การปฎิรูปการศึกษา: ทำไมผลผลิตถึงด้อยคุณภาพ


ปฎิรูปการศึกษา
มีนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มาสัมภาษณ์ขอความเห็นเกี่ยวการปฎิรูปการศึกษาของประเทศไทย เมื่อปลายปี 2549 ที่ผ่านมา ผมก็มีประเด็นเสนอและคิดว่าน่าสนใจอยู่หลายประเด็น

1. ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ระบบการศึกษาของไทยทั้งระบบประถมศึกษา และมัธยมศึกษา รวมถึงในระดับอุดมศึกษา เน้นระบบการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจากการสัมผัสกับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นผลผลิตของการศึกษาในระดับประถม และมัธยมศึกษานั้น นักศึกษามีปัญหาทางด้านการเรียนภาษาทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่สามารถบริหารจัดการการเรียนการสอนของตนเอง ไม่สามารถวางแผนชีวิตตนเองได้ รวมถึงไม่สามารถคิด วิเคราะห์ เชื่อมโยงสถานการณ์ภายนอกกับความรู้ในห้องเรียนได้ ขณะเดียวกันนักศึกษาก็จะมุ่งไปเก็บความรู้จากผู้สอนแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีการอ่านหนังสือในห้องสมุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบการเรียนที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตามปรัชญาการปฎิรูปการศึกษานั้น จำเป็นต้องทบทวน ว่า แนวทางการศึกษาดังกล่าว ผู้เรียนได้ประโยชน์ หรือเข้าใจระบบการศึกษาดังกล่าวหรือไม่ ขณะเดียวกันวิธีการเรียนการสอนของครู อาจารย์นั้นสอดคล้องกับปรัชญาการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหรือไม่

2. ระบบการประเมินผลการสัมฤทธิ์การศึกษา ก็ยังเน้นระบบท่องจำ เพื่อให้ได้คะแนน ซึ่งทำให้นักเรียนมุ่งไปในเรื่องการเรียนพิเศษเป็นหลัก เรียนในห้องเรียนเป็นรอง ซึ่งระบบการประเมินผลการศึกษาจำเป็นที่จะต้องให้สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นระบบการประเมินผลที่กระบวนการได้มาของความรู้มากขึ้น หรือเน้นทักษะการแสวงหาความรู้ เพื่อให้นักเรียนสามารถคิด วิเคราะห์ บูรณาการความรู้ รวมถึงมีทักษะทางสังคมกับเพื่อนร่วมเรียนมากขึ้น

3. การกระจายอำนาจการศึกษา ที่ในปัจจุบันเริ่มมีการถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะเทศบาลต่างๆ นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้การจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น และทำให้ท้องถิ่นสามารถวางแผนในการพัฒนาทรัพยากรของตนเอง เพื่อให้สามารถกลับมารับใช้ท้องถิ่น แต่ก็พบว่าเทศบาลต่างๆ นั้นมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ซึ่งการถ่ายโอนลักษณะนี้ควรเป็นไปตามความพร้อมของแต่ละแห่ง ขณะเดียวกันก็ต้องมีการประเมินผลการจัดระบบการศึกษาของแต่ละท้องถิ่นแบบกลุ่มเทศบาลที่มีขนาดระดับเดียวกัน เช่น กลุ่มโรงเรียนเทศบาลขนาดใหญ่ ก็มีการประเมินผลกันภายในกลุ่มเทศบาลนั้นๆ

4. รัฐต้องเร่งกระจายงบประมาณ 35% ของงบประมาณแผ่นดิน ที่มีการกำหนดเป็นกฎหมายไว้แล้ว ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ และจะเป็นการสนับสนุนให้ท้องถิ่นวางแผนการจัดการศึกษาของตนเองได้

5. การจัดระบบการเรียนการสอนต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมกันการจัดการเรียนการสอน หรือที่เรียกว่าหลักสูตรท้องถิ่นได้ เพื่อเป็นการวางรากฐานให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจท้องถิ่น ไม่ใช่ยิ่งเรียนยิ่งไม่สามารถกลับมานำความรู้ที่ตนเองศึกษามาพัฒนาท้องถิ่นได้ ขณะเดียวกันก็เป็นสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป

6. การปฎิรูปการศึกษานั้นต้องเป็นไปทั้งระบบ ทั้งงบประมาณของรัฐที่ต้องสนับสนุนให้มากขึ้น ดังเช่นที่ประเทศที่เจริญแล้วสนับสนุนระบบการศึกษาในประเทศเป็นหลัก การปฎิรูปผู้สอนให้เข้าใจ มีทักษะการสอนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ระบบการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้การพัฒนาโรงเรียนไม่ต้องขึ้นอยู่กับครู ครูใหญ่ หรือผู้อำนวยการแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะเดียวกันผู้ปกครองก็จำเป็นที่ต้องเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการศึกษาของตนเอง โดยเฉพาะการเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่บุตรหลานของตนเอง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของโรงเรียนแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

 

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

หมายเหตุ: เขียนเมื่อปลายปี 2549

คำสำคัญ (Tags): #ปฎิรูปการศึกษา
หมายเลขบันทึก: 83399เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2007 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบความเห็นข้อแรกมากค่ะอาจารย์ ดิฉันก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน   และสมัยที่เป็นผู้เรียน ดิฉันก็มีลักษณะเดียวกับที่อาจารย์กล่าวไว้ คือ

....."ไม่สามารถบริหารจัดการการเรียนการสอนของตนเอง ไม่สามารถวางแผนชีวิตตนเองได้ รวมถึงไม่สามารถคิด วิเคราะห์ เชื่อมโยงสถานการณ์ภายนอกกับความรู้ในห้องเรียนได้ ขณะเดียวกัน..ก็จะมุ่งไปเก็บความรู้จากผู้สอนแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีการอ่านหนังสือในห้องสมุด".....

 ทั้งนี้.....โดยไม่ได้รู้สึกเลยว่านั่นคือปัญหา.....

จนกระทั่งได้มาเป็นครู  และได้เห็นปัญหาแบบตัวเป็นๆ  ถึงได้สำนึกว่าอันตัวเราก็เคยเป็น "ตัวปัญหา" ของครูเหมือนกัน ...

เรื่องการปฏิรูปการศึกษานี้ ดิฉันก็ไม่ใคร่สันทัด  แต่ในฐานะครู  ดิฉันก็ตั้งใจทำงานสร้างคนที่ฐาน    คือจัดการกันตัวเป็นๆในห้องเรียน โดยลุยเอ๊ยฝึกกันเป็นคนๆไป    ซึ่งก็ไม่รู้จริงๆว่าทำถูกวิธีไหม  แต่คิดเอาเองว่าการบ่นๆดุๆและฝึกเขาบ้างนั้น  น่าจะดีกว่าไม่ฝึกเลย  เพราะคนที่ "ไม่ถูกฝึกมาเลย"  นั้นน่ากลัวมาก 

คือน่ากลัวตรงที่เมื่อโตขึ้น เขาจะกลับมาต่อว่า ว่าทำไมตอนหนูเด็กๆ  อาจารย์ไม่ฝึกหนูเลย  อาจารย์สอนอย่างเดียว.....

ดิฉันเกรงว่าจะเถียงเธอไม่ทัน.....

ดิฉันคิดเล่นๆ (แต่เอาจริง)ว่า  มี 3 วิชาที่ครูยุคปฏิรูปการศึกษาต้องรีบสอน  คือวิชาครอบครัวศึกษา วิชา "รู้เท่าทัน" และวิชา ภูมิปัญญาไทย  และเคยเขียนบทความให้เพื่อนอ่าน  เพื่อนก็ชมตรงๆว่า   .."เขียนไม่รู้เรื่อง"....

สงสัยต้องลองปรับปรุงใหม่  เผื่อเพื่อนจะเห็นใจและหัดชมอ้อมๆเสียบ้างอ่ะค่ะ  (^_^')

 

การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่ใช้ทำให้ดูดีแค่เปลือกนอกเท่านั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท