แนวทางการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในผู้ป่วยบำบัดรักษาการติดสุรา


ผู้ป่วยสุราที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องมีคนคอยทำความสะอาดช่องปากให้วันละ 3 ครั้ง
การส่งเสริมสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ให้เหมาะสมนั้น จำเป็นต้องประยุกต์ กิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพของปัญหา บุคลากรและสิ่งแวดล้อมในแต่ละสถานพยาบาล  
            ผู้ป่วยเสพติดสุราส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มักจะขาดความใส่ใจในคุณภาพชีวิตของตนเอง ไม่สนใจในเรื่องการกินอยู่ การรักษาความสะอาดร่างกายตนเอง  ช่องปากจึงเป็นอวัยวะที่มักจะถูกละเลยที่จะดูแลอย่างเหมาะสม   จากการตรวจสุขภาพช่องปากในผู้ป่วยยาเสพติดโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสุรา จะพบว่ามีโรคเหงือกอักเสบ โรคฟันผุ  เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด   ซึ่งมักมีอาการปวดฟัน  เคี้ยวอาหารไม่ได้   หรือมีการติดเชื้ออย่างรุนแรงในบริเวณช่องปากและใบหน้า  อันจะส่งผลให้ไม่สามารถรับการบำบัดรักษาการติดยาหรือสารเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ   เจ็บป่วยหรือบางครั้งอาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้

            ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีกระบวนการส่งเสริมสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันปัญหาและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย    ตลอดจนมีกระบวนการดูแลรักษาหากมีปัญหาเกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละราย โดยทีมสหวิชาชีพที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง  โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญดังนี้

1.      ผู้ป่วยมีสุขภาพช่องปากที่ดี  ไม่มีอาการเจ็บปวด การติดเชื้อหรือการอักเสบ ที่ขัดขวางกระบวนการบำบัดรักษายาเสพติด

2.      ผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติด  มีความรู้ด้านทันตสุขภาพและสามารถดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของตนได้อย่างเหมาะสม

  สำหรับกระบวนการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในผู้ป่วยยาเสพติดนั้น  อาจแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยเป็นสำคัญ   ในที่นี้จะแบ่งผู้ป่วยยาเสพติดตามความสามารถในการดูแลตนเองเป็น 3 ประเภท  (categories)

            D1 :  ผู้ป่วยที่มีศักยภาพในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเองได้  หมายถึง ผู้ป่วยที่ผ่านระยะบำบัดด้วยยาแล้ว   หรือผู้ป่วยที่อยู่ในระยะบำบัดด้วยยา แต่มีอาการทั่วไปดีขึ้นจน ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติและสามารถดูแลสุขภาพช่องปากของตนได้เอง
            D2 :  ผู้ป่วยที่มีศักยภาพในการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองได้บางส่วน หมายถึง ผู้ป่วยติดยาทั่วไป ที่อยู่ในระยะบำบัดด้วยยา  ยังคงมีอาการทางกายหรือทางจิตร่วมด้วย แต่หากได้รับการกระตุ้น  จะสามารถทำกิจวัตรประจำวันและดูแลสุขภาพช่องปากตนเองได้  
            D3 :  ผู้ป่วยที่ไม่มีศักยภาพในการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองได้  หมายถึง ผู้ป่วยติดยาทั่วไป ที่อยู่ในระยะบำบัดด้วยยา มีอาการทางกายและทางจิต จนทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันรวมทั้งดูแลสุขภาพช่องปากตนเองได้  จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่น
            การส่งเสริมสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ  ให้เหมาะสมนั้น จำเป็นต้องประยุกต์ กิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพของปัญหา บุคลากรและสิ่งแวดล้อมในแต่ละสถานพยาบาล   โดยอาจพิจารณาประยุกต์จากแนวทางกว้างๆ  ดังต่อไปนี้

ประเภทของผู้ป่วย

แนวทางการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก
D1

§       จัดอุปกรณ์และสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการดูแล ทำความสะอาดสุขภาพช่องปากของตนเอง 

§       จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ ผู้ป่วยมีความรู้และความตระหนัก ใส่ใจในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของตนเอง เช่น การสอนทันตสุขศึกษา  การย้อมแผ่นคราบจุลินทรีย์ทุก 1 เดือน

D2
§       ใช้แนวทางเดียวกันกับกลุ่ม D1
§       เพิ่มการเฝ้าระวังและกระตุ้นเตือน    ให้มีการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
D3
§       กำหนดผู้รับผิดชอบในการช่วยเหลือผู้ป่วยในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก โดยใช้ เครื่องช่วยอ้าปาก  และแปรงฟันให้ผู้ป่วยโดยใช้ แปรงสีฟันชุบ Clhrohexidine mouth wash วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
รูปแบบกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมของการส่งเสริมสุขภาพช่องปากที่ประยุกต์จากแนวทางดังกล่าว  ในที่นี้จะยกตัวอย่างการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากใน สถาบันธัญญารักษ์ ซึ่งได้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมดังนี้

รูปแบบการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในหอผู้ป่วย           

1.       จัดให้ผู้ป่วยทุกคนมีแปรงและยาสีฟัน

2.      สอนทันตสุขศึกษาเดือนละ 1 ครั้ง โดยผู้ช่วยทันตแพทย์  โดยให้มีการย้อมแผ่นคราบจุลินทรีย์ในผู้ป่วยแต่ละคน โดยการเคี้ยวเม็ดสีย้อมฟัน  เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญและฝึกปฏิบัติการแปรงฟันอย่างถูกวิธี

3.      เฝ้าระวังและกระตุ้นให้มีการแปรงฟันอย่างถูกวิธีวันละ 3 ครั้ง โดยมีการประเมินและบันทึกแบบเฝ้าระวังสุขภาพช่องปาก

4.      จัดให้มีผู้รับผิดชอบในการช่วยแปรงฟันให้กับผู้ป่วยกลุ่ม D3 ซึ่งไม่สามารถดูแลตนเองได้ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของพยาบาล

5.      ส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการ ปวด บวม  มีการติดเชื้อ ในช่องปากหรือปัญหาทางทันตกรรมอื่นๆ  ไปรับการรักษาทางทันตกรรมตามความเหมาะสม
หมายเลขบันทึก: 87025เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2007 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท