ความลับในห้องสังคมศึกษาฯ


"จิตสงบ สยบความเคลื่อนไหว"

              ยามใดที่จิตใจของคนเรา สงบมีสมาธิ  ก็อาจเปรียบได้กับยาม วิกาลที่มีแต่ความเงียบสงัด  ได้ยินแต่เสียงสายลมพัดผ่านมาเบา ๆ  มีน้อยคนนักที่สามารถจะทำให้จิตใจสงบและมีสมาธิได้ ในยามที่โลกของเราวุ่นวาย  ทั้งการทำงาน เรื่องของครอบครัว เศรษฐกิจ เหตุการณ์บ้านเมือง ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมทั้งเด็ก ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของคุณครูปิยมาศ ก็มีพฤติกรรมแปลก ๆ เกิดขึ้นเสมอ    เด็ก ๆ   สมัยนี้เขาได้รับอิทธิพลของสื่อที่หลากหลาย  บางครั้งทำให้จิตใจของเด็ก ๆ      เหล่านี้ไม่ค่อยจะอยู่กับร่องกับรอยสักเท่าไหร่ แต่ครูปิยมาศก็มีความเชื่อว่า การทำสมาธิให้สงบและทำเป็นประจำ  จะทำให้คนเรามีสติปัญญา  ที่จะทำอะไรก็ได้อย่างมีประสิทธิภาพ         ครูปิยมาศ  ก็ไม่ค่อยเชื่อสักเท่าไหร่ว่าถ้าเราปฏิบัติการทำสมาธิบ่อย ๆ เป็นประจำจะทำให้เรามีสมาธิดี เหมือนหลาย ๆ คนที่บอกเล่าให้เราฟัง แต่การที่เราได้เจอกับตัวเองนี่แหละทำให้เรามีความเข้าใจและเห็นด้วยอย่างยิ่ง  ก็คือ การที่เราได้พานักเรียนจำนวน  50  คน ไปเข้าค่ายพัฒนาคุณธรรมที่วัดป่าถ้ำวัว เป็นเวลา  3  วัน  โดยทั้งครูและนักเรียนได้รับความรู้และฝึกปฏิบัติด้วยกันอย่างเข้มข้น  หลังจากที่พวกเรากลับกันมาแล้ว ครูปิยมาศ ก็รู้สึกว่าสมองปลอดโปร่ง ทำอะไรก็กระฉับกระเฉงขึ้น จากคนใจร้อน ก็ใจเย็นขึ้น รู้จักปล่อยวาง ทำงานก็คิดได้ดี มีทางออกให้ตนเอง ก็เลยทดลองนำมาใช้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.5 - ม.3  โรงเรียนบ้านวนาหลวง  โดยให้นักเรียนที่เข้ามาเรียนวิชาสังคม ปฏิบัติการนั่งสมาธิก่อนเรียนทุกวัน  ซึ่งครูปิยมาศ  ก็ได้เปลี่ยนแปลงห้องเรียนใหม่ ให้มีบรรยากาศที่อบอุ่น  สะอาด ร่มรื่น  น่านั่ง  น่านอน และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความหมาย  เมื่อใดที่นักเรียนเข้ามาเรียนที่ห้องสังคม ทุกคนก็จะต้องเริ่มต้นด้วยการสวดมนต์ไหว้พระก่อนทุกครั้ง และก็นั่งสมาธิประมาณ 20 นาที ซึ่งขณะที่นั่งสมาธิครูปิยมาศ ก็จะเล่านิทานธรรมมะให้นักเรียนฟังทุกวัน  ซึ่งจากการสังเกตของครู เมื่อเริ่มแรกเด็ก ๆ จะปฏิบัติกันไม่ค่อยได้ สังเกตจากสีหน้าและท่าทางแล้ว เด็ก ๆ เหมือนถูกบังคับให้ทำ และจะมีสีหน้าเคร่งเครียด  เรียกว่าทำสมาธิกันไม่ค่อยได้กันเลย แต่ครูปิยมาศก็ไม่ใจร้อนที่จะเร่งเด็ก ๆ ให้ปฏิบัติ แต่จะพยายามให้กำลังใจและพาทำสมาธิ ค่อย ๆ บอกว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง และวันเวลาก็ผ่านไป 2 อาทิตย์ จากการสังเกตทุกครั้งของครู ก็มองเห็นว่าเด็ก ๆ ดีขึ้นมากทีเดียว ส่วนมากนั่งนิ่ง หน้าตาแจ่มใส และฟังนิทานของครูได้อย่างมีสมาธิ จากการที่เราต้องบอกต้องเตือนทุกครั้งว่าเข้าห้องมาแล้วจะต้องทำอย่างไร ณ วันนี้เด็ก ๆ ทำเองได้โดยอัมโนมัติ ไม่ต้องรอให้ครูเตือนครูบอกอีกต่อไป ซึ่งครูจะเป็นผู้นั่งดูเด็ก ๆ ปฏิบัติกันเองเสียมากว่า ถ้าวันไหนครูไม่อยู่เด็ก ๆ ก็จะพากันปฏิบัติเอง  เรียกว่ารู้หน้าที่ตนเองค่ะ

                    ผลจากการปฏิบัติสมาธิก่อนเรียนทุกวันของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง เด็ก ๆ ก็ได้เขียนบอกเล่ามาให้ครูอ่าน ว่าตัวของเด็ก ๆ ได้อะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า  "ทำให้เรียนหนังสือรู้เรื่องดีขึ้น  ความจำดีขึ้น จิตใจคิดแต่สิ่งที่ดี ๆ  ร่างกายกระฉับกระเฉง  สมองปลอดโปร่ง ไม่เป็นคนโกรธง่าย มีความอดทนขึ้น  ทำอะไรก็มีเหตุมีผล รอบครอบขึ้น  ฯลฯ " นี่คือสิ่งที่เด็ก ๆ ยอมรับกับตนเอง และเด็ก ๆ ก็เชื่อว่าการที่ได้ปฏิบัติสมาธิทุกวันทำให้เขามีพฤติกรรมในด้านต่าง ๆ ดีขึ้นมีความพอใจและไม่ได้คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกบังคับให้ทำ  จาการสังเกตของครูเองก็สัมผัสได้กับบรรยากาศของห้องเรียนที่ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นเลย ครูไม่เหนื่อยเลยค่ะกับการที่สอนเด็ก ๆ แต่จะคอยเวลาที่เด็ก ๆ จะมาหาเรา ไม่ว่าวันไหนและเวลาไหน เด็ก ๆ จะเรียบร้อย ตั้งใจเรียน ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จตามเวลาที่กำหนด  และที่สำคัญถ้าครูตรวจงานให้เด็ก ๆ   เขาก็จะเรียนกันอย่างเงียบ ๆ พูดกันเสียงเบา ๆ เพราะทุกคนต้องการสมาธิในการเรียน  เพราะฉนั้นห้องสังคมศึกษาของครูเหมียวก็จะดูเงียบสงบเหมือนไม่มีใครเข้ามาเรียนเลย แต่จริง ๆ แล้วพวกเราก็เรียนกันอย่างมีระเบียบวินัย  มีสมาธิทุกวันแหละค่ะ ครูเหมียวก็เลยตั้งชื่อห้องเรียนใหม่ว่า  "ห้องไตรสิขขา" และครูปิยมาศก็ได้ทำวิจัยเรื่องนี้ไปแล้วใกล้จะถึงบทสรุปแล้วละค่ะ ก็ภูมิใจในระดับหนึ่งว่าเราทำได้ ถ้าเราอยากได้นักเรียนที่คุณลักษณะที่พึงประสงค์อย่างไรเราก็ต้องมีความอดทนที่จะฝึกฝนเขาอย่างจริงจัง ใครสนใจอยากจะนำไปใช้บ้าง ครูปิยมาศ ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์นะค๊ะ  โอกาสหน้าถ้ามีอะไรดี ๆ ครูปิยมาศจะกลับมาเล่าให้ฟังใหม่ค่ะ หรือใครที่เรื่องดี ๆ ก็นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันก็ดีค่ะ  แล้วพบกันใหม่ค่ะ  บ้าย  บาย

 

หมายเลขบันทึก: 79717เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2007 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท