kUnG
นาย ศรีเกียรติ เอียดขลิก

xDSL


ADSL Picture  

xDSL : Digital Subscriber Line

ปัจจุบันเทคโนโลยี DSL ได้มีการนำมาใช้งานในด้านการสื่อสารข้อมูลกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี ADSL ซึ่งนิยมนำมาใช้งานในด้านเครื่อข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะเน้นการใช้งานแบบ download เป็นหลัก แต่ DSL ก็ยังมีอีกหลายแบบ สามารถนำมาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานที่คุณต้องการได้

มาทำความรู้จักกับ xDSL

DSL ย่อมาจาก Digital Subscriber Line ซึ่งก็คือเทคโนโลยี Modem โดยการนำเอาคลื่นความถี่ของสัญญาณไฟฟ้า ผ่านสายทองแดง แปลงเป็นสัญญาณดิจิตอล โดยใช้เทคนิคการเข้ารหัส (Modulation) ที่ย่านความถี่สูงกว่าการใช้งานโทรศัพท์ทั่ว ๆ ไป ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลได้ไปพร้อมกับการใช้งานโทรศัพท์

ประเภทของ xDSL และความแตกต่าง

xDSL ก็ได้มีการคิดค้นพัฒนามาหลายรูปแบบมากมาย แต่จะขอพูดถึงเฉพาะชนิดที่เป็นที่นิยม และสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานให้เหมาะสม และสามารถหาซื้ออุปกรณ์มาใช้งานได้ในราคาที่ไม่แพงมากนัก

ADSL (Asymmetric Digital Subscriber Line) 

ประเภทแรกที่จะพูดถึงก็คงจะเป็น ADSL ไม่ต้องไปจำชื่อยาว ๆ หรอกครับ แค่รู้ว่ามันพิเศษแตกต่างกับตัวอื่นยังไงก็พอแล้ว ADSL ถ้าแปลตามชื่อของมันก็คือ DSL ที่มีการรับส่งข้อมูลไม่เท่ากัน (Asymmetric) โดย ADSL จะมีการรับข้อมูล (Download) มากกว่าการส่งออก (Upload) ซึ่งจะเหมาะกับงานที่รับข้อมูลมาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ได้แก่ การท่องเวป ดาวน์โหลดข้อมูล หรือการดูหนัง ฟังเพลง ผ่านระบบเครือข่าย ซึ่งจะมีการรับข้อมูลเข้า มากกว่า การส่งข้อมูลออก

ปัจจุบัน เทคโนโลยี ของ ADSL ก็ได้มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เหมาะสำหรับนักท่องเวปทุกหมู่เหล่า ก็ได้มีการพัฒนาจาก ADSL ที่มีความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดที่ 8Mbps/1Mbps (Download ได้สูงสุด 8Mbps และ Upload สูงสุดได้ 1Mbps) เป็น ADSL2 และ ADSL2+ ตามลำดับ ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น และเพิ่มอัตราความเร็วในการ Download ข้อมูลเป็น 12Mbps และ 24Mbps ตามลำดับ แต่อัตราความเร็วในการ Upload ยังคงเป็นสูงสุดที่ 1Mbps เหมือนเดิม

G.SHDSL

เป็นเทคโนโลยี DSL อีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งมีการพัฒนาเพื่อที่จะลบจุดด้อยของ ADSL ในเรื่องของอัตราความเร็วในการ Upload ที่จำกัดแค่ 1Mbps โดยเทคโนโลยี G.SHDSL จะมีความสามารถในการรับส่งข้อมูลสูงสุดที่ 2.3Mbps แบบ Symmetric คือ Upload 2.3Mbps และ Download 2.3Mbps เท่ากัน และยังสามารถทำงานในโหมด 4-Wire ซึ่งก็จะทำให้สามารถรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 เท่า ที่ความเร็วสูงสุด 4.6Mbps ในปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี G.SHDSL ออกมาอีกตัวนึงก็คือ G.SHDSL.bis ซึ่งสามารถรับส่งข้อมูลได้สูงถึง 5.69Mbps, 11.38Mbps และ 22.76Mbps ในโหมดของ 2-Wire, 4-Wire และ 8-Wire ตามลำดับ

เทคโนโลยี G.SHDSL จะเหมาะสมกับ งานที่มีการส่งข้อมูลออกมากกว่า 1Mbps หรือมีการส่งข้อมูลออกเป็นหลัก เหมาะสำหรับองค์กรที่มีการให้บริการข้อมูล องค์การที่มี Web Server, Mail Server, FTP Server, Game Server, VPN, Co-Location เป็นต้น ซึ่ง Application เหล่านี้จำเป็นต้องเน้นความเร็วในการให้บริการ หรือความเร็วในการส่งข้อมูลออก

VDSL (Very High Speed Digital Subscriber Line)

เทคโนโลยีต่อไป จะเป็นเทคโนโลยี VDSL เทคโนโลยีตัวนี้ เป็นเทคโนโลยีที่คิดขึ้นมาเพื่อที่จะเพิ่มระยะทางให้กับสาย LAN ที่จำกัดอยู่แค่ 100 เมตร และข้อจำกัดในเรื่องของราคาสาย Fiber Optic  เทคโนโลยี VDSL จะจำกัดที่ระยะทางไม่เกิน 1.2Km และความเร็วสูงสุดจะอยู่ที่ 15Mbps  แต่ก็ได้มีการพัฒนาจนเป็น VDSL2 ซึ่งมีความเร็วสูงสุดถึง 100Mbps แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากราคาของ Fiber Optic ที่มีราคาลดลง จึงทำให้ผู้ใช้งานนิยมลงทุนไปกับ Fiber Optic มากกว่า

ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการเชื่อมโยงเครือข่ายที่อยู่ห่างกันประมาณ 600 เมตร ซึ่งมันก็เกินระยะที่สาย LAN CAT5+ หรือ CAT6 จะรับส่งข้อมูลได้ แต่ถ้าหากเลือกเดินสายไฟเบอร์ออฟติก ก็ต้องตั้งงบประมาณไว้อย่างน้อย เมตรละ 100 บาท (ประเมินจากค่าสาย ค่าแรง และค่าอุปกรณ์ที่ต้องเพิ่ม) ตกแล้วอย่างน้อยก็ 60,000 บาทเลยทีเดียว แต่ถ้าหากงบประมาณมีจำกัด VDSL ก็เป็นตัวเลือกนึงที่น่าสนใจ สาย drop-wire 600 เมตร ตกเมตรละ 6-7 บาท  ค่าแรงติดตั้ง และค่าอุปกรณ์หัวท้าย รวมแล้วก็ไม่เกิน 20,000 บาท หรืออาจจะใช้สายโทรศํพท์เดิมที่มีอยู่แล้วได้ แค่ซื้ออุปกรณ์ต้นทางปลายทาง ราคาไม่กี่พันบาท ก็สามารถใช้ได้เลยโดยที่ยังสามารถใช้โทรศัพท์ได้ ลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ

เทคโนโลยี VDSL ยังจะเหมาะสำหรับ การใช้งานในโรงแรม อพารต์เม้น หรือคอนโด ที่มีสายโทรศัพท์ภายในอยู่แล้ว และต้องการให้รับส่งข้อมูลหรือให้บริการอินเตอร์เน็ต ก็สามารถนำเทคโนโลยี VDSL ไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างไม่ยาก

HPNA (Home Phone Networking Association)

ตัวสุดท้ายที่จะนำเสนอ ก็คือ HPNA มันก็เป็น DSL ตัวนึงเหมือนกัน แต่อาจจะไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากเทคโนโลยีตัวนี้ออกแบบสำหรับ การนำสายโทรศัพท์ภายในบ้าน มาเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย แทนที่จะทำการเดินสาย LAN ใหม่หมด เหมาะสำหรับ โรงแรม อพาร์ตเม้นท์ หรือองค์กรที่มีการเดินสายภายใน หรือมีตู้สาขาอยู่แล้ว ก็สามารถนำคู่สายโทรศัพท์เหล่านั้น มาทำการรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้ หรือให้บริการอินเตอร์เน็ตภายในห้องพัก สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับบริการ

ใน Version 1.0 HPNA จะรับส่งข้อมูลได้สูงสุดที่ 1Mbps แต่ก็ได้มีการพัฒนาจนมาเป็น Version 3.0 สามารถรับส่งข้อมูลได้สูงถึง 128Mbps เลยทีเดียว สามารถนำมาใช้แทน LAN 100Mbps ได้อย่างสบาย ๆ

 สรุปปิดท้าย

เทคโนโลยี xDSL เป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานบนโครงข่ายสายทองแดง ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสาย Fiber Optic ทั้งหมด ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5-10 ปี ดังนั้นในปัจจุบันขณะนี้ xDSL เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก xDSL แต่ละประเภทก็จะมีข้อเด่นของตัวเอง ในโอกาสหน้า ผมจะแนะนำการนำเอาเทคโนโลยี xDSL มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับความต้องการของระบบหลายๆแบบให้เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด

ขอบคุณครับ,

kUnG

คำสำคัญ (Tags): #network
หมายเลขบันทึก: 83767เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2007 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท