การทำงานแบบบูรณาการพูดจริงทำจริงไม่ทิ้งราษฎร


พูดจริงทำจริงไม่ทิ้งราษฎร

คำปรารภ

การทำงานในระบบราชการปัจจุบัน ได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการปฏิรูประบบราชการ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดการพัฒนาและการเคลื่อนไหวอย่างมากในระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ถึงแม้ว่าการปฏิรูประบบราชการในระยะปีแรก จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการบริหารราชการส่วนกลาง แต่ก็มีผล สืบเนื่องต่อเชื่อมโยงไปถึงการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นด้วยเช่นกันจังหวัดซึ่งเป็นส่วนราชการในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่สำคัญที่สุด เป็นตัวแทนของรัฐบาลที่จะต้องให้มีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ หากแต่การบริหารงานในระบบราชการในห้วงที่ผ่านมา มีหน่วยงานราชการจำนวนมาก การทำงานของแต่ละหน่วยก็มีเป้าหมายวัตถุประสงค์แตกต่างกัน มีลักษณะที่เป็นอาณาจักรของตนเองเกิดปัญหาในการทำงานร่วมกัน เกิดการขัดแย้งระหว่างองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์กรเป็นไปด้วยความไม่จริงใจและจริงจัง เป้าหมายองค์กรต่างกัน จึงทำให้ต่างคนต่างทำ สิ้นเปลือง สูญเสียงบประมาณ ไร้ประสิทธิภาพ ประเทศชาติและประชาชน ไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่ทุกคนตั้งใจ  ดังนั้น การบริหารงานจังหวัดที่ดีและสามารถเกิดผลจากการบริหารที่นำไปสู่ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยยึดเอา "ประชาชนเป็นศูนย์กลาง"  จึงน่าที่จะเน้นให้จังหวัดมีฐานะเสมือนหน่วยบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ ที่สามารถบูรณาการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน สามารถวินิจฉัยข้อมูล ปัญหา อุปสรรค กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและดำเนินการให้เป็นไปตามที่ตัดสินใจได้อย่างครบวงจร ภายในจังหวัด จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการบริหารงานเชิงบูรณาการมาโดยลำดับ ทั้งนี้ ก็เพื่อจัดสรรและระดมสรรพกำลังของทุกภาคส่วนทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและวิธีดำเนินการบริหารอันได้แก่ คน เงิน วัสดุ สิ่งของ รวมทั้งการประสานงานและกระบวนวิธีการบริหารจัดการต่าง ๆ เพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และมุ่งสู่ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด  โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสำคัญอันเร่งด่วนที่มีผลกระทบต่อประชาชน  ได้แก่  การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด  การแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ  การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นๆ  การสร้างธรรมมาภิบาลในระบบราชการ  จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษและคณะทำงานเชิงยุทธศาสตร์บริหารจัดการเชิงบูรณาการ ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติการพิเศษของผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างบูรณาการและครบวงจร  สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างหลากหลาย ฉับไวต่อการดำเนินงานในทุกสถานการณ์  เป็นทั้งหน่วยยุทธศาสตร์ หน่วยประสานงาน หน่วยบริหาร และหน่วยปฏิบัติการในหน่วยเดียวกัน บูรณาการปฏิบัติงานในหลายหน้าที่ อย่างเกี่ยวเนื่องกัน และดำเนินการได้อย่างสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถสนองการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                  จุดเริ่มต้นของศูนย์ปฏิบัติการพิเศษดังกล่าว เริ่มมาจากการดำเนินการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อมีนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษขึ้นในทำนองเดียวกัน  จึงเกิดการบูรณาการดำเนินงานขึ้น

การดำเนินงานสำคัญที่บูรณาการด้านการบริหารจัดการมีศูนย์ปฏิบัติการพิเศษอย่างครบวงจร ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม  ประกอบด้วย

1.  การต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด

2.  การจัดระเบียบสังคมเชิงบูรณาการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน  

3.  การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ

4.  การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก

ซึ่งนอกจากการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น แล้ว การสนับสนุนศูนย์ปฏิบัติการพิเศษเฉพาะกิจอื่นๆ ตามนโยบายของรัฐบาล เช่น ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์   โดยมีศูนย์ปฏิบัติการพิเศษเป็นหน่วยหลักในการบูรณาการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ อำนวยการและปฏิบัติการอยู่ในหน่วยเดียวกัน

การต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัดเพชรบูรณ์  
1.  การดำเนินงานที่ผ่านมาโดยภาพรวม
นโยบายประกาศสงครามขั้นแตกหักเอาชนะยาเสพติดของรัฐบาล  เริ่มอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่  1  กุมภาพันธ์  2546  โดยให้มีผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม  ด้วยการใช้  Area  Approach  และดำเนินการ  X - Ray  พื้นที่ในทุกตารางนิ้วเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด  กำหนดให้มีเจ้าภาพรับผิดชอบการดำเนินงานต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดในทุกระดับ โดยได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศตส.) [1] ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดระดับต่างๆ   ขึ้น  เช่น ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดกองทัพภาค(ศตส.ทภ.)  ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศตส.กทม.)  ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัด(ศตส..) อำเภอและกิ่งอำเภอ(ศตส../กิ่ง อ.) กำหนดยุทธศาสตร์และขั้นตอน ตลอดจนเป้าหมายและเกณฑ์การประเมินผลตามประเด็นยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ รวม 4 ด้านได้แก่ 
o      ด้านปราบปรามผู้ค้าผู้ผลิตยาเสพติด (Supply) 
o      ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพผู้ติดยาเสพติด (Demand)o      ด้านการป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด  (Potential Demand)
o      ด้านการบริหารจัดการ (Management)
                จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นรูปแบบของจังหวัดโดยเฉพาะ ที่เรียกว่าเพชรบูรณ์โมเดลพัฒนาและบูรณาการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของจังหวัดกับแนวยุทธศาสตร์และรูปแบบการดำเนินงานของรัฐบาลมาโดยตลอด  ดังนี้ ในปี 2546  จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์   ผาเมืองร่วมใจ   พิชิตภัยยาเสพติด[2]  มุ่งเน้นดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ปราบปรามผู้ค้าผู้ผลิตอย่างเด็ดขาด ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดคือผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดรักษาดูแล  และ ยุทธการผาเมืองร่วมใจ พิชิตภัยยาบ้า[3] ในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด   ตั้งแต่วันที่     30  มกราคม  2546  โดยประกาศให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดทราบโดยทั่วกัน และเมื่อได้รับคำสั่งจากรัฐบาล[4] จังหวัดเพชรบูรณ์จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัดเพชรบูรณ์ขึ้น[5] โดยมี   ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นผู้อำนวยการ และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นรองผู้อำนวยการ   มีคณะกรรมการที่แต่งตั้งจากหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่ในการจัดวางแผนและโครงการต่างๆ จัดทำแผนปฏิบัติการ สั่งการหรือมอบหมายให้ส่วนราชการหรือบุคคลดำเนินการ  อำนวยการ กำหนดเป้าหมาย ประสานการปฏิบัติจากทุกภาคส่วนในการดำเนินการทุกรูปแบบเพื่อขับเคลื่อนพลังของทุกภาคส่วนในสังคมได้ดำเนินการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดอย่างจริงจังและเข้มแข็ง บูรณาการนำนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ที่เป็นแบบเฉพาะของจังหวัด  ดังนี้  
(1)  การดำเนินงานกับกลุ่มเป้าหมายประชาชนทั่วไป
                  การดำเนินงานในกลุ่มประชาชนทั่วไปนั้นจะต้องทราบจำนวนบุคคลเป้าหมายในการปฏิบัติงาน  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ดังนี้
                 (1.1)  ผ่านกระบวนการประชาคม  พิจารณาคัดกรองเพื่อให้สามารถแยกประชาชนออกมาได้ทั้งหมด  ในหมู่บ้านชุมชน  ทั้งกลุ่มที่ปกติทั่วไปไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด  กลุ่มเสี่ยง  กลุ่มเสพ  และกลุ่มค้ายาเสพติด  ซึ่งในการประชาคมนั้นจะดำเนินการผ่านผู้นำแบบเป็นทางการ  เช่น  ผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน  องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรประชาชนในหมู่บ้าน  ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทุกหมู่เหล่า ในหมู่บ้าน  ชุมชน
                  (1.2)  เมื่อประชาคมคัดกรองบุคคลเป้าหมายได้แล้ว  สำหรับกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะผ่านกระบวนการฝึกอบรมเบื้องต้น จำนวน  1 วัน  เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักต่อพิษภัยของยาเสพติด สามารถป้องกันตนเองและครอบครัวจากยาเสพติดได้  จากนั้นก็จะ ฝึกอบรม เพิ่มทักษะอื่นๆ   ต่อไป
                  (1.3)  กลุ่มเสพและกลุ่มติดยาเสพติดก็จะนำเข้าสู่ระบบการอบรม  บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด  โดยการบำบัดนั้นจะมีหลายรูปแบบ  เช่น  ค่ายวิวัฒน์พลเมืองของจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์  ค่ายบำบัดรักษาวัดซับบอน  บ้านเปี่ยมรัก  ค่าย หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่  16  หรือชุมชนบำบัด วัดบำบัด  นอกจากนี้แล้วยังมีสถานบำบัดของทางราชการ  เช่น  สถานอนามัยทุกแห่ง  โรงพยาบาล  หรือตู้ยามบำบัดของตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์  เป็นต้น
                  (1.4)  แนวทางในการบำบัดรักษานั้น  จังหวัดเพชรบูรณ์ได้พิจารณากำหนดหลักสูตรกลางในการบำบัดประกอบด้วย  กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเสพจะเน้นหลักสูตร  5  วัน สำหรับกลุ่มติดยาจะเน้นหลักสูตร  15 วัน  หรือคัดกรองให้เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพในสถานบริการสาธารณสุข ซึ่งเนื้อหาของหลักสูตรจะมีทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด  การฝึกธรรมะ  การฝึกระเบียบวินัย  การออกกำลังกาย  ตลอดจนการฝึกอาชีพต่าง ๆ
                 (1.5)   ในส่วนของงบประมาณจะใช้งบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ  เช่น งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงาน ป...  งบประมาณปกติของหน่วยงาน  งบประมาณโครงการพิเศษ  งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และรับบริจาคจากเอกชน  เป็นต้น  นอกจากนี้แล้วต้องมีการติดตามประเมินผลจากการฝึกอบรมต่าง ๆ   ในการติดตามประเมินผลกลุ่มเสพยาเสพติดนี้ต้องประกอบด้วย  ครอบครัว  ผู้นำท้องถิ่น  หัวหน้าวิทยากรผู้ดำเนินการฝึกอบรม  วิทยากรกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัด  และตำรวจในพื้นที่  ด้วยการตรวจปัสสาวะโดยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนโดยเฉพาะ บริษัท แปซิฟิกไบโอเทค จำกัด  เป็นผู้สนับสนุนชุดตรวจสารเสพติด  
                  (1.6)  กลุ่มผู้ค้ายาเสพติด  เมื่อพิจารณาคัดกรองผู้ที่มีพฤติการณ์ค้ายาเสพติดได้แล้ว หมู่บ้าน/ชุมชน  แจ้งรายชื่อส่งให้ตำบล และอำเภอ  รวบรวมรายชื่อส่งให้จังหวัด  เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการดำเนินงาน ทั้งในระดับจังหวัด และในระดับพื้นที่  เมื่อได้ข้อมูลผู้มีพฤติการณ์แล้วตำรวจจะต้องเข้าไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ค้า โดยการเรียกมาว่ากล่าวตักเตือน  ขอร้องให้เลิก  ติดตามพฤติการณ์  ถ้าไม่เลิกค้ายาเสพติดอีกก็จะดำเนินการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย  สำหรับกลุ่มผู้ค้าที่ปรับเปลี่ยนพฤติการณ์ก็จะดำเนินการตามโครงการคืนคนดีสู่สังคม ตามโครงการทำความดีเพื่อแผ่นดิน และให้การฝึกอาชีพเพิ่มทักษะ  ต่อไป            
(2)  กลุ่มนักเรียน นักศึกษา                 
                  กลุ่มนักเรียน นักศึกษา นับว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของจังหวัด ในการดำเนินงานนั้นจะต้องผ่านกระบวนการคัดกรอง  คัดแยกกลุ่มนักเรียนออกเป็น  ทั้งกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด  กลุ่มเสี่ยง  กลุ่มเสพ  และกลุ่มค้ายาเสพติด  โดยผ่านกระบวนการคัดกรองจากสถานศึกษา  กรรมการหมู่บ้านและผู้นำท้องถิ่น  วัดและศูนย์พัฒนาคุณธรรมในอำเภอต่าง ๆ  แล้วนำเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมเช่นเดียวกัน โดยจังหวัดได้กำหนดหลักสูตรลูกเสือชาวบ้านรุ่น รักษ์ในหลวง หวงแผ่นดิน กำจัดสิ้นยาเสพติดรองรับไว้แล้ว   สำหรับนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มค้าให้ตำรวจในแต่ละพื้นที่ดำเนินการเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
(3)  การคืนคนดีสู่สังคม 
                เมื่อกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ทั้งประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษาได้ผ่านกระบวนการอบรม  ตามหลักสูตรต่าง ๆ และผ่านการติดตามประเมินผลดังกล่าวแล้ว บุคคลเหล่านี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการคืนคนดีสู่สังคม  เข้าสู่การฝึกอบรมอาชีพ  เพิ่มทักษะ ให้มีความรู้และประกอบอาชีพในทางที่สุจริต เช่น  อาชีพทางการเกษตร  ทางด้านช่าง ทางด้านหัตถกรรม ตามความถนัดของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย  โดยมีส่วนราชการและหน่วยงานในพื้นที่สนับสนุนทั้งความรู้ด้านวิชาการและงบประมาณ
(4)  ตำรวจชุมชน
                  จัดอบรมผู้ที่ประชาชนไว้วางใจ หรือผู้นำธรรมชาติให้ทำหน้าที่เป็นตำรวจชุมชนคอยปกป้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  ป้องกันการลักลอบเสพหรือค้ายาบ้า  จัดเวรยามคอยตรวจและยังทำหน้าที่ประสานการปฏิบัติต่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดคล้ายเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติงานในชุมชน  หมู่บ้าน
(5)  การประกาศเป็นหมู่บ้าน ชุมชน เข้มแข็งเอาชนะยาเสพติด
                  เมื่อดำเนินการผ่านกระบวนการประชาคม  ทราบกลุ่มเป้าหมายแล้วได้ดำเนินการรณรงค์ป้องกันยาเสพติดการอบรมกลุ่มเป้าหมายต่างๆ การดำเนินการกดดันปราบปรามยาเสพติดอย่างเป็นกระบวนการผู้ที่ไม่เลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็จะต้องถูก  ยุติบทบาท  ผู้ที่เลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็จะคืนคนดีเข้าสู่สังคม เพิ่มทักษะให้มีความรู้เพื่อประกอบอาชีพ และจัดตั้งตำรวจชุมชนช่วยงานด้านรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย  ทำหน้าที่คุ้มกันมิให้ภัยจากยาเสพติดเข้าไปในหมู่บ้าน  ชุมชน ประกาศเป็นหมู่บ้าน ชุมชน เข้มแข็งเอาชนะยาเสพติดต่อไปได้           
(6)  การปรับฐานข้อมูล

                  เป็นกระบวนการสุดท้ายเพื่อพิจารณาปรับฐานข้อมูลสถานการณ์ของปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน ชุมชน ให้ถูกต้องและทันสมัย สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน ชุมชนให้สอดคล้องกันระหว่างนโยบาย ข้อสั่งการในการปฏิบัติของส่วนกลาง และสถานการณ์และสภาพปัญหาที่เกิดในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

                  ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงานต่างๆ ขึ้น และมีหนังสือสั่งการให้แต่ละอำเภอได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดอำเภอต่างๆ   จนครบทุกอำเภอ โดยเฉพาะการจัดองค์กรได้มีการกำหนดเจ้าภาพ  ในด้านต่างๆ การจัดองค์กรภายในศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัดเพชรบูรณ์ได้มีการสนธิกำลังพลจากส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคเอกชนและประชาชน ที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นองค์กรต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด

                 จังหวัดเพชรบูรณ์ได้จัดให้มีที่ตั้งสำนักงาน  ศตส.จ.พช.   ณ ห้องริมสุดชั้นล่างของปีกตะวันออกอาคารศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์  เป็นห้องปฏิบัติงานที่มีขนาดของห้องประมาณ 4 X 6 เมตร  สำหรับปฏิบัติงานประจำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ  ในด้านการบริหารจัดการ มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานฝ่าย กำกับดูแลในภาพรวม ภายใต้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ปฏิบัติงานด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนยาเสพติด  การอำนวยการ  การสารบรรณ  การเงินและบัญชี  การประสานงาน การสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติ  และปฏิบัติภารกิจอื่นๆ  ตามที่ได้รับ มอบหมาย   มีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเพชรบูรณ์ / เลขานุการ ศตส.จ.พช.  เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ เมื่อเริ่มตั้งศูนย์ฯ ปัจจุบัน ฝ่ายอำนวยการ ศตส.จ.พช. มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจริง จำนวน  7  คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากสำนักงานจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน   1  คน  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน  1  คน สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน   จำนวน  1  คน และได้จ้างเหมาบริการเอกชนเพื่อทำหน้าที่เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลและปฏิบัติงานอื่นๆ จำนวน  3  คน

นอกจากปฏิบัติงานด้านการอำนวยการของ ศตส.จ.พช. แล้ว ยังปฏิบัติงานด้านอื่นๆ ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์มอบหมาย ได้แก่ งานขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง งานของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ คณะที่ 3 ในคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชามติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ

คำสำคัญ (Tags): #หน้าที่การงาน
หมายเลขบันทึก: 81828เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2007 01:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 12:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท