BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ศิลปะ


ศิลปะ

ศิลปะ เป็นสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า สิปปะ ... ในภาษาไทยเราใช้แต่คำว่า ศิลปะ ส่วน สิปปะ มีใช้บ้างก็ที่เป็นชื่อคน เช่น สิปปนนท์ (ผู้เพลิดเพลินในศิลปะ) ... ด้วยเหตุที่สองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน ฉะนั้น ผู้เขียนจะขยายความเฉพาะคำว่า สิปปะ ซึ่งเป็นบาลี...

สิปปะ มาจาก สาสะ รากศัพท์ แปลว่า สอน ซึ่งรากศัพท์นี้มีใช้เยอะ และผู้เขียนก็เคยเสนอไปบ้างแล้ว (ดู ศิษย์ )... บางมติบอกว่า มาจาก สิ รากศัพท์ แปลว่า ฝึก.... และอีกมติหนึ่งบอกว่า มาจาก สปฺปะ รากศัพท์ แปลว่า เป็นไป ...ซึ่งมีอรรถวิเคราะห์ตามลำดับดังต่อไปนี้

สาสิตพฺพนฺติ สิปฺปํ สิ่งใดอันผู้รู้พึงสอน เหตุนั้น สิ่งนั้นชื่อว่า ศิลปะ (สิ่งที่ผู้รู้พึงสอน)) ....ตามนัยนี้ หมายถึงสิ่งที่มีคุณค่าควรแนะนำสั่งสนอกันต่อๆ ไป เพื่อมิให้สูญหาย..

อตฺตโน หิตํ อิจฺฉนฺเตหิ เสวิยเตติ สิปฺปํ สิ่งใดอันเหล่าชนผู้ปรารถนาประโยชน์แห่งตนย่อมฝึกหัด ดังนั้น สิ่งนั้นชื่อว่า ศิลปะ (สิ่งที่ผู้ปรารถนาประโยชน์พึงฝึกหัด) ... ตามนัยนี้ บ่งชี้ว่า ผู้มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลสำหรับตนจะต้องฝึกหัด ...

สปฺปติ อเนนาติ สิปฺปํ บุคลย่อมเป็นไปด้วยสิ่งนี้ ดังนั้น สิ่งนี้ชื่อว่า ศิลปะ (เป็นเครื่องช่วยให้เป็นไป) ... ตามนัยนี้ เพ่งถึง คุณค่าของศิลปะว่าเป็นสิ่งที่เราใช้ในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ได้ ....

อนึ่ง ตามความเข้าใจของคนไทยทั่วๆ ไป ศิลปะ อาจมี ๒ นัย กล่าวคือ นัยแรกประสงค์เอาความหมายตามคำแปลจากภาษาอังกฤษว่า ART...อีกนัยหนึ่งเรามักจะแบ่งแยกออกเป็น ศาสตร์ และ ศิลปะ โดยศาสตร์หมายถึงทฤษฎี และศิลปะหมายถึงการปฏิบัติ ...

สาเหตุที่ผู้เขียนนำคำนี้มาเสนอเพราะจะอธิบาย ศิลปะในฐานะมงคลชีวิตอย่างหนึ่งในปรัชญามงคลสูตร ซึ่งตอนนี้อยู่ในเรื่องพหูสูตร และตอนต่อไปจะเป็นเรื่องศิลปะ... ผู้สนใจดู ปรัชญามงคลสูตร ๗ : เตรียมตัวเองเพื่อครองเรือน (ต่อ)

 

คำสำคัญ (Tags): #ศิลปะ
หมายเลขบันทึก: 82539เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2007 02:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท