เสียงสะท้อนจากน้องฝึกงานรังสี(1)


พี่บอกว่ามีคำอยู่คำหนึ่งที่เราควรระลึกเสมอว่า “ ของทุกชิ้นมีบ้านอยู่เมื่อเราใช้เสร็จแล้วเราควรพามันไปไว้ยังบ้านของตัวมันเอง"

                      เป็นความรู้สึกของน้องฝึกงานคือน.ส อ้อม น่วมทิม นศ.หลักสูตรรังสีเทคนิค ม.นเรศวร ซึ่งผมไม่ได้ตัดทอนความเห็นใดๆออกเลย .....

                      ครั้งแรกที่ทราบว่ามาฝึกงานที่จังหวัดตากก็รู้สึกว่าคงไม่ได้อะไรมากแน่เลย เพราะบางคนจะพูดว่าโรงพยาบาลนี้ตั้งอยู่บนภูเขาและตั้งใกล้กับโรงพยาบาลประจำจังหวัด ค่อนข้างที่จะมีผู้ป่วยน้อย วันแรกที่มาถึงก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน พอมาถึงที่พักก็รู้สึกว่าเงียบและเหงามากเพราะดูเหมือนจะไม่มีใครเลย พอมาที่แผนกได้คุยกับพี่ ๆ ทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนไปเพราะพี่ๆดูอบอุ่นดี แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเจออะไรต่อไป กับการเริ่มงานวันแรกมีพี่ที่แผนกพาเดินไปแนะนำยังแผนกต่าง ๆ พี่ ๆทุกคนน่ารักมากเลย หลังจากวันนั้นพี่ทุกคนจำพวกเราได้แต่เรากลับจำพี่ ๆ ไม่ค่อยได้เลย ( ก็พี่ตั้ง 165 คน เรามีกันแค่ 2 คนเอง ) หลังจากวันแรกที่เริ่มทำงานอย่างจริงจังโดยมีพี่ ๆ คอยดูแลอย่างใกล้ชิดก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เพราะวันนี้มีผู้ป่วยไม่มากเท่าไร และก็มีเพียงการตรวจสุขภาพของผู้สูงอายุ 3 รายเท่านั้น

                       เริ่มงานวันที่ 2 วันนี้ผู้ป่วยเริ่มมากขึ้นเพราะเราต้องตรวจสุขภาพผู้ป่วยที่เหลืออีก 9 คน และก็มีคนไข้อื่น ๆ อีก ตอนเย็นพี่ก็มาชวนเล่นแบท ข้าพเจ้าเลยกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของพี่ ๆ ชาวทีมแบททุกคน ตอนเล่นก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นพี่ๆ ทุกคนก็คอยเป็นห่วงเป็นใย คอยถามถึงตลอด ความรู้สึกเหมือนกับอยู่บ้านเลยอย่างน้อยก็เหมือนกับมีพี่ที่คอยดูแลเราอยู่ใกล้ๆ การทำงานวันต่อ ๆ มา งานก็เริ่มมีมากขึ้นเพราะเรามีตรวจสุขภาพตำรวจ คนไข้ที่นี่ค่อนข้างมีไมตรีจิตดี พี่บอกว่าที่นี่เป็นเขตกึ่งเมืองกึ่งชนบทดังนั้นคนไข้ที่มาก็ค่อนข้างยึดเรื่องสิทธิของเขามากสักนิด จึงต้องระวังเรื่องการแสดงกิริยา มารยาท ต่อผู้ป่วยมากเป็นพิเศษ เพราะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นมากมายและเนื่องจากโรงพยาบาลบ้านตากเข้าระบบการประกันคุณภาพระดับประเทศ ดังนั้นผู้ป่วยมีสิทธิเต็มที่ ที่จะเรียกร้องสิทธิของตน หากเกิดกรณีแบบนี้มากก็จะส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลได้

                   มาอยู่ที่นี่พี่ทุกคนก็มีการสอนให้เรียนรู้แบบต่าง ๆ กันไป พี่คอยสอนเราว่าเมื่อเรามาถึงที่ทำงานสิ่งแรกที่เราควรทำคืออะไร เราควรทำเช่นไรกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้งาน ที่นี่จะเน้นความสะอาดและความปลอดภัยของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่รวมถึงอุปกรณ์ การเก็บสิ่งของทุกอย่างเป็นระเบียบมาก พี่บอกว่ามีคำอยู่คำหนึ่งที่เราควรระลึกเสมอว่า “ ของทุกชิ้นมีบ้านอยู่เมื่อเราใช้เสร็จแล้วเราควรพามันไปไว้ยังบ้านของตัวมันเอง “ การป้องกันตนเองจากการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจากการสัมผัสกับผู้ป่วย และป้องกันการติดเชื้อที่ผู้ป่วยอาจได้รับจากการปฏิบัติงานของเรา รวมถึงการบริการผู้ป่วยเพื่อหู้ป่วยเกิดความพึงพอใจในการบริการ รู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเราคือถ้าหากเราเป็นผู้ป่วยเราจะรู้สึกเช่นไรเมื่อเราได้รับการบริการจากเจ้าหน้าที่อย่างนี้ ท่าทีแบบนี้และต้องอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ ท่าทีที่พี่ ๆ สอนก็ดูเอ็นดูมากกว่าที่จะบังคับเพื่อให้งานบรรลุตามที่พี่ต้องการ

                    ทุกครั้งที่ทำงานผิดพลาดพี่จะคอยบอกและให้คิดหาทางแก้ปัญหาโดยจะมีพี่คอยแนะนำและบอกถึงเหตผลที่มันน่าจะเป็นไปได้ บอกถึงข้อดีข้อเสียของทางที่แก้ปัญหา บางทีก็คอยตั้งคำถามเพื่อให้เราหาคำตอบจากสิ่งที่เรียนมาเพราะบางครั้งก็มีลืม ๆ บ้าง บอกข้อแตกต่างระหว่างสิ่งที่เรียนมาและความเป็นจริงเพราะบางสิ่งบางอย่างเราไม่สามารถที่จะทำตามทฤษฏีได้ทั้งหมด เราควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยมากกว่าสิ่งอื่นใด

                   ประสบการณ์ที่เราได้มีมากกว่าการทำงานที่ต้องทำตามหน้าที่และส่วนที่รับผิดชอบ ที่นี่สอนให้รู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยกันทำทุกอย่างที่สามารถช่วยกันทำได้ไม่ว่างานนั้นจะอยู่ในความรับผิดชอบของใคร แผนกใด

                     อีกสิ่งหนึ่งที่นี่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนทุกเช้าเมื่อมาพบกันทุกคนจะต้องสวัสดีทักทายกันทุกคนที่นี่ทำกันจนเป็นนิสัย อีกประการหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ 1 คนควรทักทายคุยกับคนไข้อย่างน้อย 1 คน ต่อวัน และเมื่อพบว่าผู้ป่วยเดินมา ไม่รู้ว่าควรไปที่ใดเจ้าหน้าที่ควรรีบเข้าไปซักถามและให้คำแนะนำ จากการมองของข้าพเจ้าที่ก็ถือว่าเป็นบุคคลภายนอกยังรู้สึกว่าน่ายกย่องมากเพราะสิ่งเหล่านี้หายากขึ้นทุกวันในหน่วยงานของประเทศไทย มีกิจกรรมมากมายที่ทำให้เจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมช่วยเหลือกันทำในกิจกรรมต่าง ๆ เช่นประเพณีลอยกระทง การทำกระทงทุกหน่วยงานจะช่วยกันทำแม้ว่างานประจำที่ต้องทำก็มากพอสมควร

                     มาจนถึงทุกวันนี้ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกว่าที่นี่เป็นโรงพยาบาลที่อบอุ่นมากค่ะสนใจและดูแลความปลอดภัยของคนไข้มากกว่าเงินที่คนไข้จะนำมาให้ วันที่ 22 พย. มีเรื่องสนุกค่ะวันนี้ทางการไฟฟ้ามาดับกระแสไฟเพื่อทำอะไรสักอย่างไฟดับทั้งโรงพยาบาลเลยค่ะ ทีแรกเหมือนจะทำงานไม่ได้ เจ้าหน้าที่เดินกันวุ่นค่ะแต่พอดีมีเครื่องปั่นไฟ(เครื่องเล็ก)ซึ่งพอทำงานร้อนมากไฟก็จะดับ มีช่วงหนึ่งถ่ายเอกซเรย์ skull เด็กเสร็จแล้ว นำฟิล์มไปใส่เครื่องล้างฟิล์มพอดีกับช่วงที่ไฟดับ ฟิล์มเลยค้างอยู่ในเครื่องพอดี พอไฟมานำฟิล์มมาดูสามารถแยกส่วนได้เลยค่ะว่าส่วนใดอยู่ในน้ำยาอะไรตอนไฟดับ

                       วันที่ 23 พย. มีการออกพื้นที่เพื่อแจกแบบสำรวจเกี่ยวกับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการที่ รพ. บ้านตาก ค่ะวันนี้ทั้งวันรู้สึกสับสนบางที่ชาวบ้านก็ชม บางที่โดนระเบิดน้ำลายใส่หูแทบฟังไม่ทันเลยค่ะ แต่ความสุขก็อยู่ที่เรารู้ว่าเวลาที่ผู้ป่วยมารับบริการเขารู้สึกเช่นไรและต้องการให้เราทำอะไรเพื่อเขาบ้างและที่สำคัญอย่างน้อยเขาก็ได้ระบายสิ่งที่พวกเขารู้สึกแต่ไม่สามารถระบายออกมาได้เมื่อเข้ามารับการรักษา
                      วันที่ 24 พ.ย. พี่พาไปเที่ยวที่ลพบุรี คืนที่เดินทางไปพักโรงแรม “ไม้หอมรีสอร์ท”ที่นครสวรรค์ตอนเช้าถึงเดินทางไปลพบุรี ตอนเช้ามาดูดอกทานตะวันบาน ไม่รู้เหมือนกันว่ามาช้าหรือเร็วเกินไปเพราะบางที่ดอกทานตะวันก็แห้งเหลือแต่เมล็ด แต่บางที่ก็ยังไม่บานเลย พอถ่ายรูปเล่นจนร้อนแล้วก็ขับรถมาเที่ยวต่อที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซื้อของมาฝากที่บ้าน ฝากพี่ ๆ ที่โรงพยาบาลที่สำคัญการท่องเที่ยวครั้งนี้เราเที่ยวฟรีตลอดงานเลยค่ะ หลังจากเที่ยวเสร็จแล้วก็กลับที่พัก ตอนกลับสลบทั้งพี่ทั้งน้องเลยค่ะ

                       แล้วตอนเช้าเราสองคนก็เตรียมตัวเพื่อไปฝึกงานที่ โรงพยาบาลตากสินมหาราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด ( เป็นวันแรกค่ะ ) จุดประสงค์ของพี่ที่โรงพยาบาลบ้านตากคือมาดู case พิเศษ พี่ที่นี่ใจดีเหมือนกันค่ะที่นี่มีนักรังสีทั้งหมด 7 คน สลับหน้าที่กันทำเป็นอาทิตย์ หลังจากที่ดู case พิเศษแล้วก็มาช่วยพี่ทำ case ganeral ที่นี่งานเยอะมากเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลบ้านตาก และ case ก็รุนแรงมากพี่ ๆ ทำกันไวมากเลยค่ะเรื่องการป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ป่วยและญาติแทบไม่มี และพี่ก็ไม่ค่อยสอนเหมือนที่โรงพยาบาลบ้านตากก็งานพี่เขายุ่งมากแต่ตอนพักเที่ยงพี่ ๆ ก็จะสลับกันมาเลี้ยงข้าว อิ่มทุกวันเลยค่ะ case พิเศษที่ดูไม่ครบทุก case เพราะเวลามีแค่อาทิตย์เดียวพี่บอกว่าดูแค่แนวเดียวทางก็พอ case ที่ได้ดูได้แก่
1. IVP
2. BE
3. Bariam swollow
4. HSG
                     จากการเปรียบเทียบการฝึกงานทั้ง 2 โรงพยาบาล มีส่วนดีและส่วนเสียที่แตกต่างกัน โรงพยาบาลบ้านตากเป็นโรงพยาบาลระดับชุมชนมีการบริการที่ดี นึกถึงความต้องการและความปลอดภัยของผู้รับบริการเป็นหลัก เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความผูกพันเป็นห่วงและคอยช่วยเหลือกัน ข้อเสียก็คือ มี case น้อยผู้ป่วยที่รับการบริการเป็นผู้ป่วยที่ค่อนข้างปกติ สามารถเดินมารับบริการได้ ถ้าป่วยมากก็จะถูกส่งตัวมาที่ตากการทำงานจึงค่อนข้างง่ายไม่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากนัก และการเอกซเรย์ก็ไม่ครบตามที่เรียนมาส่วนมากจะเป็นการเอกซเรย์ chest KUB Abdomen แต่ที่โรงพยาบาล ตสม.ผู้ป่วยมีมากมีทุกรูปแบบผู้ที่ปฎิบัติงานต้องรู้จักแก้ปยหาที่พบ แต่เนื่องจากมีผู้ป่วยมากการทำงานเร่งรีบจึงไม่ได้คำนึงถึงผู้ป่วยมากนัก รวมถึงความสะอาดการป้องกันการติดเชื้อและมารยาทการบริการ การพูดคุยกับผู้ป่วยน้อยลงเนื่องจากข้อจำกัดของเวลา

คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 85153เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2007 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท