ห้องสมุดบรรยากาศใหม่ที่จูงใจกว่า : สมพร เพชรสงค์


ห้องสมุด : บรรยากาศใหม่ที่จูงใจกว่า

“ห้องสมุด”  เมื่อพูดถึง จะนึกถึงภาพการ จัดห้องที่เป็นสัดส่วนเฉพาะ วางหนังสือเป็นชั้นๆ ลดหลั่นมีระเบียบ จำแนกหมวดหมู่ เป็นกลุ่มพวก โต๊ะไม้ เก้าอี้ มีวางอยู่กลางห้อง นักเรียนนักศึกษาที่คร่ำเคร่งกับการอ่าน หรือบันทึกบ้างบางคน บรรยากาศเงียบสงบ บางครั้งวังเวงน่าใจหาย  จะพบข้อความทำนองว่า “โปรดอย่าส่งเสียงดัง”  “ ห้ามนำอาหารมารับประทาน..”  หนังสือที่จัดวางหลากหลายปรากฏสันร่องรอยสึกสีจาง ผ่านการเปิดมาโชกโชน บรรณารักษ์คอยชำเลืองตรวจสอบผู้ผ่านเข้าออกเหมือนไม่ไว้วางใจ  นั่งอยู่ใกล้ประตู ทางเข้า
ความสำคัญของห้องสมุดเกือบจะไม่ต้องกล่าวย้ำเราทุกคนล้วนเคยผ่านการแสวงหาความรู้ด้วยทั้งสิ้น จากใคร่รู้  การถูกมอบหมายงานให้ทำเพื่อส่งครูในขณะที่เรียนระดับประถมและมัธยม   การเขียนรายงานในวิชาเรียนในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งการศึกษาวิจัยประกอบการเสนอประกอบการเรียนในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก หรืออย่างน้อยก็มีอยู่หลายครั้งที่ประสงค์จะเปิดดูวารสาร บันเทิง หรือหนังสือพิมพ์รายวัน  คมกริช  วัฒนเสถียร (มติชน, 17 มกราคม 2549 : น. 27) ระบุความสำคัญไว้ “ห้องสมุดคือแหล่งรวมของความรู้หากเราศึกษาชีวประวัติของบุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตมากมาย   ล้วนมีพื้นฐานเกี่ยวกับการอ่านหนังสือแทบทั้งสิ้น เพราะการอ่านคือ อาหารสมองอย่างแท้จริงที่จะทำให้มนุษย์สามารถมีความรู้เพื่อจะได้นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างภาคภูมิ ” และย้ำประเด็นว่า “ห้องสมุดขุมทรัพย์ทางปัญญา” คำขวัญวันเด็กปี 2549 นายกรัฐมนตรียังให้ไว้กับเด็กไทยว่า “อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด ”
และที่สำคัญยิ่งใหญ่ยิ่งกว่านี้คือ พระมิ่งขวัญการประถมศึกษาไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามกุฎราชกุมารีฯ ทรงเป็นแบบอย่างแห่งการอ่าน การเขียนอย่างใฝ่พระทัยเป็นที่ประจักษ์ยิ่ง  สมัยหนึ่งของวงการศึกษามีกิจกรรมรณรงค์การอ่านอย่างเอาจริงเอาจังทั้งนักเรียนและข้าราชการ คือโครงการ  “วางทุกงานอ่านทุกคน ” 
กล่าวมาทั้งหมด ล้วนสัมพันธ์ ยึดโยงกับห้องสมุดทั้งสิ้น บนเส้นทางปฏิรูปการศึกษาก็เชื่อกันว่า    การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ห้องสมุดยังเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งที่ผู้เรียนจะใช้เป็นแหล่งค้นคว้า หาความรู้  ได้ด้วยตนเองและห้องสมุดยังเป็นแหล่งค้นคว้าสำหรับครูเพื่อการเรียนการสอนและพัฒนาวิชาชีพ
แต่ดูเหมือนว่าห้องสมุดในสถานศึกษาส่วนหนึ่งก็ยังคงปัญหาอยู่หลายประการ เป็นต้นว่า หนังสือไม่เพียงพอ  ที่มีก็ล้าสมัย  อุปกรณ์เก่าโทรม  ระบบการจัดเก็บสับสน  หมวดหมู่จำแนกไม่ได้  สัดส่วนห้องไม่เฉพาะ   การบริหารจัดการยังไม่ต่อเนื่อง ระเบียบที่หยุมหยิม  องค์ประกอบไม่จูงใจ  มิหนำซ้ำเปิดให้ใช้ได้ บางเวลา ข้อจำกัดที่ถูกอ้างอิงเสมอ คือ  งบประมาณน้อยไม่พอ  ผู้รับผิดชอบมีงานอื่นต้องทำด้วย  ครูไม่พอ  ไม่มีครูที่มีความรู้เรื่องบรรณารักษ์เป็นเฉพาะ  ในที่สุดก็ไม่ได้ใช้ เท่าที่ควร จะเป็นผู้เรียนก็ไม่อยากจะเข้าไปร่องรอยนี้พบเห็นได้โดยไม่ยากและน่าจะมีปริมาณมากด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าห้องสมุดดี ๆ นะ  “มี” และก็หลายโรงเรียนที่ดีเด่นประสบความสำเร็จเป็นแบบอย่าง แนวทางใหม่ที่จูงใจผู้ใช้และการให้บริการที่ครอบคลุมหลายกลุ่มอายุ ที่เข้าไปศึกษาค้นคว้าจัดได้ว่าโรงเรียนนั้นก้าวสู่ยุคใหม่ไปแล้ว
ถ้าหากมีคำถาม ถามว่าแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับผู้เรียนในปัจจุบันมีอะไรบ้าง คำตอบว่าคือ ห้องสมุด น่าจะเป็นความถี่ในระดับต้น ๆ  แล้วทำไมปัญหาท้าทายจึงยังคงอยู่เช่นนั้น ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วหรือ
ได้มีโอกาสร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาห้องสมุดพอเพียง ซึ่งจัดโดย สมาคมพัฒนาเด็กไทย เมื่อ เร็ว ๆ นี้  ได้รับฟังและไปเยี่ยมชม  “ ห้องสมุดมารวย” ทำให้พบบางอย่างที่น่าสนใจหรืออาจจะเรียกว่าประทับใจไปเลยก็ได้ 
รู้จักห้องสมุดมารวยกันหน่อย ห้องสมุดนี้ตั้งอยู่ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก  คลองเตย  กรุงเทพมหานคร  จากบันทึกของเอกสารแนะนำเขียนไว้ว่า ห้องสมุดนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2547  เพื่อเป็นเกียรติแด่ ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์  กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 5  ซึ่งได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นให้เป็นมิติใหม่ของห้องสมุดแบบ Modern Library ที่พร้อมสรรพ สามารถรองรับความต้องการเรียนรู้อย่างมีสไตล์ของคนรุ่นใหม่ทุกเพศทุกวัยด้วยดีไซน์การตกแต่งแบบโมเดิร์น เน้นความโปร่ง โล่ง  สบาย เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์สืบค้นข้อมูลสารสนเทศอินเทอร์เน็ตไร้สาย มุมนันทนาการ  ทั้งจอชมการถ่ายทอด การสัมมนา  การเสวนา  การติดตามข่าวสาร  มุมดูหนัง  ฟังเพลง  มุมเกมลับสมอง รวมทั้งร้านกาแฟ  และร้านหนังสือ  Settrade.com  ให้เพลิดเพลินกับหนังสือเล่มโปรด  และกาแฟหอมกรุ่นได้พร้อมกัน  เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับประชาชนทั่วไปได้เพลิดเพลินกับการหาความรู้  เป็นสถานที่สำหรับใช้เวลาว่างที่ได้ทั้งความรู้และความบันเทิง บรรยากาศโดยรวมเป็นบทสรุปที่ประทับใจว่า  “เติมความรู้ด้วยสื่อความรู้หลากหลายรูปแบบ เติมความสนุกด้วยกิจกรรมและมุมต่างๆ ที่เพลิดเพลินทุกอรรถรสแห่งการเรียนรู้ ด้วยความ   หลากหลาย และความสะดวกสบายในการเข้ารับบริการ ”  
เบ็ดเตล็ดแห่งความน่าสนใจบางประการที่เห็นพบว่า ประการแรก ห้องสมุดมิได้รวมไว้เป็นสัดส่วนเดียวแต่อยู่เป็นห้อง เป็นมุม (Corner) เป็นชั้นการให้บริการ  ใช้ประโยชน์ทุกส่วนของพื้นที่ เช่น ฝาผนัง รวมทั้งทางเดินขึ้นบันได  การจัดหนังสือ จะโชว์ปก เขาให้เหตุผลว่าปกหนังสือมีสีสัน รูปแบบที่สวยงาม จูงใจดีอยู่แล้ว  และจะหมุนเวียนหนังสือใหม่ ๆ จัดวางตามเวลาอันควร   ชั้นวางหนังสือ  ไม่เน้นการจัดวางกลางห้อง  แต่จะชิดผนังห้องเป็นหลัก  อาจมีบางส่วนที่วางกลางห้องแต่ก็มีขนาดต่ำ โปร่งตา  เก้าอี้ที่นั่งจะมีรูปแบบสบายๆ เช่น บุนวม คล้ายมุมรับแขกมากกว่าที่สำหรับอ่านหนังสือ มีหมอนเล็กๆ สำหรับรองหลังหรือรองวางบนตักวางหนังสือขณะอ่าน ประการที่สอง  สัดส่วนการให้บริการทางเข้าที่ถือเป็นด่านแรกจะปรากฏ ข้อมูล วันเวลา  กิจกรรมที่จะจัดไว้เป็นการล่วงหน้า  เดินผ่านประตูเข้าภายในโดยไม่ต้องฝากกระเป๋า พบสายตาเจ้าหน้าที่ที่เป็นมิตรและแจ่มใส  เห็นสัดส่วนมุมอ่านหนังสือในรูปแบบที่น่าหยิบอ่าน ที่นั่งผ่อนคลาย สีสันใหม่ไม่เป็นรูปแบบเดียว   มีมุมแต่ละชั้นมากกว่าหนึ่งที่จัดวางคอมพิวเตอร์ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การรับส่ง อี-เมล การคุย(Chat) สัดส่วนมุมกาแฟหอมกรุ่น  จัดที่นั่งวางหันหน้าออกไปด้านนอกทอดสายตาพักผ่อนได้บรรยากาศ  มีมุมแนะนำหนังสือใหม่ และสัดส่วนการจำหน่ายหนังสือ มีมุมสำหรับการให้บริการเกม เกมคอมพิวเตอร์สำหรับเด็ก  แถมมีที่อ่านที่นอนเล่นอ่านหนังสือสำหรับเด็ก มีมุมดูหนัง  ฟังเพลง ประการที่สาม  จากสัดส่วนประการที่สอง  จำแนกพื้นที่ของผู้ใช้บริการ  ตั้งแต่ส่วนที่อ่าน สืบค้นความรู้ที่เงียบสงบ สัดส่วนที่กระซิบพูดคุยกันได้บ้าง สัดส่วนที่พูดคุยสนทนากันได้ สัดส่วนบันเทิงเฉพาะตัวเฉพาะกลุ่มและมีมุมสำหรับผู้ใหญ่ เช่น หมากรุก  เป็นต้น ประการที่สี่ สังเกตกลุ่มผู้ใช้บริการจะพบว่า มีทุกระดับ ทั้งนักเรียน นักศึกษา  ประชาชนทั่วไป  นักการศึกษา  นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่ห้องสมุดให้ข้อมูลว่าคนที่มาใช้บริการ นอกจากเป็นกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นคว้าหาความรู้อย่างหวังผลเอาจริงเอาจังแล้ว ยังมีกลุ่มที่จะมานั่งสนทนาพูดคุยเรื่องงานในมุมกาแฟหรือมุมหนึ่งมุมใด ตลอดทั้งผู้ที่เข้ามาใช้เพื่อพักผ่อนหรืออาจใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
ถึงตอนนี้คงมีประเด็นคำถามอย่างน้อยก็จะย้อนมาว่าสถานศึกษาของเราจะให้เป็นเช่นห้องสมุดมารวยได้จริงหรือ ต้องยอมรับว่า สถานศึกษาจำนวนมากมีข้อจำกัด เกือบจะทุกเรื่องในบริบทที่แตกต่างและหลากหลายจึงกลายเป็นว่าฝันต่อไป คงได้แต่ความทดท้ออยู่เช่นเดิม เหมือนหลายเรื่องที่เผชิญอยู่ ไม่คาดหวัง ปรารถนาจะให้ไปถึงฝั่งฝันกันเต็มรูปแบบ แต่ก็พอมีแนวทางจะเสริมสร้างบรรยากาศใหม่ที่จูงใจกว่าเดิมได้  จึงมีข้อสังเกตที่พอจะเสนอแนะ ประยุกต์ นำมาใช้   กล่าวคือ การปรับปรุงด้านกายภาพ ตั้งหลักจากสิ่งที่เรามีอยู่ก่อน 
 ลองสำรวจคร่าว ๆ ดูซิว่าอาคารเรียนของเรามีห้องว่าที่เหลือหรือมุมใดส่วนใดที่พอปรับปรุง
 ลองเดินเข้าไปในห้องสมุดที่มีปัจจุบัน มีหนังสือมากน้อยเพียงใด  เก่าใหม่ ชำรุดเสียหายมีอะไรที่เป็นมุมแห่งการจูงใจ หรือไม่จูงใจบ้าง
 ลองมองดูซิว่าฝาผนังชำรุดหม่นหมอง ทึมทึบ อับ ไม่สบายตาบ้าง
 ลองดูมองซิว่า โต๊ะเก้าอี้ ชั้นวางหนังสือ มีเท่าไหร่ สภาพเป็นอย่างไร
 บันทึกทั้งหมดที่เห็นเป็นจุดเด่นจุดพัฒนาของเราตั้งไว้
 ออกแบบสำรวจ สอบถามความต้องการห้องสมุดในฝันของ ผู้เรียน ของครูเป็นข้อมูล
 รวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่ได้มาวิเคราะห์ ลำดับความสำคัญ ในการปรับปรุงพัฒนา
 ปฏิบัติหรือดำเนินการในสิ่งที่ทำได้ก่อน  ส่วนเรื่องใดที่เป็นข้อจำกัด รอไว้ก่อนค่อยร่วมกันหาช่องทาง หรือการสร้างแนวทางประยุกต์ทดแทน    สิ่งใดที่มีความเข้มข้นในการขจัดให้หมดสิ้นทันที ก็ต้องทำทันที รวดเร็ว ต่อเนื่อง  ใหม่เสมอ                   
 การจัดทำเส้นทาง ( Road Map) ไปสู่ความสำเร็จหรือขั้นตอนทั้งระยะสั้นระยะยาวเอาไว้
                                                                                     ฯ ล ฯ
การส่งเสริมให้นักเรียนเข้าไปมีกิจกรรมในห้องสมุด
 จัดมุม จัดระบบการวางหนังสือ คัดสรรเลือกจากที่มีอยู่ก่อนมาวางเสียใหม่ให้น่าสนใจ
 หาหนังสือใหม่ ถ้าไม่มีลองขอยืมจากคุณครูที่มีอยู่เป็นส่วนตัวสลับสับเปลี่ยนกันในระยะแรก  หนังสืออะไรก็ได้ที่นักเรียนสนใจ เสริมทักษะการอ่าน รักการอ่านการค้นคว้า แต่ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับวัฒนธรรมที่ดีของสังคมไทย ระยะต่อไปค่อยแสวงหาวิธีการให้ได้หนังสือใหม่ รวมทั้งอุปกรณ์ ครุภัณฑ์อื่นที่จำเป็น
 หนังสือเป็นสาระความรู้แบบตั้งรับ คุณครูและสถานศึกษาต้องวางแผนกำหนดกิจกรรมต่อเนื่อง  ส่งเสริมการเข้าห้องสมุด ไปพร้อมๆ กัน  ตัวอย่าง เช่น โชว์ผลงานนักเรียน  กิจกรรมตอบคำถาม  ประกวดการค้นคว้า นิทรรศการวันสำคัญซึ่งมีได้ทุกเดือน เป็นต้น มีรางวัลให้แก่ผู้มีผลงานและผู้ร่วมกิจกรรมบ้าง เป็นครั้งคราว   
 นักเรียนปัจจุบันชอบเกมคอมพิวเตอร์  ก็เอาคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้วแบ่งไปให้นักเรียนใช้ตั้งไว้ที่มุมหนึ่งมุมใดของห้องสมุดได้บ้างก็จะดีพัฒนาไปสู่การค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ตอย่างอิสระได้ 
 โทรทัศน์ เครื่องเล่น ซีดี  ดีวีดี มีอยู่แล้วหรือหาได้ไม่ยาก ปล่อยอิสสระสักมุมหนึ่ง จัดให้นักเรียนแสดงออก ร้องเพลงคาราโอเกะ บ้างก็น่าสนุกสำหรับเขา บางเวลาก็จัดหาหนังสารคดีที่น่าสนใจใช้บูรณาการตามสาระเรียนรู้ อาจจะเช่าก็ได้หาซื้อก็ได้ ไม่แพงนัก   กำหนดเป็นตารางรายสัปดาห์ รายเดือน ประกาศไว้หน้าห้องสมุด
                                    ฯ ลฯ
การค้นหาความพึงพอใจ
ถึงแม้ว่ากำหนดแนวทาง (Road Map) และกิจกรรมไว้ล่วงหน้าอย่างดีรัดกุมแล้ว ก็ไม่เป็นคำตอบสุดท้ายว่าสนองความต้องการของนักเรียนที่ยั่งยืน เข้าห้องสมุดเพิ่มขึ้นได้  ควรจะต้องสังเกตการณ์ตอบสนองของเด็ก บันทึกรวบรวม สถิติข้อมูล การสัมภาษณ์สอบถามผู้เรียนบ้างเป็นระยะ ลักษณะการวิจัยและพัฒนา แบบง่ายๆก็ได้  
 ใช้ข้อมูลมาปรับปรุงพัฒนาโดยไม่ชักช้า 
 การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทั้งการร่วมคิด ลงมือทำ ตลอดทั้งการร่วมรับผิดชอบ บริหารจัดการห้องสมุด
 องค์ประกอบทุกเรื่องที่เกี่ยวกับห้องสมุดมีความสำคัญที่เชื่องโยงกัน ละเลยบางอย่างอาจส่งผลอีกอย่างก็ได้ ตั้งแต่เรื่องของสีผนังห้อง เก้าอี้ที่นั่ง  มุม หนังสือ บรรยากาศที่มีชีวิตชีวา ความโปร่งโล่งสบายตา การจัดวาง การร่วมมือทั้งระบบ การจัดตารางเวลาให้ทุกคนได้ใช้อย่างทั่วถึง การจัดการเรียนการสอนของครู    สมมติว่าถ้าทุกอย่างดีหมด  แต่ครูที่ดูแลห้องสมุด ไม่เข้าลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใสเต็มใจบริการ  ก็น่าจะส่งผลต่อการใช้ได้โดยตรง
 สำหรับครู   ลองไปเดินดูร้านหนังสือตามห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟสด ที่มีที่วางหนังสือสำหรับบริการ  พินิจสักนิด แล้วลองตอบคำถามตัวเองว่า อะไรที่น่าสนใจ  ทำไมเราจึงเดินเข้าไป  ทำไมต้องหยิบหนังสือบางเล่มมาอ่าน นั่นแหละใช่เลย  คุณกำลังพบสิ่งที่พึงพอใจ เอาสิ่งนั้นกลับมาประยุกต์ใช้ที่โรงเรียนก็น่าจะดี
 การสร้างความพึงพอใจให้ผู้เรียนเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่ลืมว่าคุณครูก็มีความสำคัญที่จะเป็นผู้รักการอ่านการค้นคว้าเป็นตัวแบบที่ดี “บอกให้รู้ทำให้เห็น เป็นให้ดู”  ดังนั้นควรจัดมุมสำหรับตนเองด้วยไปพร้อมๆกัน  จิบกาแฟกรุ่นๆ  อ่านหนังสือ นั่งเขียนงาน สนทนาปัญหาการจัดการเรียนการสอนก็จะทำให้มีคุณค่า  เป็นสีสันได้อย่างดี
 ไม่ควรเน้นด้านการลงทุน  แต่เน้นเรื่องการคิดนำวัสดุท้องถิ่นมาใช้  สร้างสรรค์ ประดิษฐ์ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง เช่น เก้าอี้ โต๊ะ ชั้นวางหนังสือ มุมต่างๆ  เป็นต้น   
ฯ ล ฯ
อ่านถึงตรงนี้แล้วคงไม่ยากเกินความสามารถที่สถานศึกษาพอจะดำเนินการได้ซึ่ง  เป็นเพียงข้อเสนอทางเลือกบางส่วนหรือถ้าย้อนไปอ่านตอนต้นอีกครั้ง คุณอาจจะพบความคิดใหม่ก็ได้หรือถ้าผ่านกรุงเทพมหานคร ขึ้นจากรถใต้ดินสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ตึกตระหง่านด้านซ้ายมือแล้วแวะเข้าไป นั่นคือห้องสมุดมารวยคุณ อาจจะพบความประทับใจคิดได้หลายอย่างมากกว่าผู้เขียนก็ได้ อยู่ที่ว่า คุณจะนำความคิดมาทำจริง ๆ  เพื่อ เติมความรู้ เติมความสนุก ทุกอรรถรสแห่งการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน คุณ และเพื่อน หรือเปล่า เท่านั้นเอง
ขอขอบคุณ : สมาคมพัฒนาเด็กไทย, ผู้เกี่ยวข้องห้องสมุดมารวย   และเจ้าของแนวคิดคำพูดที่ผู้เขียนนำมากล่าวและอ้างอิง 

คำสำคัญ (Tags): #สมพร เพชรสงค์
หมายเลขบันทึก: 84776เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2007 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เมื่อคณะนักวิจัยมาเยี่ยม สพท.ก็จะมีหนังสือมาเพิ่มเติมให้นะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท