BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๙ : เตรียมตัวเองเพื่อครองเรือน (ต่อ)


ปรัชญามงคลสูตร

วินโย จ สุสิกขิโต และวินัยอันตัวเองศึกษาดีแล้ว

มงคลข้อที่ ๓ ในคาถานี้ คือ วินัยอันตัวเองศึกษาดีแล้ว ...คำว่า วินัย ผู้เขียนเล่าไว้บ้างแล้วในเรื่องเล่าภาษาบาลี ผู้สนใจดูได้ในคำว่า นายก  ดังนั้น ผู้เขียนจะว่าเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น

วิ แปลว่า ต่าง ...ส่วน นัย แปลว่า นำไป ... วิ+นัย = วินัย ....

วินัย จึงแปลว่า นำไปโดยต่าง หมายถึง ระเบียบปฏิบัติเป็นเครื่องนำทางหรือนำไปโดยแยกออกไปจากที่สุดโด่งทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ตึงเกินไป และหย่อนเกินไป ...ดังนั้น วินัยอันตัวเองศึกษาดีแล้ว จึงหมายถึง ระเบียบปฏิบัติสำหรับตัวเราเองซึ่งไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป และมีความเหมาะสมกับตัวเราเอง...ประมาณนี้

ข้อวินิจฉัยข้างต้นนั้น ผู้เขียนว่าโดยความเห็นของตัวเองเพื่อให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะว่าต่อไป แต่ก่อนอื่นจะกล่าวตามคัมภีร์ก่อน..ตามคัมภีร์ แบ่งวินัยออกเป็น ๒ ประเภทคือ วินัยของบรรพชิต (ปาริสุทธฺศีล ๔) และ วินัยของคฤหัสถ์ (ศีล ๕ ศีล๘) ...ซึ่งผู้สนใจอาจค้นหาได้ไม่ยากนัก...

ตามมติของผู้เขียน ในการเตรียมตัวเพื่อครองเรือนนั้น ต้องมีพหุสัจจะและศิลปะตามที่ได้เล่าไปแล้วก็จริง (ผู้เพิ่งแรกติดตามดู ปรัชญามงคลสูตร ๗ : เตรียมตัวเองเพื่อครองเรือน (ต่อ) และ ปรัชญามงคลสูตร ๘ : เตรียมตัวเองเพื่อครองเรือน (ต่อ) ) แต่ถ้าเราปราศจากบางอย่างเข้าไปควบคุมหรือจัดระเบียบแล้ว ก็อาจทำให้สิ่งเหล่านั้นเลยเถิดหรือไปไม่ถึงไหนก็ได้... สิ่งที่จะเข้ามาควบคุมให้พหุสัจจะและศิลปะมีความเหมาะสมนี้ก็คือ วินัย ซึ่งเป็นการจัดระเบียบปฏิบัติให้เหมาะสมกับตัวเอง จึงได้ชื่อว่า อันตัวเองศึกษาดีแล้ว....

บางคนชอบนอนหัวค่ำตื่นก่อนสว่าง แต่บางคนมีนิสัยนอนดึกๆ ตื่นสายๆ ...ข้อนี้ก็คือความไม่เหมือนกันของคนซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ...ภาษิตปักษ์ใต้บ้านเราว่า ตื่นสายสร้างสวนพร้าว ตื่นเช้าสร้างสวนยาง ...นั่นคือ การทำสวนมะพร้าวหรือสวนยางก็อาจเลี้ยงชีวิตได้เหมือนกัน โดยสวนมะพร้าวไม่จำเป็นต้องตื่นแต่เช้าตรู่ จัดแจงเวลาใดก็ได้ตามความเหมาะสม...

แต่สวนยางจะต้องตื่นตั้งแต่ยังไม่สว่างเพื่อออกไปกรีดยาง เพราะถ้าสายๆ น้ำยางจะหยุด...นั่นคือ ใครจะเลือกสร้างสวนยางหรือสวนมะพร้าว ก็ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยของตัวเอง โดยพิจารณาตัวเองอย่างละเอียดถี่ถ้วน และเลือกปฏิบัติไปตามที่เห็นเหมาะสม ...กรณีนี้พอจะสงเคราะห์ได้กับวินัยที่ศึกษาดีแล้ว

ส่วนตามคัมภีร์ท่านใช้ศีลห้ามาควบคุมพหุสัจจะและศิลปะ ซึ่งเป็นการประมวลหลักการทั้งหมดเพื่อความเป็นมงคล เช่น พหุสัจจะ ของบางคนได้มาเพราะขโมยของผู้อื่นมา จึงไม่ถือว่าเป็นมงคล... ยุคนี้ถึงกับมีกรณีของอาจารย์บางคน ขโมยความคิดจากรายงานของลูกศิษย์ มาวิจัยต่อ แม้ภายหลังอาจได้ชื่อว่ามีพหุสัจจะ แต่จัดเป็นขโมยเช่นเดียวกัน (แทนที่จะสงเสริมให้ลูกศิษย์ศึกษาในประเด็นนั้นเพื่อความเจริญก้าวหน้าต่อไป)

ในด้านศิลปะนั้น ถ้าไม่มีวินัยคือศีลห้าเข้าไปควบคุมแล้วก็ไม่เป็นมงคล เช่น โจรงัดตู้นิรภัย เป็นต้น แม้จะมีความชำนาญ สามารถกระทำได้สำเร็จ แต่ก็ไม่จัดว่าเป็นมงคลชีวิตอย่างจริงแท้ ...เป็นต้น

มงคลข้อ วินัยอันตัวเองศึกษาดีแล้ว จัดว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการเตรียมตัวเพื่อครองเรือน เพราะถ้าขาดข้อนี้แล้ว การดำเนินชีวิตก็อาจล้มเหลวได้... ดังเราประสบอยู่ในโลกของความเป็นจริง กล่าวคือ บางคนรู้มาก ทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่มีระเบียบปฏิบัติที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น มาทำงานไม่ตรงเวลา ขาดการรับผิดชอบในงานที่มอบหมาย มักเล่นการพนัน เป็นต้น...

ประเด็นนี้ มีนัยที่จะขยายความได้อีกเยอะ แต่ผู้เขียนเล่าเพียงย่อๆ เพื่อเป็นข้อคิดเท่านั้น และเพื่อจะได้ว่าข้ออื่นๆ ต่อไป   

 

คำสำคัญ (Tags): #มงคลสูตร
หมายเลขบันทึก: 86009เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2007 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท