บันทึกครั้งที่ ๑๔ สิทธิบัตรอีกครั้ง


ผมได้อ่านข่าวเกี่ยวกับสิทธิบัตรด้านยา เห็นว่าน่าสนใจ สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับกรณีอื่นๆ ได้ เช่น ด้านโทรคมนาคม หรือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

บริษัทยาประกาศหยุดลงทุนในไทย ตอบโต้สธ.ลุยผลิตยาติดสิทธิบัตร

25 มกราคม 2550

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9500000010005

กลุ่มธุรกิจยาประกาศแช่แข็งการลงทุนในไทย พร้อมทบทวนแผนการลงทุนใหม่ทั้งหมดในประเทศไทยหลังกระทรวงสาธารณสุขเตรียมบังคับใช้สิทธิผลิตยาที่ติดสิทธิบัตร 2 ชนิดคือยาต้านไวรัสเอดส์และยาโรคหัวใจ ลั่นต้องการให้เคารพกฎหมายที่ถือเป็นกติกาสากลและต้องการความมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถรับประกันความปลอดภัยในทรัพย์สินของบริษัทผู้ผลิต ด้าน “หมอมงคล” โต้เชื่อแค่คำขู่เพื่อรักษาผลประโยชน์ ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่มียาใช้ เพราะไม่เคยมีบริษัทยาที่ไหนที่จะเลิกขาย เผยทำเพื่อต้องการให้คนไทยได้ใช้ยาราคาถูก และได้ลงนามบังคับใช้แล้ว
       
       จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ปรารภเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2550 ถึงแผนการที่จะบังคับใช้สิทธิบัตรยากับอีกหลายบริษัท เพื่อผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ และยาโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งได้เปิดเผยถึงรายชื่อยาอื่นๆ ที่อยู่ในแผนการในอนาคต ซึ่งรวมถึงยาต้านโรคมะเร็ง และยาปฏิชีวนะนั้น
       
       นายธีระ ฉกาจนโรดม นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) กล่าวว่า
       สมาชิกสำคัญของสมาคมส่วนหนึ่งต่างก็ตะลึงกับการปรารภเจตนาดังกล่าว และต่างก็ได้ยืนยันว่า ได้สั่งชะลอแผนการลงทุนใหม่ทั้งหมดในประเทศไทย เพื่อทบทวนบรรยากาศการลงทุนในประเทศใหม่ เพราะทุกบริษัทต่างก็เป็นกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศที่รัฐบาลไม่สามารถให้การรับรองเบื้องต้นถึงความปลอดภัยในทรัพย์สินของบริษัทเขาได้
       
       “พวกเรามีความปิติที่ได้ยินคำรับรองจากปากท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้ไว้กับกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเมื่อวานนี้ว่า ประเทศไทยยังคงเปิดอ้อมแขนต้อนรับการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนพลวัตทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นด้วยการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จนกว่าท่านรัฐมนตรีจะแสดงเจตนารมณ์ของการขานรับนโยบายท่านนายก เราจะพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะขยายการลงทุนต่อไปในประเทศไทยเราคงไม่สามารถคาดหวังให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศใดก็ตาม ที่ไม่สามารถให้การรับรองเบื้องต้นถึงความปลอดภัยในทรัพย์สินของพวกเขาได้”
       
       นายธีระกล่าวด้วยว่า เท่าที่ทราบมายังมียารักษาโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และยาปฏิชีวนะ ที่ตกเป็นเป้าหมายในการถูกบังคับใช้สิทธิบัตร (compulsory licensing) ของรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขด้วย
       
       “เราชื่นชมกับท่านรัฐมนตรีที่ให้ความเอาใจใส่ในสุขภาพของประชาชนและรู้สึกเห็นใจกับปัญหาทางการเงินที่กระทรวงสาธารณสุขต้องประสบอย่างที่ท่านรัฐมนตรีได้อธิบายไว้ อย่างไรก็ตาม การกระทำที่ดีที่สุด สำหรับปัญหาเช่นนี้ คือมีการพูดคุยกันเพื่อที่จะหาจุดสมดุลในการแก้ปัญหา การที่รัฐบาลบังคับเอาทรัพย์สินของเอกชน เพราะไม่สามารถซื้อได้นั้น เป็นแบบอย่างที่อันตราย และจะทำให้ทำลายชื่อเสียงของประเทศว่า เป็นประเทศที่ไม่ให้ความเคารพต่อกฎกติกาสากล”
       
       นายธีระกล่าวเสริมว่า โดยปกติกฎหมายได้อนุญาตให้รัฐทำเช่นนี้กับเวชภัณฑ์ใด ๆ ได้ในกรณีที่เป็นเรื่องฉุกเฉินของชาติจริง ๆ หรือในระหว่างสงครามเท่านั้น แต่กระนั้นก็ยังต้องมีการเจรจาตกลงกับบริษัทที่เกี่ยวข้องก่อน สิ่งที่รัฐมนตรีสาธารณสุขมีแผนจะทำเป็นข้อยกเว้นทางกฎหมายที่จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อจะไม่ให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นใจของนักลงทุน
       
       ที่สำคัญคือนายกรัฐมนตรีเองได้กล่าวกับสมาชิกสมาคมหอการค้าต่างประเทศว่า ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของการประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเพราะต้อนรับการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ไม่มีประเทศไหนที่หวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนการค้าโลกจะสามารถทำอย่างที่ประเทศไทยคิดจะกระทำ โดยไม่สูญเสียมูลค่านับพันล้านจากการลงทุน จากรายได้ และโอกาสในการพัฒนา
       
       “การกระทำโดยไม่ได้หารือกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเช่นนี้ จะนำประเทศของเราไปสู่การถูกโดดเดี่ยวจากนักลงทุนต่างชาติในที่สุด ที่ผ่านมาบริษัทด้านชีววิทยาศาสตร์ต่างก็พยายามทำงานอย่างหนักเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพของภูมิภาคนี้ การประกาศเจตนาเช่นนี้มีโอกาสจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้พยายามทำมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ในการที่จะแสดงให้สำนักงานใหญ่ของเราเห็นถึงความน่าสนใจของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และการกระทำเช่นนี้ทำให้คู่แข่งของเราในภูมิภาคยิ่งได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น”
       
       “หากไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเหมาะสมจะไม่มีแรงจูงใจ หรือการช่วยเหลือทางการเงินหรืออื่นใด ที่เพียงพอ ก็ไม่สามารถที่จะดึงบริษัทวิจัยพัฒนาเข้ามาลงทุนได้”
       
       นายธีระกล่าวด้วยว่า ในประเทศที่ประสบปัญหาเอดส์/การติดเชื้อเอชไอวี บริษัทสมาชิกของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์เต็มใจอย่างยิ่งที่จะเจรจากับรัฐบาลในการให้การสนับสนุนการรักษาในราคาต่ำ และบางครั้งโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ อย่างไรก็ตาม การที่กระทรวงสาธารณสุขบังคับใช้สิทธิผลิตยา (compulsory licensing) กับยาอื่น ๆ ทำให้มีกังวลว่าทางกระทรวงกำลังดำเนินนโยบายยึดทรัพย์สินของเอกชน เพียงเพราะกระทรวงมีงบประมาณไม่เพียงพอเท่านั้น
       
       ด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่มียาใช้ บริษัทยาคงไม่ปิดโรงงานแล้วเลิกขาย เพราะไม่เคยมีบริษัทยาที่ไหนที่จะเลิกขาย ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงการขู่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเขาเท่านั้น
       
       ทั้งนี้ การที่ไทยจะบังคับใช้สิทธิบัตรไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง แต่เนื่องจากปัจจุบันยาดังกล่าวมีราคาแพง ขณะที่ประเทศของเรามีงบประมาณน้อย ดังนั้น ก็จะต้องหาวิธีการที่จะซื้อยาในราคาที่ถูก หากตัดในส่วนของประกันสังคมและกองทุนข้าราชการ เรามีประชาชนที่จะต้องดูอีก 18 ล้านคน ไม่เช่นนั้นคนเหล่านี้ก็จะต้องเสียชีวิต
       
       ยกตัวอย่างเช่น ยารักษาโรคหัวใจที่จะบังคับใช้สิทธินั้น มีการกำหนดราคาเอาไว้ที่เม็ดละ 70 บาทมาเป็นเวลา 20 แล้ว หากบังคับใช้สิทธิบัตรก็จะได้ยาในราคาไม่เกิน 7 บาท คนที่เป็นโรคหัวใจก็จะรอดชีวิตมากขึ้น ซึ่งวานนี้(25 ม.ค.) ได้ลงนามในหนังสือบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว แต่จะประกาศอย่างเป็นทางการให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 29 มกราคมนี้
       
       “ถ้าเกิดรวยเราคงไม่ทำ ถ้าเกิดเขาขู่แล้วก็ยังยอมเราก็จะคงต้องเป็นทาสเขาตลอดไป”นพ.มงคลกล่าว

อีกข่าวที่ต่อเนื่องกัน

เอ็นจีโอหนุน สธ.บังคับใช้สิทธิบัตรยาต้านเอดส์

26 มกราคม 2550

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9500000010425

เอ็นจีโอหนุน สธ.บังคับใช้สิทธิบัตรยาต้านเอดส์ โรคหัวใจ ชี้ ถูกต้องตามกฎหมายไทยและต่างประเทศ ยุ บริษัทยาเลิกลงทุนในไทย จะช่วยเก็บของให้ ยันบังคับใช้สิทธิบัตรเป็นประโยชน์มหาศาลลดค่ายาได้ถึง 90%
       
       วันนี้ (26 ม.ค.) องค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยียม ประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอสไอวี/เอดส์ประเทศไทย ถกมาตรการบังคับใช้สิทธิ : สิทธิอันชอบธรรมของประเทศไทย โดย นายวิรันต์ ภู่ระหงส์ ประธานเครือข่ายเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอสไอวี/เอดส์ประเทศไทย นายนิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงการรักษาองค์การหมอไร้พรมแดน เบลเยียม ประเทศไทย และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคระกรรมการองคืการพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.)
       
       นายนิมิตร กล่าวว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ใช้มาตรการการบังคับใช้สิทธิยาที่ติดสิทธิบัตรซี่งมีความจำเป็นต่อการรักษาโรคมาผลิตนั้น เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 51 ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร ซึ่งถือเป็นความกล้าหาญทางการเมือง ซึ่งมีเสียงโต้ตอบว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางปัญญา ทำลายบรรยากาศการลงทุนที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งเราเสียใจต่อท่าทีและบทบาทของของบริษัทยาเหล่านี้ ที่แสดงถึงการไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเอาแต่ได้ ถ้าได้ก็เงียบ ไม่ได้ก็โวยวาย และกล่าวร้ายคนอื่นที่ทำในสิ่งที่ถูกต้องควรทำ
       
       “การกระทำครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ชอบธรรม และเป็นเรื่องแรกๆ ของรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติทำเรื่องดีๆ หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นไปได้ที่จะมีผลประโยชน์พัวพัน รัฐบาลคุณธรรม พอเพียงกล้าตัดสินใจก็ต้องตบมือให้” นายนิมิตร กล่าวและว่า ขอยกตัวอย่างยาคาเลตตร้าที่ก่อนลดราคาอยู่ที่ 10,000 กว่าบาทต่อเดือนต่อเดือน แต่เมื่อประกาศบังคับใช้สิทธิบัตรนำเข้ายาราคาถูจากอินเดียตกเดือนละ 4,000 บาท เท่ากับลดงบประมาณถึง 6,000 บาท ซึ่งการที่บริษัทยาเจรจาขอลดราคายาเหลือ 5,000 บาทต่อเดือน ก็ยังมีราคาแพงกว่าอยู่ดี นั้นหมายความว่าการดำเนินการของกระทรวงเป็นการประหยัดงบประมาณของรับและช่วยให้ผู้ป่วยเอดส์ เข้าถึงยามากขึ้น
       
       นายนิมิตร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สธ.ยังมีการประกาศชัดเจนจะใช้การบังคับสิทธิบัตรยาเป็นเวลา 5 ปี โดยรัฐจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับบริษัทเจ้าของสิทธิประมาณ 0-5% ของจำนวนที่ประกาศใช้ตามแต่ที่มีการตกลงกันจึงมิใช่การละเมิดสิทธิทางปัญญาแต่ประการ แต่เป็นการดำเนินการตามกติกาหากไม่พอใจค่าชดเชยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ อย่างไรก็ดี แม้มีการใช้การบังคับสิทธิบัตรยาก็สามารถเจรจาต่อรองได้ แต่ที่ผ่านมาบริษัทยามักไม่อ่อนข้อให้ในการลดราคาแต่ใช้วิธีทดแทนการลดเพื่อปกป้องตลาด ปกป้องราคา โดยการที่รัฐบาลไม่เจรจาราคายากับบริษัทยาในช่วงนี้ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะหากตกลงกันต้องแสดงให้เห็นความโปร่งใสตรงไปตรงมา สำหรับคุณภาพยาของอินดีย ที่ระบุว่า ไม่มีคุณภาพเป็นเพียงมายาคติที่บริษัทยาสร้างขึ้นมาเท่านั้น
       
       “พวกเราเรียกร้องมานานมาก ตั้งแต่สมัยนายกฯชวน ซึ่งสถิติการตายด้วยเอดส์สูงมาก เพื่อให้รัฐบาลทำ ความเสียหายมีมาตั้งแต่ปี 2542 และยังช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทยให้ก้าวหน้าขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราเริ่มพัฒนาพร้อมอินเดีย แต่อินเดียก้าวหน้าไปไกลมาก ขณะที่เรายังย้ำอยู่กับที่ เพราะติดกฎหมายสิทธิบัตรยา” นายนิมิตร กล่าวและว่า เพื่อให้เกิดความยั่งยืนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงไม่สามารถปฏิเสธได้เพราะมีบรรทัดฐานในการดำเนินการไปแล้ว
       
       นางสาวกรรณิการ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไทยทำมาตราการบังคับใช้สิทธิในการผลิตยาเอฟาไวเร้นซ์และนำเข้ายา 2 ตัว โดยได้ดำเนินการตามกฎหมายไทย ซึ่งระบุว่า สามารถทำได้ และแป็นการทำตามกฎหมายข้อตกลงระหว่างประเทศซึ่งเป็นข้อตกลงด้านทรัพท์สินทางปัญญาขององคืการค้าโลก มาตรา 31 ระบุว่า ให้แต่ละประเทศสามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือมาตรการยืดหยุ่นได้ในในกรณีที่มีความฉุกเฉินระดับชาติ ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่เป็นไปเพื่อทางการค้า ซึ่งที่ผ่านมา หลังจากที่ประเทศไทยมีการบังคับใช้สิทธิบัตรก็มีการติดต่อแจ้งกับบริษัทเจ้าของสิทธิโดยไม่ชักช้าซึ่งถือว่าทำถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี 2544มีการประกาศลงนามคำประกาศโดฮา ว่า ด้วยทริปส์และการสาธารณสุข โดยในระบุว่า “รัฐมนตรีเห็นพ้องกันว่าความตกลงทริปส์จะต้องไม่ห้ามและไม่ควรที่จะขัดขวางปรเทศสมาชิกที่จะใช้มาตรการเพื่อปกป้องสาธารณสุขของประเทศสมาชิก เพื่อเน้นย้ำข้อผูกพันตามความตกลงทริปส์ ว่า ควรตีความและนำไปปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนสิทธิของประเทสสมาชิกและส่งเสริมการเข้าถึงยาของประชาชนโดยรวม
       
       นางสาวกรรริการ์ กล่าวต่อว่า ฉะนั้นข้ออ้างของสมาคมอุตสาหกรรมยาที่พยายามกดดันให้มีการยกเลิกหรือไม่ประกาศใช้สิทธิยา 2 ตัว คือ ยาสลายลิ่มเลือดหัวใจ พลาวิคซ์ (plavix) หรือชื่อสามัญว่า โคลบีโดเจล (Clobedogel) และยาต้านไวรัสเอดส์ คือ คาเลตตร้า (Kaletra) เป็นสิ่งไม่สมควรและขอคัดค้านอย่างยิ่ง เพราะการบังคับใช้สิทธิไม่เพียงมีผลดีกับประเทศไทยเท่านั้นแต่เป็นตัวอย่างให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ต้องการซื้อยาชื่อสามัญราคาถูก เพราะตั้งแต่มีประกาศโดฮาเป็นต้นมามีน้อยประเทสที่จะกล้าทำเพราะไม่ว่าประเทศใดอยากทำก็มักจะถูกอุตสาหกรรมยาสหรัฐขมขู่เสมอจนกระทั่งผู้รับผิดชอบต้องออกจากวงการ ทั้งนี้การบังคับใช้สิทธิจะทำให้ค่ายาสูตรสำรองลดได้ถึง 90%
       
       นายวิรัช กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากต้องเสียชีวิตเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงยาที่มีราคาแพง ทำให้เสียชีวิตทั้งๆ ที่มียาในการดูแลรักษาได้ ซึ่งบริษัทยาไม่ได้ลงทุนอะไรในประเทศนอกจากการซื้อขายยาและวิจัยทดลองในคนโดยไม่มีความยุติธรรม โดยประมาณการผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 800,000ราย ซึ่งปัจจุบันสำนักงานหลังประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้งบประมาณ 3,800 บาท จ่ายยาสูตรพื้นฐานให้มีประมาณ 100,000 คน และสูตรสำรองดื้อยาอีก 8,000 คน โดยเป็นการประมาณการต่ำสุด ซึ่งอาจมีผู้ดื้อยาจริงๆ 10,000 บาท ถือเป็นการช่วยแก้ปัญหาในอนาคต
       
       นางสาวสุภัทรา กล่าวเสริมว่า น่าจะมียาอื่นๆ ที่มีราคาแพงเพราะติดสิทธิบัตรอีกมากมายที่ควรบังคับใช้สิทธิบัตรเพิ่มเติม เช่น ยาที่รักษาอาการไตวายเรื้อรัง เนื่องจากสปสช.ยังไม่คลอบคลุมสิทธิประโยชน์ สำหรับราคายายาสลายลิ่มเลือดหัวใจ ที่บุคคลทั่วไปสามารถซื้อได้อยู่ที่ 120 บาท สปสช.ซื้อได้ 73 บาท แต่หากมีการนำเข้าจางประเทสอินเดียจะมีราคาเพียง 6-12 บาทเห็นได้ชัดว่าต่างกันมาก ทำให้เข้าถึงยาได้มากขึ้น ขณะที่ยาคาเลตตร้า มีราคา 11,580 บาท สปสช.ซื้อ 9,500 บาท หากนำเข้าจะเหลือ 4,000 บาท ซึ่งมีผู้ใช้ยากลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก การที่ตัวแทนอุตสาหกรรมยาพูดขึ้นมาเป็นการไม่ศึกษาข้อมูลใดๆ
       
       “ที่ผ่านมาลดได้แต่ไม่ลดไม่ลดพอเห็นจะบังคับใสิทธิก็มีการเดินทางมาขอเจรจาต่อลองราคา ถ้าจยติการลงทุนย้ายออกไปจะไปช่วยขนของด้วยซ้ำ”นางสาวสุภัทรากล่าว

คำสำคัญ (Tags): #สิทธิบัตรยา
หมายเลขบันทึก: 74691เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2007 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท