สภาพปัญหาของงานวิจัยกับกฎหมายภายใน


วิจัยกับกฎหมายภายใน

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

มาตรา 42 และ มาตรา 43 สรุปได้ว่าผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีปกครองคือบุคคลดังต่อไปนี้ [1]                       

                        1)  ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9                         

                        2) ผู้ที่อาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการงดเว้นกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 9                       

                        3)  ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในกรณีที่เห็นว่ากฎหรือการกระทำใด ๆ ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้มีสิทธิเสนอเรื่อง พร้อมความเห็นต่อศาลปกครองได้                                      

                         อำนาจฟ้องตามข้อ 1) และ2) ได้ขยายไปให้แก่บุคคลที่ยังไม่ได้รับความเสียหายจริง แต่จะได้รับความเสียหายอย่างแน่นอนจากการกระทำทางปกครองอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้นั้นแม้จะยังไม่ได้รับความเสียหายก็มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองเช่นกัน                               

                          ทั้งนี้ คำว่า บุคคล หมายความถึง บุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐ [2]                               

             บทสรุป                               

                           หากพิจารณาตาม ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 8 ซึ่งถือว่าเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหลักจารีตประเพณีอันเป็นบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 42 และ มาตรา 43 อาจกล่าวได้ว่าบุคคลใดๆก็ตามหากถูกกระทบ สิทธิ หรือมีการกระทบกระเทือนต่อ ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสีย ก็ฟ้องคดีได้ และระดับของประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียนั้นก็ยืดหยุ่นตามลักษณะของคดีที่จะนำมาฟ้องต่อศาล ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของมาตรา 42 และมาตรา 43 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองดังกล่าวข้างต้นด้วย                               

                         คนต่างด้าวจึงถือได้ว่ามีสิทธิตามกฎหมายภายใน และกฎหมายระหว่างประเทศในการใช้หลักสิทธิมนุษยชนฟ้องคดีต่อศาลปกครอง หากตนได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของฝ่ายปกครอง ก็มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการกระทำทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ หรือประโยชน์อันชอบธรรมของตนนั้นเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการกระทำนั้น หรือขอให้ไม่บังคับใช้การกระทำนั้นแก่กรณีของตน และ/หรือขอให้บังคับให้ฝ่ายปกครองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตน แล้วแต่กรณี



[1] บุญอนันต์ วรรณพาณิชย์, บันทึกเรื่อง ประเภทคดีปกครองและผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครองแต่ละประเภท, สำนักงานศาลปกครอง, 3 กรกฎาคม, พ.ศ. 2543
[2] พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา 3
หมายเลขบันทึก: 79847เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2007 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท