จะดับ หรือจุดไฟใต้


    ณ วันนี้ ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนทั้งไทย และเทศ และจากองค์กรระหว่างประเทศ ถึงกรณีที่ประเทศไทยใช้กำลังปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบอย่างรุนแรงเบ็ดเสร็จ จนมีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยศพ ภายในเวลาเพียงวันเดียว ซึ่งเกือบเท่ากับยอดเสียชีวิตของทหารอเมริกัน ในเวลา 1 เดือนของเดือนเมษายนเดียวกัน นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการบริหารของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ให้สัมภาษณ์ว่า "จำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาลไทยต้องใชัความรุนแรงในการปราบปรามถึงขนาดนี้ โดยเฉพาะการโจมตีผู้คนในมัสยิด ทางการไทยต้องเคารพหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติในด้านข้อห้ามในขณะใช้กำลังแก้ไขปัญหาด้วย" หนังสือพิมพ์เอเชี่ยน วอลล์สตรีต เจอร์นัล ได้แสดงทรรศนะว่า "ไทยได้กลายเป็นสมรภูมิล่าสุดในสงครามการก่อการร้ายโลกไปแล้ว"

ในทรรศนะของชาวมุสลิมวิธีการที่รัฐบาลไทย ใช้ในการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้นั้น ไม่มีความแตกต่างกับวิธีการที่ยิว ใช้กับชาวปาเลสไตน์และอเมริกาใช้กับชาวอิรักเลย ข้อเท็จจริง คือ การที่คนไทยต่างความเชื่อต่างศาสนา แม้ว่าจะมีความขัดแย้งกันบ้าง แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันมา อย่างศานติสุขตลอดมาในประวัติศาสตร์ไทย โดยไม่เคยเกิดความรุนแรงในระดับนี้มาก่อน แต่เหตุการณ์ครั้งนี้จะนำประเทศไทย ไปสู่การเป็นสมรภูมิของการก่อการร้ายโลกหรือไม่ เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องช่วยกันระดมความคิด เพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนและเป็นธรรมที่สุดต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การสรุปง่ายๆ ว่าบรรดาบุคคลผู้เสียชีวิตเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ว่าเป็นพวกติดยาเสพย์ติด รับจ้างมา ถูกชักจูงล่อลวงมา จึงเป็นข้อสรุปที่ตื้นและง่ายเกินไป และไม่สามารถนำไปสู่วิธีการดับไฟใต้ให้มอดสนิทได้   แต่อาจจะเป็นประกายไฟลามทุ่ง และที่น่าเป็นห่วงคือ บาดแผลนี้อาจจะถูกขยาย และลามไปเป็นประเด็นระหว่างประเทศ คือ ประเด็นความขัดแย้งทางศาสนา กับโลกมุสลิมซึ่งมีประชากร 1 ใน 4 ของโลก และคุมน้ำมัน 2 ใน 3 ของโลก โดยเฉพาะการถูกเหมาเอาประเทศไทยไปอยู่เคียงข้างกับอเมริกาที่ใช้วิธีการปราบปรามเดียวกัน

เหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างประเทศที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางศาสนานั้นน่าสะพรึงกลัว และก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่อาจจะประมาณได้เหตุการณ์ครั้งนี้เมื่อวิเคราะห์แล้วสาเหตุก็ไม่แตกต่างจากเหตุการณ์สำคัญหลายๆ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทย คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬ 2535 คือ เกิดจากความไม่พอใจในนโยบายบางอย่างหรือหลายๆ อย่างของรัฐบาล (จะผิดหรือถูก ดีหรือเลว เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)เมื่อมีความไม่พอใจ จึงมีการชักชวนให้ปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อความสะใจ หรือเพื่อจะนำไปสู่การแก้ไขที่ต้นตอของความไม่พอใจนั้น (ซึ่งคงจะไม่ใช่แค่วัยรุ่นติดยาแล้วถูกบงการอย่างที่รัฐบาลแถลงออกมาอย่างแน่นอน เพราะในบรรดาผู้เสียชีวิตมีทีมฟุตบอลเยาวชนทั้งทีมจำนวน 19 คนที่พ่อแม่ยืนยันว่าไม่ได้ติดยา)

การใช้ความรุนแรงและการสูญเสียชีวิตกว่าร้อยชีวิตของคนไทยทุกฝ่ายในเหตุการณ์ดับไฟใต้ ที่กลายเป็นข่าวพาดหัวของสื่อมวลชน และสำนักข่าวทั่วโลกจนกลบข่าวสงครามอิรักไปได้ 1 วัน ก่อให้เกิดคำถามขึ้น

คำถามที่เกิดขึ้น คือ นี่เป็นหนทางเดียวในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้หรือเป็นการแก้ไขที่ถูกจุดแล้วหรือ ได้มีการวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง และเที่ยงธรรมกันแค่ไหน ถึงต้นตอของปัญหาที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือความไม่พึงพอใจ อย่างน้อยก็ในหมู่ของกลุ่มคนที่รวมตัวกันโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ทำไมจึงไม่ใช้หลักอริยสัจ 4 มาใช้เพื่อดับปัญหา นั่นคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค สมุทัยของปัญหาความไม่สงบในภาคใต้นั้นสั่งสมมายาวนาน ดังนั้น นิโรธ และมรรคของการแก้ไขปัญหา จึงต้องใช้เวลายาวนานด้วย ไม่ใช่วิธีการเบ็ดเสร็จซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า จะสร้างปัญหาอย่างน่าเป็นห่วงยิ่งในระยะยาว อย่างไม่อาจจะประเมินถึงความเสียหายที่จะตามมาได้

สมุทัยของปัญหาสามารถสรุปได้อย่างสั้นที่สุดคือ ความไม่เป็นธรรม ที่ประชาชนได้รับอย่างเนืองนิจ จากนโยบายการลงโทษข้าราชการเลวจำนวนมาก โดยการย้ายไปประจำที่ภาคใต้แทนการไล่ออกข้าราชการเลวเมื่อย้ายไปอยู่ที่ไหน ก็ย่อมไปทำเลวต่อที่นั่น เช่นเดียวกับข้าราชการดี เมื่อย้ายไปที่ไหนก็ไปทำดีต่อที่นั่น

ภาคใต้นั้นรู้กันมานานว่ามีผลประโยชน์มากมาย ตั้งแต่สินค้า น้ำมันเถื่อน ที่ราคาในมาเลเซีย ถูกกว่าลิตรละหลายบาท บุหรี่เถื่อน เหล้าเถื่อน เครื่องใช้ไฟฟ้าหนีภาษี ซีดี ดีวีดี ซอฟต์แวร์ หวยมาเลย์ หวยใต้ดิน และบ่อนเถื่อน

นอกจากนี้งบประมาณของรัฐทั้งด้านพัฒนา และด้านรักษาความมั่นคงยังตกหล่นอีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ผลประโยชน์เหล่านี้เองที่เป็นต้นตอของความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเมื่อข้าราชการเลว ย้ายเข้ามาอยู่ในท้องที่ รวมหัวกับผู้มีอิทธิพล และกลุ่มทุนท้องถิ่น เลยเป็นต้นตอของความไม่สงบที่เกิดขึ้น ความไม่เป็นธรรมที่เป็นสมุทัยของปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ รวมถึงคนไทยบางกลุ่มที่คิดจะแยกดินแดน นั้นเกิดจากข้าราชการเลว และนโยบายที่ผิดพลาดบางประการของรัฐ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ ความไม่เป็นธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม  นิโรธและมรรคของการดับไฟใต้ให้มอดสนิท จึงต้องสร้างความเป็นธรรมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในภาคใต้ให้ได้ด้วยนโยบายคิดใหม่ ทำใหม่ อย่างแท้จริง

ความไม่เป็นธรรมทางการเมือง สะท้อนออกมาที่ประชาชนขาดโอกาส และไม่ได้รับการยอมรับให้มีสิทธิ ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในการกำหนดนโยบายท้องถิ่น (เช่น กรณีโครงการวางท่อก๊าซไทย มาเลเซีย ที่ชาวบ้านต่อต้าน) การเข้าบริหารงานท้องถิ่น และการเลือกข้าราชการมาปกครอง ทุกอย่างมาจากส่วนกลางทั้งสิ้น

ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สะท้อนออกมาที่สัดส่วนของงบประมาณในการพัฒนาจังหวัดภาคใต้ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับภาษีที่เก็บจากภาคใต้ ซึ่งเป็นภาคที่รวยกว่าภาคอื่นโดยรวม เพราะว่ามีทรัพยากรมาก เช่น ดีบุกที่เคยทำรายได้ในอันดับต้นๆ ของชาติ (หมดไปแล้ว) การประมง ยางพารา และการท่องเที่ยว

ความไม่เป็นธรรมทางสังคมและวัฒนธรรม สะท้อนออกมาที่การไม่ยอมรับ และไม่เคารพในความแตกต่าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติและเป็นสิทธิ คือ การนับถือ และการเรียนศาสนาอิสลาม การแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม และประเพณี รัฐบาลได้กำหนดนโยบายหลายอย่างที่ไปขัดกับความรู้สึกของคนท้องถิ่น เช่น การนำพระพุทธรูปไปตั้งในโรงเรียน ที่นักเรียนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เรื่องชุดนักเรียน เรื่องการสวดมนต์ ฯลฯ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องเล็ก แต่เป็นการแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างของภาครัฐ หรือแสดงถึงความต้องการกลืนวัฒนธรรมพื้นบ้าน ความไม่เป็นธรรมทั้ง 4 ด้านนี้ถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงใจ แต่ใช้วิธีการทางทหารแทน ย่อมมิใช่นิโรธและมรรคของการดับไฟใต้ให้มอดสนิทอย่างแน่นอน ถึงจะยืนยันอย่างไรก็เชื่อไม่ได้ นอกจากนี้ รัฐควรจะมีมาตรการเยียวยาให้กับพ่อแม่และญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นคนไทยด้วยกัน เพราะรัฐบาลแถลงว่าบุคคลเหล่านี้ที่เป็นเยาวชนหลงผิด ติดยา ไร้ความคิดความอ่าน ใครสั่งให้ทำอะไรก็ทำได้โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด บุคคลที่หลงผิด ควรจะได้รับโอกาสให้กลับตัว เหมือนสมัยที่มีผู้ไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับปืนมาสู้กับรัฐบาลก็ได้รับนิรโทษกรรม (หลายคนดำรงตำแหน่งใหญ่โตในคณะรัฐบาลชุดนี้) แต่เมื่อมาดับโอกาสของผู้เสียชีวิตเหล่านี้แล้วก็ควรจะมีมาตรการทั้งระยะสั้น โดยการชดเชยเงินให้พ่อแม่ และระยะยาวโดยการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในทุกด้านให้หมดไป โดยเฉพาะการใช้นโยบายการเมือง นำการทหาร หรือใช้หลักรัฐศาสตร์นำหลักนิติศาสตร์

คอลัมน์ เดินคนละฟาก  โดย กมล กมลตระกูล  ประชาชาติธุรกิจ หน้า 2  วันที่ 06 พฤษภาคม 2547  ปีที่ 27 ฉบับที่ 3581 (2781)

คำสำคัญ (Tags): #ไฟใต้
หมายเลขบันทึก: 78172เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท