“คอร์รัปชัน”ดัชนีชี้วัด “ความรักชาติ”


“คอร์รัปชัน”ดัชนีชี้วัด “ความรักชาติ”

90027 by somsri_nonstop “คอร์รัปชัน”ดัชนีชี้วัด “ความรักชาติ”

หากความรักชาติ หมายถึง การกระทำสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง
และยินดีเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมแล้ว

...การเห็นแก่ประโยชน์ของชาติมากกว่าเห็นแก่ประโยชน์ของ ตนเอง
สะท้อนสำนึก “ความรักชาติ” ได้หรือไม่

..ข้าราชการ นักการเมือง ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สามารถปฏิเสธผลประโยชน์อันมิชอบที่ตนเองจะได้รับ โดยไม่มีใครรู้เห็น สะท้อนสำนึก “ความรักชาติ” ได้หรือไม่

คำตอบที่ได้นั้นแน่นอนว่า ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของข้าราชการและนักการเมืองย่อมสะท้อนความรักชาติของพวกเขา ในขณะเดียวกันการทุจริต คอร์รัปชัน ย่อมสะท้อนผลในมุมตรงกันข้ามได้เช่นกัน

จากการติดตามข่าวในช่วงที่ผ่านมา แม้การทุจริตคอร์รัปชัน อาจไม่ใช่ข่าวใหญ่ แต่การเปิดโปงคดีทุจริตคอร์รัปชันได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมบางอย่างอาจดูเหมือนไม่คอร์รัปชันโดยตรง แต่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจที่ไม่ซื่อสัตย์ ขาดการเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศและคนในชาติ พฤติกรรมเหล่านี้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองใหญ่ ๆ ที่อยู่ในรัฐสภาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น

..การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ถึงหลายต่อหลายครั้ง สูญเสียงบประมาณไปมากมายหลายพันล้านบาท

...การทุจริตจัดซื้อยาของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขตาม โรงพยาบาลในท้องที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งกว่าจะเปิดโปงหาผู้กระทำผิดได้ต้องใช้เวลานาน

...การทุจริตของครูในการจัดซื้อนมโครงการ “นมโรงเรียน” หลายแห่งนักเรียนและครูร่วมกันประท้วงเปิดโปงการทุจริต

..หรือการทุจริตของเจ้าหน้าที่ราชการท้องถิ่นจำนวนหนึ่งที่ ร่วมกันรับจ้างปลอมแปลงเอกสารสิทธิ์สำคัญต่าง ๆ ทั้งบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หากไม่มีจับกุมนายหลิวตาจง อาชญากรทางเศรษฐกิจของจีนที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยได้ ขบวนการทุจริตครั้งนี้คงยังไม่ได้รับการเปิดโปง

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันที่ไม่ได้รับการเปิดโปงคงมีอยู่ ทั่วประเทศ ในจำนวนและปริมาณความสูญเสียจำนวนมหาศาลที่ไม่มีใครทราบได้ ซึ่งหากเปรียบประเทศไทยเป็นชิ้นเค้ก คงเป็นเค้กที่ ถูกรุมกินจนไม่เหลือแม้แต่เศษหรือครีม หรือเปรียบเหมือนแม่ที่ใกล้ตายโดยมีลูก ๆ รุมล้อมอยู่...ไม่ใช่เพื่อให้กำลังใจ แต่เพื่อที่จะแย่งชิงสมบัติของผู้เป็นแม่มาให้ได้มากที่สุด

“ฉันรักประเทศไทย” คำกล่าวนี้เป็นจริงเพียงใด ? คนไทยรักประเทศไทยเพียงใด ? ดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งที่สามารถบอกได้คือ ดูจากภาพลักษณ์ปัญหา “คอร์รัปชัน” ที่เกิดขึ้นในประเทศนั่นเอง

ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ในปี พ.ศ. 2546 ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 70 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 64 ในปี พ.ศ. 2545 ผลที่ออกมาแสดงว่าภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในระดับโลก มีสภาวะการคอร์รัปชันที่เพิ่มสูงขึ้น1

จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า โดยเฉลี่ยร้อยละ10-20 ของวงเงินงบประมาณในโครงการจัดจ้างคืออัตราสินบนที่ต้องจ่ายให้กับนักการเมืองหรือข้าราชการที่ เกี่ยวข้องในโครงการนั้น ๆ โดยบางโครงการที่มีลำดับขั้นตอนการ อนุมัติที่ยาวนาน อาจต้องจ่ายเพิ่มสูงถึงร้อยละ 40 หรือมากกว่า จึงสามารถที่จะขอดำเนินการในโครงการนั้น ๆ ได้ และจากงานวิจัยเชิงสำรวจเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในประเทศไทยที่ธนาคารโลกได้ มอบหมายให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการวิจัยพบว่า การจ่ายเงินพิเศษหรือค่าสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้การติดต่อราชการได้รับการอำนวยความสะดวกได้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติสำหรับภาค ธุรกิจไปแล้ว โดยร้อยละ 79 ของผู้ประกอบการ ยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ธุรกิจจะต้องจ่ายเงินดังกล่าวนี้ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

สิ่งที่น่าวิตกกังวลยิ่งไปกว่านั้นคือ หากผู้กระทำผิด “คิดไม่ถึง” หรือ “ขาดจิตสำนึก” ในการที่จะตระหนักถึงความเสียหายอันเกิดจากการคอร์รัปชัน โดยไม่รู้หรือไม่ใส่ใจว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อประเทศชาติตามมา เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ราชการปลอมแปลงเอกสารสิทธิ์ในการโอนสัญชาติให้กับคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาเพียงเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว ย่อมทำให้อาชญากรแผ่นดินจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองไทยได้อย่างง่ายดาย ซึ่งอาจ จะเป็นเช่นนั้นแล้วก็ได้ในช่วงที่ผ่านมา

แม้ว่าในปัจจุบันประชาชนจะเริ่มตื่นตัวในการตรวจสอบคอร์รัปชันและการใช้อำนาจของรัฐในทางมิชอบเพิ่มมากขึ้นดังเช่น การ ที่ประชาชนจำนวนมากโทรศัพท์เข้าสู่รายการวิทยุโทรทัศน์แสดง ความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มที่จะไม่ยินยอมต่ออำนาจของรัฐที่ไม่ชอบธรรมดังเช่นในอดีตที่ผ่านมาอีก ต่อไป หรือจากการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกมาประกาศ กวาดล้างเทศกิจที่เรียกเก็บเงินในทางทุจริต ทำให้บรรดาแม่ค้ามี ความกล้าที่จะร้องเรียนหรือชี้ตัวเทศกิจที่เรียกเก็บเงินนั้นด้วย หรือกรณีที่มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่มีความรักชาติทั้งภาคราชการและ ประชาสังคมรวมตัวกันดำเนินงานในรูปเครือข่ายภาคราชการและ ประชาสังคม 84 องค์กร เพื่อต้องการสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องที่จะไม่คอร์รัปชันในสังคมไทยนั้น เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นนิมิตหมายอันดีที่ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนในประเทศเริ่มที่จะไม่ยอมต่อการใช้อำนาจ ของรัฐในทางที่ไม่ชอบธรรม และมีความกล้าที่จะเข้ามาร่วมตรวจสอบมากยิ่งขึ้น แต่ยังมีสัดส่วนที่น้อยมากหากเทียบกับความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันที่สังคมไทยเผชิญอยู่

การที่ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ และประชาชนส่วน ใหญ่ในประเทศ ยังไม่ได้เกิดความตระหนักถึงความร้ายแรงของการคอร์รัปชัน ในการทำร้ายและทำลายทุกระบบของประเทศชาติ รวมถึงในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น เนื่องมาจากคนในสังคมส่วนใหญ่ยังขาดอุดมการณ์ และจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม รวมทั้งการที่ประเทศชาติไม่เคยมีอุดมการณ์ชาติที่จะยึดโยงให้คนแต่ละคนปรารถนาที่จะทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ จึงมีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่มุ่งหมายจะเข้ามาอยู่ในระบบต่าง ๆ ในสังคมเพื่อปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติ ในขณะที่คนส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อประโยชน์ของตนเอง เพื่อประโยชน์ของพวกพ้องญาติมิตรในกลุ่มของตนเป็นสำคัญ

การที่จะสามารถบอกได้ว่า ประชาชนในสังคมมีความรักต่อประเทศชาติบ้านเมืองของตนมากน้อยเพียงใด จุดหนึ่งเราสามารถดูได้จากอุดมการณ์ของประชาชนในประเทศชาตินั้นว่ามีความปรารถนาที่จะทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง หรือเพียงแต่มุ่งหวังที่จะกอบโกยหาผลประโยชน์เข้าสู่ตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น “การคอร์รัปชัน” จึงทำหน้าที่เป็นดัชนีชี้วัดตัวสำคัญ ที่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า คนในสังคมมีจิตสำนึกในความรักชาติ ปกป้องผลประโยชน์ของชาติมากน้อยเพียงใด

ถึงเวลาแล้วที่คนในชาติควรที่จะมาสำรวจถึงจิตสำนึกของตนเองว่า เรามีความรักต่อประเทศชาติของเราเพียงใด ความรักชาติไม่ควรรักแต่คำพูด แต่ควรที่จะรักด้วยการกระทำ ความรักชาติที่แท้จริงจึงต้องแสดงออกด้วยการเห็นแก่ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ภายในชาติ มากกว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเพียงเพื่อปากท้อง และเพื่อกระเป๋า ของตนเอง ต้องรังเกียจพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ทำลายชาติ เช่น การ คอร์รัปชัน หรือ การรับสินบาท คาดสินบน แต่ความรักชาติที่แท้จริงต้องอยู่บนฐานของการยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นหลัก

องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในระบบบูรณาการ (ซีอีโอ) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ตอนหนึ่งไว้ว่า “อย่าให้ข้าราชการ ชั้นไหน ชั้นใด ข้าราชการหรือประชาชนมีการทุจริต ถ้ามีทุจริตแล้ว บ้านเมืองพัง ที่เมืองไทยพังมาเพราะว่ามีทุจริต” จากพระราชดำรัสข้างต้นแสดงให้เราเห็นอย่างชัดแจ้งและเกิดความตระหนักอย่างชัดเจน ร่วมกันว่า การคอร์รัปชันเป็นเสมือนภัยพิบัติลูกใหญ่ที่ทำลายสังคมไทยอย่างแท้จริงในช่วงที่ผ่านมา คนไทยทุกคนจึงไม่สามารถที่จะละเลยต่อปัญหาดังกล่าวนี้ได้อีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ ถ้าเพียงแต่คนไทยส่วนใหญ่จะมีจิตสำนึกของ ความรักชาติดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมี “ผู้นำประชาชน” จำนวนมาก ที่ทำการตรวจสอบ ความถูกต้องชอบธรรมของการใช้อำนาจของรัฐอย่างกระตือรือร้นและเอาจริงเอาจังแล้ว การปราบปรามปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศไทย จะเกิดผลที่ดีกว่าในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และประเทศไทยที่รักยิ่งของเราคงจะไม่ได้เป็นเพียงเด็กที่แคระแกร็นอีกต่อไป แต่จะเป็นเด็กที่เติบโตเติบใหญ่ เป็นประเทศที่แข็งแกร่ง โดยสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองไปได้อย่างกว้างไกล และสามารถที่จะก้าวเข้าสู่เวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

หมายเลขบันทึก: 86798เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2007 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 01:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อาจจะเป็นขบวนการชาตินิยมไทยในปัจจุบัน ยังไม่ได้สร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้จริงๆ หรือเปล่า?
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท