอาไว้กั้นแสงแดดยามบ่าย สวนทางทิศตะวันออก จะเป็นสวนสุขภาพ มีอุปกรณ์ออกกำลังกายรับแดดยามเช้า สวนบำบัดจะอยู่ทางทิศเหนือ ให้คนที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว ได้ทำสวนปลูกผักบ้าง เช่นใส่
กระถางลอยฟ้า สวนยกกระบะสูงๆ จะได้ไม่ต้องก้มๆ เงยๆ หรือนั่งบนรถเข็นก็พรวนดินใส่ปุ๋ยได้ ส่วนชายหนุ่มและหญิงสาว ที่กำลังวังชาดี ก็ไปช่วยกันทำสวนเกษตรธรรมชาติ

เราใช้ทฤษฎีชิมแป้ล(กินกันจนอิ่มหนำสำราญใจ)ดัดแปลงมาจากการทำเกษตรของคุณชิมเป้ ศูนย์เกษตรธรรมชาติหนองจอก วิธีการเราเริ่มโดยการนำพื้นที่ 1 ไร่ ขนาดประมาณ ๔๐ เมตร x ๔๐ เมตร แบ่งครึ่งแต่ละด้านประมาณ ๒๐ เมตร ลากเส้นตรงไปด้านตรงกันข้าม เราก็จะได้ ๔ แปลงย่อยจุดตัดตัดตรงกลาง เราจะสร้างบ้านสัตว์เลี้ยง ให้กับเพะ (เอาไว้ผลิตปุ๋ยอัดเม็ด)หรือเลี้ยงเป็ดเทศ เป็ดปักกิ่ง ไก่หัวชั่ง หรือไก่เบตง จะมีไก่งวงตัวใหญ่หรือไก่ต็อก ถ้ามีรั้วแข็งแรงเราอาจจะมีสมาชิกเป็นกวาง ม้า ไว้ให้เด็กๆหาหญ้าให้กิน

เส้นที่ลากจากซ้ายไปขวา เราก็จะขุดเป็นบ่อปลา ปลานิลปลาตะเพียน ที่เลี้ยงไว้จะได้มีอาหารกินไง ส่วนแปลงย่อยๆ ๔ แปลงเราจะเอา แปลง ๑,๒,๓ ไว้ปลูกพืชผัก แปลงที่ ๔ ให้สัตว์เลี้ยงของเรามายึดเส้นยึดสาย คุ้ยเขี่ยหากิน พร้อมกับการเพิ่มจุลินทรีย์ให้ปุ๋ยปรับปรุงบำรุงดิน
พอครบ ๔ เดือน เราก็เอาแปลงเลี้ยงสัตว์มาปลูกผักสวนครัว แล้วเวียนแปลงอื่นมาเลี้ยงสัตว์แทน ทั้งสัตว์เลี้ยง คนเลี้ยง พืชที่เราเลี้ยง เกือบลืม...ปลาที่เราเลี้ยง ก็อิ่มหนำสำราญ สมเป็นทฤษฎีเกษตรกรรมชิมเป้ เลยนะ  เรายังมีที่เหลืออีก ๓ ไร่ ด้านทิศตะวันตก ทำเป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับ ให้สวยงาม และส่งกลิ่นหอมฟุ้ง อาจจะมีใส่กระถางให้ผู้มาแวะเยี่ยมเยียนนำกลับบ้านไปเป็นของที่ระลึกด้วย ทุกๆแปลงจะมีทางเดินเชื่อมต่อกัน ปลูกต้นไม้ให้ร่มเย็นแต่ก็จะมีที่ โล่งบ้างเอาไว้ชมจันทร์ 

ท้ายที่สุดวันชัย ฤทธิ์ลิขิต กล่าวว่า “อยากจะเชิญชวนผู้คนทุกกลุ่ม มาใช้บริการและมาร่วมพัฒนาวนแห่งนี้เพื่องานทำสวนพลังชีวิต : สวนบำบัดทุกข์จะได้ไม่เป็นเพียง “การวาดสวนบนกระดาษ” เท่านั้น”

ข้อแนะนำสำหรับการทำสวนบำบัด 

  • อุปกรณ์ เครื่องมือการทำสวนบำบัดพยายามใช้อุปกรณ์ เครื่องมือทำสวนทั่วไป ยกเว้นผู้ที่มีข้อจำกัด เช่น ต้องนั่งรถเข็น ก้มนั่งยองๆหรือคุกเข่าไม่ได้ จึงจะต้องใช้อุปกรณ์ที่ดัดแปลงสำหรับความพิการแบบต่างๆ การดูแลทำความสะอาดเครื่องมือ การเก็บเครื่องมือวางไว้ในที่ที่หยิบจับสะดวก เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
  • การใช้ตะกร้าหรือกระถางแขวนสำหรับปลูกต้นไม้จะช่วยได้มาก สำหรับผู้ที่นั่งรถเข็นเพราะอยู่ในระดับที่นั่งบนรถเข็นและปลูกต้นไม้ได้สะดวก เข็นรถเข้าไปใกล้กระถางแขวนโดยล้อรถเข็นและเท้าไม่ชนกับสิ่งกีดขวาง
  • อุปกรณ์และเครื่องมือในการรดน้ำต้องเบา ถือหิ้วยกไปได้สะดวกหรืออาจติดสายยางรดน้ำหรือสปริงเกอร์ หากปลูกต้นไม้กระถางควรจัดกลุ่มต้นไม้ที่ต้องการน้ำมากและน้ำน้อยเป็นกลุ่มเพื่อสะดวกในการรดน้ำ
  • เลือกต้นไม้หรือปรับสภาพสวนตามความชอบทั้งลักษณะ รูปแบบของสวนและชนิดของพืชที่นำมาปลูกเช่น อาจจะเป็นไม้ดอก ไม้ผล ไม้คลุมดินหรือสมุนไพร เพื่อให้ทุกคนที่ทำสวนได้รู้สึกมีส่วนร่วมและเลือกมุมตามที่ตนเองชอบ
  • ทำสวนด้วยความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่เหนื่อยเกินไป ถ้าทำสวนแล้วเหนื่อยแสดงว่าไม่ถูกต้อง ความจริงแล้วมีวิธีการจัดการหลายอย่างซึ่งมีรายละเอียดมาก ไม่สามารถสรุปได้ตอนนี้ แต่อาจใช้กระถางแขวน การใช้กระถางพลาสติกซึ่งน้ำหนักเบาและ มีเก้าอี้ตามจุดต่างๆในสวนเพื่อนั่งพัก เป็นต้น
  • ควรคำนึงถึงสุขภาพ ต้องระมัดระวังท่าทางในการทำสวน สังเกตร่างกายขณะทำสวนว่าท่าใดทำให้รู้สึกไม่สบาย ควรหลีกเลี่ยงและหาอุปกรณ์ช่วยในการทำสวนให้เหมาะสม เช่นหากมีปัญหาเรื่องกระดูกการก้มๆเงยๆอาจทำให้ปวดหลังมากขึ้น การก้มลงยกของเป็นท่าที่เป็นอันตรายต่อหลังควรใช้ความระมัดระวัง
  • หากทำกิจกรรมใดๆแล้วรู้สึกเจ็บปวด ผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
  • ระยะแรกของการทำสวนควรค่อยๆเหยียดส่วนต่างๆของร่างกายทีละน้อย ทำให้ร่างกายยืดหยุ่นและปรับตัวก่อนจึงเริ่มทำ
  • อย่าทำกิจกรรมใดๆที่อยู่ในท่าเดิมนานๆหรือทำกิจกรรมอย่างหักโหมเกินกำลังซึ่งจะไม่เป็นผลดี
  • การทำสวนมักต้องก้มลงกับพื้นเพื่อทำงาน ถ้ามีปัญหาเรื่องการขยับตัวการหมุนตัวต้องเตรียมการโดยเอาอุปกรณ์เครื่องมือทำสวนใส่รวมไว้ในตะกร้าและใช้เบาะรองเข่าหรือนั่งบนม้านั่งเตี้ยๆจะทำให้สะดวกเวลานั่งทำงานและลุกขึ้น
  • ระหว่างขุดดินด้วยพลั่วหรือจอบพยายามยืนกางขาเพื่อให้การยืนมีความมั่นคง
  • ห้ามบิดหรือหมุนลำตัว ควรหมุนตัวด้วยการก้าวเท้าเพราะการบิดหมุนตัวจะทำให้ปวดหลังได้ง่าย
  • ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ทำสวนที่มีด้ามยาวเพื่อให้ทำงานได้สะดวกในท่านั่งหรือท่ายืน
  • ดัดแปลงหรือทำที่เก็บใบไม้หรือเศษวัสดุโดยใช้ด้ามยาวๆซึ่งจะช่วยให้ทำความสะอาดสวนโดยไม่ต้องก้มหลัง
  • มีรถเข็นหรือถังขยะที่ติดล้อหรือติดบนรถเข็นจะทำให้ทำงานสะดวกมากขึ้น

 

เรียบเรียง สรวงธร นาวาผล
ข้อมูลจาก เอกสารโครงการสวนพลังชีวิตและบทความเกี่ยวกับสวน บำบัดของนายแพทย์ประพจน์ เภตรากาศ ตีพิมพ์ในหนังสือหมอชาวบ้านระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2545   ถึงเดือนพฤศจิกายน 2546    โดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก

หมายเลขบันทึก: 87128เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2007 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
คนเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ..แต่คนส่วนใหญ่ชอบเอาชนะธรรมชาติ...แลยไม่แปลกใจเลยที่จะถูกธรรมชาติลงโทษ...ถ้าเรารู้จักเคารพธรรมชาติและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมอย่างพึ่งพาอาศัย...ไม่ดีแต่ตักตวงผลประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเดียวโดยไม่เคยตอบตอบแทน...เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข
เดียวดายใต้เงาจันทร์
คุณค่าของชีวิต ล้วนมาจากธรรมชาติ อย่าลืมกันเชียว

เป็นกิจกรรมที่ดีมากเลยนะค่ะ เหมาะสำหรับผูที่ต้องการกำลังใจในการดำเนินชีวิต  เพราะปัจจุบันคนมีความครียดกันมากขึ้นซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ การได้เห็นสิ่งสวย ๆ งาม ๆ อาจจะช่วยให้รู้สีกดีได้ขึ้นมาบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท