จากแขกสู่เจ๊ก ตอนที่ 1 China Inc. by Ted C. Fishman


"คุณเคยเห็นบริษัทข้ามชาติร้องแรกแหกกระเชอเกี่ยวกับความเอาเปรียบของรัฐบาลจีนต่อบริษัทข้ามชาติ สิทธิมนุษยชน แล้วก็ความไม่เอาไหนของรัฐบาลจีนไหม"

วันนี้เอาหนังสือที่เคยอ่านเก่าๆ แต่ทันสมัยมาเขียนแลกเปลี่ยนความรู้กันนะครับ

China Inc เป็นหนังสือจุดประกายความรู้ให้ผมเกิดสนใจเรื่องราวต่างประเทศที่อยู่รอบๆตัวเราอย่างจีนและอินเดีย รวมไปถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจทีกำลังพุ่งถาโถมมาที่จีนและอินเดีย จากการประเมินของเกจิทางเศรษฐศาสตร์นั้นมองว่า อีกไม่เกิน 30-40 ปี จีนนั้นจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าอเมริกา มันทำให้เกิดความสงสัยว่าอะไรทำให้เมืองจีนเปลี่ยนโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ อะไรทำให้จีนคอมมิวนิสต์สามารถผสมผสานกับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้อย่างลงตัวและทำให้เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนโฉม ทำไมประเทศที่คนจนแทบจะล้นประเทศ ที่แทบจะไม่มีอะไรกินเมื่อประมาณยี่สิบปีก่อน กลับกลายเป็นสวรรค์ของนักลงทุน หนังสือเรื่อง China Inc มีคำตอบ

หนังสือเริ่มเรื่องด้วยความได้เปรียบและการวิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจจีน รวมไปถึงความรวดเร็วปานสายฟ้าแลบที่ทำให้เมืองหลายๆเมืองในประเทศจีนนั้นเปลี่ยนโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งเสิ่นเจิ้น ทั้งเซี่ยงไฮ้ ใครจะรู้ครับว่า สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจของรัฐบาล แต่เมื่อประเทศได้รับอานิสงค์อย่างเหลือเชื่อ กลับกลายเป็นการจุดประกายให้คนจีนหลายๆคน ก้าวเข้ามาสู่ระบบตลาด และทำให้ประเทศจีนได้ก้าวไปได้ไกลถึงขนาดปัจจุบันนี้ หนังสือนั้นเล่าว่าเมืองจีนได้เข้าสู่ทุนนิยมอย่างไม่ตั้งใจ โดยเริ่มจากชาวนา 18 คน ที่ตั้งกลุ่มกันอย่างลับๆ เพื่อที่จะต่อรองกับทางการว่า ถ้ากลุ่มเขาสามารถจ่ายภาษีในรูปผลผลิตทางการเกษตรได้แล้วล่ะก็ผลผลิตส่วนที่เหลือนั้น เขาขอสงวนสิทธิ์ไว้ใช้ตามต้องการของเขาเอง เมื่อทางการยอมตกลงอย่างลับๆ สิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้นผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น และที่ไม่น่าเชื่อยิ่งขึ้น เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิงรู้ข่าวและยอมรับโมเดลนี้ เอาไปแก้ปัญหาส่วนรวม ใครจะไปเชื่อล่ะครับว่าเศรษฐกิจที่รุ่งโรจน์โตแบบไม่หยุดยั้งนั้นจะมาจากคน 18 คน หลายคนอาจจะสงสัยตรงนี้ แต่อย่าลืมนะครับว่าเมืองจีนนั้นปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ดังนั้นจึงทำให้คนจีนบางส่วนไม่มีแรงจูงใจในการทำงานเพราะ ทำมาเท่าไร ก็เข้ากองกลางหมด

Mr. Fishman นั้นยอมรับและค่อนข้างยกย่องคนจีนว่าด้วยคุณลักษณะที่เป็นคนขยัน อดทนของคนจีนนั้น เป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ทำให้เมืองจีนนั้นก้าวมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งอาจจะแตกต่างกับที่เราคิดกันอย่างไม่วิเคราะห์และพิจารณาว่าเพราะคนจีนนั้นเยอะและค่าแรงถูกที่ทำให้เมืองจีนนั้นก้าวมาสู่ความเป็นยักษ์ในเวทีเศรษฐกิจโลก

หนังสือไม่ได้มองแค่ภาพฝันอันสวยหรูของประเทศจีนเพียงอย่างเดียว หนังสือได้กล่าวถึงปัญหาที่เป็นที่ขยาดของนักลงทุนหลายๆคน และปัญหาที่รัฐบาลจีนต้องการเร่งแก้ไข เพื่อที่จะสร้างภาพพจน์สวรรค์ให้แก่นักลงทุน ปัญหาหลักๆที่เราอาจจะรู้ๆกันอยู่ ก็คือเรื่องของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ผมเคยได้ยินมาว่าเมืองจีนนั้นน่ากลัวมาก บริษัทบางเจ้าไม่ค่อยอยากจะเข้าไป เพราะว่าถ้าเข้าไปแล้ว อีกไม่เกินสามเดือน เขาก็จะเดินไปเห็นของเลียนแบบที่ถูกกว่า ขายอยู่เต็มถนน เพราะว่าถูกขโมยไอเดียของสินค้าไปเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว ไม่นับการละเมิดลิขสิทธิ์ทาง software, DVD, CD และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ซึ่งเรื่องเหล่านี้นั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และก็สำคัญมาก

พออ่านแล้วคิดไหมครับว่าผลประโยชน์ที่ได้จากเมืองจีนนั้นมันช่างหอมหวลชวนดมแค่ไหน ในเมื่อบริษัทส่วนมากรู้ว่าจะโดนอะไร เพราะว่ารัฐบาลจีนกำหนดให้บริษัทที่จะมาลงทุนในจีนต้องร่วมทุนกับบริษัทของรัฐบาลจีน แต่ที่สำคัญก็คือทรัพย์สินทางปัญญานั้นถือว่าเป็นของบริษัทจีนด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม บริษัทหลายๆบริษัทก็ยังอยากจะเข้าไปลงทุนในเมืองจีนเหลือเกิน ขนาด Pfizer ที่ผลิต ยาไวอะกร้า ลงทุนวิจัยยาไวอะกร้าเป็นพันๆล้านเหรียญ ก็ยังอยากเข้าไปสร้างฐานการผลิตที่เมืองจีน ทั้งๆที่รู้นะครับว่า ถ้าเข้าไปปุ๊ป ก็จะเห็นยาไวอะกร้าปลอมจากเมืองจีนเกลื่อนระบาด เต็มไปหมด แต่ก็เข้าไป ไม่น่าเชื่อจริงๆนะครับว่า ขนาดคิดว่าจะขาดทุนส่วนงานวิจัยไปแล้ว การบุกตลาดจีนก็ยังจะสร้างกำไรที่มหาศาลให้กับบริษัทข้ามชาติได้

Ted ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าคิดว่า "คุณเคยเห็นบริษัทข้ามชาติร้องแรกแหกกระเชอเกี่ยวกับความเอาเปรียบของรัฐบาลจีนต่อบริษัทข้ามชาติ สิทธิมนุษยชน แล้วก็ความไม่เอาไหนของรัฐบาลจีนไหม" เท่าที่ผมลองคิดดู ผมก็ไม่เคยเห็น Ted บอกว่าส่วนมากเราจะเห็นว่าไอ้ที่ร้องๆกันนะมาจากพวก สส สว ในรัฐบาลสหรัฐ หรือไม่ก็พวก WTO หรือไม่ก็เรียกร้องเป็นกลุ่ม แต่เดี่ยวๆนะ ไม่มีทางให้เห็น เพราะอะไร เพราะเขากลัวว่า ถ้าเขาออกมาพูดเรื่องเหล่านี้ มีหวังบริษัทเหล่านั้นโดนเขี่ยออกจากวังวนผลประโยชน์มหาศาลในเมืองจีนอย่างแน่นอน

หนังสือพูดถึงเรื่องการตรึงค่าเงินหยวนกับดอลล่าร์ไว้อย่างน่าสนใจว่า อย่าคิดไปนะว่า การตรึงค่าเงินหยวนกับดอลล่าร์ที่นักการเมืองอเมริกันร้องแรกแหกปากอยู่เนี่ยมันไม่ดี เพราะถ้าจีนลอยค่าเงินหยวนจริงๆอาจจะเป็นคนอเมริกันชนทั่วไปก็ได้ที่จะมีปัญหา ไม่ใช่นักการเมืองหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ เพราะว่าถ้าลอยค่าเงินหยวน สินค้าอุปโภคบริโภคที่มาจากจีนจะแพงขึ้น นั่นทำให้คนอเมริกันต้องใช้สินค้าแพงขึ้น ไม่รวมถึงการที่จีนมีเงินบอนด์มากมายของอเมริกานั่นย่อมทำให้อเมริกาต้องใช้หนี้จีนมากขึ้น ไม่แน่ว่าอาจจะทำให้ดอกเบี้ยของอเมริกานั้นต้องเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็เป็นได้ Ted กล่าวว่าทุนจีนนี่แหละที่ทำให้ รัฐบาลบุชอยู่รอดกับงบประมาณขาดดุล แล้วก็อัตราดอกเบี้ยต่ำของอเมริกาในขณะนี้

แน่นอนครับการอ่านทุกครั้งทำให้เราได้รู้อะไรเยอะขึ้น แต่อย่างหนึ่งที่ผมประทับใจก็คือภาพของรัฐบาลจีนที่ปกป้องคนของเขาเอง หนังสือยกตัวอย่างเรื่อง Microsoft ออกมาบอกว่าคนจีนใช้วินโดว์ปลอมเยอะ ทำให้ Microsoft นั้นไม่ได้กำไรอย่างที่ควรจะเป็น แต่ผู้นำระดับสูงของจีนนั้นบอกว่า ยังไงจีนก็ไม่ได้เป็นตลาดหลักของ Microsoft อยู่แล้ว เพราะวินโดว์นั้นแพง คนจีนไม่ซื้ออยู่แล้ว ถ้าจะให้ใช้ของถูกต้องคนจีนคงต้องทำ software เองโดยการจับมือกับบริษัทอื่นๆ ไม่น่าเชื่อนะครับว่า Microsoft ยอม ก็แหมคนเป็นพันล้านอยู่ๆเลิกใช้ windows ขึ้นมา ไม่สะดุ้งก็ไม่รู้ยังไงแล้วครับ

เมืองจีนนั้นถึงแม้จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดดึ๋งๆๆๆๆๆ แต่ก็มีปัญหามากมายตามมาทั้งทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อมปัญหาด้านสังคมที่สำคัญก็เช่นการศึกษา การกระจายรายได้ การรักษาพยาบาล เราก็คงต้องรอดูกันครับว่าแล้วประเทศจีนจะแก้ยังไง แล้วต้องรีบแก้ด้วย ไม่งั้นเราก็อาจจะต้องได้รับผลกระทบไปเต็มๆ การขยับตัวของอินเดียกับจีนคงเป็นอะไรที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะมันมีผลกระทบต่อโลกมาจริงๆ อาจจะเป็นเพราะว่า Ted นั้นเป็นคนอเมริกาหรือเปล่า ดังนั้นภาพใน China Inc นั้นดูจะเหมือนมุ่งเน้นในด้านเทคโนโลยี และเน้นการบริโภค การสร้างและขยายการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพนี้นั้นขัดแย้งกับภาพการแก้ปัญหาของอินเดียแบบที่ Mira เขียนใน Planet India อย่างสิ้นเชิง ใน Planet India นั้น Mira กล่าวไว้ชัดเจนว่าการบริโภคทรัพยากรและพลังงานอย่างมหาศาลแบบที่ชาติตะวันตกพัฒนานั้นไม่สามารถนำมาใช้ในอินเดีย (และจีน)ได้อย่างแน่นอน เพราะจำนวนคนและขนาดของประเทศที่ใหญ่มาก Mira มองว่าวิธีคือการหาทางผสมผสานขององค์ความรู้ดั้งเดิมกับเทคโนโลยีปัจจุบัน

ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาของ Mira ที่เขียนใน Planet India การที่จีนเน้นความเจริญทางด้านวัตถุนั้นอาจจะไม่เป็นผลดีมากนักทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งกับพลเมืองจีนเองหรือกับพลเมืองโลก อย่างน้อยตอนนี้เราก็เริ่มที่จะได้ยินเสียงบ่นจากคนไทยที่ใช้แม่น้ำโขงบ้างแล้วว่าเราเริ่มเจอปัญหาเกี่ยวกับระดับน้ำที่ลดลง ปลาที่จับยากขึ้น

การต่อสู้ทางเศรษฐกิจกับเมืองจีนนั้นคงยาก เพราะเมืองจีนนั้นใช้ Wal-Mart model (อันนี้ผมเรียกเองนะครับ) สำหรับผมแล้ว Wal-Mart  model (อันนี้ไว้วันหลังค่อยคุยล่ะกันนะครับ) คือการที่เราเน้น economy of scale คือเน้นขายปริมาณมาก ราคาถูก เมืองจีนก็ทำแบบนี้แหละครับที่ทำให้ตลาดทั่วโลกเจอของถูกจนผู้ผลิตสินค้าที่ไม่อยู่ในเมืองจีน สะบักสะบอม อ่วมอรทัย โอดครวญกันไปตามๆกัน จะแก้ยังไง ก็คงขึ้นอยู่กับว่าเราจะฉีกสินค้าของตัวเองได้ดีกว่าจีนขนาดไหน หรือสร้าง brand ของเราได้ดีขนาดไหน แต่เท่าที่ผมมองดูแล้ว ผมเชื่อแค่ว่า สินค้าการเกษตร คงเป็นหนทางเดียวที่เราพอจะต่อกรกับ Globalization ที่ถาโถมเข้ามารุนแรงชนิดที่เรียกว่าทุกคนต้องการ China price ได้

ที่มา: Fishman, T. C. China Inc. Scribner, NY, 2006. ISBN 978-0743257350

ปล อันนี้เป็นตอนหนึ่งครับ ตอนที่สองจะพูดถึงเรื่องเมืองจีนอีก แต่จะเป็นพูดจากมุมมองของหนังสือเรื่อง China shakes the world เขียนโดย James Kynege หนังสือเล่มนี้ได้รางวัล The 2006 best book of the year ของ Financial Times แต่ขอแปะไว้ก่อนนะครับ เพราะยังอ่านไม่จบครับ ตอนนี้ประมาณ 1/4 เองครับ

หมายเลขบันทึก: 81048เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2007 02:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ดีค่ะจะได้มีเรื่องดี ๆ มาเล่าให้ฟ้งสำหรับคนไม่มีเวลาอ่าน  เก่งนะค่ะเขียนได้ดี อ่านแล้วสนุก

ขอบคุณอาจารย์มากครับสำหรับคำชม

ตั้งใจไว้แล้วครับว่าจะพยายามเขียนเรื่องที่เราเก็บได้จากหนังสือมาแลกเปลี่ยนความรู้กันครับ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้อรรถรส เท่ากับที่หนังสือเขียน แต่ก็จะพยายามพัฒนาและปรับปรุงสไตล์การเขียนไปเรื่อยๆครับ

หวังว่าคงจะได้รับเกียรติจากอาจารย์และท่านอื่นๆเข้ามาอ่านบ่อยๆนะครับ ขอบพระคุณมากครับ

ผมว่า30-40ปีนี่น่าจะนานเกินไปสำหรับจีนนี่ น่าจะเร็วกว่านั้น ถ้าจะนับเฉพาะขนาดเศรษฐกิจ แต่ผมว่ากว่าจีนจะไปถึงจุดนั้นจีนต้องเจอกับปัญหาสังคมอีกมากเลย เพราะการพัฒนาแย่งรวดเร็วแบบนี้ กับสังคมที่ประชากรมากขนาดนี้ รับมือยากมาก ๆ เกรงว่าปัญหาสังคมนี่แหละที่จะเป็นตัวฉุดจีน

 

แต่ผมไม่เห็นด้วยกับประเด็นสินค้าเกษตรของคุณนะครับ ผมว่าจีนนี่แหละน่ากลัว ในเรื่องของราคา ถ้าจีนควบคุมคุณภาพการผลิตได้นะ ที่อื่นลำบากแน่ ๆ

 

แต่ยังไงถ้าไทยพัฒนาด้านการเกษตรดี ๆ ผมยังมองว่าไทยยังสู้ได้

สวัสดีครับคุณโจ ขอบคุณมากสำหรับคำถามครับ

ไม่แปลกที่เราจะคิดว่า เมืองจีนนั้นน่าจะมาแรงแซงโค้งประเทศสหรัฐอเมริกาเร็วกว่า แต่บางทีเราอาจจะลืมมองไปว่าเมืองจีนนั้นมีปัญหาหมกเม็ดหลายอย่างที่เราไม่ทราบคร้บ จีนนั้นถ้านับรายได้ต่อหัวของประชากรแล้วล่ะกัน จีนนั้นเป็นประเทศจนอันดับต้นๆของโลกเหมือนกันครับ ถ้าเทียบกันแล้วเรื่องรายได้ต่อหัว เรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ ยังสู้ประเทศอื่นๆไม่ได้ครับ (ถ้าอยากรู้มากกว่านี้ ตอนหน้าเราจะมาคุยกันครับ แต่ขอเวลาหน่อยนะครับช่วงนี้งานยุ่งครับ)

เรื่องสินค้าการเกษตร เป็นความคิดส่วนตัวของผมครับ ยุทธศาสตร์ของบริษัทนั้นมียุทธศาสตร์หนึ่งที่เรียกว่า Differentiation หรือการทำให้สินค้านั้นแตกต่างออกไปจากชาวบ้าน สินค้าการเกษตรโดยตัวมันเองแล้ว ก็เป็นการ Differentiation อย่างหนึ่งครับ เพราะสินค้าการเกษตรเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ เช่นข้าวหอมมะลิที่ทุ่งกุลา ส้มบางมด ทุเรียนเมืองนนท์ เงาะโรงเรียนสุราษฏร์ สินค้าเหล่านี้นั้นเราสามารถจะนำไปใช้เจาะตลาดประเทศจีนได้ครับ ก็เพราะเอกลักษณ์ของตัวมันเองครับ หลายคนอาจจะพูดว่าเดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์การเกษตรนั้นก้าวหน้าไปมาก สามารถที่จะลอกเลียนแบบทั้งรสชาด รูปร่าง กลิ่นไปด้วย แต่ผมก็ไม่คิดว่าเมืองจีนที่ไม่ค่อยทำ R&D จะมาลงทุนทำ R&D กับเรื่องปลีกย่อยอย่างสินค้าการเกษตรครับ

ข้อสองก็คือประเทศจีนนั้นมีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตรน้อยมากครับเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่รวมไปถึงแรงงานส่วนใหญ่ ได้รับการสนับสนุนให้เข้ามาสู่ภาคการผลิตซึ่งนั่นทำให้แรงงานการเกษตรนั้นลดลงครับ ทำให้สินค้าการเกษตรของเมืองจีนหายากและมีแนวโน้มที่จะมีราคาสูงในอนาคต

ข้อที่สามก็คือคนจีนรวยขึ้นครับ เมื่อเรารวยขึ้นเราก็เริ่มสนใจที่จะเน้นเรื่องสุขภาพ เรื่องคุณภาพชีวิต แล้วเรื่องการกิน คนจีนนั้นก็ขึ้นชื่ออยู่แล้วว่าสรรหา มีความคิดเกี่ยวกับยาบำรุง เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่เราเห็นทุเรียนและลำไยนั้นขายดีในประเทศจีน เพราะผลไม้พวกนี้มองว่าเป็นยาบำรุงครับ

แต่ที่ผมพูดผมไม่ได้หมายความว่าเราจะสู้ได้ตอนนี้นะครับ เพราะว่ามันไม่ใช่ แค่เรื่อง FTA กับ หอม นั้นเกษตรกรไทยก็ร้องแล้ว ผมมองไปในอนาคตครับ แล้วก็รัฐจำเป็นที่จะต้องเข้ามาส่งเสริมอย่างมากเพื่อที่จะทำให้สินค้าเกษตรของเราสู้จีนได้นั้น อาจจะเป็นเรื่องของราคา หรือเรื่องของคุณภาพ ในโลกนี้ไม่มี low-tech industry(อุตสาหกรรมที่ต้องการเทคโนโลยีธรรมดา)ครับ มีแต่วิธีการผลิตเท่านั้นที่ล้าหลัง  

อุตสาหกรรมการเกษตรนั้นอาจจะดูเหมือนล้าหลังในสายตาเรา แต่ถ้าเราต้องการคุณภาพผลผลิตที่ดีนั้น เทคโนโลยีนั้นจำเป็นมาก เราต้องการองค์ความรู้และต้องการเทคโนโลยีมากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการปลูก รดน้ำ ดูแล การจัดเก็บผลิตผล การเก็บรักษา แค่นี่เราก็พอเห็นภาพไหมแล้วใช่ไหมครับว่า เราต้องการเทคโนโลยีมากแค่ไหน นี่ยังไม่รวมเรื่องกลไกตลาดที่ตอนนี้เรามีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (Future commodity market) แต่ขนาดเรานั้นยังเล็กมากครับ ถ้าจำไม่ผิดมีแค่ซื้อขาย ข้าวกับยางเป็นหลัก ถ้าต้องการให้สู้ได้นั้น รัฐต้องเข้ามาช่วยให้ความรุ้ สร้าง infrastructure เพื่อช่วยให้เกษตรกรไทยนั้นมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เข้าใจในระบบการแลกเปลี่ยนซื้อขายมากขึ้นครับ

ขอบคุณมากครับ หวังว่าผมคงตอบคำถามได้เคลียร์นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท