ความสุขมองเชิงโครงสร้าง 1


ความสุขไม่ใช่แค่เรื่องทำให้ปัจเจกมองทะลุเรื่องนอกกาย

ผมเอาอีกเรื่องที่เขียนเรื่องความสุขมาแบ่งปันความคิด เพราะรู้สึกว่า เรื่องความสุขไม่ใช่แค่เรื่องทำให้ัจเจกแต่ละคนมองทะลุเรื่องความสะดวกสบายที่เป็นของนอกกาย แต่เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าจะสร้างกลไกอะไรในสังคมบ้างเพื่อช่วยให้คนส่วนใหญ่ในสังคมมีความสุข

หลายคนอาจจะเริ่มเห็นด้วยว่า เรื่องความสุขไม่ใช่เรื่องการทำใจตัวเอง เหมือนที่ใครต่อใครชอบบอกว่า สุขทุกข์อยู่ที่ใจ แม้ว่าที่จริงแล้ว จะสุขมากสุขน้อยนั้นมันอยู่ที่ใจเราจริงๆ

แต่ถ้าอยู่ในภาวะคล้ายสงคราม อย่างที่พี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเผชิญอยู่

หรือในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษอย่างชาวบ้านใกล้นิคมมาบตาพุตกำลังเป็นอยู่ จะทำใจยังไงก็คงยากจะหนีพ้นสภาวะแห่งความทุกข์ไปได้

พูดง่ายๆคือจะปรับกิเลส ลดมาตรฐานของปัจจัยที่จะทำให้สุขไปแค่ไหน ก็ยากที่จะมีความสุขได้

นอกจากทำใจว่าสังขารนั้นมันไม่เที่ยง ถ้าต้องสลายไปเพราะความรุนแรง หรือมลพิษมนสิ่งแวดล้อม ก็เป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ซึ่งแม้จะเป็นปัญญาขั้นสูงที่พุทธศาสนิกที่แท้จริงพึงมี แต่ก็ดูเหมือนจะง่ายไปหน่อย สำหรับสังคมโดยรวม

เพราะถ้าเป็นแบบนั้นก็หมายความว่าใครจะทำร้ายใครยังไงก็ได้ ขอให้ทุกคนเข้าใจร่วมกันว่าร่างกาย เป็นของสมมุติ มันไม่ยั่งยืน แล้วความสุขก็จะเกิดขึ้นเอง

นั่นคงไม่ใช่เหตุผลที่ผมกำลังพยายามจะชวนท่านผู้อ่านมารู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าความสุข ผมเชื่อว่าความสุขสำหรับผู้ที่ยังเวียนว่ายในวัฏฏสงสารอย่างเราๆท่านๆ (ไม่ว่าจะเป็นสงฆ์ หรือฆารวาส) เกิดจากส่วนผสมที่ได้สมดุลย์ระหว่าง ความเข้าใจ (ความสามารถในการเข้าใจธรรมชาติของชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของกิเลส หรือความต้องการ อยากได้ อยากมี) กับ การมีปัจจัยภายนอกที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวก สบายแก่ร่างกาย และจิตใจอย่างเหมาะสม

ไม่ใช่เรื่องของการทำใจให้เข้าถึง ความเป็นอนิจจังแต่เพียงอย่างเดียว

ว่าแล้วก็กลับมาคุยกันเรื่องความสุขต่อไปอีก คราวนี้กลับมาเรื่องนักเศรษฐศาสตร์อีกที

แต่เป็นมุมมองเชิงโครงสร้างของนักเศรษฐศาสตร์ ที่มองเห็นว่า ความสุข หรือถ้าจะใช้คำให้ตรงกับที่เขาใช้ก็ต้องบอกว่า ความอยู่เย็นเป็นสุข (well being) ของชาวบ้านนั้นอยู่ที่คุณภาพของกลไกต่างๆในสังคม โดยเฉพาะคือเรื่องของธรรมาภิบาล มีการศึกษาวิจัยใน 49 ประเทศ ในช่วงทศวรรษ 80 -90 (พ.ศ. 2523-2533) พบว่าธรรมาภิบาลขององค์กร

และทุนทางสังคมมีผลอย่างยิ่งต่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนในประเทศเหล่านั้นอย่างเช่นความมั่นคงของรัฐบาล

การบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง

การควบคุมการคอรัปชั่น

รวมทั้งความโปร่งใสตรวจสอบได้ขององค์กรต่างๆที่สำคัญๆในสังคม เขาพบต่อไปว่า ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อความสุข หรือความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนมากกว่า เงินทองที่เพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าวเสียอีก

 

หมายเลขบันทึก: 75415เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2007 00:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท