KM live : มหัศจรรย์วันมาฆบูชา (๑)


การเข้าใจ เข้าถึง และเข้ามวย กับชุมชนของนายอำเภอ น่าสนใจอย่างยิ่ง จนผมถึงกับคิดในใจว่า “น่าจะเป็นต้นแบบระดับอำเภอ” ได้ แต่ถึงจะดีหลายอย่างแล้ว ก็มีจุดให้พัฒนาต่อไปในอีกหลายเรื่อง เช่น ตอนนี้มีจุดเรียนรู้ แต่ก็ยังต้องขยายผลสู่คนอื่นๆ ในตำบลให้มากขึ้นไปอีก รวมทั้งศูนย์เรียนรู้เอง ก็ยังไม่มี “ความรู้จากประสบการณ์”

“มหัศจรรย์วันมาฆบูชา”

โดย สมโภชน์ นาคกล่อม

 ๓ มีนาคม ๒๕๔๙

                 เริ่มต้นเดือนใหม่ช่วงกำลังเข้าสู่หน้าแล้งของปี ซึ่งมีทีท่าว่าจะมาแรงและเร็วกว่าที่เคย แต่ร้อนอะไรก็ไม่เท่าร้อนใจ โดยเฉพาะเรื่องการทำเรื่องราวของครูเกษตรท่าเรือ ที่พี่พงศ์ศักดิ์และพี่สมเกียรติพาพวกเราไปดูมาเมื่อ ๒ เดือนที่แล้ว ให้มี “หน้าตา” ที่น่าดูน่าชมในรูปของ “หนังสือทำมือ” หรือที่พวกเราเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “หนังสือเล่มเล็ก" เพื่อส่งคืนเรื่องราวของชุมชนสู่ชุมชน ให้ทันงานเปิดตัวภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการเกษตรที่พวกเราไปสำรวจคร่าวๆ มา ในวันที่ ๖ มีนาคม นี้

               มาถึงนครศรีธรรมราชในตอนเช้ามืดของวันที่ ๓  ซึ่งนัดกันเป็นที่แน่นอนว่าท่านคณบดี (อ.จิรวิทย์) จะพาไปพูดคุยกับลุงอำนวย มาศเมฆ และดูศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียงของอ.พระพรหม ที่เคยมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ คราวนี้จะได้คุยกับลุงนวยและครอบครัวเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งเมีย ลูกชาย และแถมท้ายด้วยลูกศิษย์ของอาจารย์อีกคนที่เป็นตำรวจอยู่พระพรหม


               เดี๋ยวจะงงว่าจะเล่าเรื่องท่าเรือแต่ไหงไป อ.พระพรหมเสียได้ จะเฉลยให้ฟังว่ามันเกี่ยวโยงกันอย่างไร  เนื่องจากพระพรหมมีผู้รู้และศูนย์เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เด่นของนครศรีธรรมราช แนวคิดและประสบการณ์ของพระพรหมจะเป็น “บทเรียนลัด” อย่างดีให้กับโรงเรียนเกษตรท่าเรือ

               และแล้วก็ไม่ผิดหวัง ที่ครั้งนี้มีการประชุมโดยไม่ได้นัดหมายของเพื่อนเก่าที่เข้าใจ และขับเคลื่อนการจัดการความรู้ภาคประชาชนในรูปแบบและหน้าที่ที่แตกต่างกัน เป็น “มหัศจรรย์ในวันมาฆบูชา” ที่น่าประทับใจในการมาชุมชนของผองเพื่อน โดยไม่ได้นัดหมาย คือ


๑) ทั้ง ๓ คนที่มาประชุมโดยไม่ได้นัดหมายนี้ เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน สมัยเรียนที่
ม.เกษตรศาสตร์เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว
๒) เป็นการมาทำงานในวันหยุด โดยไม่ได้นัดหมายกันล่วงหน้า
๓) ทั้ง ๓ คนล้วนเป็นผู้อยู่ในเส้นทางการเรียนรู้ของชาวบ้านเหมือนกัน
๔) ทั้ง ๓ คนล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีแนวคิด และประสบการณ์เกี่ยวกับ “การจัดการความรู้” ในรูปแบบและแนวทางที่แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ “การใช้ความรู้ ความชำนาญด้านเกษตรที่ตัวเองมี ช่วยชาวบ้าน”

             แต่ว่าทั้ง ๓ ท่านเป็นใครบ้าง จะได้แนะนำเฉลยคำตอบให้ว่า ประกอบด้วย อ.จิรวิทย์ จำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นครศรีธรรมราช, คุณสุทิน ศรีเผด็จ เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช, และ ผอ.สถานีวิจัยพืชลำตะคอง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) 

             เรื่องราว ความน่าสนใน ในชีวิตและประสบการณ์ที่เราได้รับจากการคุยกับลุงอำนวย มีหลากหลายประเด็น ทั้งจุดหักเลี้ยว การเปลี่ยนผ่าน ของตนเองและภรรยา การจัดการไร่นาและแสวงหาตลาด โดยไม่ผ่านแม่ค้า   แต่ที่สำคัญคือ “การจัดการครอบครัว” ที่เป็นตัวอย่างของ ครอบครัวเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทำงานเป็น “คุณกิจ” ผู้ปฏิบัติ (ทำปุ๋ย ปลูกผักปลอดภัยด้วยตัวเอง ฯลฯ) และเป็นคุณอำนวย (ขยายผลการเรียนรู้แก่กลุ่มเกษตรกรในอำเภอพระพรหมและอำเภออื่นๆด้วย ฯลฯ) ยิ่งทราบว่าเมื่อไม่กี่วันมานี้ ลุงอำนวย ได้ไปเป็น “คนจุดประกาย” ให้กับชุมชนเกษตรบ้านหนองหนอน ซึ่ง ผอ.โรงเรียนบ้านหนองหนอน กำลังขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กำลังนักเรียนเป็นกองทัพที่ถือจอบถือเสียมเป็นอาวุธ ฝึกฝนในโรงเรียนตัวเอง 

              สำหรับผมในเช้าวันนี้ นอกเหนือจากครอบครัวลุงอำนวยแล้ว ผมประทับใจในวิธีคิด วิธีทำงานของท่านนายอำเภอพระพรหมเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็น “นักจัดการความรู้” หรือเป็น “คุณอำนวย”  ในระดับอำเภอทีเดียว


             โชคดีที่อำเภอนี้มีนายอำเภอจบเกษตรมาด้วย นายอำเภอเป็นคน “สร้างแรงจูงใจ ให้การเรียนรู้ และอยู่ติดชาวบ้าน” พยายามหาร่องใหม่ให้ชาวบ้านเดินเสมอๆ ตัวอย่างเช่น ลูกชายลุงอำนวย ท่านคิดว่าน่าจะมีรถพ่วงข้างสักคัน รับผักปลอดภัยจากลุงๆ ป้าๆ ที่อายุมาก ไปขายยังตลาดนัดและในเมือง ก็จะเหมาะ เป็นต้น

            การเข้าใจ เข้าถึง และเข้ามวย กับชุมชนของนายอำเภอ น่าสนใจอย่างยิ่ง จนผมถึงกับคิดในใจว่า “น่าจะเป็นต้นแบบระดับอำเภอ” ได้ แต่ถึงจะดีหลายอย่างแล้ว ก็มีจุดให้พัฒนาต่อไปในอีกหลายเรื่อง เช่น ตอนนี้มีจุดเรียนรู้ แต่ก็ยังต้องขยายผลสู่คนอื่นๆ ในตำบลให้มากขึ้นไปอีก รวมทั้งศูนย์เรียนรู้เอง ก็ยังไม่มี “ความรู้จากประสบการณ์” ทั้งของนายอำเภอ และลุงอำนวยเอง อยู่ติดศูนย์เลย ท่านนายอำเภอได้รับตัวอย่างความรู้ของ “ครูเกษตรท่าเรือ” ก็สนใจ และยอมรับว่า “เราขาดเรื่องนี้มาก”

            เอาเป็นว่าเช้านี้ เราได้ Model ที่น่าสนใจในทุกระดับของภาคใต้แล้ว เช่น ระดับหมู่บ้านมีที่หมู่ ๑๒ ต.ท่าเรือ อ.เมือง และหมู่ ๘ ต.ชะอวด อ.ชะอวด, ในระดับตำบล เราได้ Lap ชุมชน เป็นที่ ต.ท่าเรือ, และในระดับอำเภอ น่าจะเป็นพระพรหมนี่แหละ

(ติดตามอ่านต่อได้ที่ มหัศจรรย์วันมาฆบูชา (๒)) 

หมายเลขบันทึก: 84299เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2007 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท