ปัญหาเรื้อรังบ้านวังไผ่


ทุกปัญหารอการแก้ไข แต่ไม่ใช่เอาแต่รอให้ทางราชการมาแก้ไข ชุมชนต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองด้วย ตามศักยภาพของชุมชน และทุนทางสังคมที่มีอยู่ ดูเหมือนชาวบ้านจะงงๆอยู่ว่า ถ้าปัญหาทุกเรื่องให้ชาวบ้านแก้ไขเองแล้ว จะมีราชการไปทำไม ?

        สองปีก่อนผมไปจัดเวทีชุมชนที่หมู่บ้านวังไผ่  ตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าเมี่ยน(เย้า) หนึ่งในหมู่บ้านบริวาร ของโครงการขยายผลงานโครงการหลวงเพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน   เปิดเวทีคุยประเด็นปัญหา ตามกิจกรรมการอบรมหลักสูตร การพัฒนาสังคมและสวัสดิการ   กลุ่มชาวบ้านมาร่วมเวทีไม่มากไม่น้อย ร่วม 30  คน   กระบวนการในวันนั้น มีทั้งการเสวนาอย่างไม่เป็นทางการและการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น  และนำเสนอ  ชาวบ้านสารภาพว่า ที่ผ่านมาในหมู่บ้าน ยังไม่เคยได้มานั่งคุยปัญหากันแบบภาพรวมเช่นนี้   ทุกคนต่างทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว สรุปปัญหาที่ทุกกลุ่มมองเห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาสำคัญของหมู่บ้าน  อย่างเช่น

         1.  ปัญหาเรื่องน้ำ  เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่บนที่สูง ห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ  ทำให้ขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในช่วงแล้ง  เป็นปัญหาที่มีมายาวนานแล้ว  อยากให้ทางราชการช่วยเหลือ

         2. ปัญหาเรื่องที่ดิน  การทำกินบนพื้นที่สูง ส่วนใหญ่มีปัญหานี้เป็นหลัก  โดยเฉพาะกับทางป่าไม้ ชาวบ้านต้องการพื้นที่ทำกินเป็นของตัวเอง  ขณะเดียวกันพื้นที่ทำกินก็ไม่อุดมสมบูรณ์  ผลผลิตไม่ดี  อยากให้ทางราชการช่วยเหลืออีก

         3. ปัญหาคนไร้สัญชาติ ยังมีคนที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย  เป็นคนเถื่อน ไปไหนมาไหนที่ลำบากยากยิ่ง  ไม่มีสิทธิของความเป็นคนไทย ในหลายๆประการ  ทั้งด้านอาชีพ การศึกษา หรือสภาวะความเป็นอยู่ อยากให้ทางราชการช่วยเหลือ

        4. ปัญหาเศรษฐกิจ  อย่างเช่นด้านอาชีพหลัก  การทำการเกษตร ผลผลิตไม่ดี และมีปัญหาทางการตลาด  ด้านอาชีพเสริม ของกลุ่มสตรีแม่บ้าน  คือการทำผ้าปักเมี่ยน  ที่ผ่านมามีการส่งเสริมให้รวมกลุ่มกันทำ   แต่ไม่มีตลาดรองรับ  ทำให้รายได้ไม่ดี และมีหนี้สิน  อยากให้ทางราชการช่วยเหลือหาตลาดผ้าปักให้อีกยังมีปัญหาปลีกย่อยอีกหลายๆ ข้อ ที่ชาวบ้านช่วยกันนึกช่วยกันคิด  อย่างเช่น ปัญหาทุนการศึกษานักเรียน  ปัญหาถนนทางเข้าที่ทำกิน   ฯลฯ  แต่ส่วนใหญ่สุดท้ายสรุปตรงกันว่า  อยากให้ทางราชการช่วยเหลือ !?! 

         นี่ยังเป็นวิธีคิดเดิมแบบชาวบ้าน ที่เคยชินกับการพึ่งพึงภาครัฐ  แน่นอนว่า ชาวบ้านย่อมมีสิทธิเรียกร้องในการรับบริการจากภาครัฐ   โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ปัญหาของชุมชนบนพื้นที่สูง  มีปัญหาหลักๆอยู่ไม่กี่เรื่อง แม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อย  และแตกประเด็นปัญหาต่างๆออกไปอีกมากมาย   เป็นปัญหาที่แทบไม่ต้องค้นอะไร  ก็บ่งบอกระบุได้   และคนของรัฐกี่หน่วยงานที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าออกนอกในหมู่บ้าน  ปีต่อปีที่ผ่านมา ก็ยังช่วยเหลือชาวบ้านแก้ปัญหาความต้องการไม่ได้ครบถ้วน ทำอย่างไรชาวบ้านจึงจะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน  ?

        ต้นปีนี้ ผมเข้าไปหมู่บ้านเมี่ยน  บ้านวังไผ่อีกครั้ง ด้วยกิจกรรมการอบรมตามหลักสูตรเดิม โครงการเดิม  แต่ในชุมชน ผู้ใหญ่บ้านและกลุ่มผู้นำบางส่วนเปลี่ยนแปลงไปแล้ว  แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐหน่วยงานใดก็ตามที่เข้าทำงานในหมู่บ้าน ก็เปลี่ยนตัวไปแล้วเช่นกัน  อย่างน้อยก็ตัวผมที่ในขณะนี้ เข้าไปในหมู่บ้านในอีกฐานะหนึ่ง  จากสองปีก่อนเข้าไปในฐานะผู้ดำเนินการจัดฝึกอบรม   ปีนี้เข้าไปในฐานะวิทยากรกระบวนการ  ในองค์กรที่ผมสังกัดก็มีการปรับเปลี่ยนบทบาทภารกิจ  จากเดิม คือ  ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดน่าน มาเป็น ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 25 จังหวัดน่าน

         ในตอนแรกผมกะจะเอาปัญหาเดิมๆ  ที่ชาวบ้านเคยคิดกันไว้เมื่อสองปีก่อน มานั่งคุยกันว่า เวลาผ่านไป มีสิ่งใดได้รับการแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปในทางใดบ้าง  และจะทำอย่างไรกันต่อไป  ปรากฏว่า กลุ่มชาวบ้านที่มาร่วมเวทีในปีนี้  แทบไม่เหลือกลุ่มเดิมอยู่เลย    จึงต้องเริ่มต้นคุยปัญหากันใหม่อีกครั้ง จากกิจกรรมแบ่งกลุ่มเขียนปัญหาในปีนี้  พบว่า ปัญหาใหญ่ของหมู่บ้าน ที่ตระหนักร่วมกัน คือ ปัญหาเรื่องน้ำ   เรื่องที่ดินทำกิน  เรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องสัญชาติ  เหมือนเดิม  เมื่อเวลาเปลี่ยน  คนเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน  แต่ปัญหาไม่เปลี่ยน  ยังคงยืดเยื้อเรื้อรัง  เป็นปัญหาอมตะคู่ชุมชน

        เมื่อมานั่งคุยกันถึงเรื่องกระบวนการแก้ไขปัญหา  ชาวบ้านบอกว่าที่ผ่านมามีความพยายามแก้กันแล้ว ไม่ได้อยู่เฉย  เพียงแต่ปัญหามันใหญ่เกินไปเกินความสามารถของชาวบ้าน เลยต้องอาศัยจากทางราชการ  ที่ผ่านมาก็พยายามเสนอปัญหาเรื่องน้ำเข้า  อบต.แล้ว  แต่ต้องใช้เงินเยอะ   ผมพยายามเชื่อมโยงถึงสิ่งที่ชุมชนทำได้เองได้ทำแล้วหรือยัง  อย่างเช่น การปลูกฝังจิตสำนึกของคนในชุมชน  ให้เห็นเรื่องทรัพยากรน้ำเป็นเรื่องสำคัญ  ต้องรู้จักกินรู้จักใช้อย่างประหยัด   มีจิตสำนึกสาธารณะ  และเมื่อน้ำขาดแคลนก็ต้องรู้จักสรรแบ่งปัน  เหล่านี้เป็นเรื่องคนในชุมชน   ถามว่าที่ผ่านมาคนในหมู่บ้านเคยขัดแย้งทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรงเรื่องน้ำหรือไม่  ชาวบ้านตอบว่ายังไม่มี อย่างไรก็ตามรับประกันไม่ได้ว่า ในภายหน้าอาจจะมี        

        ปัญหาของหมู่บ้านเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน  เอาแค่เรื่องน้ำกับดิน  ให้หน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงเข้ามาทำ  ก็แทบจะไม่หวาดไม่ไหว  ไม่ต้องพูดเรื่องบูรณากง บูรณาการอะไรกันให้ชาวบ้านงงงวย  แค่หน่วยงานไหนรับผิดชอบด้านไหน ให้ติดตามปัญหาของชุมชนด้านนั้นอย่างจริงจรังต่อเนื่องเป็นพอ   ที่เห็นเป็นความเดือดร้อนอย่างหนึ่งคือ ปัญหาสัญชาติ  คนไม่มีสัญชาติ ย่อมรู้สึกไม่มั่นคง จะเกิดจะกินจะอยู่จะตายอย่างไรก็ไม่มีกฎหมายรองรับ  คนในหมู่บ้านที่อยู่ร่วมกับคนไร้สัญชาติก็รู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย  ไหนจะปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งในระดับใหญ่ของประเทศ  และในระดับย่อย ปัญหาปากท้องของครอบครัว   ไหนจะปัญหาที่งอกเงยผุดโผล่ขึ้นมาใหม่ ในหมู่บ้าน อย่างเช่น ปัญหาดินถล่ม  ที่หมู่บ้านกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยดินถล่ม  ที่ตอนนี้หน่วยงานรับผิดชอบมาติดตั้งเครื่องเตือนภัยดินถล่มไว้ในหมู่บ้าน วันดีคืนดีก็ร้องเตือนขึ้นมาเองโดยไม่ทราบสาเหตุ  ทั้งๆที่ฝนไม่ตก  หรือตกไม่หนัก  จนชาวบ้านแซวว่า สงสัยสุนัขจะไปฉี่รดที่วัดน้ำฝน   เครื่องเลยเตือนขึ้น  นี่เป็นความไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิตอีกอย่างหนึ่งของชาวบ้านวังไผ่ในวันนี้

        ผมทำอะไรได้ไม่มากไปกว่า ชี้ให้ชาวบ้านเห็นว่า  ปัญหาในแต่ละประเด็น  ต้องวางระดับการแก้ไขอย่างไร  ปัญหาที่ล้นบ่ากว่าแรง ย่อมต้องอาศัยการช่วยเหลือจากภายนอก   แต่ปัญหาบางอย่างแก้ไข หรือป้องกันเบื้องต้นได้ด้วยคนในชุมชนเอง  แน่นอนว่าการพึ่งพาบริการจากภาครัฐยังมีต่อไป  แต่ในอนาคต ชุมชนและท้องถิ่นต้องช่วยกันดูแล ป้องกันแก้ไขปัญหากันด้วยตัวเองมากขึ้น  เพราะไม่ว่าผู้ใด หน่วยงานใดก็ตามที่เข้ามาคุยเรื่องปัญหาชุมชนกี่ครั้งกี่รอบ  ผมแน่ใจว่า ปัญหาหลักของหมู่บ้านวังไผ่ย่อมออกมาในลักษณะนี้ แตกต่างเพียงที่ประเด็นปลีกย่อยในบางกรณี   เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานมาแล้วก็กลับไป  แต่ปัญหายังอยู่กับชุมชน หน่วยงานภายนอกจะพยายามทำในสิ่งที่ทำได้เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือหมู่บ้านภายใต้กรอบจำกัดมากมาย 

        ผมเข้าใจว่า  ยังมีอีกหลายชุมชนบนพื้นที่สูง ที่มีปัญหาเฉกเช่นนี้  เป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง  ที่รอการแก้ไข  ผมย้ำกับชุมชนไปว่า  ปัญหารอการแก้ไข  แต่ไม่ใช่เอาแต่รอให้ทางราชการมาแก้ไข  ชุมชนต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองด้วย ตามศักยภาพของชุมชน และทุนทางสังคมที่มีอยู่ ดูเหมือนชาวบ้านจะงงๆอยู่ว่า  ถ้าปัญหาทุกเรื่องให้ชาวบ้านแก้ไขเองแล้ว จะมีราชการไปทำไม ?

        ยังคงต้องเน้นทำ ย้ำคิดกันอีกหลายรอบ  สักระยะหนึ่งผมจะเข้าไปบ้านวังไผ่อีกครั้ง  เพื่อติดตามดูว่า  ชาวบ้านมีกระบวนการแก้ไขปัญหาคืบหน้ากันอย่างไร  ปัญหาหลักๆยังอยู่ก็จริง  แต่ประเด็นความเดือดร้อนต้องผ่อนคลายลงไปในระดับหนึ่ง  ไม่ว่าจะด้วยผลของการกระทำ กรรมของการคิดของใครก็ตาม.. 

คำสำคัญ (Tags): #พัฒนาสังคม
หมายเลขบันทึก: 79819เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2007 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2012 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท