การวิจัยประเมินผล


บทความนี้จะแยกให้เห็นความแตกต่างของ การวิจัยประเมินผล ว่ามีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากการวิจัยประเภทอื่นๆ อย่างไร รวมถึงลักษณะที่เป็นคุณและลักษณะที่อาจเป็นโทษ...
                  การวิจัยแบ่งประเภทได้หลายรูปแบบ เช่นแบ่งตามสาขาวิชาด้วยการกำหนดของสถาบันวิจัยต่างๆ  แบ่งตามโครงสร้างการออกแบบ  ตามการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ  และจากการแบ่งประเภทต่างๆ มากมายก็ทำให้เราพบชื่อการวิจัยหลายแบบ  จนบางครั้งสงสัยว่าเข้าใจความหมายของชื่อประเภทการวิจัยได้ถูกต้องตรงกันหรือไม่  บทความนี้จะแยกให้เห็นความแตกต่างของ  การวิจัยประเมินผล  ว่ามีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากการวิจัยประเภทอื่นๆ อย่างไร  รวมถึงลักษณะที่เป็นคุณและลักษณะที่อาจเป็นโทษหากเรานำการวิจัยประเมินผลมาใช้ในการประเมินสิ่งต่างๆ  ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาอันเนื่องมาจากการประเมิน   โดยเฉพาะการประเมินที่ดูว่ามีความน่าเชื่อถือมาก  ถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นการวิจัย            . ความหมายที่แตกต่างกันของการประเมินผลและการวิจัยประเมินผล                                  ความหมายของ การประเมินผล  คือการตีค่าด้วยการวัด(เชิงปริมาณ)หรือการตีค่าด้วยการไม่วัด(เชิงคุณภาพแล้วบวกการตัดสินคุณค่าให้กับสิ่งที่วัดนั้น (Evaluation = Quantitative descriptive or qualitative descriptive + Value judgment)  บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ (๒๕๔๓ : ๒๓๐)    ดังนั้นในรายละเอียดแล้วเราสามารถแยกได้อีกว่า  การประเมินเชิงปริมาณก็คือการวัด ซึ่งต้องมีเครื่องมือมาวัด แล้วเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก่อน  จึงจะตัดสินคุณค่าได้   นอกจากนี้การประเมินยังหมายถึงตรวจสอบความสอดคล้อง (Determine Congruence)  เช่น  ถ้าหลักสูตรที่จัดสอนประสบความสำเร็จ  ผู้เรียนก็ควรจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทาง  ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตร  คือผลที่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์  และเมื่อการประเมิน วัดหรือสังเกตจากผลทั้งผลที่คาดว่าจะเกิดถ้าลงมือปฏิบัติ  ผลหลังการปฏิบัติไปบางส่วน  หรือปฏิบัติไปแล้วทั้งหมด  การประเมินลักษณะนี้จึงเป็นการประเมินผล                                การประเมินผล  มีระดับความน่าเชื่อถือตามลำดับคือ  ถ้าตัดสินให้คุณค่าไปเลยหลังจากได้รับข้อมูลมาจากมองเห็น  อ่านข่าว หรือชั่งตวงได้ก็ตาม  จัดเป็นความน่าเชื่อถือที่มีระดับต่ำสุด  เหตุผลเพราะการได้มาของข้อมูลที่แต่ละคนเชื่อว่าเป็นจริง แตกต่างกัน  บางคนเชื่อว่าจริงจากการเทียบกับประสบการณ์ (อัตนัยนิยม  : Subjectivism)   ขณะที่อีกหลายคนจะเชื่อว่าถ้าเป็นข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง ต้องวัดได้ทำซ้ำได้ เกิดขึ้นจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ (ปรนัยนิยม : Objectivism)  และอาจมีบางคนเชื่อว่าการหยั่งรู้ด้วยจิตมนุษย์แต่ละคนรู้ได้ไม่เท่ากัน  เมื่อข้อมูลมีระดับความจริงตามการเชื่อของคนต่างกัน  การตัดสินให้คุณค่าก็ยิ่งต่างกันหนักเข้าไปอีก  เพราะบางคนอาจตัดสินด้วยการยึดประโยชน์เป็นใหญ่ (Utilitarianism) ขณะที่บางคนบอกว่าต้องมองให้ครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวข้อง (Pluralism)  (ศิริชัย  กาญจนวาสี ๒๕๔๕ : -๑๑ ) ดังนั้นการประเมินผลที่จะได้รับการยอมรับจึงต้องใช้ระเบียบวิธีวิจัยเข้ามาช่วย   การวิจัยประเมินผล จึงหมายถึง การวิจัยประยุกต์รูปแบบหนึ่ง ที่จำเป็นต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดรูปแบบ ชนิดของการเก็บข้อมูลรวมทั้งวิธีการต่างๆ ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ชัดเจน เพราะหากไม่ชัดเจนรัดกุมมากพอ ก็ยังมีระดับความน่าเชื่อถือที่เป็นปัญหาอีกได้  เช่น เก็บตกข้อมูลมาเพียงบางส่วนแล้วนำมาตัดสินหรือเปล่า  หรือเก็บข้อมูลแบบสำรวจก็จริงแต่สำรวจเฉพาะส่วนที่จะให้คำตอบตรงตามวัตถุประสงค์เท่านั้นใช่หรือไม่ เป็นต้น            . ลักษณะเฉพาะของการวิจัยประเมินผลและข้อควรระวังในการนำไปใช้                                เมื่อจะประเมินผลให้ผลของการประเมินได้รับการยอมรับ  ขั้นแรกต้องชัดเจนในวัตถุประสงค์ของการประเมินก่อนว่า  ต้องการใช้ผลจากการวัดและการประเมินนั้นไปใช้ทำอะไร  เช่น  เพื่อจัดตำแหน่ง (Placement)  เพื่อการวินิจฉัย (Diagnosis)  เพื่อต้องการเปรียบเทียบ (Assessment) เพื่อคาดการณ์พยากรณ์ (Prediction)  หรือเพื่อใช้ให้เป็นผลสะท้อนกลับ (Feedback)  บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ (๒๕๔๓ : ๒๓๖จากวัตถุประสงค์ที่ต่างๆ กันนี้  เราจึงแบ่งชนิดของการเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงมาใช้ในการประเมินหรือการวิจัยประเมินผล (แล้วแต่วิธีการที่ใช้และระดับความน่าเชื่อถือ) ได้เป็น ๒ ชนิด  คือเก็บข้อมูลมาวิจัยเป็นระยะเพื่อประเมินผลความก้าวหน้า (Formative Evaluation) กับอีกชนิดเก็บข้อมูลผลครั้งสุดท้าย  หรือผลหลังการปฏิบัติ  เป็นการประเมินผลสรุป ( Summative  Evaluation)                                 หลังจากมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และเลือกชนิดของการประเมินผลได้แล้วจึงค่อยออกแบบการวิจัย  ในการออกแบบการวิจัยนั้น  การตีความจากสมมุติฐานบนพื้นฐานของข้อเท็จริงที่ปรากฎ (Empirical Data) ยังคงเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ได้รับการยอมรับ  และหากมองวิธีการวิจัยประเมินผลอย่างเป็นระบบจะเห็นว่า  วิจัยประเมินผลมีองค์ประกอบที่สำคัญและสัมพันธ์กันคือ   เมื่อรู้ว่าจะประเมินไปเพื่ออะไร (Objective) จะประเมินเมื่อไร (Formative หรือ Summative) มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะประเมินอะไร เช่น โครงการดำเนินไปถึงระยะไหนต้องได้ผลผลิตอะไรออกมาเท่าไหร่  หรือต้องทำอะไรอย่างไร (ประเมินวิธีการหรือกระบวนการ) เพื่อวัดหรือประเมินด้วยวิธีการอื่นเช่นการสังเกตเราจำเป็นต้องกำหนดตัวชี้วัด (Indicators) ขึ้นมาก่อนว่าจะพิจารณาจากอะไรที่บอกได้ว่าเป็นอย่างนั้นจริงแล้วจึงค่อยสร้างแบบวัดหรือไปสังเกตจากตัวชี้วัดนั้น  เพื่อให้ได้ข้อมูลมาเทียบกับเกณฑ์ (Criteri) หรือมาตรฐาน (Standard)  เป็นการตัดสินให้คุณค่าตามที่กำหนดเกณฑ์ประเมินไว้   ข้อพึงระวังคือแม้การประเมินจะทำอย่างเป็นระบบแต่ให้คุณค่านั้นมีผลทั้งก่อนและหลังการประเมิน                   รูปแบบการวิจัยในการวิจัยประเมินผลอาจทำเป็นแบบ ศึกษาเฉพาะกรณี (Case study)  วิจัยแบบตัดขวางเฉพาะช่วงเวลา (Cross-Sectional Studies)  วิจัยระยะยาว หรือตามดูเป็นช่วงๆ (Longitudinal or Follow – up  Studies)  หรือเลือกเพียงบางส่วนที่เป็นตัวแทนมาทำการทดลอง (Experimental Studies)  ก็ได้ ซึ่งแต่ละวิธีมีรายละเอียดการออกแบบได้อีกมาก                                    ปัญหาสำคัญของการประเมินและการวิจัยประเมินผลพบว่า ปัญหาขาดการวางแผนสำคัญที่สุด การวางแผนการประเมินผลนั้นควรวางแผนไว้ตั้งแต่วางแผนงานหรือโครงการ เหตุที่ควรกำหนดการประเมินผลไว้ตั้งแต่ตอนวางแผน  เพราะจะทำให้การ  กำหนดช่วงเวลาและความถี่การประเมินเป็นไปอย่างเหมาะสมดีกว่าทำไปพบปัญหาแล้วจึงประเมิน  อีกทั้งอคติหรือความลำเอียงจากการให้คุณค่ามีอยู่ได้ตลอดเวลาดังกล่าวแล้ว  ทางแก้สำหรับการลดความลำเอียงจึงควรกำหนดตัวชี้วัด เกณฑ์การประเมินหรือมาตรฐาน  รวมทั้งข้อมูลที่จะนำมาใช้ไว้ก่อนล่วงหน้า  แม้จะลดอติความกลัวของทั้งผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินเมื่อรู้ว่าจะถูกประเมินไม่ได้ทั้งหมด  แต่ก็จะช่วยให้เกิดการยอมรับหรืออย่างน้อยปรับตัวกับการประเมินได้  นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญของการประเมินอีก ๒ ประการได้แก่ การขาดข้อมูลที่เที่ยงตรง และการขาดการประเมินทั้งระบบ (บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ ๒๕๔๓ : ๓๐๓)                                    แนวทางการแก้ไขให้ผลการประเมินได้รับความเชื่อถือ  นอกจากต้องใช้ระเบียบวิธีวิจัยมาทำให้เป็นการวิจัยประเมินผลแล้ว  การบริหารจัดการเพื่อให้ได้และใช้ผลการประเมินอย่างคุ้มค่า ควรทราบถึงทักษะผิดๆ ในการประเมินผล  ซึ่งศาตราจารย์ บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ (๒๕๔๓ : ๒๙๓) ได้สรุปไว้ให้  ดังนี้ ·         ตบตา ประเมินเฉพาะส่วนดี                     ·         ผักชีโรยหน้า ปกปิดความผิด·         ระเบิดใต้น้ำ พยายามล้มล้างคู่แข่ง          ·         วางท่า อาศัยการวิจัยเป็นเครื่องมือ·         ผลัดวันประกันพรุ่ง ถ่วงเวลา                              ·         แทนที่  พรางส่วนล้มเหลวที่สำคัญ โดยเบนไปในเรื่องที่ไม่สำคัญที่พอจะแก้ตัวได้·         ปัดความรับผิดชอบ  ตั้งกรรมาการประเมิน·         เสริมสร้างบารมี เลือกให้ประเมินเฉพาะที่รู้แล้วว่าให้ผลดี·         สนองตัณหา  ประเมินตามคำขอ                  จากความเข้าใจเรื่องความหมายของการประเมิน  นำมาสู่การประเมินให้ได้รับการยอมรับในผลของการประเมิน ด้วยการประเมินอย่างใช้ระเบียบวิธีวิจัย ทำให้การประเมิน เป็นการวิจัยประเมินผล  แต่ด้วยธรรมชาติของการประเมินที่มีการให้คุณค่าอยู่ทุกขั้นตอนของการประเมิน  ทั้งผู้ประเมิน  ผู้ถูกประเมิน  และผู้ใช้ผลการประเมิน  จึงจำเป็นต้องเข้าใจพื้นฐานการวิจัยประเมินผลไว้ แม้ไม่ทำเองก็อาจได้ใช้ และที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือทุกคนต้องถูกประเมินและให้คุณค่าโดยคนที่อยู่ใกล้ไม่มากก็น้อยเป็นประจำ               

เอกสารอ้างอิง

  •  บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์  รวมบทความ การวิจัย การวัดและประเมินผล พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ โรงพิมพ์ศรีอนันต์ ๒๕๔๓
  • ศิริชัย  กาญจนวาสี  ทฤษฎีการประเมิน  พิมพ์ครั้งที่ ๓ กรุงเทพฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ๒๕๔๕
  • Gabriele Beissel-Durrant  A Typology of Research Methods Within the Social Sciences NCRM Working Paper   http://www.ncrm.ac.uk/publications/documents/NCRMResearchMethodsTypology.pdf   
  • Richard Pigeon & Ralph Kellett  Glossary of Common Terms Used In Reserch and Evaluation  http://www.rcmplearning.org/docs/ecdd1310.htm#researdesig           
หมายเลขบันทึก: 86978เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2007 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท