สรุปประเด็นสำคัญจากการเข้ารับการอบรม KM


KM for C-POORs
สรุปเรื่องการจัดการความรู้ในฐานะเป็นเครื่องมือในการทำงานของโครงการบูรณาการอาชีพเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน (๒๐-๒๒ พ.ย.๒๕๔๘)
๑.  อะไรคือการจัดการความรู้

การจัดการความรู้คือความพยายามที่จะตอบปัญหาหลัก ๔ ประการคือ

๑.      ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้บุคคลสร้างความรู้จากการทำงานได้ (บุคคลหรือองค์กรต้องมี วิสัยทัศน์ เป้าหมาย มีความสัมพันธ์ และมีวัฒนธรรมร่วมกัน

๒.    ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้บุคคลสามารถสกัด ความรู้ที่ติดคน (Tacit Knowledge) ออกมาเป็น ความรู้สาธารณะ/ความรู้ในหนังสือ (Explicit Knowledge)ได้  เพิ่อมิให้ความรู้นั้นถูกละเลยและเลือนหายไปพร้อมกับคน

การสร้าง สั่งสม  และรวบรวมความรู้

๓.     ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้บุคคลเรียนรู้จาก งานเลิศ ของคนอื่น (Good Practice หรือ Best Practice)

๔.     ทำอย่างไรจึงจะมีขบวนการหรือเครื่องมือที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ส่งเสริมให้คนแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้กัน

อาศัยกระบวนการและวิธีการที่คนรู้สึกว่าปลอดภัยและสบายใจที่จะพูดคุย มีเงื่อนไขการแลกเปลี่ยนที่เอื้อผลประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และสนุกที่จะทำ(สำหรับคนไทย)

       ความพยายามที่จะส่งเสริมแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และเรียนรู้สิ่งที่มีอยู่แล้ว
๒. การสร้างความรู้จากการทำงานและการช่วยสกัดความรู้ที่ติดคนออกมาเป็นความรู้สาธารณะ

                แบ่งผู้เกี่ยวข้องออกเป็น ๒ กลุ่มหลักคือ

๑.      กลุ่มอาชีพท้องถิ่น  ประกอบด้วย เยาวชน แม่บ้าน ผู้นำศาสนา ครูในหมู่บ้าน  ผู้อาวุโส โดยมีกิจกรรมคือ

จัดเวทีชุมชน โดยใช้กระบวนการ AIC (Appreciation-Influence-Control)กำหนดวิสัยทัศน์ในการทำงาน จดบันทึกกระบวนการและผลการพูดคุยในเวทีทุกครั้ง เพื่อนำไปเปรียบเทียบ ทบทวนการทำงาน และประเมินการทำงานในช่วงที่ผ่านไป

๒.    กลุ่มสนับสนุน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่เป็น ทีมสนับสนุนและเรียนรู้ (Support and Learning Teams=SALTs)

เน้นสรุปบทเรียนของ SALTs และ AIC โดยการใช้กระบวนการ After Action Review (AAR)   เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบความคาดหวัง กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการทำงาน  สามารถวิเคราะห์เหตุ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และสรุปบทเรียนขงอตนเองและทีมงานได้อย่างตรงประเด็น

๓. กระบวนการ KM ทำให้ชุมชนสามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการทำงานของตนให้เหมาะสม  และทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นกว่าเดิม โดยมาจากการเรียนรู้ร่วมกันเอง  มิได้เป็นการบอกกล่าวชี้แนะหรือผลักดัน โดยเจ้าหน้าที่หรือผุ้เชี่ยวชาญภายนอกแต่อย่างใด

๔. การเรียนรู้ที่เกิดขึ้น  เป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้นลึก ๆ ในตัวบุคคล โดยที่เจ้าตัวเองมิได้ตระหนักถึง หรือตระหนักอยู่ลึก ๆ และลางเลือน แต่ไม่สามารถจะถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดที่เหมาะสมได้ จึงต้องอาศัยการตั้งคำถาม การกระตุ้น การเจาะลึก  การช่วยเชื่อมโยง และสรุปโดยวิทยากรที่มีทักษะ ในการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ โดยไม่ชี้นำ  หรือครอบงำความคิดของชุมชน จนสามารถช่วยให้เกิดการถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดหรือตัวหนังสือให้ผู้อื่นรับรู้ได้

๕. การเรียนรู้จากงานเลิศของคนอื่น

                ๕.๑ มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนระดับจังหวัด  เพื่อให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และสามารถนำสิ่งเรียนรู้ไปปรับใช้ในการทำงานกับชุมชน และในการจัดเวทีชุมชนต่อไป

                ๕.๒ มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนระดับภาค เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแทนชุมชนได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวคิด และบทเรียนจากการทำงานของตนเอง และสรุปบทเรียนร่วมกัน

๖. ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการสร้างเวทีและโอกาสในการเรียนรู้แต่ละระดับ

                ชุมชน และ ทีมงานสามารถเกิดการ เรียนลัด  จากการเรียนรู้งานเลิศและบทเรียนของกันและกัน ประหยัดเวลา และ ทรัพยากร  การได้พบเห็นและเรียนรู้ประสบการณ์และงานดี ๆ ของกันและกัน ทำให้ชุมชนเกิดความเชื่อมั่น ในศักยภาพของตนเองและเพื่อน ๆ มีความมั่นใจ และ มีแรงบันดาลใจ ที่จะทำงานต่อไปโดยตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของตนเองอีกด้วย ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ไม่สามารถหาได้จากวิธีการอื่นใด

๗. การสนับสนุนกระบวนการและเครื่องมือ

                การประเมินตนเอง (Self-assessment) เพื่อประเมินความก้าวหน้าและความสำเร็จของตนเอง

                                - ชุมชนคิดเกณฑ์ของตนเองเพื่อให้เป็นเครื่องมือของชุมชนอย่างแท้จริง

                                - ผลการประเมินสรุปออกมาในรูปของแผนภูมิแม่น้ำ (River Diagram) และ แผนภูมิบันได (Stairs Diagram)

๘. การทบทวนหลังการปฏิบัติงาน  หรือ After Action Review (AAR)

                เป็นการสรุปบทเรียนหลังการปฏิบัติงานใด ๆ สิ้นสุดลง โดยเน้นการดึงผู้ที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยร่วมกันถึงความคาดหวังก่อนการปฏิบัติงาน ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สาเหตุที่ทำให้ความคาดหวังกับความเป็นจริงแตกต่างกัน และบทเรียน/แนวทางสำหรับการปฏิบัติงานครั้งต่อไปเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

๙. สรุปบทเรียนจากการใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้

                - KM ไม่ใช่เป็นเพียง เครื่องมือหรือชุดเครื่องมือ แต่เป็น  วิธีคิด และ วิธีการทำงาน

                - KM มิได้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี แต่ ขับเคลื่อนด้วยคน

                - KM ต้องอาศัยการเปิดใจกว้างที่จะเรียนรู้ ที่จะปรับปรุงตัวเอง ที่จะถ่ายทอดแบ่งปัน ความเคารพซึ่งกันและกัน ความเป็นมิตร และความเชื่อมั่นในกันและกัน

                - KM ต้องอาศัยวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในองค์กร และการพัฒนาศักยภาพของบุคคลอย่างต่อเนื่อง

                - KM ต้องอาศัยความสัมพันธ์แนวราบ
- KM ต้องอาศัยเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย และสอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขที่เป็นจริง
- KM ต้องพยายามสร้างความรู้ร่วม (Common Knowledge) และวิสัยทัศน์ร่วม (Common Vision) โดยดึงความรู้ในตัวคน (Tacit Knowledge) และดึงศักยภาพของคนออกมา
- KM ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ต้อง ต่อยอด จากสิ่งที่มีอยู่ เพราะทุก ๆ ที่ ที่มีคน องค์กร และชุมชนที่มีศักยภาพ มีความรู้ และมีการจัดการความรู้
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 8541เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2005 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2012 02:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นประโยชน์มาก สำหรับผู้ที่เริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับ KM

ขอบคุณมากครับ หวังว่าคงมีบทความดีๆ มานำเสนออีกนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท